MENU

German PBS Series (4) : “มูลนิธิของพรรคการเมืองเพื่อภารกิจชาติ”

          ผมได้ยินเรื่องราวขององค์กรประเภทมูลนิธิ(Stiftung) ของประเทศเยอรมันมานานกว่าสิบปี แต่ไม่เคยเข้าใจว่ามีอะไรที่น่าเรียนรู้เป็นพิเศษ คิดเพียงว่าเป็นองค์กรที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาก็เท่านั้น  มารู้เพิ่มเติมภายหลังว่ามีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับพรรคการเมือง และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลความรู้สึกจึงเปลี่ยนไป แหมช่างดีจริง ทำไมรัฐบาลประเทศเขาถึงได้ใจกว้างอุดหนุนเอ็นจีโอได้ขนาดนั้น

          ปี 1998 คณะของผมได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราดอะเดเนาว์ ไปศึกษาดูงานหลักสูตรการปกครองท้องถิ่นของประเทศเยอรมัน ที่ Akadamie Klausenhof เมืองRhede มลรัฐ North Rhine Westfalen พวกเราเรียนในชั้นโดยผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายหลักคิดทฤษฏีให้ฟังอย่างเป็นระบบ และออกไปศึกษาดูงานด้านต่างๆ ทั้งในระดับมลรัฐ(Lander) เมือง(City) และชุมชน(Kommunale) อย่างจุใจ ตอนนั้นประเทศเยอรมันกำลังจะย้ายเมืองหลวงจากกรุง Bonn เพื่อกลับไปอยู่ Berlin และกำลังมีการเลือกตั้งใหญ่พอดี เราจึงโชคดีที่มีโอกาสได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งของเขาด้วย ได้เห็นวิธีการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นครั้งแรกที่นั่น ครั้งนั้นพรรค CDU ของมูลนิธิคอนราดซึ่งเป็นสายกลางขวาพ่ายแพ้แก่พรรค SPDสายกลางซ้าย นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐ (the German Federal Chancellor) ได้เปลี่ยนจาก Helmut Kohl(CDU) มาเป็น Gerhard Schroder(SPD) เล่นเอาเจ้าภาพของพวกเราเหงาหงอยไปเลยในช่วงท้ายหลักสูตร
          เมื่อกลับมาเมืองไทย มูลนิธิคอนราดยังคงมีกิจกรรม โครงการที่สนับสนุนองค์กรสาธารณะประโยชน์ทำงานด้านส่งเสริมประชาธิปไตย และการปกครองท้องถิ่นอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีภาคีหลักๆ ของเขาหลายองค์กร อาทิ : มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, สมาคมพัฒนาประชาชนและชุมชน, สถาบันพระปกเกล้า, สมาคมอบต.
          อีกมูลนิธิหนึ่งคือ ฟรีดริชเนามันสติฟตุง(FNS) โดยส่วนตัวผมไม่คุ้นเคยนัก แต่มีพรรคพวกมาให้ข้อมูลและชวนไปร่วมกิจกรรมเป็นครั้งคราว เท่าที่ทราบมูลนิธินี้มักส่งเสริมในเรื่องเทคนิคกระบวนการสื่อสาร และฝึกอบรม มีสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคมเป็นภาคีหนึ่งที่ร่วมทำงานด้วย ทราบภายหลังว่ามูลนิธิ FNS เป็นของพรรคการเมืองแนว Liberal สายขวาสุดของเยอรมันคือพรรค FDP ซึ่งมักเป็นเสียงข้างน้อยและไม่ค่อยได้เข้าร่วมรัฐบาล
          สำหรับมูลนิธิฟรีดริชอีเบิร์ต(FES) ที่พาคณะผู้บริหารของส.ส.ท.ไปดูงานด้านสื่อสาธารณะของเยอรมันในครั้งนี้ เป็นของพรรค  SPD (Social Democratic Party) ซึ่งเป็นสายกลางซ้าย คือ ให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม แรงงาน ความเสมอภาคมิติทางเพศ และสื่อสาธารณะ
          ทุกพรรคการเมืองในเยอรมันต่างมีนโยบายด้านสื่อสาธารณะเพราะเขาถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับระบบประชาธิปไตยของเขา SPDและCDUซึ่งเป็นแกนสำคัญของรัฐบาลมีนโยบายหนุน PBS อย่างเต็มที่  CDU ถึงขั้นที่อยากจะมีทีวีสาธารณะช่องใหม่ขึ้นทางภาคใต้ที่ตนสามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้ แต่ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐตัดสินให้ตั้งสถานี ZDF ขึ้นเป็นทีวีสาธารณะช่องที่ 2 ตั้งอยู่ทางภาคใต้ แต่ให้เป็นอิสระเช่นเดียวกับ ARD และออกอากาศไปทั่วประเทศ  ส่วนFDP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมเน้นนโยบายชัดเจนที่จะให้ปล่อยทุกอย่างให้กลไกตลาดเป็นตัวตัดสิน จึงมุ่งลดรายได้ของ PBS จากค่าธรรมเนียมของประชาชนลงหรือไม่ก็ให้นำมาแบ่งสรรให้ทีวีพาณิชย์ได้รับบ้าง เพื่อผลิตรายการคุณภาพแข่งกัน
          ไปคราวนี้ ณ สำนักงานใหญของมูลนิธิ FES ที่กรุงเบอร์ลิน เราได้ฟังจาก Dr.Zimmermann ซึ่งเป็นกรรมการพรรค SPD ว่า ในเยอรมันเขาถือว่า “พรรคการเมืองมีบทบาทเป็นทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐ”ประโยคนี้เล่นเอาพวกเราสะดุ้ง เพราะบริบทเช่นนี้ต่างจากเมืองไทยโดยสิ้นเชิง ท่านอาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ถามย้ำอีกครั้งก็ได้คำตอบยืนยันเช่นเดิม จุดนี้ทำให้ผมต้องหันไปสนใจเรื่องพรรคการเมือง และมูลนิธิของพรรคการเมืองเยอรมันเป็นการพิเศษ
          รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐเยอรมัน กำหนดให้พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีสถานะพิเศษ ได้รับงบประมาณจากสหพันธรัฐเพื่อการทำงาน รวมทั้งการหาเสียงเลือกตั้งด้วย พรรคการเมืองจึงเป็นเสมือนสมบัติของชาติ และจะถูกยุบเลิกก็โดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
          พรรคการเมืองเยอรมันตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนความคิด ความเชื่อและผลประโยชน์ของชนชั้นที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อได้รับอนุญาตจัดตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ก็กลายเป็นสมบัติสาธารณะของชาติ ที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศตามแนวคิด ความเชื่อและอุดมการณ์ของกลุ่มผู้ก่อตั้ง โดยสหพันธรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ พรรคจึงไม่ใช่สมบัติของนายทุน หรือวงศ์ตระกูลผู้ก่อตั้งแบบบ้านเรา พรรคไม่ต้องสาละวนหาเงินมาดูแลองค์กร ทำให้สามารถทำงานเพื่อประเทศชาติและประโยชน์สาธารณะได้อย่างเต็มที่ สถานภาพและโครงสร้างความสัมพันธ์เช่นนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมและวัฒนธรรมวิถีคิด  การทำงานของนักการเมือง ผู้นำและผู้ปฏิบัติงานของพรรคการเมืองทุกพรรคในเยอรมัน
          การแข่งขันทำงานการเมืองของทุกพรรคมีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น มลรัฐ และสหพันธรัฐ เพราะทุกระดับมีระบบเดียวกัน มีทั้งรัฐสภาและรัฐบาล นอกจากนั้นการแข่งขันทำงานยังกว้างออกไปถึงระดับนานาชาติอีกด้วย บรรยากาศเช่นนี้เอื้ออำนวยให้บุคลากรทางการเมืองของเขามีโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถอยู่ตลอดเวลาตามที่ตนสนใจ
          นักการเมืองเยอรมันนอกจากมีจิตสำนึกโดยความเป็นชาติร่วมกันแล้ว ยังมีอีก 2 จิตสำนึกสำคัญคือจิตสำนึกท้องถิ่น และจิตสำนึกพรรคที่อยู่ในตัวตน นักการเมืองจากพรรคหนึ่งเมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของมลรัฐหนึ่งแล้ว ถึงเวลาที่เขาต้องแสดงความเห็นหรือบทบาทในระดับสหพันธรัฐในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาจะใช้สำนึกท้องถิ่นในการักษาผลประโยชน์ของมลรัฐของเขา แม้ว่าจะต้องสวนทางกับพรรคของเขาก็ตาม เรื่องแบบนี้เป็นไปไม่ได้เลยในสังคมไทยนะครับ เพราะบริบทยังต่างกันมาก
          ด้านมูลนิธิของพรรคการเมือง ก็น่าสนใจมากเพราะเป็นกลไกที่พรรคการเมืองสามารถใช้ในการทำงานเชิงวิชาการและการบุกเบิกพัฒนาเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์และปฏิบัติการได้อย่างยืดหยุ่น คุณLeimbach ผู้ประสานการศึกษาดูงาน บอกพวกเราว่า มูลนิธิดำเนินการโดยภาคประชาสังคม แม้จะมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง แต่ก็ทำงานอย่างเป็นอิสระ มูลนิธิเหล่านี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นระบบ แน่นอนกว่าจะได้งบประมาณแต่ละมูลนิธิต้องเสนอแผนงานโครงการ เรายังไม่เข้าใจระบบการสนับสนุนทางการเงินแบบนี้เท่าไรนัก ผมคิดว่าขนาดของพรรคและจำนวนที่นั่งในรัฐสภาของพรรคการเมืองผู้สนับสนุนมูลนิธิก็น่าจะเป็นเกณฑ์พิจารณาส่วนหนึ่งด้วย
          อย่างมูลนิธิ FES ซึ่งมีพรรค SPD สนับสนุน  ในปี 2005 ได้งบประมาณ 550 ล้านยูโร (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 24,750 ล้านบาท) ซึ่งมากโขทีเดียว ผมอยากรู้ต่อไปอีกว่าในเมื่อมูลนิธิพวกนี้เขามีกิจการในต่างประเทศ เช่น Konrad, FNS, FES ต่างก็มีสำนักงานที่กรุงเทพฯ และอีกหลายสิบแห่งทั่วโลก งบประมาณเขาใช้ในประเทศและต่างประเทศเป็นสัดส่วนประมาณไหน คุณไลม์บากบอกว่า 50:50 ครับ       ผมคิดว่าในใจว่าทำไมเยอรมันถึงใจกว้างอย่างนี้ เงินจากภาษีอากรของชาวเยอรมันแท้ๆ ทำไมเขาจึงให้มูลนิธิเอามาใช้สนับสนุนส่งเสริมประชาชนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้
          ผมจึงได้ข้อสรุปกับตัวเองในเบื้องต้นว่าที่แท้จริงแล้ว มูลนิธิเหล่านี้ คือองค์กรของพรรคการเมืองโดยภาคประชาสังคมและเพื่อภารกิจของสหพันธรัฐครับ
          เยอรมันเขามองพรรคการเมืองเป็นทั้ง ภาคประชาสังคมและภาครัฐ เขามองมูลนิธิของพรรคการเมืองเป็นเสมือนแขนขาที่ทำงานทางสังคม แบบเดียวกับที่ภาคธุรกิจในบ้านเราที่มี CSR เป็นแขนขาสำหรับทำงานดูแลและรับผิดชอบสังคมนั่นเอง ดังนั้นเขาจึงใช้ทั้งกลไกพรรคการเมือง และมูลนิธิของพรรคการเมืองเพื่อภารกิจของประเทศชาติ ทั้งกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยและประชาสังคม ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
          หากจะศึกษาแบบอย่างและนำมาประยุกต์ในบ้านเรา ผมอยากเห็นมูลนิธิที่ชื่อ Thailand International Peace Foundation ที่มีภารกิจในการเสริมสร้างสันติภาพและความเข้มแข็งร่วมกันของประชาชนและภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเชียน โดยที่รัฐบาลไทยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและมีกฎหมายรองรับอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
          ขออนุญาตฝันไปเรื่อยเปื่อยนะครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "German PBS Series (4) : “มูลนิธิของพรรคการเมืองเพื่อภารกิจชาติ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.