Beijing : (1) ชาวดิจิตอลโดยกำเนิด”

ในการสัมมนาย่อย 1 วัน ก่อนการประชุมใหญ่ Asian Media Summit 2010 ที่กรุงปักกิ่ง

เขาจัดให้มีเวทีการแลกเปลี่ยนระดมความคิดอย่างอิสระและไม่มีพิธีรีตองมากนัก เรียกว่า pre-summit workshop ซึ่งโดยมากจะเปิดให้สื่อมวลชนอิสระและเอ็นจีโอได้มีโอกาสพูดคุยกันเต็มที่ พวกเรากรรมการนโยบายของ TPBS ที่ไปร่วมประชุมด้วยกัน 5 ท่าน ต่างทำหน้าที่แยกย้ายกันไปร่วมวงตามหัวข้อที่ตนสนใจ

 

ผมเป็นคนที่ไม่มีความรู้ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนนัก ยิ่งเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ความพยายามเป็นที่สุด จึงเลือกเข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อแนวทางการช่วยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอล(Migration to Digital) ซึ่งเป็นภารกิจเฉพาะหน้าที่หลายแระเทศต้องรับการเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนของเราก็มีเป้าหมายร่วมกันที่จะเปลี่ยนจากระบบอนาล็อก เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมดทุกประเทศภายในปี 2015 หรือ พ.ศ.2558 ซึ่ง TPBS เองได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวขององค์กรแล้ว

ในส่วนของสถานโทรทัศน์และวิทยุในฐานะผู้กระจายเสียงและแพร่ภาพ (Transmitter) นอกจากต้องปรับตัวในด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การผลิตและเผยแพร่รายการแล้วยังต้องขวนขวายค้นหาเนื้อหาสาระและบริการที่เป็นประโยชน์มาป้อนผู้ชมผู้ฟัง ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาสังคมด้านต่างๆที่มีความต้องการที่มากขึ้นอีกด้วย

การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกประเทศและทุกองค์กรต้องเตรียมตัว สำหรับ TPBS คงไม่ใช่เรื่องที่น่าหนักใจอะไรนัก เพราะเรามีสถานีโทรทัศน์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงจัดการตัวเองไม่ยาก

แต่ทางด้านประชาชนผู้รับสัญญาณ (Receiver) นั้นเป็นเรื่องใหญ่มากที่ใครจะพัฒนาหรือผลักดันตามลำพังไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐจะต้องเข้ามาดูแลอย่างมีนโยบายและแผนการ เพราะทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้เครื่องรับโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกอยู่ หากจะให้เปลี่ยนมารับสัญญาณในระบบดิจิตอลก็ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยที่เรียกว่า STB(Set Top Box) ไปติดตั้ง

รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนในการจัดหาอุปกรณ์ในราคาถูกเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านผู้รับสัญญาณทั่วประเทศ ระยะเฉพาะหน้าจะใช้วิธีจำหน่ายจ่ายแจก หรือการสร้างแรงจูงใจประการใดก็ต้องมีแผนการกันแล้ว รวมทั้งในระยะยาวที่ต้องเป็นบทบาทของโรงงานผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ที่ต้องผลิตเครื่องรับแบบดิจิตอลเข้าแทนที่ก็ต้องมีนโยบายและเป้าหมายระยะเวลาที่ชัดเจน
ผมเข้าใจว่า ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน น่าจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลไปหมดแล้ว ส่วนจีนเราได้ฟังจากเจ้าหน้าที่ CCTV บอกว่าเป็นดิจิตอลแล้ว แต่ผมไม่แน่ใจเพราะทราบมาว่าคนจีนส่วนใหญ่ยังคงรับสัญญาณโทรทัศน์จากเสาอากาศ เพราะจานดาวเทียมไม่มีการอนุญาตให้ใช้โดยทั่วไป แม้CCTV ซึ่งเป็นของรัฐบาลกลางก็ยังมีหลายช่องที่ผลิตเพื่อชาวต่างประเทศซึ่งจะรับได้ผ่านจานดาวเทียม ตามโรงแรมและสถานที่บางแห่งที่ได้รับอนุญาตติดตั้งเท่านั้น นี่คงเป็นวิธีควบคุมข้อมูลข่าวสารตามแบบฉบับของประเทศเขา

ผู้นำเสนอจากอินโดนีเซียเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า โทรทัศน์บ้านเขาเป็นระบบ PAL 625 แบบยุโรป เขามีแผนดำเนินงานที่จะเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทั้งระบบทั่วประเทศภายในปี 2018 เขาทำการสำรวจพื้นที่และเริ่มทดลองติดตั้ง STB รุ่นแรก 1,000 เครื่องก่อนที่จะขยายออกไป เจ้า STB นี่ที่บ้านเขามีราคา 20,000 รูเปีย หรือประมาณ20 USD ซึ่งถือว่าแพงมากสำหรับประชาชนทั่วไปครับ

GMCD (Global Media Center for Development) WGM SA (Worldview Global Media) และ Logiways เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและอุทิศตนในการช่วยเหลือแนะนำการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อคไปเป็น DTT (Digital Terrestrial Television) ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เราจะเชื่อมโยงเป็นพันธมิตรในการทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวงสัมมนาวันนั้น มีคำหนึ่งที่ผมเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกและช่วยกระตุ้นให้เกืดความคิดอย่างมากคือ “Digital Natives” เข้าใจว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งของจีนเป็นคนพูด โดยเขาพยายามอธิบายว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคดิจิตอลนั้น คือ “ชาวดิจิตอลโดยกำเนิด” คนรุ่นนี้จะคุ้นเคยกับเครื่องมือเทคโนโลยีและภาษาการสื่อสารของยุคดิจิตอลอย่างเป็นธรรมชาติ ในจีนเขาบอกว่าสามารถแบ่งคร่าวๆที่อายุประมาณ 30 ปีลงไป ส่วนคนที่อายุเกิน 30 ปี และสนใจเรียนรู้และใช้เทคโนโลยียุคดิจดตอลนั้น เขาเรียกว่า “Digital Migrants” กล่าวคือเป็นคนยุคอนาล็อกที่อพยพเข้ามา แม้จะใช้ภาษาและเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ได้ชำนาญแค่ไหนก็ไม่ใช่โดยกำเนิดเหมือนพวกแรกครับ

แน่นอนว่าเมื่อวันเวลาเคลื่อนไปข้างหน้า ชาวดิจิตอลโดยกำเนิดจะยิ่งเยอะขึ้น ขณะที่ชาวอนาล็อกโดยกำเนิดและผู้อพยพจะถูกแทนที่ไปเรื่อยๆ ในสภาพความเป็นจริงยังมีคนยุคอนาล็อกอีกจำนวนมากไม่ได้สนใจที่จะอพยพเข้าสู่ยุคดิจิตอล เหมือนกันหมดทั้งในบ้านเราและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

จึงเป็นภารกิจของรัฐบาล หน่วยราชการและองค์กรอิสระที่รับผิดชอบด้านสื่อสารโทรคมนาคมรวมทั้งผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์-วิทยุ ต่างๆ จะต้องจัดบริการให้ครอบคลุมเพื่อผู้คนที่หลากหลายสามารถเข้าถึงสื่อสารสาธารณะได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมและไม่ถูกแบ่งแยกโดยเทคโนโลยีไปตามยถากรรม

อย่างไรก็ตามจากอุทธาหรณ์เรื่องชาวดิจิตอลโดยกำเนิดที่กล่าวข้างต้น เราคงต้องคำนึงถึงแนวโน้มทางประชากรในอนาคตไว้ให้มากเช่นกัน เพราะหาไม่แล้วประเทศอาจจะตกยุคและสูญเสียโอกาสในการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย
พลเดช ปิ่นประทีป
3 มิถุนายน 2553

 

Be the first to comment on "Beijing : (1) ชาวดิจิตอลโดยกำเนิด”"

Leave a comment

Your email address will not be published.