นับตั้งแต่มีการแปรรูปหน่วยงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. เมื่อปี 2544 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้เกิดแรงสะท้อนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น จึงมีเสียงเรียกร้องว่า ถึงเวลาหรือยัง ที่เราต้องมีการปฏิรูประบบพลังงานของประเทศกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม
กระแสความไม่พอใจของประชาชนดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะปัญหาราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเท่านั้น แต่ประเด็นนี้ได้ขยายออกไปสู่เรื่องการบริหารจัดการผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างประชาชนกับบริษัทรับสัมปทานสำรวจและขุดเจาะ ตลอดจนความไม่มีธรรมาภิบาล เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ให้ประโยชน์เฉพาะคนกลุ่มน้อยเท่านั้น
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงก่อเกิดการรวมตัวกันของภาคประชาชน ในนามเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย เรื่อง“ข้อเสนอนโยบายปฏิรูปพลังงาน : โครงสร้างกลไกลและราคา ” โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชน และนักวิชาการเข้าร่วมเสวนา
ประเด็นเรื่อง การปฏิรูปพลังงานบนเวทีเสวนา ได้มีการเสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เริ่มที่ รสนา โตสิตระกูล เครือข่ายจับตานโยบายพลังงานไทย และอดีตสว.กทม. ชี้ว่า ประเด็นการปฏิรูปพลังงาน อย่างแรก ต้องมีการนำปตท.กลับมาเป็นของรัฐแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะกลไกการกำหนดราคาที่ทำให้น้ำมันแพงในปัจจุบัน มาจาก ปตท.ที่ทำการแปรรูป ผ่านบริษัทลูกต่างๆ
ขณะที่เรื่อง ท่อก๊าซ ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดของพลังงาน ปัจจุบันพบว่า ท่อก๊าซที่อยู่ในทะเล ยังไม่มีการคืนให้กับภาครัฐทั้งหมดแต่อย่างใด ทั้งที่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่าให้ทางปตท.แยกท่อก๊าซออกไปก่อน
ประเด็นนี้ เมื่อไปสอบถามข้าราชการของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เหตุผลว่า พื้นที่บนท้องทะเลไม่ได้เป็นที่ราชพัสดุ จึงไม่สามารถขอคืนท่อก๊าซที่อยู่ในท้องทะเลได้ ตรงนี้เข้าใจว่าเป็นเพราะข้าราชการระดับสูงหลายคนมักอยู่ในบอร์ดของปตท. ทั้งในบริษัทแม่ และบริษัทลูก นั่นเอง จึงมีท่าทีเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่มีธรรมาภิบาล นำไปสู่ความเสียประโยชน์ของประชาชน
นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องสัมปทาน ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่คงระบบนี้ไว้อยู่ ทั้งที่ประเทศอื่นได้เปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตกันทั้งหมดแล้ว จึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ยกเลิกระบบสัมปทานโดยเฉพาะครั้งที่ 21 ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เกิดคำถามว่า แม้จะมีการทำรัฐประหารหรือเปลี่ยนรัฐบาลอยู่หลายครั้ง แต่ทำไมยังคงไว้ซึ่ง พ.ร.บ.นี้อยู่ นั่นเป็นเพราะไปยึดโยงกับผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มใช่หรือไม่
มาที่ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงาน มีข้อเสนอแนะต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงาน ที่น่าสนใจไม่น้อย โดยระบุว่า ในยุคใหม่เรามักถูกล้างสมองด้วยการสร้างวาทะกรรมให้ดูดี เช่น “ถ่านหินสะอาด” โดยผ่านสื่อต่างๆ จนทำให้ความเข้าใจต่อเรื่องพลังงานของคนไทย ผิดเพี้ยนไป โดยมักทำให้เข้าใจว่า เรามีพลังงานเฉพาะฟอสซิล อันหมายถึง ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติเท่านั้น ทำให้ลืมพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่เรามีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลมเป็นต้น
ไม่เท่านั้นเรายังถูกกลุ่มทุนล้างสมองว่า พลังงานแสงอาทิตย์ มีไม่เพียงพอ ไม่มั่นคง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน และมีราคาแพง ยกตัวอย่าง การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศไทย เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมนี ที่ดำเนินการพลังงานชนิดนี้ จนประสบความสำเร็จมาแล้ว จะพบว่า เรามีพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าประเทศเยอรมนี ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศเยอรมนีกลับสามารถผลิตกระเสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้เท่ากับหรือมากกว่าไฟฟ้าที่เราใช้ 17 จังหวัดทางภาคเหนือ และใน 14 จังหวัดภาคใต้ของไทยรวมกันเสียอีก
ส่วนเรื่องต้นทุน การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ยอมรับว่า ในสมัยก่อนต้นทุนสูงมาก แต่ปัจจุบันนี้ต้นทุนดังกล่าวได้ลดลงมาอย่างรวดเร็ว จนเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนเดิมเท่านั้น เมื่อเราทำตรงนี้ได้การขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบก ที่กระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนก็ไม่มีความจำเป็น
ที่สำคัญกว่านั้นยังจะสามารถลดการคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาหนักอกของประเทศไทยได้ด้วย แต่น่าเสียดายที่คสช. ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้เลย ทั้งที่เป็นผู้ออกโจทย์นี้ขึ้นมา ที่น่าเสียดายกว่านั้น พลังงานแสงแดดกำลังถูกนักการเมืองในอดีตแอบนำโครงการไปเสนอต่อพวกพ้อง เพื่อการทุจริตอย่างมโหฬาร คล้ายกับการปล้นแดดจากมือประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอต่อ คสช.ไปเรียบร้อยแล้ว
หลักถัดมาที่อยากเสนอต่อ คสช.ก็คือ อยากให้ทาง คสช.ทำการตรวจสอบความจริง กรณีราคาเอททานอลในตลาดสหรัฐอเมริกา และบราซิล ซึ่งผลผลิตรวมกันถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของโลก ทำไมจึงอยู่ที่ลิตรละ15 บาท แต่ราคาอ้างอิงในประเทศไทยอยู่ที่ 27 บาทต่อลิตร ทั้งที่ประเทศไทยมีการส่งออกเอททานอล ทำให้ประชาชนเราต้องจ่ายเงินซื้อในราคาสูงเกือบ 2 เท่าตัว
รวมทั้งอยากให้ คสช.มีความกล้าหาญที่จะยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เกี่ยวกับสัมปทานเสียที พร้อมทั้งขอให้ยกเลิกใบอนุญาตที่เรียกว่า รง.4 ที่เป็นอุปสรรคต่อการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ที่ไปจำกัดโควตาไว้ที่ 200 เมกะวัตต์เท่านั้น และการกำหนดราคารับซื้อไว้ค่อนข้างสูง อย่างที่ประเทศเยอรมนี เขาจะไม่จำกัดโควตา เขาทำจนประสบความสำเร็จอยากให่คสช.มีความกล้าหาญในการตัดสินใจตรงนี้ด้วย
หลักสุดท้ายที่อยากให้คสช.ไปพิจารณาก็คือ พันธมิตรที่ดีที่สุดของ คสช.ก็คือประชาชน ประเด็นพลังงาน เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องมานาน จากการศึกษาและเปรียบเทียบราคาน้ำมัน เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ย ของประชาชน จาก 61 ประเทศทั่วโลก ที่เรียกว่า“ค่าความเจ็บปวดที่ปั๊มน้ำมัน” พบว่า ประเทศไทยมีค่าความเจ็บปวดสูงเป็นอันดับที่ 8 ทั้งที่เมื่อกลางปี 2556 อยู่ที่อันดับ 10 ในขณะที่ประเทศ สหรัฐอเมริกาอยู่ลำดับท้ายๆ เพราะราคาน้ำมันถูกกว่าประเทศไทยเล็กน้อย แต่รายได้เฉลี่ยต่อวันของเขา เฉลี่ยกว่า 4 พันบาท
ฉะนั้นการที่นำราคาน้ำมันของแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน โดยไม่คำนึงรายได้ของผู้บริโภค จึงเป็นการสะท้อนถึงความคิดที่ไม่เป็นระบบของกระทรวงพลังงานและนักการเมืองไทย หากจำแนกกลุ่มคนต่อการปฏิรูปพลังงานในประเทศไทย จะมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันคือ 1.นักการเมืองและข้าราชการระดับสูง 2.กลุ่มธุรกิจพลังงาน ซึ่งมีหลายกลุ่มย่อย แต่กลุ่มที่ใช้อำนาจรัฐและสิทธิพิเศษ คือ กลุ่มบริษัท ปตท. และ 3 .กลุ่มผู้บริโภคพลังงาน
ทั้งนี้ผู้ต่อต้านการปฏิรูปพลังงานจะเป็น กลุ่มคน 2 กลุ่มแรก โดยอาศัยความได้เปรียบนานาชนิด ทั้งการใช้สื่อสาธารณะ และการใช้เงินโฆษณาจำนวนมหาศาล เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคพลังงาน มีโอกาสเสนอความเห็นอย่างจำกัดมากๆ ฉะนั้นอยากฝากว่า คสช.ควรต้องถือว่า ประชาชนคือพันธมิตรที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาพลังงานในครั้งนี้
จากนี้ขึ้นอยู่กับว่า ทาง คสช.เองจะมีความกล้าหาญแค่ไหน ที่จะทำเพื่อประชาชน และประเทศชาติได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะความกล้าหาญที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ยกเลิกระบบสัมปทาน การนำท่อก๊าซในทะเล รวมถึงบริษัท ปตท. กลับมาสู่อ้อมกอดภาครัฐแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ภายในประเทศอย่างจริงจัง ถ้าทำได้เช่นนั้น จึงจะเรียกได้ว่าการทำรัฐประหารของ คสช.ไม่มีคำว่าสูญเปล่าอย่างแน่นอน.
Be the first to comment on "Press : ปฏิรูปพลังงาน"