LDI AWARDs ผนึกกำลังท้องถิ่นชุมชน ทำเมืองไทยให้น่าอยู่

งาน LDI AWARDs เป็นภาพรวมของการสร้างเครือข่ายเทศบาลเข้มแข็ง ผนึกกำลังท้องถิ่น ทำเมืองไทยให้น่าอยู่สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ให้กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกับคณะเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมากกว่า 600 คน ร่วมเสวนา โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ 8 ตุลาคม 2551

LDI AWARDs ผนึกกำลังท้องถิ่นชุมชน ทำเมืองไทยให้น่าอยู่
กรุงเทพฯ– วันที่ 8 ตุลาคม 2551 สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มูลนิธิพัฒนาไท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยและหน่วยงานองค์กรภาคีพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกันดำเนินการโครงการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ให้เกิดการเชื่อมประสานและสร้างพลังจากภาคีเครือข่ายเมืองน่าอยู่ ทั้งในระดับยุทธศาสตร์และระดับปฏิบัติการหนุนเสริมการขับเคลื่อน ขยายผลการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ในวงกว้าง จัดการสัมมนา เวทีสมัชชาเทศบาลเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ และ งานพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ LDI AWARAs ขึ้น ณ.ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯมหานคร โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการประเด็นเมือง
น่าอยู่จากเครือข่ายเทศบาลมากกว่า 700 เครือข่าย
นอกจากนี้ รูปแบบของงานยังได้จัดเวทีการสัมมนากลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น การแสดงผลงาน การขับเคลื่อนกระบวนการเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ของศูนย์การเรียนรู้ด้านเมืองน่าอยู่ระดับภูมิภาคในลักษณะการจัดบอร์ดนิทรรศการ เช่น เทศบาลเมืองพนัสนิคมที่ได้นำเอาเครื่องจักรสานมาแสดงในงาน เทศบาลเมืองวารินชำราบที่ได้นำผลิตผลจากขยะที่สกัดออกมาเป็นน้ำมันดีเซล นิทรรศการเมืองน่านอยู่เทศบาลเมืองนนทบุรี นิทรรศการทางด้านวัฒนธรรม จากเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ ภายในงานยังได้นำเสนอวีดิทัศน์ ย้อนรอยการเดินทาง กระบวนการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ พร้อมกับการประกาศเจตนารมย์ เครือข่ายเทศบาลเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ ร่วมกันของสมัชชาเทศบาล สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยและหน่วยงานองค์กรภาคพันธมิตร
โดยในเวลา 09.30 น. นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา โดยเน้นประเด็นการขับเคลื่อนชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการพัฒนาชุมชนที่สร้างสรรค์และได้รับความสำเร็จโดยอาศัยแรงพลังจากเครือข่ายของพลังชุมชน
นายกิติศักดิ์ กล่าวถึง ผลรางวัลที่แต่ละเทศบาลได้รับ ไม่ได้หมายความว่า เทศบาลใดจะเก่งหรือดีกว่าเทศบาลอื่นๆ ทั้งนี้ ผลรางวัลจะเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการทำงานและเป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อประสานพลังแห่งการพัฒนาออกไปอย่างกว้างขวางทั้งประเทศ ทั้งโลก
หลังจากนั้น เวลา 10.15 น. นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ได้กล่าวรายงานสภาพความน่าอยู่ของเมืองในประเทศไทย 2550 ความว่า
“การมองเห็นภาพรวมของเมืองใหญ่ในโลกจะทำให้เกิดการยกระดับจิตสำนึกบางอย่างในการพัฒนาเมือง ก่อนจะเริ่มต้นรายงานสถานการณ์สภาพการณ์เมืองน่าอยู่ของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา ผมจะขออนุญาตนำพาท่านทั้งหลายไปดูเมืองของโลกและโลกของเมืองในต่างประเทศ พอสังเขป”
นายแพทย์พลเดช ชี้ให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวของเมืองต่างๆ ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียมีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นและรวดเร็วที่สุดในโลก โดยนำเสนอภาพของเมืองโตเกียวในประเทศญี่ปุ่น สลัมในเซาเปาโล ประเทศบราซิล เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย มุมไบ ประเทศอินเดีย และกล่าวถึงรายงานในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอ แกรฟฟิกที่ระบุว่า “นับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างมากที่ประชากรได้เข้ามาอยู่อาศัยในเขตเมืองและมีอัตราการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง และในภาพรวมทั้งโลกประชากร 6,000 ล้านคนมีแนวโน้มเข้ามาอยู่อาศัยอยู่ในตัวเมืองมากกว่าในชนบทและแนวโน้มดังกล่าวนี้จะดำเนินการต่อไปในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า” นอกจากนี้ ยังนำเสนอภาพของสวนใหญ่กลางเมือง อย่างเช่น เซ็นทรัล ปาร์ค อเวนิวส์ ในสหรัฐอเมริกาและชาวสวนจรยุทธ์ที่มักจะมาแอบปลูกไม้ดอกไม้ประดับเอาไว้เพื่อทำให้เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่
ก่อนจะเข้าสู่การรายงานสภาพเมืองน่าอยู่ นพ.พลเดช ได้ยกคำกล่าวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้สัมภาษณ์เอาไว้ในนิวยอร์ก ไทม์ (28 เม.ย. 2474) ความว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าสิทธิเลือกตั้งของประชาชนควรจะเริ่มต้นที่การปกครองท้องถิ่นในรูปเทศบาล ข้าพเจ้าเชื่อว่า ประชาชนควรมีสิทธิมีเสียงในกิจการท้องถิ่นก่อน เราพยายามให้การศึกษาเรื่องนี้แก่เขา ข้าพเจ้าเห็นว่า จะเป็นการผิดพลาดถ้าเราจะมีการปกครองแบบรัฐสภาก่อน ก่อนที่ประชาชนจะมีโอกาสเรียนรู้และมีประสบการณ์อย่างดีเกี่ยวกับสิทธิเลือกตั้งในกิจการปกครองท้องถิ่น”
นอกจากนี้ นพ.พลเดช ยังได้ย้อนรอยการจัดตั้งเทศบาลนับจากอดีต ปี 2440 ประเทศไทยมีการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ จนเกิดเทศบาล 1,278 แห่ง ทั่วประเทศในปี 2550 ทั้งนี้ รายงานได้กล่าวถึง ผลการศึกษาถึงสภาพการทางสถานการณ์เมืองน่าอยู่จากการศึกษา จากการศึกษาเทศบาลเมือง เทศบาลนคร เทศบาลตำบล จำนวน 744 แห่ง (58.22%) มีใจความสรุปว่า หากเรานำเอาแผนเมืองน่าอยู่ที่มี คน เป็นศูนย์กลาง ในแต่ละเทศบาลจะมีแผนแบ่งออกเป็น 4 แบบด้วยกัน หนึ่ง ในบางเทศบาลมีแผนกิจกรรมเป็นแผนรวมๆ ของแผนเทศบาลที่ไม่ได้เน้นหนัก สอง เป็นแผนที่อยู่ในกิจกรรมพิเศษของเทศบาล สาม ถูกบรรจุไว้เป็นแผนเชิงยุทธศาสตร์ของเทศบาล สี่ เป็นแผนเฉพาะ ทั้งนี้ นพ.พลเดช กล่าวว่า อยากให้ถือว่าเรื่องเมืองน่าอยู่กับเทศบาลเข้มแข็งเป็นเรื่องเดียวกันซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ที่ต้องได้รับการสนับสนุนและมีแผนงานที่จริงจังในการหนุนเสริมภาคต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาฐานข้อมูลท้องถิ่นให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน
การดำเนินงานเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ถูกจัดวางให้เกิดเป็นนโยบายสำคัญในการมุ่งสร้างพลังชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาความน่าอยู่ของเมือง อันหมายถึง พื้นที่ตั้งของกลุ่มชุมชนที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น ประกอบอาชีพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ผู้คนในสังคมมักมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย อันเนื่องมาจากการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชที่แตกต่างทางวัฒนธรรม เมือง กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ถูกจัดตั้งรูปแบบการบริหารท้องถิ่นใน 3 ระดับ คือ เทศบาลนคร เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล ผ่านคุณสมบัติของความเป็นเมืองปลอดภัย เมืองสะอาด เมืองคุณภาพชีวิต เมืองธรรมาภิบาล และ เมืองวัฒนธรรม
รายการลำดับต่อมา ภายในงานได้จัดแบ่งการเสวนาเรื่อง บทเรียนรู้ เมืองน่าอยู่ 4 ภูมิภาค ผ่านตัวแทนนายกเทศมนตรี 4 คน ในแต่ละภาค
นายสุเทพ นุชทรวง นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน หนึ่งในตัวแทน กล่าวว่า เมืองแม่ฮ่องสอนมีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมอันมีผลจากวัฒนธรรมชาวไทใหญ่ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของชาวเหนือโดยทั่วไปซึ่งได้รับอิทธิพลจากล้านนา ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต้องการมาเห็นสังคมในรูปแบบวัฒนธรรมเก่าแก่และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การจัดการเรื่องขยะของเมืองแม่ฮ่องสอน มีรูปแบบที่น่าสนใจ จากคำบอกเล่าของนายสุเทพ พ่อเมืองแม่ฮ่องสอน ถึงเรื่องนี้ “ขยะส่วนใดที่ขายได้เราขายก่อน ขยะอื่นๆ ที่ย่อยสลายได้จะเอามาทำปุ๋ย หาได้ตั้งแต่ใบไม้กระทั่งเศษอาหารตามบ้านเรือน แล้วนำปุ๋ยนั้น คืนให้แกชุมชนด้วยการนำไปบำรุงดิน ครัวเรือนได้นำไปปลูกพืชผักสวนครัว” นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนสรุปว่า การพัฒนาควรเริ่มที่ต้นเหตุ ครัวเรือนเป็นหน่วยย่อยที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ
ทางด้าน นายวิกรม สมจิตต์ อารีย์ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ พูดถึงแรงบันดาลใจในแผนการจัดสวัสดิการเมืองที่จะแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เริ่มด้วยการทำสำรวจบริบทของเมืองบุรีรัมย์ นายกฯวิกรม พบว่า ปัญหาสำคัญของนโยบายประชานิยม(หว่านแจกงบประมาณ)ในขั้นตอนสุดท้าย เงินทั้งหมดจะตกอยู่ที่คนรวย ทำอย่างไรจึงจะลดช่องว่างของปัญหา ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์จึงกำหนดกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ด้อยโอกาสเอาไว้ในแผนสวัสดิการเมือง คือ เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นายกฯ วิกรม บอกว่า เราไม่ได้ใช้วิธีการลดแลกแจกแถมแต่ทำมันอย่างมีสาระ
นางธันยวีร์ ศรีอ่อน ตัวแทนผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียว จากเทศบาลตำบลปราณบุรี ให้ความเห็นว่าความปลอดภัยของเทศบาลตำบลปราณบุรี เริ่มต้นด้วยทำให้เมืองสะดวกสบายด้วยนโยบายนำไหลไฟสว่าง ความปลอดภัยเป็นประเด็นลำดับต้นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ ก่อนจะทิ้งท้ายเอาไว้ว่า คำว่าเมืองน่าอยู่ต้องเป็นความน่าอยู่ที่มาจากประชาชนในชุมชน เค้าอยากทำอะไรให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มในชุมชนเป็นเสนอมาเป็นข้อๆ แล้วเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง เราเป็นเพียงผู้หนุนเสริมเพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน
คนสุดท้าย นายอภิชาติ สังขาชาติ นายกเทศมนตรีเมืองคลองแห จ.สงขลา ที่เน้นมิติการรักษาความปลอดภัยด้วยการฝึกอบรมตัวแทนชุมชนเพื่อให้มีทักษะในการเป็นหูเป็นตาร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวต ชุมชนละ 2 คน เน้นการป้องกันและการบริการ จนได้ตัวแทนมาจำนวน 90 คน โดยฝึกอบรมเรื่องการสังเกตุการณ์และเฝ้าระวัง โดยเน้นการบริการตลอด 24 ชั่วโมง
….
ช่วงบ่าย กิจกรรมเวทีการประชุมสมัชชาเทศบาลเข้มแข็งเมืองน่าอยู่ ถูกแบ่งเป็น 2 เวที ย่อย ประเด็นแรก คือ การผนึกกำลังท้องถิ่นและชุมชนทำเมืองไทยให้น่าอยู่ โดย ตัวแทนเครือข่ายและภาคีประชาสังคม เป็นผู้ออกความเห็นทั้งในเชิงวิชาการและการปฎิบัติของแต่ละหน่วยงาน อีกประเด็น เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ เครือข่ายเมืองน่าอยู่ ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าติดตามจากการระดมความคิดและสรุปผลโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีปและทีมงานวิชาการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ดังต่อไปนี้
ประเด็นการเสวนาบทเรียนเมืองน่าอยู่ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนเน้นประเด็นความสะอาดก่อนสว่าง การจัดการขยะและวัฒนธรรมไทยใหญ่ เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จะเน้นเรื่องสวัสดิการเมือง บริการผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กและเยาวชนและคนพิการ โดยเฉพาะคุณภาพทางด้านการศึกษาของกลุ่มเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการจัดทำเวทีสภาเมือง สำหรับเทศบาลเมืองปราณบุรี ชูนโยบายน้ำไหลไฟสว่างทางสะดวก ความปลอดภัยและผลักดันให้เมืองน่าอยู่เป็นแผน 3 ปี ของเทศบาล อีกสถานที่เป็นเทศบาลเมืองคลองแห ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยด้วยการฝึกอบรมในการเฝ้าสังเกตุการณ์และเน้นงานระวังป้องกัน คล้ายๆ กับตำรวจชุมชนและงานฟื้นฟูเชิงวัฒนธรรม เช่น การแสดงมโนราห์
ในส่วนงานสมัชชาเทศบาลเมืองเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ สรุปเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้ 7 ประเด็น
ประเด็นที่1 เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและมีส่วนในกิจกรรมของเมืองในทุกๆ ขั้นตอน
ประเด็นที่2 สร้างกลไกในการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่น อย่างหลากหลายและเข้มแข็ง หลายรูปแบบและการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนผ่านเวทีชุมชนในระบบเครือข่ายประชาชนที่ยั่งยืน
ประเด็นที่3 จะมีการพัฒนาบุคลากรเพิ่มศักยภาพในการทำงานทุกขั้นตอน สร้างสังคมเรียนรู้ในทุกระดับ ตั้งแต่ชุมชนจนถึงครอบครัว
ประเด็นที่4 เน้นงานด้านการประสานความร่วมมือระหว่างเทศบาลในทุกระดับภาค ทั้งภาครัฐและหน่วยงานราชการที่จะสนับสนุนในการสร้างเครือข่ายท้องถิ่น ทั้งองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอในพื้นที่
ประเด็นที่5 หลักยึดในการปฏิบัติงาน จะเน้นการปฏิบัติการแบบพอเพียง เช่น การจัดการงานด้านทรัพยากรและสังคม ชุมชนไม่ทอดทิ้งกันและเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองได้ในเรื่องพื้นฐานและความยั่งยืน
ประเด็นที่6 สร้างมาตรฐานในการกำกับและวางแผนการทำงานของท้องถิ่นอย่างชัดเจน
ประเด็นที่7 เรื่องท้าทายใหม่ๆ
-การรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโลกร้อน
-ความปลอดภัยและมั่นคงทางด้านอาหาร
-สร้างแหล่งเรียนรู้
-สร้างอาชีพที่ไม่เสี่ยง
-การสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง
ต่อไปเป็นบทสรุป การประชุมเครือข่ายเทศบาลเข้มแข็ง
ประเด็นที่1 ต้องทำสังคมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้โดยการสร้างเวทีเรียนรู้ระหว่างเทศบาลภายในแต่ละจังหวัด
ประเด็นที่2 สร้างกลไกการช่วยเหลือ พี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ เพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งในแง่โครงสร้างและธรรมชาติ
ประเด็นที่3 สร้างยุทธศาสตร์ร่วมในทุกระดับ
ประเด็นที่4 ใช้ระบบกระบวนทางด้านการเรียนรู้หรือเคเอ็มเพื่อปรับกระบวนทัศน์
ประเด็นที่5 สร้างเครื่องมือในการสื่อสารขยายผล
ประเด็นที่6 สร้างแนวทางเพื่อให้เกิดเมืองเปี่ยมสุข
ประเด็นที่7 พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นระบบออนไลน์
ประเด็นที่8 จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อขับเคลื่อนประเด็นเมืองน่าอยู่ ทั้งนี้ ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการได้สรุปว่า สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาควรจะให้การสนับสนุนเชิงความรู้และกลไกในระบบปฏิบัติการเพื่อเมืองน่าอยู่ หลังจากนั้น เครือข่ายเทศบาลเมืองน่าอยู่ร่วมกันสันนิบาติเทศบาล ร่วมกันประกาศเจตนารมย์ เครือข่ายเทศบาลเข้มแข็ง ร่วมแรงทำเมืองให้น่าอยู่ โดย มีนายประภัส ภู่เจริญ เป็นผู้นำร่วมกับกลุ่มตัวแทนเป็นจำนวนมากกว่า 20 คน
ในงานพิธีมอบรางวัลเกียรติคุณสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา LDI AWARDs นอกจากการมอบรางวัลแก่เทศบาล 60 แห่ง ตามประเภทต่างๆ แล้ว ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้แสดงปาฐกภาพิเศษ เรื่อง ประชาธิปไตยท้องถิ่นกับสังคมสันติประชาธรรม
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ไม่มีพระเจดีองค์ไหนสร้างจากยอด ใครก็ตามที่สร้างพระเจดีย์จากยอดมีแต่จะพัง การพัฒนาก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การเมืองหรือระบบประชาธิปไตยภายในประเทศเราที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเวลาเพราะเราคิดสร้างประชาธิปไตยระดับบนซึ่งไม่มีทางสำเร็จประชาธิปไตยท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พระราชดำริของรัชกาลที่ 7 เขียนไว้ที่ลายพระหัตถ์ถึงประชาธิปไตยท้องถิ่น
การตั้งประเทศของอเมริกามีความเข้มแข็งเพราะมีการถกเถียงกันจนตกผลึก จนได้แนวทางของการพัฒนาประเทศ นั่นคือ การพัฒนาท้องถิ่นทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งอย่างรวดเร็ว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมันนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มีชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งทำประเทศก้าวรุดหน้าไปไกลกว่าเรามาก เปรียบเหมือนฐานเจดีย์ที่เข้มแข็งจะรองรับยอดเจดีย์เอาไว้อย่างมั่นคงและสวยงาม ฐานของสังคม คือ ชุมชน อันเป็นแนวคิดของสถับนชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า 8,000 แห่ง เป็นฐานของสังคมที่ต้องทำให้เกิดความเข้มแข็ง ประเทศจะไปรอดได้ต้องเกิดจากพื้นฐานของชุมชนที่เข้มแข็ง ฐานชุมชนเป็นฐานที่กว้างมาก ทุกวันนี้เราเอาระบบเศรษฐกิจของเราไปแขวนเอาไว้กับความผันผวนภายนอก เห็นหรือเปล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจอเมริกา ทั้งรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ 700,000 ล้านดอลล่าห์ ยังเอาไม่อยู่ เศรษฐกิจข้างบนต้องเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจข้างล่าง ไม่เน้นร่ำรวยแต่ให้มีกินมีใช้
มหาวิทยาลัย จะต้องหันมาสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ภายใน 5 ปี รับรองว่าเห็นผล เหตุการณ์เช่นนี้กำลังก่อรูปขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของการพัฒนาชีวิต สังคมและคุณภาพ ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเวศ ได้ยกตัวอย่าง หมู่บ้านหนองกลางดง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่โดดเด่นเรื่องการสร้างสภาชุมชน ชุมชนไม้เรียง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งคุณประยงค์ รณรงค์ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาพัฒนาชุมชน โดดเด่นเรื่องการจัดทำแผนชุมชนในการจัดการทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม อบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตำบลใหญ่มาก มีศูนย์เด็กเล็กจำนวน 7 ศูนย์ ที่มีการจัดการเป็นอย่างดี เด็กๆ ที่เข้าไปยังศูนย์ได้ดื่มนมฟรีทุกวันเพราะชุมชนเลี้ยงวัวนมเอง สามารถให้นมได้ถึง 20 กิโลกรัม/1 ตัว อยากจะฝากเอาไว้ว่า ชุมชนเป็นฐานของทุกอย่าง เราต้องฝันถึงสังคมที่ดีงามและชุมชนเป็นผู้สื่อสารออกมาจากตัวชุมชนเอง.

 

Be the first to comment on "LDI AWARDs ผนึกกำลังท้องถิ่นชุมชน ทำเมืองไทยให้น่าอยู่"

Leave a comment

Your email address will not be published.