BIG BANG : บททดลองการเมืองภาคประชาชน โดย ชัยวัฒน์ ธิระพันธุ์

เสียงปี่กลองโหมโรงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเริ่มดังกระชั้นถี่ขึ้น มีผู้อาสาหน้าเก่าและหน้าใหม่แห่งวงการการเมืองก็ปรากฏโฉมขึ้นมา นำเสนอหีบห่อนโยบายทำกรุงเทพให้น่าอยู่ ให้มีชื่อเสียง และดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก มันเป็นห่อของขวัญที่หุ้มด้วยคำพูดสวยหรูและนโยบายชวนฝัน

บางกอกฟอรั่ม

ทำไมต้อง BIG BANG

1. ความซ้ำซากของนักเลือกตั้ง
เสียงปี่กลองโหมโรงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเริ่มดังกระชั้นถี่ขึ้น มีผู้อาสาหน้าเก่าและหน้าใหม่แห่งวงการการเมืองก็ปรากฏโฉมขึ้นมา นำเสนอหีบห่อนโยบายทำกรุงเทพให้น่าอยู่ ให้มีชื่อเสียง และดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก มันเป็นห่อของขวัญที่หุ้มด้วยคำพูดสวยหรูและนโยบายชวนฝัน

พวกเราฟังเรื่องเล่าแบบนี้เมื่อถึงหน้าเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันมา 30 ปีแล้ว และเมื่อถึงคราวที่ได้เป็นผู้ว่าฯ จริง ลงมือทำจริง มันมักกลายเป็นอย่างอื่นเสมอ และเมื่อกลุ่มพลเมืองผู้ตื่นรู้และเอาการเอางาน (active citizens) พยายามนำเสนอความเห็นและเข้าร่วมการตัดสินใจนโยบายสาธารณะที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเขา กลับไม่ได้รับความสนใจ ผู้ว่าฯ บางคนถึงกับมองว่าพวกที่ต้องการมีส่วนร่วมเป็นพวกทำให้ยุ่ง”

เราจึงได้บทเรียนที่เจ็บแสบ (เจ็บปวด) จากสโลแกนที่ว่าอยากใช้ผม โปรดเลือกผม” จากนักเลือกตั้งมาสู่ผู้เป็นนายประชาชน และรู้ดีหมดว่าอะไรถูก อะไรผิด ซึ่งคนอื่น “อย่ามายุ่ง”

มันเป็นความอัดอั้นตันใจของประชาชนกับการเมืองระบบตัวแทน ที่ประชาธิปไตยของประชาชนมีเวลาเพียงแค่ 10 วินาที ในช่วงกากบาทลงคะแนนเท่านั้น


 

2. บททดลองการเมืองทางเลือก
ประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมทั่วโลกได้สอนเราว่า เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนผู้ถูกปกครอง ต้องการเห็นทางเลือกใหม่ของชีวิตและสังคม และประกาศเจตนารมณ์อย่างหนักแน่น จริงจัง ความเป็นจริงใหม่ก็เกิดขึ้นทันที ดังเช่นชาวเยอรมันตะวันออกผู้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ และกระทำการบริหารประเทศโดยอ้างชื่อว่าเป็นตัวแทนของประชาชนร่วม 50 ปี ครั้นชาวเยอรมันได้ออกมาประกาศว่า “เราคือ ประชาชน กำแพงเบอร์ลินก็ล่มสลาย”

เรามีความเชื่อว่า ประชาชนมีทางเลือกเสมอ เพียงแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจลงมือ ครั้นเมื่อใดตัดสินใจเลือก (making choice) โดยมีแรงบันดาลใจจากหัวใจ ทุกอย่างมันก็เป็นไปได้

พวกเราตัดสินใจว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 29 สิงหาคมที่จะถึงนี้ เราไม่ต้องการการหาเสียงแบบเดิมๆ ที่ผู้สมัครมานำเสนอนโยบายและสัญญาสวยหรู ว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้แก่ชาวกรุงเทพฯ แล้วเลือกคนที่เสนอนโยบายที่คิดว่าถูกใจ หรือเชื่อว่าคนคนนั้นจะทำจริง

พวกเราต้องการเปลี่ยน “เกมการเมือง” เสียใหม่ พวกเราจะเป็นผู้ประกาศเจตนารมณ์ว่า เราต้องการเห็นอนาคตของเมืองที่เราอยู่นั้นเป็นอย่างไร พร้อมทั้งเสนอกลยุทธ์ที่เป็นไปได้ในการทำภาพอนาคตของกรุงเทพฯ ให้เป็นจริง ส่วนผู้สมัครจะเป็นผู้มารับฟังความประสงค์ของพลเมืองกลุ่มนี้ นำไปพิจารณาแล้วรับปากไปเป็นนโยบายสาธารณะที่จะดำเนินการ โดยให้กลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วมในการทำงานสาธารณะด้วย



3. แรงบันดาลใจของบททดลองนี้มาจากไหน
ในกลุ่มของพวกเรา มีหลายคนซึ่งมีทักษะในการจัดประชุมระดมพลังความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่มีผู้เข้าร่วมคิดประมาณ 400-500 คนมาแล้ว เราได้เห็นและได้ปฏิบัติกระบวนการอันทรงพลังจากเทคนิค large scale intervention เราจึงคิดว่าน่าจะใช้กระบวนการแบบนี้กับบททดลองการเมืองภาคประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ครั้งนี้

นอกจากนี้ เรายังได้ความเชื่อมั่นจากบทเรียนที่ชาวกรุงนิวยอร์ค 5,000 คน ที่ได้มาร่วมประชุมกันหนึ่งวัน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า ศูนย์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่ผู้ว่าราชการกรุงนิวยอร์คต้องทำนั้น ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะตึกเวิลด์เทรด มิใช่เป็นเรื่องของผู้บริหารนิวยอร์คและทีมเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของคนนิวยอร์คทุกคน และการประชุมระดมสมองชาวนิวยอร์ค 5,000 คน เมื่อปี ค.ศ. 2002 ก็สำเร็จได้ด้วยดี

เหตุการณ์ดังกล่าวได้จุดประกายความคิดให้แก่พวกเราผู้ริเริ่มงาน BIG BANG บางกอก ๒๕๔๗ ว่าเราน่าจะทำได้เช่นกัน



4. ทำไมถึงตั้งชื่อ BIG BANG
จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งกาลเวลา” และดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ปรากฏการณ์ “บิ๊กแบง” เมื่อ 15,000,000,000,000 ปี (สิบห้าล้านล้านปี) นั้นได้เกิดการระเบิดของพลังงาน จนวิวัฒนาการเป็นระบบแกแลกซี่ ทางช้างเผือก และระบบจักรวาลต่างๆ ในจำนวนนี้มีสุริยะจักรวาลและโลกที่เราอาศัยอยู่ จากโลกที่ไม่มีชีวิตแล้วพัฒนาการสรรพสิ่งที่มีชีวิตต่างๆ ขึ้นมา รวมทั้งมนุษย์ มันเป็นหนทางที่ยาวไกล ซับซ้อน คดเคี้ยว และสร้างสรรค์ น่ามหัศจรรย์

นี่คือบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ธรรมชาติมอบให้เรา



5. We must change the way we change (เราต้องเปลี่ยนวิธีการเปลี่ยนแปลง)
วรรคทองของนายพลกอร์ดอน ซุลลิแวน อดีตเสนาธิการแห่งกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อคิดสำคัญที่เรานำมาใช้ได้ว่า ถ้าเราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานครเป็นจริง เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย

การที่พวกเราคิดการประชุมระดมพลังความคิดจากคน 1,000 คน ขึ้นมา น่าจะเป็นอุบัติการณ์ครั้งแรกของการเมืองไทย เราหวังว่าเวทีการประชุมสร้างอนาคตกรุงเทพฯ ที่เราปรารถนาจากคน 1,000 คน จะเป็นเสมือนการระเบิดของบิ๊กแบง ที่ทำให้เกิดเวทีแสดงออกของประชาชนอีกมากมาย หลายกลุ่ม หลายรูปแบบ และหลากวิธีการ เป็นวิวัฒนาการการเมืองภาคประชาชนที่ไม่มีใครทำนายได้ว่าจะมีรูปแบบและเนื้อหาอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง

รู้อย่างเดียวว่า ไม่อยากกลับมาซ้ำซากเหมือนเดิม เป็นวิวัฒนาการใหม่ของวัฒนธรรมทางการเมือง



6. จากพันหนึ่งทิวาและหนึ่งราตรี มาสู่หนึ่งพันความคิดกับหนึ่งทิวา
นิทานอาหรับราตรีเรื่องพันทิวากับหนึ่งราตรี มีเรื่องเล่าสนุกๆ ให้เราอัศจรรย์ใจในจินตนาการของมนุษย์ แต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2547 จะเป็นวันที่ผู้รักกรุงเทพฯ 1,000 คน จะมาร่วมกันสานพลังจินตนาการแห่งอนาคตของเมืองหลวงที่เราอยู่ร่วมกัน

จินตนาการได้เปลี่ยนแปลงโลกมานักต่อนักแล้ว จากสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็เป็นไปได้ จากความจริงเก่า มันก็มีความจริงใหม่



7. ความจริงใหม่ล้วนแต่เกิดจากการกระทำใหม่
ลองมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2529 เมื่อสภาพความเป็นจริงของโลก คือ การเมือง แบ่งสองโลก คือ โลกสังคมนิยมกับโลกทุนนิยม โดยมีสัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยก คือ กำแพงเบอร์ลิน ณ ปีพุทธศักราชนั้น ถ้ามีใครพูดว่า เราจะทำลายกำแพงเบอร์ลินลงโดยไม่มีสงครามระหว่างสองค่าย ผู้คนย่อมหัวเราะเยาะต่อความคิดและว่าเป็นสิ่งเพ้อเจ้อ

เดือนพฤศจิกายน 2532 กำแพงเบอร์ลินล้มครืนลงด้วยน้ำมือของชาวเยอรมันตะวันออก มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่า สิ่งที่ไปไม่ได้ กลับเป็นไปได้ ความจริงใหม่เกิดจากสถานการณ์ใหม่ และสถานการณ์ใหม่ เกิดขึ้นจากการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งเสมอ

มากาเร็ธ มีด (Magareth Mead) นักมานุษยวิทยาผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้ฝากคำพูดที่มีความไว้ว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนกลุ่มเล็กๆ ที่ช่างคิดและปฏิบัติอย่างใคร่ครวญ จะเปลี่ยนสิ่งใหญ่ๆ ไม่ได้ เพราะประวัติศาสตร์มันได้พิสูจน์มาแล้ว”



8. การ “ด้น” ทางการเมือง คือ สีสันการเมืองภาคประชาชน
การทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ย่อมเสี่ยงเสมอ คนจำนวนไม่น้อยสังเวยชีวิตกับการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ชีวิต ถ้าไม่เสี่ยงกันเสียเลย ทำอะไรก็ทำอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นแค่ชีวิตที่เหี่ยวเฉาพวกเราจึงใคร่ขอเชื้อเชิญท่านทั้งหลาย มาทำงานการเมืองนอกตำรา” กันบ้าง การ “ด้น” ทางการเมืองแบบนี้ ไม่มีความเสี่ยงนักดอก เพียงแต่ต้องออกแรงกาย แรงใจกันบ้าง เพื่อให้เกิดพลังชีวิตและพลังงานขับเคลื่อนให้ความปรารถนาอันแรงกล้าของเราปรากฏเป็นจริง



9. ท่านจะร่วม “ด้นชีวิต” เพื่อสร้างการเมืองทางเลือกได้อย่างไร
การด้น” เป็นคำที่หยิบยืมมาจากศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ คุณสมบัติ “การด้น” นี้เป็นความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในคนไทยโดยทั่วไป มันเป็นแรงดลใจที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน สร้างสรรค์เหตุการณ์ใหม่ๆ ออกขึ้นจากกรอบเดิมๆ

สิ่งแรกที่เราอยากให้ท่านทำเป็นประการแรก คือ มาร่วมงานบิ๊กแบง: การระเบิดแห่งพลังงาน” ในเสาร์วันที่ 17 กรกฎาคม 2547

ประการที่สอง เราปรารถนาที่เห็นท่านร่วมกับมิตรสหาย ตั้งกลุ่ม ชมรม หรือรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ แล้วแต่ความถนัด แล้วจัดการเคลื่อนไหวขึ้นมาในเรื่องที่ท่านคิดว่า มันมีความหมายและมีความสำคัญต่อตัวท่านและกรุงเทพฯ การเคลื่อนไหวของท่านเป็นเวทีอิสระ ตามประเด็นที่กลุ่มของท่านสนใจ ส่วนพวกเราจะประสานงานกับท่าน ร่วมมือกับท่าน และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เมื่อท่านต้องการ

ขอย้ำว่า พวกเราเชื่อมั่นในความคิดและการกระทำที่แตกต่างหลากหลาย เพราะนี่คือกฎแห่งวิวัฒนาการของธรรมชาติและชีวิต เรามั่นใจว่า ในความแตกต่างหลากหลายนี้ เราเชื่อมโยงถึงกันและกันได้ มันเป็นพลังที่ยืดหยุ่น พลิกแพลง และไม่ครอบงำกัน



10. ท่านจะร่วมมือในการสร้าง “บิ๊กแบง” ให้มีพลังได้อย่างไร
สิ่งแรกที่คณะทำงานใคร่ขอความร่วมมือจากท่านคือติดต่อแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมงานของท่าน โดยให้ชื่อ และที่ติดต่ออย่างละเอียด เพราะเราต้องการทราบจำนวนผู้เข้าร่วมอย่างชัดเจนในการจัดการได้อย่างเหมาะสมและดีที่สุด

เรื่องที่สองก็คือ กรุณามาร่วมงานอย่างตรงต่อเวลา เพราะกระบวนการประชุมที่มีพลังต้องดำเนินไปตามขั้นตอนและเวลาที่กำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด อันจะทำให้งานของพวกเรามีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล บวกความสนุกสนานและเปี่ยมพลังสุข

สาม เมื่อมาร่วมงานแล้วเราอยากให้ท่านได้อยู่จนจบพิธี ซึ่งจะมีการสะท้อนความคิดสั้นๆของผู้สมัครที่เราเชิญมาร่วมงาน (แต่เขาจะไม่มีสิทธิ์หาเสียง) แล้วเราจะรับประทานอาหารเย็นร่วมกันริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่นชมความงามยามค่ำคืนของบางกอกเพื่อเติมพลังชีวิตให้แก่กันและกัน ถักทอสายสัมพันธ์เครือข่ายให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นในการเดินฝ่าไปข้างหน้าร่วมกัน



11.สุดท้ายเราจะเดินไปด้วยกัน
พวกเรารู้ดีว่างานนี้เป็นงานที่ยาก แต่เมื่อได้ใคร่ครวญดูแล้ว เราคิดว่าการปล่อยให้นักเลือกตั้งที่มีความคิดซ้ำซากได้ทำงานต่อไปอย่างที่เคยเป็น โดยไม่มีการเลือกเส้นทางใหม่ ความทุกข์มันก็จะทับถมลงมาที่พวกเรา พวกเราจึงสรุปร่วมกันว่า เราต้องเลือกเส้นทางใหม่ให้ได้ เพราะ “ชีวิตนี้ เราเลือกได้” การตัดสินใจเลือกแล้วเดินบนเส้นทางที่ชีวิตปรารถนานั้นดีกว่านั่งบ่น แล้วไม่ทำอะไรเลย

และนี่คือวิถีแห่งการทำการเมืองทางเลือกอย่างแท้จริง

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.big-bangkok.com
หรือ บางกอกฟอรั่ม โทรศัพท์ 0-2228-1362-3 หรือ 0-1325-6323

http://www.big-bangkok.com/activities/article_bb1.php#1

Be the first to comment on "BIG BANG : บททดลองการเมืองภาคประชาชน โดย ชัยวัฒน์ ธิระพันธุ์"

Leave a comment

Your email address will not be published.