ในบทความซึ่งอาจจะดีที่สุดเกี่ยวกับ “การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” โดยศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอร์สัน กล่าวไว้ว่า โดยตัวของมันเองแล้วการรัฐประหาร 6 ตุลา ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะในสมัยใหม่หรือสมัยเก่า เพราะเคยมีรัฐประหารหรือความพยายามที่จะทำรัฐประหารมาครั้งแล้วครั้งเล่า…
ในบทความซึ่งอาจจะดีที่สุดเกี่ยวกับ “การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” โดยศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอร์สัน กล่าวไว้ว่า โดยตัวของมันเองแล้วการรัฐประหาร 6 ตุลา ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
แต่เบเนดิค แอนเดอร์สัน ก็กล่าวว่า “การรัฐประหาร 6 ตุลา” เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ของการเมืองไทย อย่างน้อยก็ใน 2 ประเด็น คือ (1) บรรดาผู้นำฝ่ายซ้าย แทนที่จะจบลงด้วยการถูกจับขังคุก (จนลืม) หรือไม่ก็ไปลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ กลับเข้าไปร่วมกับขบวนการจรยุทธ์ในป่า และ (2) การรัฐประหาร 6 ตุลา แตกต่างจากการรัฐประหารที่เคยมีมา นั่นคือหาใช่เป็นเพียงการยึดอำนาจกันในหมู่ผู้นำเท่านั้น แต่เป็นการรัฐประหารที่ฝ่ายขวาใช้เวลากว่า 2 ปีในการวางแผนการ รณรงค์ คุกคามอย่างเปิดเผย ทำร้าย ทำลายชีวิต ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้อย่างโจ่งแจ้งของความรุนแรงและการปั่นให้เกิดความบ้าคลั่งของฝูงชน “ม็อบ” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาจารย์เบนขยายความต่อไปอีกว่า รูปแบบและระดับของความรุนแรงของ 6 ตุลานั้น เป็นอาการของโรค (“ลงแดง”) ที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางสังคม-วัฒนธรรม-การเมืองสมัยใหม่กล่าวคือ การก่อตัวของชนชั้น (ใหม่) กับความปั่นป่วนทางอุดมการณ์ กล่าวโดยย่อ (ในทัศนะของอาจารย์เบน) นับแต่ปลายทศวรรษ 1950 (ยุคฟิฟตี้) เป็นต้นมา ได้เกิดชั้นชนกระฎุมพีใหม่ขึ้น โดยเกิดขึ้นมานอกชนชั้นสูง – เจ้านาย – ข้าราชการเก่า ชั้นชนใหม่นี้มีทั้งกระฎุมพีน้อย – กระฎุมพีกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของ “บูม” ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามเวียดนามในทศวรรษ 1960 (ยุคซิกสตี้) ที่ทั้งคนอเมริกันและเงินดอลลาร์อเมริกันหลั่งไหลเข้ามาในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตามด้วยคนและเงินเยนญี่ปุ่นมากมายมหาศาล ชั้นชนกระฎุมพีใหม่นี่แหละ ที่ได้กลายเป็นฐานให้กับขบวนการฝ่ายขวา ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกลุ่มฝ่ายขวาเดิมของเจ้า–ผู้ดีและข้าราชการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มผู้ปกครองเก่า – เจ้า – นายพล – นายธนาคาร – ข้าราชการ จะหลุดออกไปจากตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่กุมอำนาจทางการเมือง กลับเป็นว่ากลุ่มผู้ปกครองเก่านี้ ได้พันธมิตรใหม่ที่มีฐานกว้างขวางที่มีลักษณะคุกคามและเป็นอันตรายมากกว่าเดิม พร้อม ๆ กับการเกิดของชั้นชนกระฎุมพีนี้ ความปั่นป่วนด้านอุดมการณ์ก็เป็นผลพวงของผลกระทบของการที่อเมริกาเข้ามา และระเบิดให้เห็นทางด้านภูมิปัญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีของยุค “ประชาธิปไตย” เบ่งบานนั้น มีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่เบื่อหน่ายต่อความอับจนทางปัญญา และการใช้สัญลักษณ์ทางจารีตโดยระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส คนหนุ่มสาวตั้งคำถามต่อค่านิยมและวัฒนธรรมจารีตนั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการโฆษณาเผยแพร่ สั่งสอนอุดมการณ์ชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์ หนักหน่วงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นของ “ไทยตามธรรมชาติ” โดยทั่วไป กลับกลายเป็นอุดมการณ์เฉพาะของการก่อตัวทางสังคมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมขบวนการฝ่ายขวานี้ก็คือบรรดาชั้นชนกระฎุมพีใหม่ ส่วนผู้ทำการโฆษณาเผยแพร่อุดมการณ์มีทั้งกลุ่มบ้าคลั่งจากชั้นชนใหม่นี้เอง และจากผู้ที่บงการของกลุ่มชนชั้นปกครองเก่าที่อยู่เบื้องหลัง (Benedict Anderson, Withdrawal Symptoms : Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup’, Bulletin of Concerned Asian Scholars, July – September, 1977) เหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้น และปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจกับกองกำลังติดอาวุธและกำลังพลฝ่ายขวา ได้เคลื่อนเข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้คนจำนวน 4-5 พันคนชุมนุมอยู่ตลอดคืน ประท้วงการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งได้ถูกประชาชนลุกฮือขับไล่ออกจากประเทศไปเมื่อ 3 ปีก่อน (การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516) หลังการเข้าปิดล้อม ก็ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ๆ มีการปาระเบิดเข้าไปตามตึกของมหาวิทยาลัย ราตรีนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้นักกิจกรรมการเมือง 2 คน (พนักงานไฟฟ้านครปฐม) ได้ถูกทำลายชีวิตและจับแขวนคอ (ในขณะที่กำลังปิดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร) หลังการทำลายชีวิตดังกล่าวที่นครปฐม ได้มีการแสดงละครการเมืองของนักศึกษา ล้อเลียนการกลับมาของจอมพลถนอม (บวชเป็นเณรมาจากสิงคโปร์ แล้วก็เข้าไปบวชเป็นพระอย่างเร่งรีบที่วัดบวรนิเวศ) ล้อเลียนการแขวนคอนักกิจกรรม การแสดงนี้มี ณ บริเวณลานโพธิ์ มธ. หน่วยโฆษณาชวนเชื่อของทหาร (วิทยุยานเกราะและเครือข่ายวิทยุเสรี) และ นสพ. (ดาวสยาม) ได้นำฟิล์มรูปการแสดงละครไปตกแต่ง แล้วอัดรูปขยายพิมพ์เผยแพร่ กล่าวหาและปลุกปั่นว่านักศึกษา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ล้อเลียนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยที่นักศึกษาไม่ได้รับโอกาสที่จะแก้ข้อกล่าวหานี้แต่ประการใด เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ตำรวจและกองกำลังติดอาวุธก็ยิงระเบิดเข้าไปกลางฝูงชนเป็นผลให้มีคนตายทันที 4 ศพ และบาดเจ็บหลายสิบ และจากระเบิดลูกนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อาวุธสงครามร้ายแรงทำลายชีวิตนักศึกษาและประชาชนเป็นเวลาหลายชั่วโมง มีทั้งการยิงจรวด (ที่ใช้ต่อต้านรถถัง) เข้าไปตามตึกต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาและประชาชนหลบซ่อนอยู่ ฝูงชนฝ่ายขวา (รวมทั้งมือปืนรับจ้าง) ที่ได้รับการจัดตั้งและปลุกระดมไว้อย่างดีแล้วบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย บ้างลากนักศึกษาออกมาทุบตีจนตาย บ้างใช้ผ้ารัดคอนักศึกษาลากไปตามสนาม บ้างนำนักศึกษาไปแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง ด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ที่ทางหน้ากระทรวงยุติธรรมมีการจับร่าง 3 ร่างเอาน้ำมันราด เอายางรถสุม เอาไฟจุดเผา การทำลายชีวิตและร่างกายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ดำเนินไปจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 9 นาฬิกา วันนั้นวันที่ 6 ตุลา เป็นวันพุธ เป็นวันมหาวิปโยค “ที่ไทยฆ่าไทย” เป็นวันที่มืดมิดที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครั้นถึง 18 นาฬิกาเย็นวันนั้น คณะทหารก็ประกาศยึดอำนาจ (ทางการแถลงว่าในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 40 คน บาดเจ็บเป็นร้อยและถูกจับกุมไป 3 พันคน แต่ก็เชื่อกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ รวมทั้งสูญหายน่าจะสูงกว่าที่ทางการแถลง) กล่าวโดยย่อ 6 ตุลา (2519) ก็คือวันที่มีการรัฐประหาร นำการเมืองไทยกลับไปสู่การปกครองโดยคณะทหารอีกครั้งหนึ่ง (แต่มีนายกรัฐมนตรีมาจากข้าราชการตุลาการ) ซึ่งมิใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่การรัฐประหาร 6 ตุลาก็มาพร้อมกับความรุนแรงและป่าเถื่อน อย่างชนิดที่ไม่มีผู้ใดจะคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยมาก่อน ภาพของความทารุณโหดร้ายถูกบันทึกไว้เป็นภาพยนตร์ เป็นภาพถ่าย ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก (แม้ในยุคสมัยที่ไทยยังไม่ตื่นเต้นกับโลกาภิวัตน์นัก ยังมิได้มี “ม็อบมือถือ” แฟกซ์ กล้องวิดีโอ ตลอดจนบรรดาอุปกรณ์ไฮ–เทค ทั้งหลาย) การสังหารหมู่กลางพระนครวันนั้น ได้รับการถ่ายทอดออกโทรทัศน์ช่อง 9 ด้วย แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ที่ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นอดีตที่ดูเหมือนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ประหนึ่งว่าเป็นการพังพินาศของอดีต ขาดสถานะทางประวัติศาสตร์ (เข้าทำนองที่ว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของคนชนะ ประวัติศาสตร์หาได้เป็นเรื่องราวของผู้แพ้ไม่) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งจากอุดมการณ์ทั้งขวาและซ้าย ดูจะสับสนงุนงง ลืม เลอะเลือน ปฏิเสธและบางครั้งขาดความเข้าใจต่อ 6 ตุลาในบริบทเฉพาะของการเมืองไทย และบริบทใหญ่ของการเมืองโลก (ทั้งนี้โดยที่ยังไม่นับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และผู้ที่อยู่ห่างไกลจากความแตกแยกทางอุดมการณ์ในครั้งนั้น) ยิ่งอนุชนรุ่นหลังแล้ว ก็เกือบจะไม่มีการรับรู้ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หาใช่หนึ่งในหน้าของประวัติศาสตร์ไทยไม่ ไม่ว่าจะในระดับประถมหรือมัธยม หรือในระดับอุดมศึกษา (ทั้งนี้โดยที่ยังไม่ต้องกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในทำนองเดียวกันอีก 2 เหตุการณ์ คือ การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภามหาโหด 2535 ) ดังนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจนักที่จะมีคนกล่าวถึงเหตุการณ์ “16 ตุลาคม 2514” (!!!???) ประวัติศาสตร์ “ระยะเวลาช่วงยาว” มีสำนักคิดทางประวัติศาสตร์สำนักหนึ่งของฝรั่งเศส ที่ถือว่าความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์นั้น จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์นั้นมีลักษณะ longue duree ขอแปลเป็นไทยว่า “ระยะเวลาช่วงยาว” กล่าวคือเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์โดยใช้ระยะเวลาช่วงยาว ๆ เป็นกรอบ ซึ่งจะทำให้เห็นกระแสทางเดินของประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี แทนที่จะเป็นการศึกษาเฉพาะแต่ละเหตุการณ์ฯ ที่เรียกว่า histoire evenementielle หรือประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ ซึ่งจะมีลักษณะที่คับแคบ มองได้ไม่ไกล ถ้าหากจะใช้ทฤษฎี “ระยะเวลาช่วงยาว” นำมาศึกษา “ 6 ตุลาคม 2519” เล่า เราจะศึกษาได้อย่างไร “ระยะเวลาช่วงยาว” ของการเมืองไทย ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม ที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อต้าน และพยายามปลดปล่อยตนเองจากการครอบงำของระบอบสังคมเก่า (และเก่ากว่า) ขบวนการนี้รู้จักกันชื่อต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตย” “รัฐธรรมนูญ” หรือ “เสรีภาพ” ขบวนการเช่นว่านี้เป็นผลพวงของแนวความคิดทางการเมืองใหม่ ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในช่วงที่สังคมไทยติดต่อสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ (ยุคอาณานิคม) ที่มีมหาอำนาจตะวันตกเป็นผู้นำและก็ก่อให้เกิดแนวความคิดทางการเมืองใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เสรีนิยม” และ “สังคมนิยม” อันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามและเป็นปฏิปักษ์กับลัทธิ “อนุรักษ์นิยม” หรือส่วนที่แตกหน่อออกมาเป็น “อำนาจนิยม” ที่เป็นพื้นฐานของ “สมบูรณาญาสิทธิ์” กับ “เสนา – อำมาตยนิยม” ถ้าหากจะดูตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางความคิดนี้กินระยะเวลาอันยาวกว่า 100 ปี เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ลัทธิอาณานิคมตะวันตกได้บุกทะลวงเข้ามาในเอเชีย มาปรากฏอิทธิพลในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีการแปลรัฐธรรมนูญของอเมริกาลงพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ (มิชชันนารี) ในหนังสือจดหมายเหตุ 19 ตุลาคม 1865 (2408) จากนั้นมีการเรียกร้องให้มีการปกครองโดยมีตัวแทน (รัฐสภา) อย่างกรณีของนักคิดนักเขียน “ปัญญาชนของสังคม” อย่าง “เทียนวรรณ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 (แต่เทียนวรรณก็ถูกจับติดคุกเสียตั้ง 17 ปี) “ระยะเวลาช่วงยาว” ทางประวัติศาสตร์ของขบวนการที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากระบอบเก่านี้ดำเนินเรื่อยมาดังจะเห็นได้จาก “ประวัติศาสตร์เหตุการณ์” สมัยต่าง ๆ อย่างเช่น “การกบฏ ร.ศ. 130” เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ที่นายทหารหนุ่มจำนวนหนึ่งวางแผนที่จะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่กว่าจะมาประสบความสำเร็จ (ในระดับหนึ่ง) ก็เมื่อ “การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475” อาจกล่าวได้ว่ากระแสความคิดทางการเมืองหลักของผู้ที่ต้องการจะปลดปล่อย นับตั้งแต่เทียนวรรณ มาถึงพวกกบฏ ร.ศ. 130 (เก็กเหม็ง) จนกระทั่ง “ผู้ก่อการ” หรือ “คณะราษฎร” 2475 นั้น เป็นความคิดด้านเสรีนิยมเป็นหลัก พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยและลัทธิรัฐธรรมนูญที่ได้รับความบันดาลใจจากยุโรปตะวันตกนับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ที่ชูแนวความคิดว่าด้วยเสรีภาพ (เสมอภาค และภราดรภาพ) เป็นหลัก (ซึ่งอาจรวมถึงอิทธิพลของการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน ค.ศ. 1911 ที่มีซุนยัดเซ็นเป็นผู้นำด้วย) แม้จะมีอิทธิพลของสังคมนิยมอันเป็นผลพวงของการปฏิวัติรัสเซีย (1917) แทรกเข้ามา แต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นกระแสรอง และถูกสกัดกั้นไว้แต่แรก ๆ ดังเป็นที่ทราบทั่วไปว่า การปลดปล่อยเข้าสู่ระบอบใหม่นั้นหาได้บรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ไม่ หลังการสิ้นสุดของ “สมบูรณาญาสิทธิ์” การเมืองไทยได้แปลงรูประบอบเข้าสู่ความเป็น “เสนา – อำมาตยนิยม” (ที่เรามักจะเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “เผด็จการทหาร” แต่ในความเป็นจริงนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงข้าราชการทหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการด้วย) ดังนั้นสิ่งที่ขบวนการต้องเผชิญเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ก็คือปลดปล่อยตนเองอีกครั้งหนึ่งจากระบอบเก่า (ที่ใหม่กว่า) กินระยะเวลาอันยาวนานไม่น้อย นับแต่การรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ (2490) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่วงระยะเวลาอันยาวนานของระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส (2500 – 2516 ) จนกระทั่งปลดปล่อยตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง (และในระดับหนึ่งอีกเช่นกัน) เมื่อการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 การปลดปล่อยตนเองนี้ยังยืดเยื้อยาวนานมาอีก ผ่านช่วงของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านช่วงของพฤษภามหาโหด 2535 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ซึ่งเราก็ยังคงไม่มั่นใจนักต่อทิศทางของประชาธิปไตยไทย) ในช่วงของทางเดินทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับแต่ 2519 เป็นต้นมา และเมื่อพิจารณาด้านของความคิดหลักของขบวนการนี้ ความคิดเสรีนิยมก็ยังคงเป็นความคิดกระแสหลักอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าในสมัยสั้น ๆ เพียง 3 ปีระหว่าง 2516 – 2519 นั้นกระแสของสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของลัทธิเหมาจะมีอิทธิพลต่อขบวนการปลดปล่อยไม่น้อย ทั้งนี้โดยที่ต้องศึกษาควบคู่ไปกับบริบทของการเมืองโลก “ระยะเวลาช่วงยาว” ของการเมืองโลก ในหนังสือเล่มล่าสุดของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ Eric Hobsbawm : The Age of Extremes, A History of the World , 1914 – 1991 (1994) ได้กล่าวถึงศตวรรษที่ 20 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปว่า ศตวรรษที่ 20 นี้เป็นศตวรรษที่แสนสั้น เป็นศตวรรษของความสุดขั้ว ความสั้นและความสุดขั้วนี้ดูได้จากช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1919 – 1991 คือจากปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ที่ตามมาด้วยการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีผลสั่นสะเทือนไปทั่วโลกรวมถึงสยาม – ไทยด้วย) และก็จบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ศตวรรษที่ 20 (1900 – 2000) เริ่มต้นด้วยยุคสมัยแห่งความหายนะ (1914 – 1945, Age of Catastrophy) ของสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ที่ความสุดขั้วและความรุนแรงจากสงครามทั้งสองครั้งในเวลา 30 กว่าปีนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามนุษยชาติอาจไปไม่รอด โลกอาจจะสิ้นสุดลงด้วยสงครามนิวเคลียร์ แต่แล้วก็ตามมาด้วยยุคทองสั้น ๆ (1950s –1970s, Golden Age) ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (ในกลุ่มโลกที่หนึ่ง และเครือข่ายจากกลุ่มโลกที่สาม พร้อม ๆ กับการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ของค่ายทุนนิยม และสังคมนิยม และในสองสามทศวรรษที่เหลือก่อนจะปิดศตวรรษ (fin de siecle) ก็เป็นสมัยของวิกฤตการณ์หนึ่งต่อด้วยอีกวิกฤตการณ์หนึ่ง เป็นยุคสมัยของความไม่แน่นอน (แม้ในโลกทุนนิยม) และยิ่งในโลกที่สองอย่างรัสเซีย และยุโรปตะวันออกแล้ว ก็เป็นยุคสมัยของความพังทลายและความพินาศ ศตวรรษที่ 20 กำลังปิดฉากลงด้วยเสียงที่เปรี้ยงปร้าง (bang) พร้อม ๆ กับเสียงครวญคราง (whimper) ความสุดขั้วและความรุนแรงของศตวรรษที่ 20 เห็นได้จากการทำลายชีวิตมนุษย์ทั้งที่เป็นประชาชนของประเทศศัตรู หรือประชาชนของตนเองแต่ต่างกันที่เผ่าพันธุ์และศาสนา (และความเชื่อทางอุดมการณ์) ประมาณกันว่า “มหามรณะ” (megadeath) ในศตวรรษนี้ที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง มีจำนวนถึง 187 ล้าน เฉพาะในส่วนของโลกที่สาม ที่กลายเป็นเขตของสงครามนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว (ก็ตาม) จำนวนของชีวิตที่ถูกทำลายไปในสงครามเล็กสงครามน้อย (สงครามตัวแทน สงครามลัทธิ) กว่า 100 ครั้งมีถึง 20 ล้านคน แค่เพียงในเอเชียตะวันออกก็ตกตั้ง 9 ล้าน ในสงครามเกาหลี 3 – 4 ล้าน ในสงครามอันยาวนานในเวียดนาม 30 ปีกว่า 2 ล้าน จำนวนศพที่มากมายเป็นตัวเลขสถิติเหล่านี้ ดูเหมือนจะเกินกว่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะสร้างจินตนาการให้มองเห็นภาพได้ ควบคู่ไปกับความสั้น – สุดขั้ว – และรุนแรง ศตวรรษที่ 20 ก็เป็นทั้งผลพวงและรับอิทธิพลจากยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ (Age of Revolution) ที่มีรูปแบบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และจากการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เปิดหัวด้วยความคิดเสรีนิยมและปิดท้ายด้วยความคิดสังคมนิยม กลายเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่ว ศูนย์กลางของการปฏิวัติทั้งสองครั้ง (ปารีสและมอสโคว์) พยายามที่จะส่งอิทธิพลของการปฏิวัติและรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงให้เป็นมาตรฐานระดับโลก และก็ได้รับการตอบสนองจากผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ ของโลกไม่น้อยแม้ว่าในปลายทศวรรษ 1950 มอสโคว์จะคลายมนต์ขลังของความเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติ ดังที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม พร้อม ๆ กับการที่ประเทศที่เดินแนวทางสังคมนิยมอย่างจีนและเวียดนามได้หันไปยึดแนวทางชาตินิยมหรือผลประโยชน์ของชาติตน มากกว่าแนวทางสากลนิยมหรือการปฏิวัติโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีจีนที่หันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ (แม้จะเป็นทุนนิยม) ต่อต้านสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 แต่กระแสคลื่นของการปฏิวัตินั้นก็ยังคงกระจายอยู่ทั่วไป คละเคล้าด้วยความคิดทั้งแบบเสรีนิยมและสังคมนิยม ที่ผู้ที่ต้องการปลดปล่อยเปลี่ยนแปลงสังคมของตนจะใช้สร้างความบันดาลใจหยิบยืมไปดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1960 และ 1970 ที่เป็นยุคสมัยของขบวนการนักศึกษาทั่วทั้งสามโลก ในโลกที่หนึ่งอย่างสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก (รวมทั้งญี่ปุ่น) แนวความคิดปฏิวัติที่เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา ปรากฏออกมาในแง่ของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” มากกว่าที่นักศึกษาจะเข้ายึดอำนาจทางการเมือง เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในเชิงการปลดปล่อยตนเอง เป็นรูปแบบของการต่อต้านสถาบันเดิม (anti – establishment) ปลดปล่อยตนเองจากวัฒนธรรมเก่า สร้างวัฒนธรรมใหม่ ดังเห็นได้จากเพลงร็อค กางเกงยีน บุปผาชน ซ้ายใหม่ หรือขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ฯลฯ ขบวนการนักศึกษานี้เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก นักศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) คิด รับรู้ ประพฤติ ปฏิบัติ คล้าย ๆ กัน การอ่านหนังสือเล่มเหมือน ๆ กัน มีวีรบุรุษในจินตนาการคล้าย ๆ กัน (เชกูเวรา) ประหนึ่งเป็นเครือข่ายหลวม ๆ จากเบิกเล่ย์ ถึงซอร์บอนน์ จากปร๊าคถึงบอนน์ จากโตเกียวถึงกรุงเทพฯ (แม้ไทยจะอยู่ในโลกที่สาม นักศึกษาไทยจะแตกต่างจากลักษณะของนักศึกษาในโลกที่หนึ่งไม่น้อย แต่เนื่องด้วยค่ายสงครามเย็นที่ไทยสังกัดอยู่และเนื่องด้วยบทบาทของสหรัฐฯ ในไทย โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม ก็ทำให้นักศึกษาไทยมีส่วนร่วมและส่วนคล้ายกับนักศึกษาในโลกที่หนึ่งไม่น้อย) รัฐในโลกที่หนึ่งดูจะแข็งแรงพอ คุ้นเคยกับการเรียกร้องเสรีภาพ และฉลาดพอที่จะจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน แม้จะมีการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับคนหนุ่มคนสาวของตน แต่โดยหลักใหญ่แล้วจะหลีกเลี่ยงการทำลายชีวิต (ยกเว้นในกรณีมหาวิทยาลัยเค้นท์ ปี 1970 ที่นักศึกษาถูกยิงตาย ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ เกือบทำให้สังคมเป็นอัมพาต) ขบวนการนักศึกษาในโลกที่หนึ่ง หาได้นำมาซึ่งการปฏิวัติในรูปแบบเก่าไม่ (1789 หรือ 1917) แต่ขบวนการนักศึกษาก็สั่นคลอนหลายรัฐบาล ในการประท้วงใหญ่ของนักศึกษาฝรั่งเศส 1968 (ที่ถูกตั้งฉายาว่า Almost Revolution) นั้นปารีสและอีกหลายเมืองกลายเป็นอัมพาตและก็เป็นผลทำให้นายพล (เหล็ก) เดอโกลล์ ไม่สามารถจะอยู่ในอำนาจได้อีกนานต่อไป ในทำนองเดียวกันนักศึกษาอเมริกันก็ทำให้ลินดอน จอห์นสัน ไม่กล้าที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยสอง (1968) ขบวนการนักศึกษาโลก กลายเป็นพลังทางสังคมและการเมืองสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่กล่าวมาแล้ว (ซึ่งก็ตรงกับช่วงของก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งถึงก่อนและหลัง 6 ตุลาคม 2519) พลังนี้นักศึกษาได้มาจากการที่อยู่ในสถาบันทางความรู้ มีเวลาพอที่จะทำกิจกรรมอยู่ในเมืองใหญ่ใกล้กับอำนาจและสื่อมวลชน การที่จะจำกัดและกำจัดนักศึกษาทำไม่ง่ายนัก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมักจะมาจากชนชั้นนำของสังคม (หรือจากชนชั้นเดียวกันกับผู้มีอำนาจนั่นเอง) ในโลกที่สาม รัฐดูจะเปราะบาง ไม่คุ้นเคยกับ (หรือไม่เป็น) ประชาธิปไตยและเสรีภาพ และไม่ฉลาดพอกับการจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน (โดยสันติวิธี) บ่อยครั้งรัฐจะทำเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงและการทำลายชีวิตในการเผชิญกับปัญหา เป็นเรื่องเกือบจะปกติทีเดียวที่ในโลกที่สามจะเห็นรัฐประกอบ “อาชญากรรม” ดังเช่นในลาตินอเมริกา (อย่างเม็กซิโก ชิลี หรือ อาร์เจนตินา) หรืออย่างในเอเชียที่ภาพของ “อาชญากรรมโดยรัฐ” จะกลายเป็นภาพที่ค่อนข้างคุ้นหูคุ้นตา (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เกาหลี จีน ฯลฯ อันเป็นรายการและรายละเอียดยาวเหยียดแทบไม่รู้จบ) น่าสนใจและน่าประหลาดใจไม่น้อย ที่แม้รัฐในโลกที่สามจะปราบปรามนักศึกษาและขบวนการปลดปล่อยของตนเองอย่างหนัก แต่ขบวนการนักศึกษาในประเทศเหล่านี้ก็ยังเป็นพลังสำคัญ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่น้อย อย่างเช่นในเม็กซิโก 1968 เมื่อนักศึกษาประท้วง แต่รัฐปราบปรามทำลายชีวิตไป 28 คน การเมืองเม็กซิโกก็ไม่สามารถหันกลับไปสู่อำนาจนิยมได้เช่นเดิม เช่นเดียวกับไทย 14 ตุลาคม (1973) ที่เมื่อรัฐทำลายชีวิตไป 70 กว่าคน ระบอบถนอม – ประภาส – ณรงค์ ก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ไทยแลนด์ 1973 สร้างความบันดาลใจให้ขบวนการนักศึกษากรีก ที่ร้องตะโกนคำว่าไทยแลนด์ ๆๆๆๆ ประหนึ่งจะแปลว่า เสรีภาพ ๆๆๆๆ ในการประท้วงและขับไล่รัฐบาลอำนาจนิยม (เสนา – อำมาตยนิยม) ของตน อาจสรุปได้ว่า จากระยะเวลาช่วงยาวของการเมืองโลก กระแสความคิดที่จะปลดปล่อยและพลังของขบวนการนักศึกษานี้แหละ ทำให้เห็นที่มาและที่ไปของ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 เยาวชนคนหนุ่มสาวมี “ความฝัน” ที่จะเห็นโลกใหม่ของเขาและเธอ ในฐานะของโลกที่สาม นักศึกษาไทยก็เข้าไปใกล้และสั่นคลอนอำนาจของรัฐมากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นของเขาและเธอในโลกที่หนึ่ง ขบวนการนักศึกษาไทยช่วง 2516 – 2519 ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของ “ช่วงระยะเวลายาว” ของการเมืองไทยกว่า 100 ปี ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ช่วงระยะเวลายาว” ของการเมืองโลกกว่า 2 ศตวรรษ มาพร้อมและทันกับระยะเวลาของการปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลงของโลกครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เมื่อถึงทศวรรษ 1980 ทุกอย่างก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง สหภาพโซเวียต (และระบบสังคมนิยม) ล่มสลาย เศรษฐกิจการตลาด (คำที่ใช้แทนทุนนิยม) และ (ความกระสัน) โลกาภิวัตน์ก็ผงาดจนถึงกับเชื่อกันว่าเราจะมุ่งไปข้างหน้าพร้อมด้วย “ความพินาศของอดีต” และ “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” กระนั้นแหละ (หรือ) |
|||
|
Be the first to comment on "6 ตุลา กับสถานะทางประวัติศาสตร์การเมือง"