ดูเหมือนว่าเมื่อพูดถึงวิทยุชุมชนแล้ว สิ่งที่ประเทศต่างๆ นำเสนอในที่ประชุม AMS 2010 จะดูจิบจ้อยไปเลย เมื่อเปรียบเทียบกับการระเบิดตัวเชิงปริมาณและความโกลาหลอย่างยิ่งของวิทยุชุมชนในประเทศไทย
Ashish Sen รองประธานองค์กร AMARC เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า องค์กรของเขามีเครือข่ายสถานีวิทยุชุมชนทั่วโลกอยู่ 6,000 สถานีใน 110 ประเทศ ซึ่งสมาชิกมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ช่วยเหลือกันในการผลักดันรณรงค์ การพัฒนาศักยภาพ การเกื้อกูลทางเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนเนื้อหาสาระของรายการ
เขาบอกว่าที่จริงอินเดียเริ่มมานานแล้ว ตั้งแต่ศาลยุติธรรมสูงสุดมีคำสั่งให้คลื่นความถี่ทางอากาศถือเป็นสมบัติของสาธารณะ แต่เวลาผ่านมาถึง 11 ปี รัฐบาลเพิ่งจะเห็นชอบระเบียบปฏิบัติสำหรับวิทยุชุมชน ขณะที่บังคลาเทศก็เพิ่งให้การรับรองวิทยุชุมชนไม่นานมานี้ ปัจจุบันถูกวิจารณ์อย่างมากว่าเป็นวิทยุ NGO ที่อาเจะห์มีเครือข่าย ARR Net (Aceh Radio Reconstraction Network) มีสมาชิก 46 สถานีทำงานฟื้นฟูหลังสึนามิ ศรีลังกาและเนปาล มีวิทยุชุมชนแบบเคลื่อนที่ทำงานด้านเฝ้าระวังภาวะโลกร้อนและพิบัติภัยธรรมชาติ
สุภิญญา กลางณรงค์ แกนนำขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อจากประเทศไทย เล่าให้ที่ประชุมฟังถึง ผลของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องคลื่นความถี่ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว สถานีวิทยุของรัฐจำนวน 524 สถานีจะต้องถูกนำมาจัดสรรให้ภาคสังคมอย่างน้อย 20% แต่องค์กรอิสระ กสช. จัดตั้งไม่สำเร็จเนื่องจากมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในเรื่องขั้นตอนกระบวนการสรรหา และเกิดสุญญากาศ ไม่มีองค์กรอิสระดูแลจัดสรรคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ในขณะที่หน่วยงานเดินตามคือกรมประชาสัมพันธ์หมดอำนาจไปแล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงเกิดสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ถูกกฎหมายขึ้นเหมือนดอกเห็ดถึง 6,000 สถานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานีวิทยุเชิงธุรกิจขนาดเล็ก และส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นเคลื่อนมือต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองจนวิกฤตอย่างที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก
หลังจบการนำเสนอบนเวทีแล้ว ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ได้แย้งคุณสุภิญญาว่า แท้ที่จริงวิทยุชุมชนในความหมายที่แท้มีเพียง 200 แห่งเท่านั้น ที่เหลือไม่ใช่และไม่ควรเรียกวิทยุชุมชนให้สับสน
จะอย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหานี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ TPBS ควรเข้าไปร่วมดูแลผลักดันอย่างมียุทธศาสตร์ เพราะ TPBS เป็นองค์การสื่อสาธารณะระดับชาติหนึ่งเดียวที่มีทั้งสถานภาพและศักยภาพ จึงควรต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อสาธารณะของประเทศในภาคปฏิบัติ ในขณะที่วิทยุชุมชนก็เป็นสื่อสาธารณะระดับจุลภาคที่มีคุณค่าต่อการสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานล่าง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นและระบบประชาธิปไตยในภาพรวม
ในโอกาสที่อีกไม่นานนัก พ.ร.บ.ประกอบกิจการสื่อก็จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งคาดว่าภายในปลายปีนี้องค์กรอิสระ กสทช. น่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะ เพื่อแก้ภาวะสุญญากาศที่เป็นมายาวนานเสียที
การจัดสรรคลื่นวิทยุที่หน่วยงานรัฐครอบครองอยู่ให้แก่องค์กรภาคสังคมนำไปใช้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายน่าจะเกิดขึ้นได้ รวมทั้งการจัดระเบียบวิทยุชุมชนและวิทยุธุรกิจขนาดเล็กทั้งหลายคงจะเข้าที่เข้าทาง ในจังหวะนี้เอง TPBS ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับมอบคลื่นวิทยุจำนวนหนึ่งมาใช้ในกิจการขององค์การ จึงควรที่จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนเตรียมการเสียแต่เนิ่น
ถ้า TPBS มีสถานีวิทยุท้องถิ่นที่เป็นแบบฉบับของสื่อสาธารณะที่แท้สักจำนวนหนึ่ง อาจจะเป็น 10-20 สถานี มีแรงส่งและพื้นที่ครอบคลุมกว้างกว่า จะเป็น AM หรือ FM ก็ได้ ทำงานเชื่อมโยงกับสถานีวิทยุชุมชนขนาดจิ๋วของชาวบ้านที่มีความเป็นอิสระ และบทบาทตามจริตของเขาเองเป็นทั้งเพื่อนและพี่เลี้ยงซึ่งกันและกัน เช่นนี้แล้วจะกลายเป็นเครือข่ายสื่อสาธารณะเพื่อการสร้างบ้านแปลงเมืองที่ทรงพลัง
เพราะผมมองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ความเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์ระหว่าง TPBS กับเครือข่ายวิทยุชุมชน และวิทยุท้องถิ่นน่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่การจัดระเบียบวิทยุชุมชนในภาวะโกลาหลและขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อภาคปฏิบัติครับ
กลับจากการประชุม AMS 2010 กรรมการนโยบาย TPBS น่าจะตั้งประเด็นระดมความคิดกันอย่างจริงจังในเรื่องนี้
บางทีเวลา 2 ปีที่เหลือ งานชิ้นนี้อาจจะเป็น High Light ไว้โชว์ในการประชุม AMS 2012 ที่เรากำลังจะเป็นเจ้าภาพก็ได้นะครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
5 มิถุนายน 2553
Be the first to comment on "Beijing : (3) วิทยุชุมชนไทยในความขัดแย้ง"