Dayton USA : เมื่องเล็ก ที่ยิ่งใหญ่

Dayton เป็นเมืองขนาดเล็ก  ตั้งอยู่ในเขตมลรัฐโอไฮโอ  ในตำแหน่งทำเลที่เรียกว่าเป็น “Midwest” หรือ “Crossroads” ของสหรัฐอเมริกา….ชาวเมืองที่นี่เขามีความภาคภูมิใจในรากเหง้าความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่น  ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและบทบาทบรรพบุรุษ….

Dayton USA : เมื่องเล็ก ที่ยิ่งใหญ่
พลเดช ปิ่นประทีป
27 มิถุนายน 2549



1. เมืองแห่งนักประดิษฐ์

Dayton เป็นเมืองขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในเขตมลรัฐโอไฮโอ ในตำแหน่งทำเลที่เรียกว่าเป็น “Midwest” หรือ “Crossroads” ของสหรัฐอเมริกา

ชาวเมืองที่นี่เขามีความภาคภูมิใจในรากเหง้าความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่น ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและบทบาทบรรพบุรุษ พวกเขาเห็นความเสียสละและความเฉลียวฉลาดในหมู่ประชากร ทั้งในส่วนภาคเอกชนและภาคสาธารณะที่กำลังช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นในส่วนอื่นๆของประเทศและของโลกก็ยิ่งทำให้พวกเขามีความภาคภูมิใจในคุณภาพชีวิตและเมืองของพวกเขา

เมือง Dayton ตั้งขึ้นเมื่อปี 1805 หรือ 200 ปีล่วงมาแล้ว และประวัติศาสตร์การประดิษฐ์เครื่องบินของพี่น้องตระกูลไร้ท์(Wilber & Alwin Wright) ในปี 1903 ที่เมืองแห่งนี้เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่าคือสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้เปลี่ยนโฉมพฤติกรรมและขีดความสามารถของมนุษยชาติในด้านการเดินทางและการติดต่อสื่อสาร ซึ่งนำโลกเข้าสู่ยุคอากาศยาน นับจากนั้นเป็นต้นมาชุมชนที่นี่ไม่เคยหยุดนิ่ง เมืองแห่งนี้เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตประชากรและผลิตภัณฑ์ที่ปรับโฉมชาวโลกในยุคศตวรรษที่ 20

นอกจากพี่น้องตระกูลไร้ท์ผู้ให้กำเนิดเครื่องบินและสิ่งมหัศจรรย์ในการบินแล้ว ยังมีนักกวีเอกชาวอาฟริกัน-อเมริกันที่มีชื่อเสียงมากอีกท่านหนึ่งคืออ Paul Laurence Dunbar ท่านผู้นี้สามารถใช้ถ้อยคำง่ายๆ กระตุ้นจินตนาการแห่งความรัก เยาวชน และชีวิตจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ยังมีนักประดิษฐ์ใหญ่อย่างเช่น Charles F. Kettering ผู้คิดค้น auto-start mobile ที่พลิกโฉมยานพาหนะทุกชนิดสู่ยุคใหม่ มี Burton Westcott ผู้ฟูมฟักอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นรากฐานที่ทำให้เมืองดีทรอยต์ที่อยู่ข้างเคียงกลายเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา และนักประดิษฐ์ท่านอื่นๆ อีกมาก

ในยุคสงครามโลก แรงขับดันในการต่อสู้ท่ามกลางอภิมหาสงครามได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการต่อสู้และทำลายล้างกันอย่างขนานใหญ่จากกลุ่มประเทศคู่สงคราม ซึ่งในครั้งกระนั้นน่าจะถือได้ว่า Dayton และเมืองแถบนี้คือห้องทดลองสำคัญส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายพันธมิตร

 

2. ความอุดมสมบูรณ์

ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความน่าอยู่ของเมือง เพราะเป็นรากฐานของการทำมาหากิน วิถีชีวิต ความสะดวกสบายของผู้คนและเศรษฐกิจของเมือง

ขณะที่เครื่องบินกำลังบินผ่านมหาสมุทรแปซิฟิคเข้าสู่แผ่นดินทวีปอเมริกาเหนือ หากมองลงมาข้างล่างจะเห็นเทือกเขาสูง ซึ่งแม้จะเป็นช่วงฤดูร้อนก็ยังมีหิมะปกคลุมขาวโพลนอยู่ที่ยอดและสันเขาเป็นแนวคล้ายขนนก

 

ถัดลึกเข้ามาอีกชั่วขณะหนึ่งจึงเริ่มเห็นสายน้ำโคโลราโดที่โดดเด่นไหลพาดผ่านโขดเขาและทะเลทรายกว้างสุดสายตาลงไปทางทิศตะวันออกซึ่งลดระดับต่ำลง แล้วจึงมาถึงที่ราบลุ่มทางภาคกลางของสหรัฐอเมริกาที่เต็มไปด้วยทะเลสาบและแหล่งน้ำน้อย-ใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ในแถบมลรัฐ Minnesota, Michigan และ Ohio

เมือง Dayton ตั้งอยู่ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ด้วยทำเลที่ตั้งที่พอเหมาะ มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ อุดมด้วยองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น ประกอบเข้ากับวิสัยแห่งการเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลาในระยะ 200 ปีที่ผ่านมาจึงกลายมาเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญซึ่งพลเมืองที่นี่เขานำมาใช้เป็นพลังสาธารณะในการจัดการเมืองของตนให้น่าอยู่ และน่าภาคภูมิใจอย่างเช่นปัจจุบัน


3. บทบาททางสังคมและการเมือง

บทบาทของเมืองและท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบและสีสันของประวัติศาสตร์ประเทศหรือประชาชาติ น่าเสียดายที่ประเทศไทยของเรามองไม่เห็นความสำคัญของท้องถิ่น รวมศูนย์ทุกอย่างเข้าสู่ส่วนกลาง และพยายามทุกอย่างที่จะทำให้เป็นเหมือนๆ กันหมด รวมทั้งการมีประวัติศาสตร์ชาติไทยเพียงฉบับเดียวโดยละเลย หรือลบทิ้งประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ได้สร้างไว้ก่อนที่จะมีการรวมเป็นประชาชาติไทยและประเทศไทยของเราไปเสียสิ้นเรื่องไฟใต้จึงโหมครั้งแล้วครั้งเล่าไม่หยุดมอด

ประวัติศาสตร์ควรมีการบันทึกอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ลำเอียง หรืออคติเพื่อรับใช้ชนชั้นปกครองกลุ่มใด เพราะประวัติศาสตร์จะเป็นบทเรียนที่มีค่าอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตในการเรียนรู้และปรับตัว ผมได้เห็นข้อมูลจากนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาที่เมือง Dayton เขาบันทึกไว้ว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงที่สุดนั้น ในขณะที่พรรคนาซี เยอรมันได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรป และจักรพรรดินิยมญี่ปุ่นรุกรานเข่นฆ่าชาวจีน เกาหลี และขยายอาณาจักรยึดครองไปทั่วเอเชียนั้น ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีขบวนการที่ชื่อ Klu Klux Klan (KKK) เคลื่อนไหวทางสังคมด้วยลัทธิเหยียดผิวอย่างรุนแรงและสังหารทำร้ายคนผิวดำอย่างโจ่งแจ้ง

ปี 1923 มีบันทึกว่าที่เมือง Dayton แห่งนี้มีการชุมนุมใหญ่ของสมาชิก KKK จำนวนมากถึง 7,000 คน ในถนนสายใหญ่กลางเมือง และประมาณว่าในขณะนั้น KKK มีสมาชิกราว 15,000 คน หรือ 1 ใน 10 ของประชากรเมืองที่เดียว

ในอดีตอาจเคยมีประวัติศาสตร์ที่น่าขมขื่นแต่ปัจจุบันนี้ Dayton ได้พลิกบทบาทของตนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางในการขับเคลื่อนขบวนการเมืองภาคพลเมืองและเชื่อมโยงเครือข่ายประชาธิปไตยเชิงคุณธรรมและภาคประชาสังคมทั้งภายในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกไปแล้ว ซึ่งในการนี้ มูลนิธิแคทเทอริง (Kettering Foundation) เป็นองค์กรและสถาบันทางสังคมส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง

 

4. เมืองในสวนที่ร่มรื่น

ในทางกายภาพ Dayton เป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับเมืองมาตรฐานในสหรัฐอเมริกาและยุโรปโดยทั่วไป สิ่งแวดล้อมของเมืองนี้อยู่ในขั้นที่ดีมาก สมกับเป็นเมืองในสวน เพราะมีต้นไม้และสวนสาธารณะเขียวขจีอยู่เต็มไปหมด

แม่น้ำลำคลองทุกแห่งในเมืองนี้มีน้ำใสสะอาด บนฝั่งแม่น้ำใหญ่ 2 สายของเมืองคือแม่น้ำเกรทปีเตอร์และแม่น้ำแมดถูกกันเอาไว้เป็นที่สาธารณะที่กว้างมากทั้ง 2 ฟากฝั่ง

ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง แต่เขาทำเป็นสวนสาธารณะ มีถนนเล็กๆ แบบ Local Road และทางเดิน อย่างไรก็ตามหากสังเกตสักหน่อยจะแลเห็นท่อระบายน้ำจากชุมชนที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียแล้วไหลลงสู่แม่น้ำเป็นระยะ ไม่พบว่ามีสิ่งก่อสร้างขวางกั้นทางน้ำแบบที่เห็นในบ้านเรา

ระหว่างเดินชมเมืองไปตามทางเดินริมฝั่งแม่น้ำ ผมมองเห็นนกป่าและนกเป็ดน้ำ บ้างบินว่อน บ้างกำลังเล่นน้ำหากินกันเป็นกลุ่ม บนฝั่งมีกระต่ายป่าวิ่งไล่กันให้เห็น พอเดินเข้าไปใกล้พวกมันหยุดชะเง้อแล้วกระโดดหนีไปช้าๆ สิ่งเหล่านี้ใครที่ผ่านไปมาก็คงสามารถสัมผัสคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ของเมืองนี้ได้ทันทีทันใด

เห็นธรรมชาติและสัตว์เหล่านี้แล้ว ผมนึกถึงบ้านเรา ถ้าเป็นแบบนี้คงถูกจับกินหมดทั้งกระต่าย ทั้งนกเป็ดน้ำเพราะคนอดอยากยากจนยังมีอยู่มาก เมืองที่มีประชากรยากจนจำนวนมากถึง 20% อย่างบ้านเรา หรือ 80% อย่างบางประเทศในอาฟริกาจะไปฝันถึงสิ่งเหล่านี้คงยาก การเมืองให้น่าอยู่จึงมองมิติใดมิติหนึ่งแบบโดดๆ ไม่ได้

 

5. เมืองธรรมาภิบาล (?)

ในด้านการจัดการเมือง ที่นี่เขามีท้องถิ่นย่อยๆ ระดับ County และ Township อยู่ในเมือง Dayton หลายแห่ง ซึ่งเข้าใจว่าจะแบ่งการบริหารจัดการเมืองและชุมชนกันตามพื้นที่ เช่น Clark County, Montgomery County, City of Troy, Champaign County, City of Centerville, Washington Township, City of Kettering, City of Springboro, City of Miamisburg, City of Middletown, City of Fairborn.การแยกย่อยในการดูแลเช่นนี้น่าจะช่วยทำให้มีการบริหารจัดการเรื่องต่างๆได้รวดเร็ว แม่นยำ และมีส่วนร่วมของชุมชนได้มากขึ้น

ในด้านการมีส่วนร่วมของพลเมือง ด้วยระยะเวลาสั้นๆ ที่สัมผัสผมคงจะไม่สามารถมองเห็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ชัดเจนนัก แต่ก็พออนุมานได้จากการที่มีโอกาสได้เข้าไปใช้บริการที่ธนาคารแห่งหนึ่งในเมือง Dayton ผมได้พบเอกสารประกาศของเทศบาลเมืองชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าเขากำลังจะมีการเปิดประชาพิจารณ์(Public Hearing) ต่อโครงการก่อสร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้ให้ข้อมูลแก่พลเมืองและเชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็น


6. คุณภาพชีวิตประชากร

น่าสังเกตว่าเมืองจำนวนมากของสหรัฐอเมริการวมทั้ง Dayton จะแตกต่างจากเมืองทางยุโรปโดยเฉพาะในด้านความกระจายตัวของชุมชน เมืองที่นี่มักมีชุมชนอยู่กันห่างๆ (Diffuse) บ้านเรือนแต่ละหลังมีที่ดินกว้างขวาง เอื้อต่อความเป็นปัจเจกมาก การเดินทางของชาวเมืองจึงใช้รถส่วนตัวเป็นหลัก เมืองเช่นนี้ระบบขนส่งสาธารณะมีบทบาทน้อย และเป็นเมืองที่ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองมาก ซึ่งผิดกับในยุโรป เมืองในยุโรปจะมีลักษณะชุมชนอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน (Compact) ทำให้การจัดระบบบริการขนส่งสาธารณะได้รับการคิดค้นพัฒนาและใช้อย่างคุ้มค่ามากกว่า เมืองแบบนั้นจะบริโภคพลังงานน้อยกว่า

ที่ใจกลางเมือง หรือ Down Town ของเมืองนี้มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับพื้นที่เมืองทั้งหมด ระบบขนส่งโดยสารสาธารณะที่นี่นเขาไม่มีรถใต้ดิน แต่เขาใช้รถบัสพ่วงเป็นรถไฟฟ้าและมีเลนเฉพาะแบบรถราง มีสายส่งพลังงานไฟฟ้าระโยงระยางไปตามถนน ผู้โดยสารบางตาผิดกับเมืองในยุโรปมาก

คนที่นี่เป็นโรคอ้วนกันโดยถ้วนหน้าเพราะพฤติกรรมการกินและการใช้รถส่วนตัว คนส่วนใหญ่จะไม่เดินหรือขี่จักรยานไปทำงานเหมือนในยุโรป มีบ้างที่เราเห็นเขาเดินตามสวนสาธารณะหรือทางเดินในชุมชน ซึ่งเพื่อนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้มานานแอบกระซิบบอกว่า นี่เป็นการเดินเพื่อออกกำลังกายเท่านั้น

ผมสังเกตว่าชาวเมือง Dayton 8 ใน 10 คน ที่เดินผ่านมาจะอ้วนท้วนจนน่ากลัว มีบางคนเปรียบเปรยว่า “อ้วนเหมือนตึก” ซึ่งพบได้ทั้งหญิงทั้งชาย คนดำหรือคนขาวไม่มีข้อยกเว้น มิน่าเล่าศูนย์โรคหัวใจของ Dayton จึงงอกงามเป็นดอกเห็ด

สภาพประชากรและผู้คนในเขตใจกลางเมืองไม่หนาแน่นเลย ผู้คนที่เดินตามท้องถนนไม่พลุกพล่าน ไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะมีขอทาน คนจรจัด หรือคนยากจนให้เห็น ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าเมืองเช่นนี้คงมีเศรษฐกิจที่ดี ผู้คนมีฐานะชนชั้นกลางและมีอันจะกินเป็นส่วนใหญ่ สินค้าและบริการของเมืองนี้น่าจะนำรายได้มาสู่ท้องถิ่นปีละจำนวนมาก อันเป็นที่มาของภาษีและรายได้ของเทศบาลที่ย่อมมีจำนวนมากพอสำหรับการดูแลระบบสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะพื้นฐานของเมืองและชุมชนได้เป็นอย่างดี

 

7. เมืองน่าอยู่ ใครคือผู้กำหนด

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Dayton Daily News ฉบับเช้าวันนี้ (June 29,2006) มีรายงานข่าวสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,757 คน โดยศูนย์กิจการเมืองและสาธารณะของมหาวิทยาลัย Wright University สรุปว่า Dayton เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย ซึ่งผู้ที่บอกเช่นนี้และผู้ที่ทำให้เมืองน่าอยู่ คือ ชาวเมือง Dayton เอง กล่าวคือ :

ผู้อยู่อาศัยจำนวน 79.4% พอใจกับงานบริการของตำรวจ(46.7% พอใจมาก) แต่ก็มีผู้ที่ให้ข้อมูลว่าตนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิม 9.5% เมื่อปี 1999 เป็น16.3%

65.1% เห็นว่าสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพียงพอดีแล้วซึ่ง 53.7% ยินดีจ่ายค่าสมาชิกเพื่อใช้บริการในสถานที่เหล่านั้น

72.5% พอใจกับความน่าอยู่ของเมือง Dayton, กว่า 90% พอใจบริการสาธารณะของเมือง, 53% มีอินเทอร์เน็ทใช้และต้องการเข้าถึงบริการสาธารณะของเมืองผ่านระบบ on-line, 94% ของผู้ที่รับบริการบอกว่าได้รับการดูแลด้วยความเคารพจากเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ผู้นำของเมืองระบุไว้ในคำสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าต้องนำไปสู่การตัดสินใจทางนโยบายเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ ข้อมูลที่ระบุว่า ความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเชื้อชาติลดลงเหลือ 18% (จากเดิม 23.9% เมื่อปี 2003) และความไว้วางใจที่จะฝากเด็กๆ ไว้กับเพื่อนบ้าน ลดลงเหลือ 47.6% (จากเดิม 58.5% ปี 1997 และ 51.5% ในปี 2003)

 

8. งานวิชาการกับการทำเมืองให้น่าอยู่

ตัวอย่างงานวิจัยเชิงสำรวจที่ดำเนินการตรวจวัดชีพจรความน่าอยู่ของเมืองโดยผ่านความรู้สึกหรือความรับรู้ของผู้อยู่อาศัยในเมืองเช่นที่เขาใช้อยู่ในเมือง Dayton นี้ เป็นประโยชน์อย่างมากที่จะเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการและความรู้สึกนึกคิดระหว่างพลเมืองกับผู้บริหารเมือง โดยมีสถาบันวิชาการท้องถิ่นและสื่อเป็นตัวกลาง ซึ่งแบบนี้ในบ้านเรายังมีน้อยมาก

อันที่จริงในบ้านเรามีการเคลื่อนไหวส่งเสริมเมืองน่าอยู่กันมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว กระแสความตื่นตัวในระดับนักคิด นักวิชาการในส่วนกลางมีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนตัวในระดับนโยบายอย่างชัดเจนแล้ว ดังเห็นได้จากการที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้บรรจุเรื่องเมืองน่าอยู่ไว้ในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 และ 9 กระทรวงมหาดไทยเองก็ได้กำหนดนโยบาย “เมืองน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศไปดำเนินการจนทุกจังหวัดพากันขานรับกันไปทั่ว อย่างน้อยก็ในเชิงรูปแบบภายนอกที่สามารถมองเห็นได้ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็มีแผนงาน/โครงการส่งเสริมเมืองน่าอยู่อย่างเป็นรูปธรรม

ยิ่งกว่านั้น เมืองของเราแต่ละเมืองล้วนมีทุนทางสังคม ทุนทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทุนทางประวัติศาสตร์และทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตน ซึ่งผมคิดว่าเรามีมากเพียงพอสำหรับการสร้างเมืองให้น่าอยู่ในแบบฉบับและความพึงพอใจของพลเมืองของเราได้

ขอเพียงแต่ให้ความสนใจในงานวิชาการและงานวิจัยเชิงสำรวจเพื่อนำมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น และมีการผนึกกำลังกันทำงานระหว่างพลังทางสังคม สาธารณะ นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และผู้บริหารเทศบาล โดยมีหัวใจรักถิ่นฐานบ้านเมือง และมีจิตใจให้กับการสร้างบ้านแปงเมืองร่วมกันเท่านั้น เมืองของเราจะน่าอยู่และยั่งยืนได้ไม่แพ้ Dayton เลย

ผมเชื่อเช่นนั้นจริงๆ !

 

Be the first to comment on "Dayton USA : เมื่องเล็ก ที่ยิ่งใหญ่"

Leave a comment

Your email address will not be published.