FTA โอกาส หรือ กับดัก

ปลายปี 2545 ประเทศไทยก็เริ่มไล่ล่าความเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงนามสัญญาการค้าแบบทวิภาคีกับประเทศบาร์เรน ตามติดมาด้วยจีนในปี 2546 อินเดีย ปี 2547 และออสเตรเลียในปี 2548 และขณะนี้ก็เดินหน้าระหว่างการเจรจากับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เปรู และประเทศในกลุ่ม BIMST-EC

 

            ถึงวันนี้คงไม่ต้องอธิบายกันแล้วว่า เอฟทีเอหรือการค้าเสรีนั้นมีความหมาย หรือมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะนับตั้งแต่ปลายปี 2545 ประเทศไทยก็เริ่มไล่ล่าความเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงนามสัญญาการค้าแบบทวิภาคีกับประเทศบาร์เรน ตามติดมาด้วยจีนในปี 2546 อินเดีย ปี 2547 และออสเตรเลียในปี 2548 และขณะนี้ก็เดินหน้าระหว่างการเจรจากับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เปรู และประเทศในกลุ่ม BIMST-EC (บังคลาเทศ มัลดีฟส์ เมียนมาร์ ศรีลังกา เนปาล และภูฐาน) แม้ขบวนรถไฟสายนี้จะเร่งรุดไปข้างหน้าอย่างไม่มีทีท่าจะหยุดยั้ง แต่คำถามสำคัญประการหนึ่ง ที่ถามกันมาตั้งแต่เริ่มต้น และยังคงต้องการคำอธิบายต่อไปก็คือ หนทางข้างหน้าที่เราและอีกหลายประเทศกำลังมุ่งไปนั้นมันเป็นเส้นชัยแห่งโอกาสหรือขวากหนาม !

ข้อดีของเอฟทีเอ
         เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้หยิบยกข้อสงสัยนี้ขึ้นมาพูดคุยผ่านเวทีนโยบายสาธารณะมหิดล ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ เอฟทีเอ:กับดักหรือโอกาสทางการค้าของไทย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจากคณะเจรจาเขตการค้าเสรี นักวิชาการ และประชาชน ฯลฯ ได้มาร่วมกันแสดงความห่วงใยต่ออนาคตของไทยอย่างคับคั่ง

คงไม่มีประเทศคู่เจรจาไหน ที่ได้ประโยชน์
หรือเสียประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าเพียงฝ่ายเดียว
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความพร้อม
และการปรับตัวของเรามากกว่า”

           นางชุติมา บุณยประภัศร ที่ปรึกษาการพานิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวงพานิชย์ ชี้แจงถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทำเอฟทีเอว่า เราต้องเปิดการค้าเสรีกับนานาประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคง และความได้เปรียบทางการค้า-การส่งออก-การลงทุนกับต่างประเทศ เพราะการเจรจาเปิดการค้าเสรี ผ่านเวทีพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) นั้นมีความยากลำบากมากขึ้น

           อย่างไรก็ดี การค้าเสรีในทุกวันนี้ได้ตกเป็นเป้าโจมตีว่า ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสินค้าเกษตรกรรม ชาวไร่ ชาวนา และคุณภาพชีวิตของคนโดยทั่วไป แต่ก็อยากให้มองการค้าเสรีเป็นเรื่องของการได้บ้าง-เสียบ้าง เพราะคงไม่มีประเทศคู่เจรจาไหน ที่ได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความพร้อม และการปรับตัวของเรามากกว่า

             “การเปิดเสรีการค้าของไทยยึดหลักที่จะทำกับตลาดหลักของเราก่อน เพราะหากประเทศคู่ค้าหลักได้ไปเปิดการค้ากับประเทศคู่แข่งของเราอื่น ๆ เราก็เสียประโยชน์มากกว่าที่จะเปิดเสรีกับเขาเสียอีก นอกจากนี้ก่อนที่จะทำก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นผลกระทบที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่รับรู้ล่วงหน้า และได้เตรียมการให้มีผู้ได้รับผลกระทบต่างปรับตัวแล้ว ที่ปรึกษาการพานิชย์ กล่าวอย่างหนักแน่น

          ด้านนายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ช่วยต่อเติมภาพของการค้าเสรีว่า การเจรจากับทุกประเทศรวมถึงอเมริกานั้นได้ดำเนินไปตามกรอบของ สำนักงานยุทธศาตร์การค้าระหว่างประเทศ กำหนดไว้ คือ คำนึงถึงหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลกัน โดยคำนึงถึงสถานะ อย่างไรเราก็ต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานทั้งสินค้าทางการเกษตร และอุตสาหกรรม

          นอกจากนี้การเจรจาก็ควรได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ตนยอมรับว่าการเจรจาทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะน้อย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการทำความเข้าใจขอบเขตการเจรจาระหว่างกันอยู่ การเจรจารอบต่อไปที่จะเกิดขึ้นในต้นปี พ.ศ.2549 นั้น ก็เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงนำเสนอข้อมูลกับประชาชน และสมาชิกสภาให้มากกว่าที่ผ่านมา

             “เราต้องปรับตัวให้พร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอให้เต็มที่ เพราะนี่คือประตูสู่โอกาสการค้ากับสหรัฐ ขณะเดียวกันก็อาจมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับเราเอง เพื่อเปิดทางให้การเจรจาทำได้ง่ายขึ้น

          ส่วนข้อมูลของกรมการค้าระหว่างประเทศก็สนับสนุนว่า การเปิดการค้าเสรีจะช่วยลดภาษีขาเข้า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง ถือเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนทางอ้อม ทั้งการลดภาษีนำเข้ายังช่วยกดดันให้ราคาสินค้าชนิดเดียวกัน หรือสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ที่ผลิตในประเทศลดราคาลงตาม นอกจากนี้ การลดภาษีศุลกากรยังทำให้มีการนำเข้าสินค้าชนิดใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีการนำเข้ามาก่อน เพราะเจอกำแพงภาษีในอดีต

ในมุมมองที่เป็นกลางก็คือโอกาสที่มาพร้อมกับ
การแข่งขัน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์
คือ ผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับ
ความเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า
และใช้โอกาสที่เปิดขึ้นได้มากกว่า”

           นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ส่งออก ลดภาระผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศ ในมุมมองของผู้ผลิตส่วนหนึ่งจะสามารถผลิตและส่งออกสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากภาษีขาเข้าของประเทศคู่สัญญาลดลง สินค้าบางอย่างที่ไม่เคยส่งออกเนื่องจากต่างชาติตั้งกำแพงภาษีก็จะเริ่มส่งออกได้

          อย่างไรก็ดี จะมีผู้ผลิตอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี คือกลุ่มของผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศซึ่งจะต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูกลง ทำให้ต้องมีการปรับตัวรับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ในมุมมองที่เป็นกลางก็คือโอกาสที่มาพร้อมกับการแข่งขัน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์ คือ ผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า และใช้โอกาสที่เปิดขึ้นได้มากกว่า

                     อย่างไรก็ตามโอกาสทางการค้าที่ถูกบอกเล่ามาข้างต้นก็เป็นเหรียญอีกด้าน ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นหลุมพราง เป็นสงครามเศรษฐกิจที่ปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็กเสมอ หรือมองว่าเป็นแผนการล่อแมลงเม่าให้บินเข้ากองไฟ

เหรียญมี 2 ด้าน  ด้านดีและด้านเสีย

             นายบัณฑูร เศรษฐิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตถึงว่า ความล้มเหลวของการเจรจา WTO ที่แคนคูนและซีแอตเติล ผลักดันให้สหรัฐใช้การเจรจาแบบทวิภาคีเป็นเครื่องมือหาพวกพ้อง และสร้างฐานเสียงในการผลักดันนโยบายทางการค้าที่ตนต้องการต่อเวทีโลก ยกตัวอย่างเช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เคยถูกคัดค้านอย่างหนักจากหลายประเทศ สหรัฐก็นำมาบรรจุให้เป็นหัวข้อหนึ่งที่ชาติคู่ค้าเอฟทีเอต้องยอมรับหลักการ ดังเช่นที่พยายามกดดันไทยอย่างหนักในขณะนี้ ด้วยเหตุที่หากสหรัฐมีชาติสมาชิกที่มีจุดยืนเดียวกันมากพอ ก็เป็นไปได้สูงที่จะหยิบยกมาตรการเหล่านี้กลับเข้าสู่เวทีโลกอีกครั้ง

            ปัญหาของการทำเอฟทีเอในบ้านเราคือ คณะผู้เจรจาซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลมักจะพร่ำบอกว่า เราจะเจรจาอย่างดีที่สุด แต่กลับไม่เคยให้คำตอบว่าอะไรคือเป้าหมาย และความเป็นธรรมในการเจรจากับแต่ละประเทศ รัฐบาลต้องสร้างตัวชี้วัดที่สามารถตอบคำถามกับคนทั้งประเทศ โดยยึดหลักการเห็นชอบร่วมกัน ผนวกกับการที่ไทยไปยอมรับหลักเจรจาของสหรัฐฯที่ห้ามเปิดเผยผลหรือข้อมูลการเจรจานั้น ทำให้คณะเจรจาต้องทำงานลำบากมากขึ้น เพราะไม่สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสังคมได้เลย ดังนั้นก่อนที่ไทยจะเจรจาตกลงทางการค้าใด ๆ ก็ควรเจรจาให้ยกเลิกข้อบังคับนี้ก่อน เพื่อเปิดทางให้คนในสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น

               “การตัดสินใจทำเอฟทีเอต้องมีกลไกที่มากไปกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องนำมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการทำประชามติมาใช้ นอกจากนี้อาจมีการร่างกฎหมายเป็น พ.ร.บ. จัดทำความตกลงระหว่างประเทศขึ้นมา ดังที่สาธารณะประชาชนลาวได้บังคับใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยระเบียบและการปฏิบัติสนธิสัญญาสังคม โดยกำหนดให้การจะเจรจาเรื่องสำคัญ ๆ อย่างเอฟทีเอต้องผ่านการรับรองจากประชาชนก่อน เมื่อเราไม่ยอมเรียนรู้จากอเมริกาที่การเจรจาต้องเป็นไปตามมติของสภาคองเกรส ก็สามารถเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านของเราได้

เป็นไปได้สูงที่การค้าเสรีจะไม่ใช่ตัวแปร
ที่เสริมสร้างขีดความสามารถ
ในการแข่งขันอย่างแท้จริงและยั่งยืน
เพราะผลประโยชน์ที่ไทยอาจได้รับจาก
การลดภาษีเป็นเพียงผลในช่วงระยะสั้น”

           นอกจากนี้ ผอ.โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ได้ย้ำเตือนถึงข้อพึงระวังของการทำเอฟทีเอในหัวข้อทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะกับสหรัฐว่า ตัวสหรัฐจะเรียกร้องและกดดันให้ไทยต้องปฏิบัติตามข้อบังคับตามกฎหมายของสหรัฐ และข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกต่าง ๆ ที่ไทยและสหรัฐร่วมลงนามหรือเป็นชาติภาคีเหมือนกันเท่านั้น หมายความว่า ภายใต้ข้อตกลงทางการค้าไทยจะต้องบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับเดียวกับที่กฎหมายสหรัฐกำหนด ขณะที่ไทยไม่มีสิทธิไปเรียกร้องให้สหรัฐปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่ไทยเป็นชาติสมาชิก เช่น พิธีสารเกียวโต ได้

                       “ผลกระทบในด้านบวกก็อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมมีมาตรฐานสูงขึ้น แต่ในด้านลบก็จะทำต้นทุนทางการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการลิดรอนอำนาจอธิปไตยทางกฎหมายในการปกครองตัวเอง เท่ากับว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐทั้งที่ไม่ได้เป็นอาณานิคม ดังนั้นการทำเอฟทีเอจึงเป็นเรื่องที่มากกว่าตัวเลข แต่ต้องจับตาอย่างละเอียดเพราะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่าง ๆ จะแฝงเร้น จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันหมดไป”

ผู้โยนเหรียญกับเจ้าของเหรียญ

             ด้าน รศ.ดร.จุฑา มนัสไพบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายถึงผลกระทบของการเปิดการค้าเสรีและบริการว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศได้นำมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า นอกจากนี้การค้าเสรีจะส่งผลกระทบให้การเกิดการจ้างงานในรูปแบบใหม่ เช่น การจ้างงานแบบเหมาช่วง แรงงานนอกระบบหรือการจ้างงานระยะสั้น ซึ่งล้วนเป็นลักษณะการทำงานที่ตัวผู้ใช้แรงงานจะไม่รับสวัสดิการหรือการคุ้มครองทางสังคม เพราะการแข่งขันที่เข้มข้น จะทำให้ผู้ประกอบการในแต่ละประเทศพยายามลดตุ้นทุนในทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้

           ด้วยข้อสังเกตดังกล่าวจึงน่าหวั่นเกรงว่าแม้การทำข้อตกลงการค้าเสรีอาจจะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการขยายตลาดและเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขันในด้านราคาให้กับสินค้าไทยในบางอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าตลาดจะเปิดกว้างอย่างไม่มีเงื่อนไข เราอาจถูกจำกัดด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี กฏระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ ที่ประเทศคู่ค้าจะกำหนด เช่น มาตรฐานสุขอนามัย มาตรฐานสิ่งแวดล้อม กฎหมายป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพและความร่วมมือทางด้านศุลกากรเพื่อป้องกันการก่อการร้าย มาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตร และความยุ่งยากของกฏแหล่งกำเนิดสินค้า

             เป็นไปได้สูงที่การค้าเสรีจะไม่ใช่ตัวแปร ที่เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริงและยั่งยืน เพราะผลประโยชน์ที่ไทยอาจได้รับจากการลดภาษีเป็นเพียงผลในช่วงระยะสั้น เพราะอุตสาหกรรมส่งออกของไทย ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องอาศัยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยกระบวนการดังกล่าวต้องมีการลงทุนในการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน การสร้างบุคลากรที่ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงการนำเข้าเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องนำมาทบทวนว่าเรามีศักยภาพและความพร้อมมากแค่ไหน ก่อนจะก้าวกระโดดไปสู่เวทีการค้าโลก

           เมื่อกระแสธารเศรษฐกิจโลกยังดำเนินต่อไปเอฟทีเอ-การค้าเสรีย่อมเป็นอีกหนึ่งข้อถกเถียงที่จะเขม็งเกลียวมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนดังสัจธรรมของเหรียญที่ย่อมมีสองด้าน เพียงแต่เราต้องไม่ลืมพิจารณาควบคู่ด้วยว่า เรากำลังโยนเหรียญของใคร หรือใครเป็นผู้โยนกันแน่

 

โดย ธีรมล บัวงาม
2 ธันวาคม 2548

Be the first to comment on "FTA โอกาส หรือ กับดัก"

Leave a comment

Your email address will not be published.