นอกจากการออกแบบระบบการเมืองการปกครองให้เป็นสหพันธรัฐซึ่งถือเป็นรูปแบบที่มีความเป็นประชาธิปไตยในเชิงโครงสร้างที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมันยังได้ประกาศเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในด้านการพูด การเผยแพร่ความคิดเห็น และการตีพิมพ์โฆษณาเอาไว้อย่างหนักแน่น
Art 5 : “Every person shall have the right freely to express and disseminate his opinion in speech , writing ,and pictures; and to inform himself without hindrance from generally accessible sources..(…) There shall be no censorship”
เยอรมันนีเป็นประเทศแห่งนักคิด นักทฤษฎี นักปฏิบัติ ผู้ทรงภูมิปัญญา หนังสือ และสื่อสำหรับผู้มีความรู้หลากหลาย สังคมเยอรมันได้ผ่านประสบการณ์ความยากลำบากที่แสนสาหัสมาในหลายช่วงของประวัติศาสตร์ จึงเป็นบ่อกำเนิดของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจำนวนมาก มีตั้งแต่ลัทธิการรู้แจ้ง ลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิความทันสมัยต่างๆ
เฉพาะช่วงของการพัฒนาประชาธิปไตย เยอรมันนีต้องผ่านเหตุการณ์มากมายทุกระยะ 30 ปี นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 การตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ การเกิดขึ้นของอาณาจักรไรช์ที่ 3 , สงครามโลกครั้งที่ 2 ,สงครามเย็นและการแบ่งแยกประเทศเป็นตะวันตก – ตะวันออก, การต่อต้านแข็งขืนของเหล่านักศึกษา และล่าสุดคือยุคที่มีการหลอมรวมชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในสถานการณ์เหล่านี้สื่อมวลชนเยอรมันมีบทบาทและวิวัฒนาการมาตลอดทุกยุคสมัย
การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ของกูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) ที่เมืองไมนซ์ในปี 1452 และเริ่มจากการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิ้ลครั้งแรกจำนวน 180 เล่ม นับเป็นการปฏิวัติสื่อและการพิมพ์ครั้งแรกของโลก เพราะนั่นเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลคำสอนสำคัญซึ่งแต่เดิมมักถูกจำกัดวงอยู่แต่ในหมู่พระนักบวชและชนชั้นสูงเท่านั้น
ทุกวันนี้ในขณะที่คนไทยอ่านหนังสือวันละ 6 บรรทัดนั้น คนเยอรมันอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 28 นาที หนังสือและหนังสือพิมพ์ยังคง เป็นสื่อเชิงคุณภาพที่เป็นที่นิยม ประเทศเยอรมันมีสถิติจำนวนหนังสือพิมพ์ต่อประชากรพันคน สูงเป็นอันดับ 7 ของทวีปยุโรป
ที่ประเทศอิตาลี Stephen Faris แห่งนิตยสารไทม์รายงานแนวโน้มสำคัญว่า จำนวนคนอ่านหนังสือพิมพ์ลดลงมาก เหลือเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้น (เปรียบเทียบสหรัฐอเมริกา 1 ใน 5 , ญี่ปุ่น 3 ใน 5 ) ในอิตาลี หนังสือพิมพ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสื่อที่รับใช้รสนิยมและข้อมูลข่าวสารของคนชั้นสูง (Intellectual é lite) เพียงแค่ 1,500 คนโดยประมาณเท่านั้นซึ่งได้แก่รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ผู้นำพรรค สหภาพผู้บริหาร และนักอุตสาหกรรม คนอิตาลีทั่วไปจึงเลิกซื้อหนังสือพิมพ์แล้ว
นักหนังสือพิมพ์และผู้สื่อข่าว (Journalist) นับเป็นบุคลากรวิชาชีพสำคัญที่ทำหน้าที่นำข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชน จึงถือเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศหนึ่งๆ สำหรับประเทศเยอรมันนีขณะนี้มีบุคลากรวิชาชีพเช่นนี้ที่ปฏิบัติงานแบบเต็มเวลาประมาณ 70,000 คน หรือประมาณ 1 คน ในทุกประชากร 1,200 คน สัดส่วนที่พอเหมาะเป็นแค่ไหนไม่รู้ แต่ผมคิดว่าปริมาณและคุณภาพของนักวิชาชีพสื่อมวลชนน่าจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย
ในเยอรมันนีมีการรวมตัวของสื่อสารมวลชนในรูปองค์กรทั้งในส่วนของสื่อมวลชน นักข่าว และเจ้าของกิจการ เพื่อดูแลกันเองและเป็นอำนาจต่อรอง
1.ด้านสื่อมวลชนนักข่าว มี 2 องค์กรใหญ่ ๆ คือ Deutcher Jounalisten Verband (DJV) แม้จะเรียกตัวเองว่า Trade Union แต่จริง ๆ เป็นองค์กรวิชาชีพ กับอีกองค์กรหนึ่งคือ Deutcher Journalisten Union (DJU) เป็นสหภาพของคนงานสื่อ
2. ด้านเจ้าของกิจการ มี 3 องค์กรได้แก่
-BDZV เป็นของพวกหนังสือพิมพ์รายวัน
-VDZ เป็นพวกแม็กกาซีน
-VPRT เป็นกลุ่มสื่อวิทยุโทรทัศน์เชิงธุรกิจ
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและภูมิภาคของเยอรมันมีบทบาทความสำคัญและเข้มแข็งกว่าหนังสือพิมพ์ระดับชาติ กล่าวคือ มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและภูมิภาครวม 1,538 หัว ยอดจำหน่าย 21.7 ล้านฉบับ ในขณะที่ระดับชาติมีเพียง 6 หัวและมียอดจำหน่ายเพียง 1.6 ล้านฉบับเท่านั้น
สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสิ่งที่ใครก็มีสิทธิ์ที่จะจัดทำและเผยแพร่หรือจัดจำหน่ายได้ เพราะรัฐธรรมนูญรับรองไว้แล้ว พรรคการเมืองก็สามารถทำหนังสือพิมพ์ของตนเองได้ ผิดกับวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเขาถือเป็นการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (Broadcasting) จึงมีกฎหมายเฉพาะให้เป็นลักษณะระบบคู่ (Dual System) คือสาธารณะกับธุรกิจการค้าเท่านั้น รัฐบาล ราชการ หรือพรรคการเมืองจะทำสื่อวิทยุโทรทัศน์ไม่ได้
ในยุคโลกาภิวัฒน์ มีสื่อที่หลากหลายที่ประชาชนสามารถเลือกเสพ ในเยอรมันประชาชนเสพสื่อประเภทต่างๆ ประมาณ 10 ชั่วโมง ต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นวิทยุและโทรทัศน์ กล่าวคือ วิทยุ 221 นาที,โทรทัศน์ 220 นาที อินเทอร์เนท 44 นาที , หนังสือพิมพ์ 28 นาที หนังสือ 25 นาที และแม็กกาซีน 12 นาที
ประชากรเยอรมัน 82.5 ล้านคน หรือ 33 ล้านครัวเรือน ร้อยละ 98 มี โทรทัศน์อย่างน้อย 1 เครื่องในบ้าน สื่อกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะของเยอรมันเขามีเป้าหมายครอบคลุมไปถึงประชากรที่พูดภาษาเยอรมัน 100 ล้านคนอีกด้วย
คนเยอรมัน อายุ 14 ปี ขึ้นไป ประมาณ 35.7 ล้านคน (คิด เป็นร้อยละ 57) ใช้สื่อออนไลน์ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ขณะนี้ในวงการสื่อมวลชนเยอรมันกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “ วิกฤตสื่อ” หรือ Media Crisis กล่าวคือ พฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป โดยอ่านหนังสือพิมพ์แบบดั่งเดิมน้อยลง ใช้ช่องทางอินเตอร์เนทมากขึ้น จนเกิด ผลกระทบต่อกิจการสื่อสิ่งพิมพ์และนักวิชาชีพสื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งวิถีการกระจายเสียงและแพร่ภาพ ทางคลื่นแบบที่เป็นแชมเปียนอยู่ในยุคปัจจุบันก็กระทบไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ของโลกเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสิ่งที่ผู้คนทุกวงการต้องตื่นตัว และเตรียมการรับมือ เมื่อเร็วๆนี้ไทม์แมกกาซีน เคยรายงานว่ากรุงโซลของเกาหลีเป็นตัวอย่างของมหานครที่มีระบบโครงข่ายสื่อสาร ทันสมัยครอบคลุมที่สุดในโลก (The most wired city in the world) กล่าวคือ ร้อยละ 95 ของครัวเรือนมี broadband connection ในขณะที่ ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ มีร้อยละ 88 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 60 เท่านั้น ภาพเหล่านี้คือ อนาคตของประเทศเราที่คงจะมาถึง ไม่ช้าก็เร็ว
การก้าวเข้าสู่ยุค 3 G ที่ กทช. กำลังจัดให้มีการประมูลอยู่นี้ คงจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยอย่างสำคัญเช่นเดียวกัน จึงควรที่พนักงานและองค์การส.ส.ท.จะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเช่นกันครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "German PBS Series (2) สื่อมวลชนในสหพันธรัฐเยอรมัน"