ผมมีโอกาสไปศึกษาดูงานในประเทศเยอรมันนี 2 ครั้งห่างกัน 10 ปี แต่ละครั้งกลับมาพร้อมกับความรู้และความประทับใจ ด้านหนึ่งเป็นความสนใจส่วนตัวจึงตั้งใจเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย ด้านหนึ่งประเทศเขามีตัวอย่างรูปธรรมให้ศึกษาอย่างอุดมสมบูรณ์
คราวแรกเมื่อปี 1998 ไปเข้าอบรมหลักสูตรการปกครองท้องถิ่น (Local Administration) อยู่ 1 เดือน โชคดีได้ตระเวนดูงานท้องถิ่นทุกระดับจนเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบ้านเขา-บ้านเราอย่างชัดเจน คราวนี้ 2009 ไปดูงานสื่อสาธารณะในห้วงเวลาที่เขากำลังเฉลิมฉลอง 20 ปี การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน โชคดีอีกเช่นเคยที่ได้เห็นการทำงานของ สื่อวิทยุโทรทัศน์ระบบคู่ (Dual Broadcasting System) ของประเทศเขา
ชาติหรือประชาชาติหนึ่ง ๆ ต่างมีวิถีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการดูแลประชากร สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแบบฉบับที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามบริบท ภูมิหลัง ลักษณะปัญหา และภูมิปัญญาของตน แต่การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันในยุคโลกาภิวัตน์ มีส่วนช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายเทเทคโนโลยีได้รวดเร็วขึ้นกว่าสมัยโบราณ ผลสำเร็จของการพัฒนาประเทศในเชิงเปรียบเทียบจึงเป็นตัวชี้วัดเป้าหมายอย่างหนึ่ง
เยอรมันนีในยุคของ Adolf Hitler คือประเทศผู้ก่อสงครามโลกครั้งสองเมื่อ 70 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1939-1945) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 60 ล้านคน ซึ่งในที่สุดตกเป็นผู้แพ้สงคราม บ้านเมืองถูกถล่มย่อยยับลงเป็นผุยผง ประเทศถูกมหาอำนาจเข้ามายึดครองเป็นสี่ส่วน โดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต ถูกแยกการปกครองเป็น 2 ประเทศอยู่ 40 ปี ในช่วงสงครามเย็น
เยอรมันนีในยุคปัจจุบันสามารถกลับมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า มีขนาดเศรษฐกิจโตเป็นอันดับ 3 ของโลก แผ่นดินเยอรมันกว้างขวางมีการเกษตรที่พึ่งตนเองได้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลอย่างสมบูรณ์แบบ ในทางสังคมเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ที่ประชาชนมีหลักประกันในชีวิต สุขภาพ การศึกษา การมีงานทำและบำนาญในวัยชรา สังคมเยอรมันโดยทั่วไปมีความสงบสันติสุขมาก ไม่ค่อยปรากฏข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศ นอกจากนั้นมีบทบาทเป็นแกนนำกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันกำลังกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ของโลกที่น่าจับตายิ่ง
หากยอมรับกันว่าความสำเร็จในการพัฒนาประเทศหนึ่งๆ ในภาพรวม เป็นเครื่องสะท้อนขีดความสามารถของชาติหรือประชาชาตินั้นๆ ผมคิดว่าเยอรมันนีเป็นประเทศหนึ่งที่มีขีดความสามารถแห่งชาติสูงอย่างยิ่งในการจัดการปัญหาของประเทศ สังคมและชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นผลสัมฤทธิ์ ได้สมดุล และมีประสิทธิภาพในเกือบทุกด้าน
คนเยอรมันขึ้นชื่อว่าเป็นชนชาติที่มีวินัยเป็นระเบียบแบบแผน และเป็นนักคิด นักปฏิบัติ นิสัยประจำชาติเช่นนี้ มีภูมิหลังมาจากโครงสร้างทางชาติพันธุ์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการหล่อหลอมท่ามกลางอุปสรรคปัญหาของยุคสมัยที่ต่อเนื่องมานับพันปี ตั้งแต่ครั้งจักรพรรจชาร์ลมาญ (Charlesmagne) รวมชาติในปี ค.ศ. 800 หรือก่อนหน้านั้นเสียอีก มีนักวิชาการบางสำนักบัญญัติลักษณะวัฒนธรรมที่มีแบบฉบับเฉพาะของคนเยอรมันมีวัฒนธรรมแบบวิศวกรรม (Engineering Culture)
ระบบการเมืองการปกครองเป็นโครงสร้างส่วนสำคัญที่มีบทบาททั้งสร้างเสริมและกำกับพฤติกรรม ลักษณะนิสัยและวิถีวัฒนธรรมของประชากร ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สิ้นสุดยุคจักรพรรดิ Wilhelm ที่ 2 แห่งปรัสเซีย เยอรมันก่อตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยในยุคแรก ค.ศ.1918/19 แต่ต่อมาถูกฮิตเลอร์นำลัทธิสังคมชาตินิยม (National Socialism) เข้ามาปกครอง ตั้งตนเป็นผู้เผด็จการสังคมนิยม พาประเทศไปก่อสงครามโลกจนพ่ายแพ้ยับเยิน
นั่นหมายความว่าทั้งระบบการเมืองการปกครองของประเทศ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมตลอดจนภูมิปัญญาของประชาชน คือฮาร์คแวร์และซอฟต์แวร์ ที่ประกอบกันเป็นขีดความสามารถในการจัดการของชาติหนึ่งๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการขับเคลื่อนประเทศและสังคมของตน ให้สามารถดำรงอยู่ท่ามกลางประชาคมโลกที่แข่งขันช่วงชิงกันตลอดเวลา
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาเป็นผู้เข้ามาวางรากฐานระบบการเมืองการปกครองให้เยอรมันนี โดยผ่านการสร้างรัฐธรรมนูญ (Basic Law) ที่ออกแบบให้ใหม่เป็นระบบสหพันธรัฐ (Federalism) เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา การปกครองประกอบด้วย 11 มลรัฐในตอนเริ่ม (ค.ศ.1949) และเพิ่มเป็น 16 มลรัฐ เมื่อรวมเยอรมันตะวันออกเข้ามา (ค.ศ.1990)
หากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งสหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญให้เช่นเดียวกัน ที่ญี่ปุ่นเขาเลือกที่จะใช้ระบบประชาธิปไตยที่มีพระจักรพรรดิเป็นประมุข แทนที่จะเป็นสหพันธรัฐ ผมเข้าใจว่าภูมิหลังของประเทศทั้งสองแตกต่างกัน เยอรมันเคยมีลักษณะเป็นสมาพันธ (Confederation) ซึ่งรวมหลายศูนย์กลางอำนาจของนครรัฐเข้ามาอยู่ด้วยกันอย่างหลวมๆมาก่อน ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นราชอาณาจักรเดี่ยวๆมายาวนาน
แต่จุดสำคัญที่เหมือนกันคือหลักในการกระจายอำนาจ ญี่ปุ่นแบ่งการปกครองเป็น 53 จังหวัด (Prefecture) และมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงไปที่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประเทศ ท้องถิ่นและสังคมโดยรวม ทั้งเป็นการป้องกันการยึดอำนาจ รัฐประหารและเผด็จการอย่างได้ผล
บัดนี้ทั้งเยอรมันนีและญี่ปุ่นนับเป็นประเทศประชาธิปไตยระดับแนวหน้า และสามารถก้าวขึ้นมาจากซากปรักหักพัง กลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจของโลกอย่างเต็มตัวภายในระยะเวลาเพียงแค่ 20 ปี
สหพันธรัฐเยอรมัน (Federal Republic of Germany : FRG) มีเนื้อที่ 357,021 ตารางกิโลเมตร (ประเทศไทย 413,115) ประชากร 82.5 ล้านคน อัตราเพิ่ม 0.0% ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง (88%) มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ 7.2 ล้านคน (คิดเป็น 8.8%)
ระบบการเมืองการปกครองของสหพันธรัฐเยอรมัน มีความเป็นประชาธิปไตยในโครงสร้าง ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น (Communale) ระดับมลรัฐ (Lander/State) และระดับสหพันธรัฐ (Bundes/Federal) ระบบและวิถีประชาธิปไตยแบบนี้ยังสะท้อนลงไปถึงระบบการปกครอง และการบริหารงานขององค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคมระดับต่างๆ อีกด้วย

FRG มีพรรคการเมืองสำคัญที่มีที่นั่งในรัฐสภาแห่งสหพันธรัฐ จำนวน 6 พรรค ซึ่งแต่ละพรรคสามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้น และกลุ่มความคิดความเชื่อที่หลากหลาย ทั้งปีกขวา ปีกซ้าย และสายกลาง จึงเกิดความสมดุลและเสถียรภาพอยู่ในตัว ได้แก่
1. SPD (German Social Democratic Party) แนวกลางซ้าย
2. CDU (German Christian Democratic Party) แนวกลางขวา
3. CSU (Christian Social Union) แนวกลางขวาที่มีฐานเฉพาะ
ในมลรัฐบาวาเรีย (บาเยิร์น)
4. FDP (Free Democratic Party) แนวขวา
5. The Green (BÜndes 90/ Die GrÜnen) แนวซ้าย
6. The Left (Die Link partei –PDS) แนวซ้ายสุด

การจัดตั้งรัฐบาลในระยะหลายสิบปีมานี้ มักได้รัฐบาลผสมซึ่งเกิดขึ้นจากพรรคสายกลางรวมตัวกัน จึงมีผลทำให้การเมืองเยอรมันมีเสถียรภาพมาก ทิศทางนโยบายการบริหารและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ จึงมีความต่อเนื่องและมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจุดนี้ผมคิดว่าเยอรมันสามารถไปได้ไกลกว่าสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นตำหรับเสียอีก เพราะการมีระบบสองพรรคของสหรัฐอเมริกา Republican และDemocat มีการทำให้เกิดการสวิงไปมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนผู้นำ จากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง เหมือนระบบดิจิตอล ไม่มีระหว่างกลางครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "German PBS Series (1) สหพันธรัฐ : ระบบประชาธิปไตยในโครงสร้าง"