Beijing* : (2) สื่อมิติใหม่

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภูมิทัศน์สื่อ(media landscape) ทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกับการมีเทคโนโลยีใหม่ด้านสารสนเทศ ทำให้ในทุกประเทศต้องมีการประเมินและกำหนดทิศทางกันใหม่ทั้งในด้านกรอบกฎหมายและยุทธศาสตร์สื่อที่เกี่ยวข้อง

เพียงแค่ในวงการกระจายเสียงและแพร่ภาพเอง สถานีวิทยุโทรทัศน์แบบดั้งเดิมและแบบใหม่ก็ยังต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันกันให้บริการภาพและเสียงที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก และยังต้องไขว่คว้าโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียุคใหม่ เช่น internet, mobile TV, IPTV, HDTV, 3D-TV, DTT, iPod, itune, VOD, Web2.0 เป็นต้น

ในเวที AMS 2010 ที่ปักกิ่ง มีบางคนถึงกับเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าเป็นยุค “การปฏิวัติสื่อ” (Media Revolution) ทีเดียว

ด้านพฤติกรรมผู้รับสื่อ ทุกวันนี้ความนิยมการรับสื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของเทคโนโลยีที่ประชาชนใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน ผู้คนที่ใช้อินเตอร์เนทติดต่อกันหรือที่เรียกว่า “ประชากรเน็ท” หรือ “Netizen” เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในทุกสัปดาห์ เมืองจีนมี Netizen 380 ล้านคน (คิดเป็น 26% ของประชากร) อินเดียมีจดทะเบียนใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นเดือนละ 20 ล้านราย

ที่แน่ๆ คือ คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มในการรับหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ลดลง พวกเขานิยมใช้สื่อมิติใหม่ที่เป็น interactive multimedia มากกว่า ดังนั้นสถานีโทรทัศน์ วิทยุ สำนักข่าว และธุรกิจโฆษณาจึงต้องปรับตัวตามกันจ้าละหวั่น

 

 

เอาแค่เรื่องเทคโนโลยีการส่งภาพและเสียงจากสถานีส่งไปยังผู้รับในเมืองไทยเรื่องเดียวสถานีโทรทัศน์แบบดั้งเดิมยังพากันปวดหัวเพราะผู้ชมหายไหมาก เพราะเดี๋ยวนี้มีเคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม เกิดขึ้นหลายร้อยสถานีแข่งขันให้บริการ นี่ยังไม่นับดิจอตอลทีวีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกมากมาย เล่นเอาสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่ถือครองระบบเสาอากาศภาคพื้นมายาวนานถึงเวลาต้องขบคิดกันอย่างหนักว่าจะปรับตัวเพื่อไปข้างหน้าอย่างไร
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีการใช้ internet และ new mediaมากขึ้น แต่ผู้คนกลับให้ความเชื่อถือต่อข้อมูลข่าวสารในช่องทางดังกล่าวน้อยกว่าทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เนื่องจากสื่อดั้งเดิมเหล่านี้มีมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่สูงกว่า
          สถานีโทรทัศน์อัลจาซีร่า เล่าบทเรียนว่าเขาสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมาได้จากหลักการของ ความโปร่งใส  ความเป็นมืออาชีพและการระมัดระวังในความเป็นกลาง เพราะต้องประคองตัวท่ามกลางสายตาของสหรัฐอเมริกา, กลุ่มประเทศอาหรับ กลุ่มประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย อิสราเอล และกลุ่มประเทศแอตแลนติคทั้งหลาย นอกจากนั้นเขายังมีแหล่งข่าวที่ลึก มีคุณภาพ และนำเสนอรายการโทรทัศน์ที่ครบเครื่องทั้งในเชิงประวัติศาสตร์   วัฒนธรรม และเหตุการณ์ปัจจุบัน

สถานีโทรทัศน์ NHK บอกว่าตามทฤษฎีแล้วประชาชนที่มีการศึกษามากจะเชื่อถือสื่อน้อยลง และยิ่งสังคมมีความเป็นขั้วมาก (polarization) หรือ มีสื่อเลือกข้างจำนวนมาก (Partisan/Partiality) สื่อจะได้รับความเชื่อถือลดลงตามไปด้วย

ที่ NHK มีการสำรวจความน่าเชื่อถือ (Trust Rating) มาเป็นระยะๆ ซึ่งพบว่าคนญี่ปุ่นยังให้ความเชื่อถือต่อ NHK อย่างสูงมากถึง 80 % แม้ว่าขณะนี้คนญี่ปุ่นจะหันไปนิยมใช้อินเตอร์เนทถึง 60% และมีการศึกษาดีมากก็ตาม

          สำหรับประเทศไทย TPBS คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพัฒนาสื่อมิติใหม่หรือ New Media อย่างจริงจัง เพื่อรองรับกลุ่มผู้ชมผู้ฟังที่เป็นคนรุ่นใหม่

ก่อนอื่นเราคงต้องศึกษาโครงสร้างและสัดส่วนทางประชากรของประเทศไทยเสียก่อน โดยพิจารณาเจาะลึกในเชิงพฤติกรรมการใช้ internet และเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมยุคใหม่เป็นสำคัญ อาทิ: ประชากรเน็ท กับประชากรที่ไม่ใช้เน็ท, ชาวดิจิตอลโดยกำเนิดกับชาวอนาล็อกโดยกำเนิดและชาวดิจิตอลอพยพ, ประชากรชนชั้นล่าง กับชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง, จำนวนเครื่องรับสัญญาณผ่านเสาอากาศ กับที่ผ่านดาวเทียม และสายเคเบิ้ล ฯลฯ ซึ่งข้อมูลพฤติกรรมในปัจจุบันและแนวโน้มระยะสั้น-ระยะยาว มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์การ

          อย่างไรก็ตามทีวีไทย และวิทยุไทย ถือเป็นก้าวแรกของสื่อสาธารณะสายพันธุ์ไทยที่ TPBS เริ่มขับเคลื่อน ซึ่งเราคงต้องเร่งสร้างความนิยม และรับความเชื่อถือไว้วางใจให้ได้เสียก่อน เพราะจะเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับก้าวไปสู่สื่อรูปแบบอื่นต่อๆไปในโลกของเทคโนโลยีสื่อสารที่เร็วจี๋
          ขณะเดียวกันในด้านงานพัฒนาวิชาการสื่อสาธารณะ เราคงต้องปัดฝุ่นการทำ Quality Rating ขึ้นมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับ Trust Rating ที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ก็น่าจะถึงเวลาที่ต้องลงมือบุกเบิกได้แล้วกระมังครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
4 มิถุนายน 2553

 

Be the first to comment on "Beijing* : (2) สื่อมิติใหม่"

Leave a comment

Your email address will not be published.