ในการสัมมนาร่วมกันของกรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร และเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการสำนักของทีวีไทยเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์การในระยะ 5 ปีข้างหน้า มีความฝันหนึ่งถูกจุดขึ้นมากลางวงว่า อยากเห็นทีวีไทยเป็น “BBC แห่งภูมิภาคอาเซียน”
ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อน ฝ่ายบริหารนำข้อเสนอการรับเป็นเจ้าภาพการประชุม Asian Media Summit (AMS2012) ถัดจากประเทศเวียดนาม ซึ่งคณะกรรมการนโยบายมีมติเห็นชอบ โดยให้ถือเป็นงานสำคัญที่เป็นหน้าตาของประเทศและ TPBS ในฐานะสื่อสาธารณะแห่งแรกของภูมิภาค
ช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองกลางกรุงเทพมหานครซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งเรียกว่าเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภา มหาโหด” ภาพข่าวของทีวีไทยถูกสำนักข่าวต่างประเทศใช้ประกอบการรายงานข่าวไปทั่วโลก เฉพาะ CCTV ของจีน รองประธานกรรมการบอกกับเราว่าเขาใช้ข่าวจากทีวีไทยมากถึง 500 ชิ้นข่าวทีเดียว
ปรากฏการณ์ข้างต้นคงสามารถสะท้อนถึงความจำเป็นที่ทีวีไทยจะต้องเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่บทบาทระดับสากลอย่างเต็มตัวอีกภารกิจหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะรายการข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน (News & Current Affairs)
แต่การใช้ชื่อ “ทีวีไทย” และสัญลักษณ์ “รูปนก” อย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อาจไม่สื่อต่อคนต่างชาติให้เกิดการจดจำ เพราะเขาอ่านภาษาไทยไม่ออก แม้คนไทยด้วยกันเองทุกวันนี้ก็ยังมีจำนวนมากที่จำผิดจำถูกว่าชื่อของเราคืออะไรกันแน่ บางคนเรียกไทยทีวี บางคนเรียกทีวีสาธารณะ บางคนเรียกไทยพีบีเอส บ้างก็เรียกทีพีบีเอส ที่เรียกว่าช่องไอทีวีเก่าก็มีไม่น้อย
เราคงต้องขบคิดกันอย่างจริงจังถึงชื่อเรียกและโลโก้ที่ประชาชนจะสามารถจดจำได้ง่ายและคนประเทศต่าง ๆ จะระลึกได้ทันทีที่เห็นสัญญลักษณ์ติดที่หน้าจอโทรทัศน์ ไม่ว่าเขาจะดูที่ประเทศใด
การใช้ “ตัวเลข” เป็นชื่อและสัญลักษณ์ของสถานี น่าจะเหมาะสำหรับโทรทัศน์ท้องถิ่นหรือภายในประเทศหนึ่ง ๆ มากกว่า เพราะพอออกนอกประเทศเมื่อไรจะดูไม่รู้เลยว่าเป็นโทรทัศน์สัญชาติไหน
การใช้ “รูปภาพ” โดดๆก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น รูปนก รูปหยิงหยาง รูปกงจักร ล้วนเหมาะสำหรับท้องถิ่นมากกว่า
ดังนั้นสำหรับทีวีไทย ผมคิดว่าเราคงต้องเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ เป็นชื่อสถานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรากำลังจะขึ้นบ้านใหม่ในปี 2554 ช่วงนี้น่าจะเป็นจังหวะที่ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงครับ
Be the first to comment on "Beijing : (5) ทีวีไทยไปอินเตอร์"