Kettering foundation : สถาบันวิจัยส่งเสริมประชาสังคมระดับโลก

พลเดช  ปิ่นประทีป….มูลนิธิแคทเทอริง (KF) ที่ผมรู้จัก  เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ชื่อเต็มว่า Charles F. Kettering Foundation เป็นสถาบันวิจัยที่ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด มีฐานที่ตั้งอยู่ที่เมือง Dayton มลรัฐ Ohio และมีสำนักงานอีก 2 แห่งตั้งอยู่ใน Washington D.C. และ New York City……

Kettering foundation : สถาบันวิจัยส่งเสริมประชาสังคมระดับโลก
พลเดช ปิ่นประทีป/เดย์ตัน โอไฮโอ
26 มิถุนายน 2549
ภาพ : Internet
ผมได้รับเชิญจากมูลนิธิแคทเทอริง สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Deliberative Democracy Workshop (DDW) และ 2006 Public Policy Workshop (PPW) ระหว่างวันที่ 24 – 28 มิถุนายน 2549 ที่เมือง Dayton มลรัฐโอไฮโอ จึงมีโอกาสได้เห็นสิ่งที่ดีงามและน่าสนใจมากบางอย่างของสังคมคนอเมริกันบนแผ่นดินของพวกเขา
1. มูลนิธิแคทเทอริงที่รู้จัก

มูลนิธิแคทเทอริง (KF) ที่ผมรู้จัก เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ชื่อเต็มว่า Charles F. Kettering Foundation เป็นสถาบันวิจัยที่ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด มีฐานที่ตั้งอยู่ที่เมือง Dayton มลรัฐ Ohio และมีสำนักงานอีก 2 แห่งตั้งอยู่ใน Washington D.C. และ New York City

KFก่อตั้งขึ้นในปี 1927 (พ.ศ. 2470) โดย Charles F. Kettering ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้ที่มีชื่อเสียงมากในการคิดค้นระบบ self-starter ของรถยนต์ และมีสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มากกว่า 200 ชิ้น

KF มีค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรในด้านการวิจัยเชิงประดิษฐกรรม (inventive research) ตามแบบฉบับของผู้ก่อตั้งซึ่งมีอุปนิสัยในการค้นหาคำตอบด้วยการปฏิบัติจนได้พบสิ่งที่ท่านเรียกมันว่า “ the problems behind the problems” มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

วาทะของท่านผู้ก่อตั้งมูลนิธิซึ่งสะท้อนหลักคิดและคุณค่าขององค์กรในด้านงานวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลง ท่านกล่าวว่า

“Essentially, research is nothing but a state of mind…a friendly, welcoming attitude toward change.”

KF ในวันนี้ยังคงรักษาและดำเนินวิถีวัฒนธรรมขององค์กรเช่นนี้ตลอดมา แต่ปัจจุบัน KFมุ่งมาในงานด้านสังคมมากขึ้นโดยวางวัตถุประสงค์ของสถาบันไว้ที่การศึกษาค้นคว้าสิ่งที่จะช่วยทำให้ระบบประชาธิปไตยสามารถทำงานได้อย่างที่มันควรจะเป็น ซึ่งในจุดนี้ผมเห็นว่า KF ได้ลดบทบาททางด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ลง และหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovations) เป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากโปรแกรมงานวิจัยระดับหลักสูตรปริญญาเอกและงานส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยของสถาบันใน 6 ด้านได้แก่

 

· Citizens and Public choice

· Community Politics and leadership

· The Public and Public School

· Institutions Professionals and the Public

· The Public – Government Relationship

· International and Civil Society

2. การบริหารเงินทุนของ KF

KF ไม่ใช่องค์กรให้ทุนทั่วไป แต่จะสนับสนุนปัจเจก กลุ่มและองค์กรต่างๆ ในลักษณะทำงานร่วมกันแบบพันธมิตรมากกว่าการให้ทุน ปัจจุบัน KF มีเงินทุนถาวร (Endowment Fund) สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรประมาณ 250 ล้าน เหรียญสหรัฐ หรือราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากพอสมควร ในแต่ละปีเขาใช้งบประมาณดำเนินงานกับเครือข่ายทั้งในประเทศและเชื่อมโยงระหว่างประเทศประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ(600 ล้านบาท) และได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันที่มีผลงานในทางวิชาการและการเคลื่อนไหวสาธารณะในระดับแนวหน้าของสหรัฐอเมริกาทีเดียว

สำนักงาน KF ที่เมือง Dayton มีสถานที่กว้างขวาง ร่มรื่นเหมือนสิงสถิตย์อยู่ในสวนอันเงียบสงบ มีอาคารที่ทำการ 2 หลังเป็นอาคาร 2 ชั้น สามารถใช้เป็นที่ทำงานของนักวิจัย นักคิดและเจ้าหน้าที่ของสถาบันได้อย่างสะดวกสบาย มีห้องประชุมใหญ่-น้อยกว่า 10 ห้อง มีห้องสมุดกลาง มีภัตราคารสำหรับบริการการประชุมสัมมนาของตนเอง มีเจ้าหน้าที่ประจำ 50 คน และที่นี่แหละคือฐานที่มั่นของ KF มูลนิธิสัญชาติอเมริกันที่มีเครือข่าย Deliberative Democracy และประชาสังคม ทั้งในประเทศและทั่วโลก

เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกันในด้านเงินทุนของมูลนิธิต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์ USA Today ซึ่งพอดีมีข่าวความเคลื่อนไหวของมหาเศรษฐี Bill Gates และภรรยา ผู้ประกาศจะวางมือจากธุรกิจโดยหันมาทำงานสาธารณกุศลอย่างจริงจัง เนื้อข่าวให้ข้อมูลที่น่าสนใจเปรียบเทียบ 5 องค์กรการกุศล (philanthropic powerhouse) 5 อันดับแรกของ USA ให้เห็นระดับและขนาดความใหญ่โตของเงินกองทุน ดังนี้ :

 

1. Bill & Melinda Gates Foundation 59,500 ล้าน USD

2. Ford Foundation 11,600 ล้าน USD

3. J. Paul Getty Trust 9,600 ล้าน USD

4. Robert Wood Johnson foundation 9,000 ล้าน USD

5. Lilly Endowment 8,600 ล้าน USD

จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบในด้านขนาดเงินกองทุนแล้ว KFยังห่างไกลจากกองทุนเหล่านี้มาก แต่ถ้าดูในด้านผลงาน และบทบาทในด้านวิชาการ และนโยบายสาธารณะที่ KFขับเคลื่อนในสังคมอเมริกันแล้วต้องถือว่า KFโดดเด่นกว่ากองทุนเหล่านี้มากนัก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา การที่เขามีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การเมือง และมีบทบาทเป็นมหาอำนาจของโลกได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมของเขามีทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางปัญญาเป็นรากฐานที่แน่นหนา แข็งแกร่ง และแผ่กว้างรองรับอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้เอง

 

3. สังคมไทยกับการบริจาคเงินเพื่อสาธารณประโยชน์

หันมาดูองค์กรสาธารณประโยชน์ในเมืองไทยบ้าง การก่อตั้งมูลนิธิ สมาคม และองค์กรการกุศลของเราก็มีไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมีข้อจำกัดในด้านเงินทุนด้วยกันทั้งนั้น เพราะในบ้านเราการบริจาคเงินทุนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนงานพัฒนาคน พัฒนาชุมชนท้องถิ่น พัฒนาสังคม พัฒนาการเมืองการปกครอง ยังไม่เกิดในหมู่เศรษฐีและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ

ที่มีบริจาคกันบ้าง ก็มักทำเป็นองค์กรเพื่อสนับสนุนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ชื่อเสียงและกิจการของบริษัทหรือวงศ์ตระกูลเสียมากกว่า ความเคลื่อนไหวจึงออกไปในแนวการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ เป็นครั้งคราวไป

ประชาชนโดยทั่วไปยังมีฐานะไม่มั่นคงนัก การบริจาคของคนไทยโดยทั่วไปก็คงไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่น กล่าวคือมีการบริจาคกันไปคนละเล็กคนละน้อย เป็นเบี้ยหัวแตก ตามศรัทธาและโอกาส ซึ่งจะหวังให้เป็นเงินบริจาคก้อนใหญ่ๆ แบบมหาเศรษฐีและองค์กรทางธุรกิจคงไม่ได้

นอกจากนั้น วัฒนธรรมประเพณีของเรายังมีค่านิยมที่อยากบริจาคให้กับสถาบันที่ตนศรัทธาเชื่อถือ จึงไม่พ้นการบริจาคเงินให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านมูลนิธิที่เกี่ยวข้องและถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย หรือบริจาคให้สถาบันศาสนาผ่านกองทุน/มูลนิธิของวัดวาอาราม หรือไม่ก็บริจาคให้กับสถาบันชาติโดยผ่านหน่วยราชการต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ สิ่งเหล่านี้คือด่านทางวัฒนธรรมที่กลุ่มทำงานส่งเสริมมูลนิธิชุมชน (Community Foundation) ในประเทศไทยจะต้องใช้ความพยายามอย่างสูงที่จะฝ่าข้ามไปให้ได้

 

4. ผู้นำกับทิศทางขององค์กร

กลับมาที่บทเรียนรู้ซึ่งผมได้จาก KF อีกประการหนึ่ง คือบทบาทของผู้นำองค์กร

นอกจาก Charles F. Kettering ผู้ก่อตั้งมูลนิธิแล้ว นับได้ว่า ดร.เดวิด แมทธิวส์ ผู้รับช่วงผู้นำองค์กรคนปัจจุบันคือผู้ที่ทำให้บทบาทของ KF โดดเด่นขึ้นมาอย่างมากในสังคมอเมริกันและวงการระหว่างประเทศในวันนี้

เดวิด แมทธิวส์ เกิดปี 1935 ปัจจุบันอายุ 71 ปี ทำหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิ KF คนปัจจุบัน ในอดีตเขาเคยเป็นเลขานุการด้านสาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการสังคมในรัฐบาล ประธานาธิบดีฟอร์ด (ซึ่งก็คือตำแหน่งรัฐมนตรีของรัฐบาลฟอร์ดนั่นเอง) เขาเคยเป็นประธานของมหาวิทยาลัยอลาบามาและเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในหลายองค์กร รวมทั้งมูลนิธิฟอร์ด (Gerald R.Ford Foundation) เป็นผู้นำใน the National Issues Forums Institute และ เป็นผู้ขับเคลื่อน Public Agenda คนสำคัญในสหรัฐอเมริกา

KF ให้ความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น เพราะเชื่อมั่นว่ามีแต่สังคมประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเปิดโอกาสให้เกิดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ แต่เดวิด แมทธิวส์ และสถาบันของเขาก็ตระหนักในข้อจำกัดของประชาธิปไตยระบบตัวแทนในยุคปัจจุบัน ทั้งที่เป็นอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเล็งเห็นว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนหมดประสิทธิภาพและเสื่อมโทรมลงทุกขณะ

ท่ามกลางความผันผวนโกลาหลของสถานการณ์ความเป็นจริงในโลกใบนี้ จึงจำเป็นต้องช่วยกันส่งเสริมฟื้นฟูการเมืองของพลเมืองเข้ามาอย่างเข้มแข็งและจริงจัง และนับได้ว่าเดวิด แมทธิวส์ คือผู้นำที่เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนทิศทางและยุทธศาสตร์ขององค์กรจากที่เคยสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ มาเป็นการสร้างนวัตกรรมทางสังคมแทน และสามารถทำได้อย่างโดดเด่น

เขาให้ความสำคัญของการเมืองภาคพลเมือง (Citizens) ความเข้มแข็งของชุมชน (Community) บทบาทของสาธารณะ (Public) และประชาสังคม (Civil Society)

 

5. มูลนิธิแคทเทอริงกับการขับเคลื่อนประชาสังคมนานาชาติ

KF มีส่วนร่วมในกิจกรรมการสนทนาของสาธารณะเกี่ยวกับประชาสังคมและความท้าทายของประชาธิปไตย ซึ่งKF ได้ใช้เวลา 25 ปี ในการวิจัยค้นคว้าหาหนทางที่ภาคพลเมืองจะใช้ในการแสดงปัญหาของชุมชน ในขณะที่รัฐบาลและภาคธุรกิจก็พยายามด้วยวิถีทางของตนในอันที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าภารกิจของชุมชนจะเดินหน้าไปได้ งานวิจัยของ KF พยายามะทำความเข้าใจมากขึ้นถึงวิถีทางที่ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถเดินหน้าอย่างสมดุลย์และมั่นคงด้วยพลังของพลเมือง

มีคำที่ KF ใช้ในการเรียก Civil Society อยู่หลายคำ อาทิ Civic Life : วิถีชีวิตพลเมือง และ Public Life :วิถีชีวิตสาธารณะ

KF มองว่าประชาสังคมเป็นสิ่งเดียวกับ Social Capital : ทุนทางสังคม

Community : ชุมชน

The Public : สาธารณะ

และ The Political : การเมืองสาธารณะ (ซึ่งแตกต่างจาก Politics : การช่วงชิงอำนาจทางการเมือง)

KF ได้ให้คำจำกัดความของ Civil Society ว่าคือ “สังคมที่สร้างสรรค์โดยพลเมือง ด้วยการที่พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องและดำเนินการกันเองร่วมกับพลเมืองคนอื่น ๆ”

Civil Society ในบทบาทของการต่อรองผลประโยชน์ และการกำหนดกรอบความคิดต่าง ๆ ของสังคมนั้นต้องการ พาหนะเป็นตัวนำพาซึ่ง KF เห็นว่า Deliberative Public Politics คือเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับสิ่งนั้นในการปฏิบัติการของพลเมืองเพื่อการปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย (Self-geverning)

มีเอกสาร สิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่องค์ความรู้ แนวความคิดและข้อมูลสำคัญร่วมพันเล่มที่ผลิตออกมาตลอดระยะเวลาซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากในสังคมอเมริกันและนานาชาติ ซึ่งสามารถขยายความเหล่านี้ได้ดี อาทิ :

 

· For Communities to Work , David Mathews.

· Politics for People , David Mathews.

· Why Public School? Whose Public school? , David Mathews.

· Reclaiming Public Education by Reclaiming Our Democracy, David Mathews.

· Changing Perceptions of the Relationship Between Citizens and Their Elected Representatives. , Joseph E.Freeman

· Shutting The Public Out Of Politics: Civic Republicanism, Professional Politics and the Eclipse of Civil Society, R Clare Snyder.

· Consequential Learning: A Public Approach to Better Schools,Jack Shelton.

· Accountability, Community and Philanthropic Practices, KF.

· Information Age Populism: Higher Education as a Civic Learning Organization., Harry K.Boyte

· Etc.

6. ระบบประชาธิปไตยเชิงพินิจ

น่าสนใจว่า KF หันกลับไปหาคุณค่าระบบประชาธิปไตยดั้งเดิมที่มารากฐานมาจากสังคมกรีก โรมัน ซึ่งสถาบันได้พบว่าพลเมืองสมัยนั้นมีระบบประชาธิปไตยบนรากฐานของการพูดคุยสนทนาเรื่องสาธารณะหรือปัญหาส่วนรวมกันในวิถีชีวิตประจำวัน โดยไม่ได้ฝากชะตากรรมไว้กับการเมืองระบบตัวแทน

KF เรียกประชาธิปไตยแบบนี้ว่า Deliberative Democracy (DD) หรือประชาธิปไตยเชิงพินิจ ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นรากฐานของหลายวัฒนธรรมและหลายชุมชนทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาเอง

ที่ Massachusetts เมื่อปี 1930 ในเมือง Dorchester เกิดปัญหาปศุสัตว์หนีออกจากคอกไปสร้างปัญหาให้กับชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทนกันไม่ไหว เรื่องนี้ได้นำไปสู่ปัญหาใหญ่ 2 ประการของชุมชนท้องถิ่น คือ

1) จะปกป้องปศุสัตว์อันเป็นอาชีพหลักของชุมชนอย่างไร

2) จะมีกระบวนการอย่างไรในการตัดสินใจปกป้องปศุสัตว์ ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่เบื้องหลังประเด็นเดียวกัน

ในขณะนั้น Dorchester ไม่มีรัฐบาลท้องถิ่นที่จะดูแล และปัญหาปศุสัตว์ก็เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะพูดคุยกันในโบสถ์วันอาทิตย์อีกต่อไป ดังนั้นจึงเกิดการเรียกร้องให้มีการรวมตัว เพื่อจัด “Town Meeting” ขึ้นเป็นครั้งแรก และรูปแบบ Town Meeting นี่เองที่ได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของระบบการเมืองของอเมริกันจนทุกวันนี้.

น่าศึกษาว่า แม้ในระยะต่อมาซึ่งเมื่อถึงเวลาต้องจัดรูปแบบการปกครองอย่างเป็นกิจจะลักษณะนั้น ชาวอาณานิคมในอเมริกาในยุคนั้นได้พากันเลือกที่จะไม่ใช้ระบบการปกครองเมืองท้องถิ่นแบบอังกฤษ แต่กลับยืนยันที่จะใช้ “Town Meeting” หรือ “Civil Body Politick” เช่นนี้เป็นรากฐานแทน เพราะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการประชุมพลเมืองผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่รองรับ(Non-Authority) แต่พลังอำนาจ (Power) ซึ่งเกิดจากการพันธสัญญาในการทำงานระหว่างกันของพลเมืองที่มาร่วมประชุมเช่นนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ปัญหามากกว่า

7. ระบบการเมืองรูปแบบต่างๆ

หันกลับมามองระบบการเมืองที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ DDW ซึ่งมีผู้เข้าร่วมระดมความคิดจาก 20 ประเทศ ในคราวนี้พวกเราช่วยกันสรุปได้ว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีระบบการเมืองในประเทศต่างๆ 4 รูปแบบ ซึ่งแต่ละประเทศกำลังมีขั้นของพัฒนาการที่แตกต่างกันไปตามบริบทของตน ได้แก่

1) การเมืองล้าหลัง (Negative Politics) หมายถึง การเมืองเชิงลบของผู้ปกครอง ที่เต็มไปด้วยเรื่องการใช้อำนาจ เผด็จการ ควบคุม บงการ แบ่งแยกแล้วปกครอง

2) การเมืองตัวแทน(Politics of Representative) ซึ่งมีระบบผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจ การปกครอง มักมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ โฆษณาชวนเชื่อ รณรงค์ให้ทำตาม

3) ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participative Democracy) คือ ระบบการเมืองที่ส่งเสริมสนับสนุน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ปัญหา สร้างเสริมความเข้มแข็งและพลังอำนาจให้ประชาชน

4) ประชาธิปไตยเชิงพินิจ (Deliberative Democracy) เป็นการเมืองที่ให้ความสำคัญในการพูดคุยสนทนา เป็นประชาธิปไตยในวิถีชีวิตประจำวัน กำหนดตนเองได้ ปกครองตนเองเป็นหลัก ซึ่งรูปแบบนี้จะนำไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม จริยธรรม.

8. ประชาธิปไตยเชิงพินิจกับการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย

ผมร่วมเรียนรู้กับพวกเขาแล้วย้อนดูพัฒนาการของการเมืองในบ้านเรา ผมรู้สึกได้ทันทีว่า เราเดินทางมาได้ไกลกว่าหลายประเทศที่ร่วมแลกเปลี่ยนกัน

ถ้านับจากปีพ.ศ.2475 ซึ่งเราเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นี่ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ผ่านมายาวนานถึง 74 ปีแล้ว

แต่นั่นก็ยังไม่ได้หมายความว่าเราเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจริง เพราะอำนาจยังคงตกอยู่ในมือของเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเราเข้าสู่ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทนอย่างจริงจังในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนั้นฟ้าเริ่มเปิด เรามีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งแล้ว แต่บทบาทของภาคประชาชนมีเพียงแต่หย่อนบัตรเลือกตั้งตัวแทนเท่านั้น ต่อมาเราเพิ่งจะมีพัฒนาการของระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาเสริมอย่างจริงจัง หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนนำมาสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในปีพ.ศ.2540 แม้ว่าในความเป็นจริงจะยังมีข้อจำกัดในด้านกลไกสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมและกระบวนทัศน์ของระบบราชการที่เป็นอุปสรรคอยู่บ้างก็ตาม

ถ้าเราศึกษาแนวคิดระบบประชาธิปไตยเชิงพินิจให้ดี จะพบว่าเป็นสิ่งเดียวกับที่เราทำงานชุมชนเข้มแข็งที่เป็นการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำมานานแล้วนั่นเอง ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าสังคมไทยของเราได้มีการวางรากฐานของประชาธิปไตยเชิงพินิจล่วงหน้ามาบ้างแล้ว ซึ่งถ้าจะนับจริงๆ ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเราเริ่มพร้อมๆกับแนวคิดการพัฒนาที่ใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า แนวทางวัฒนธรรมชุมชน เมื่อราว พ.ศ.2525

ดังนั้นในโอกาสที่เมืองไทยของเราที่กำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากวิกฤตผู้นำ วิกฤตการเมือง วิกฤตคุณธรรม-จริยธรรม ซึ่งสังคมกำลังเรียกร้องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองรอบสองในคราวนี้ ผมจึงคิดว่าหากเรามีการวางแผนและเตรียมการขับเคลื่อนสังคมอย่างเหมาะสม เราน่าจะก้าวเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ สมดุล มั่นคง และมีคุณธรรม จริยธรรมได้ไม่ยากจนเกินไป.

โดยในยามเช่นนี้ Kettering Foundation และเครือข่าย DD นานาชาติคือกัลยาณมิตรของเราที่ไม่ควรมองข้าม

Be the first to comment on "Kettering foundation : สถาบันวิจัยส่งเสริมประชาสังคมระดับโลก"

Leave a comment

Your email address will not be published.