สื่อสาธารณะเป็นระบบสื่อสารมวลชนที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเยอรมันมา 60 ปีแล้ว เพราะเป็นเจตจำนงแห่งชาติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะในระบบคู่(Dual Broadcasting System) ประกอบด้วยเพื่อการค้า และเพื่อสังคมโดยแข่งขันกันให้บริการประชาชน ทั้ง 2 แบบต่างกันตรงที่มาของรายได้ กล่าวคืออย่างแรก มีรายได้จากการโฆษณาสินค้า ส่วนอย่างหลังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ประชาชนจ่ายให้เป็นหลัก
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาวางระบบการเมืองการปกครองให้เป็นแบบสหพันธรัฐ อังกฤษก็เข้ามาช่วยวางรากฐานของระบบสื่อสาธารณะในเยอรมันโดยถอดแบบมาจาก BBC ที่ตนได้ริเริ่มและพัฒนามาล่วงหน้าแล้วถึง 20 ปี จึงนับเป็นความโชคดีของเยอรมันในขณะที่บ้านเมืองและสภาพจิตใจของผู้คนอยู่ในสภาพเริ่มต้นใหม่ หรือ “Set Zero” ภายหลังการพ่ายแพ้ที่ยับเยินในสงครามซึ่งตนเป็นผู้ก่อ กลับได้ภูมิปัญญาอันล้ำค่าจากสองประเทศมหาอำนาจมาช่วยวางรากฐานในการสร้างชาติสร้างประเทศขึ้นใหม่
ในยุคฮิตเลอร์ซึ่งมีแนวคิดสังคมชาตินิยมแบบสุดขั้ว สื่อมวลชนในประเทศถูกเผด็จการนาซีทำให้เป็นของรัฐและรัฐบาล โดยมีงานหลักในการโฆษณาชวนเชื่อ นำประเทศเข้าสู่และสนองต่อภารกิจการทำสงครามของท่านผู้นำ สังคมเยอรมันมีบทเรียนที่ขมขื่นในเรื่องสื่อสาธารณะมาแล้วอย่างสดๆ ร้อนๆ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงห้ามไม่ให้รัฐบาลและราชการทำสื่อสาธารณะด้วยตนเอง
พูดง่ายๆ ก็คือที่เยอรมันไม่มีกรมประชาสัมพันธ์ ไม่มีโทรทัศน์สทท. 11 ไม่มีวิทยุสวท. และสวศ. ไม่มีสถานีวิทยุทหาร ตำรวจฯลฯ แบบที่เป็นอยู่ในประเทศไทยนั่นเอง สถานการณ์งานกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (PBS) ของประเทศเขากับเราจึงมีเหตุปัจจัยและภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างมาก
PBS ของเยอรมันไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของสหพันธรัฐ (Federal / Bundes) เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของมลรัฐ (State/Lander) ซึ่งก็คือภูมิภาคและท้องถิ่นนั่นเอง เพราะเขาถือเป็นเรื่องอธิปไตยทางวัฒนธรรม (Cultural Sovereignty) ดังนั้น PBS ของเยอรมันจึงถูกกำหนดโครงสร้างและองค์กรโดยกฎหมายมลรัฐ หรือกลุ่มมลรัฐในภูมิภาคหรือทุกมลรัฐของประเทศร่วมใจกันทำขึ้น
องค์กรสื่อสาธารณะของเยอรมันเรียกว่า “Anstalt” มีหน้าที่ในการสนับสนุนให้มลรัฐ (ภูมิภาคและท้องถิ่น) ดำเนินงานสื่อสาธารณะสำหรับประชาชนของตนและของสหพันธรัฐโดยรวม ทั้งด้านโทรทัศน์และวิทยุ มีคณะกรรมการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะที่เป็นอิสระ (Independent Broadcasting Council หรือ Rundfunkrat) เป็นองค์กรนำสูงสุด ทำหน้าที่ปกครองดูแลองค์กรและหน่วยงาน PBS ทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคสาธารณะทุกประเภทในเยอรมัน โดยอยู่ภายใต้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ(Federal Constitutional Court)
กรรมการใน Rundfunkrat เกือบทั้งคณะเป็นตัวแทนจากกลุ่มทางสังคมที่ได้รับการสรรหาเข้ามาทำงานร่วมกับตัวแทนจากฝ่ายการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับบ้านเราแล้ว กลไกนี้ทำหน้าที่ผสมผสาน ทั้งเป็นคณะกรรมการนโยบาย , เป็นสภาผู้ชมผู้ฟัง และเป็นกสช.ไปด้วยในตัว กลไกRundfunkrat มีทั้งระดับชาติ ระดับมลรัฐและระดับสถานีตามสไตล์ของระบบสหพันธรัฐ
PBS ในเยอรมันทุกสถานี ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ได้รับรายได้มาจากค่าธรรมเนียมที่ประชาชนจ่ายให้เป็นรายเดือน(License Fee) อัตราปัจจุบันประมาณ 17 Euro ต่อครัวเรือน เก็บเฉพาะผู้ที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ หรือวิทยุอย่างน้อย 1 เครื่องในบ้านหรือในรถยนต์ ซึ่งจริงๆแล้วร้อยละ 98 ของคนเยอรมันจำนวน 33 ล้าน ครัวเรือนอยู่ในข่ายนี้ทั้งนั้น แต่ละปีมีรายได้สนับสนุน PBS ทั่วประเทศประมาณ 7,200 ล้านEuro หรือประมาณ 324,000 ล้านบาททีเดียว ในรายได้จำนวนนี้จะถูกแบ่งสันปันส่วนกันอย่างมีหลักเกณฑ์ ปี 2007 ARD(1) ทั้งเครือข่ายได้งบประมาณ 2,294 ล้านยูโร ส่วนZDF ก็ได้ในจำนวนที่เป็นสัดส่วนกัน
German PBS ได้รับอนุญาตให้มีโฆษณาได้เหมือนกัน แต่ถูกจำกัดด้วยความยาวของโฆษณาและช่วงเวลาการออกอากาศ เพราะเขาถือว่านี่เป็นแค่รายได้เสริมเท่านั้น ส่วนโทรทัศน์เพื่อธุรกิจการค้านั้นต้องอาศัยค่าสปอนเซอร์จากโฆษณาทางเดียวเท่านั้น จึงมีการโอดครวญว่าไม่เป็นธรรม พรรคการเมืองสายเสรีนิยม(FDP) ซึ่งมีนโยบายการแข่งขันเสรี จึงประกาศชัดว่าจะลดอัตราค่าธรรมเนียมที่เป็นรายได้หลักของ PBSลงเสียบ้าง แต่โชคดีที่ FDP ยังเป็นเสียข้างน้อย และไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล
ในภาพรวมการกระจายเสียงและแพร่ภาพผ่านคลื่นความถี่(Broadcasting) ซึ่งเป็นระบบคู่ประกอบด้วย
1.ทีวีสาธารณะ มี 2 ช่อง 12 สถานีระดับชาติ 9 สถานีภูมิภาค-ท้องถิ่น และ 3 สถานีข้ามประเทศ
1.1 ARD(1) หรือ PBS ช่อง 1 มีลักษณะเป็นเครือข่ายของสถานีภูมิภาคและท้องถิ่น ร่วมกันผลิตรายการและแพร่ภาพทั่วประเทศ มีเครือข่ายสถานีวิทยุท้องถิ่นเชื่อมโยงเข้ามาด้วย ประกอบด้วย
1.1.1 NDR เป็นของ 4 มลรัฐทางภาคเหนือ ศูนย์กลางอยู่ที่ Hamburg มีสถานีย่อยในทุกมลรัฐ และสถานีวิทยุในเครือข่ายอีก 58 แห่ง
1.1.2 RBB (Rundfunk Berlin-Brandenburg) เป็นของมลรัฐเบอร์ลินและแบรเดนเบอร์ก มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองPotsdam ซึ่งมีโรงถ่ายภาพยนตร์ German Hollywood อยู่ที่นั่น มีสถานีวิทยุ 6 แห่งบริการ 24 ชั่วโมง รวมทั้งที่เบอร์ลิน ซึ่งมีผู้นิยมมาก และที่เมือง Cottbus ที่มีรายการเฉพาะสำหรับชนชาติส่วนน้อยคือส่วนน้อย Sorbisch ด้วย
1.1.3 สถานีภูมิภาคอื่นๆ มีอีก 7 สถานี คือ BR, HR, MDR, RB, SR, SWR และ WDR ซึ่งเป็นของมลรัฐและกลุ่มมลรัฐ กระจายกันไปทั่วประเทศ
1.1.4 Trans-national มี 3 สถานีโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมเยอรมันครอบคลุมไปในต่างประเทศ ได้แก่ Deutche Welle (DW), arte(Franco-German) และ 3sat(German-Austrian-Swiss Cultural-station)
1.2 ZDF หรือPBS ช่อง 2 เป็นระบบสถานีเดียวแพร่ภาพทั่วประเทศ ตั้งอยู่ที่เมือง Maintz ขณะนี้เขากำลังริเริ่มออกอากาศช่องใหม่ ชื่อ ZDF neo ซึ่งเป็นระบบ digital ที่สมบูรณ์แบบ เนื้อหาและรูปแบบรายการมุ่งกลุ่มเป้าหมายเยาวชนและคนทำงานรุ่นใหม่ (25-49ปี)
2.ทีวีธุรกิจการค้า มี 3 กลุ่ม 15 สถานี และ 1 ระบบCable TV
2.1 Pro Sieben มี 5 ช่อง คือ Sat1, Pro7, N24, Kabel1, 9live
2.2 RTL Group มี 7 ช่อง คือ RTL I, RTL II, Super RTL, VOX, n-tv, RTLshop, Traumpartner TV
2.3 Special-interest Channels มี 3 สถานี คือViacom, Disney, NBC Universal
2.4 Cable TV มีกลุ่มเดียว คือ Sky เครือข่ายบริการทั่วประเทศ มีสมาชิก 2.4 ล้านราย
ส่วนสถานีวิทยุนั้น ทั่วประเทศมี 300 สถานี ส่วนใหญ่เป็นสถานีวิทยุภูมิภาคและท้องถิ่น และแข่งขันกันเอง ในจำนวนนี้ เป็นวิทยุสาธารณะ 60 แห่ง และวิทยุธุรกิจการค้า 240 แห่ง
แม้ว่า German PBS จะได้รับรายได้จากค่าธรรมเนียมในจำนวนที่มากและแน่นอน ในขณะที่ทีวีธุรกิจการค้าจะโอดครวญว่าเสียเปรียบ ไม่มีทุนผลิตรายการดีๆมาแข่งได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วความนิยมของประชาชนนั้นก็คล้ายกับบ้านเรา คือเรตติ้งของทีวีธุรกิจการค้าจะเหนือกว่า อย่างไรก็ตามน่าสังเกตว่าไม่มีสถานีโทรทัศน์ในเยอรมันแห่งใด ค่ายใดที่สามารถครองความนิยมเกินร้อยละ 30 เลย ซึ่งด้านหนึ่งสะท้อนความหลากหลายและสมดุลของสื่อโทรทัศน์ในเยอรมัน อีกด้านหนึ่งสะท้อนคุณภาพและรสนิยมของผู้ชมที่นั่น

PBS ท้องถิ่นและภูมิภาคของเยอรมัน ส่วนใหญ่เป็นวิทยุสาธารณะ สำหรับทีวีนั้นมีเฉพาะช่อง 1 คือ ARD เท่านั้น เพราะ ARD มีคอนเซปต์ทีวีภูมิภาค-ท้องถิ่นตั้งแต่เริ่ม NDR และ rbb ที่เราไปดูงาน คือรูปธรรมของการทำงานเป็นเครือข่ายทีวีสาธารณะท้องถิ่นที่สะท้อนเรื่องราวของพื้นที่ และมีการแบ่งงานผลิตรายการระหว่างกัน หรือบางครั้งก็ร่วมกันผลิตบางรายการ เพื่อการแพร่ภาพทั่วประเทศอีกด้วย
ส่วนวิทยุสาธารณะนั้น เข้าใจว่าที่นั่นไม่มีวิทยุชุมชนขนาดเล็กที่มีรัศมีการกระจายเสียง 10 กิโลเมตร แบบบ้านเรา เท่าที่เราไปดู rbb ที่เมือง Cottbus ของเขาเป็นสถานีวิทยุสาธารณะท้องถิ่น ขนาดรัศมีการส่งกระจายเสียงประมาณ 100 กิโลเมตรครับ
rbb เป็นสถานีลูกของ ARD มีที่ตั้งสถานีโทรทัศน์ 6 แห่ง วิทยุ 6 สถานี มีพนักงานประจำ 1,500 คน พนักงานอิสระ 1,200 คน งบประมาณปีละ 380 ล้านEuro
ในด้านการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของพนักงาน German PBSเขาตั้งสถาบันวิชาการสื่อขึ้นมาเฉพาะเพื่อการนี้ ชื่อ “ARD.ZDF.Medien Akademia” ซึ่งคุณ Stephan Robine’ เล่าให้เราฟังว่าสถาบันของเขา มีหน้าที่ฝึกอบรมด้านสื่อสารมวลชน สำหรับคนที่สนใจ ทั้งที่มาจากองค์กรสื่อสาธารณะและสื่อธุรกิจ เขามีหลักสูตรทั้งการฝึกอบรมแบบเป็นชั้นเรียน, ออนไลน์ และการผลิตตำรา หลักสูตรของเขามีทั้งแบบตั้งรับที่สถาบัน และแบบส่งวิทยากรผู้ฝึกสอนออกไปเปิดหลักสูตรถึงที่ทำงาน มีทั้งหลักสูตรทั่วไปและหลักสูตรที่ออกแบบเฉพาะตามความต้องการ
ในการเรียนการสอนเขาใช้หลักการบูรณาการเรื่องความรู้ทางเทคนิคเข้ากับหลักการการสื่อสารมวลชน (Fusion) แทนที่จะเป็นการฝึกอบรมเรื่อง จริยธรรมวิชาชีพ หรือเทคนิคสื่อแบบโดดๆ
สถาบันนี้มีเจ้าหน้าที่ประจำ 69 คน กับวิทยากรครูฝึกที่อิสระอีก 500 คน มีหลักสูตรต่างๆ รวม 500 หัวข้อ แต่ละปีเขาให้การอบรมประมาณ 2,000 หลักสูตร โดยมีผู้เข้ารับการอบรมประมาณ 30,000 คน
ฟังแล้ว ทำให้นึกถึงภาพอนาคต TPBS Institute ของเราทันทีเลยนะครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "German PBS Series (3): ระบบสื่อสาธารณะเยอรมัน"