การเมืองสองเงา ระหว่าง แก้วสรร VS ขวัญสรวง อติโพธิ

ภาวะวิกฤติศรัทธาทางการเมืองที่กำลังลุกลามเหมือนไฟลามทุ่ง หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา เป็นสภาวการณ์ที่คนจำนวนไม่น้อยในประเทศ กำลังประสบและตกอยู่ในความสับสน…


Text : พิสิษฐ์ แซ่เบ๊  Photo : สรวิชญ์  หอมสุวรรณ

 


ภาวะวิกฤติศรัทธาทางการเมืองที่กำลังลุกลามเหมือนไฟลามทุ่ง หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา เป็นสภาวการณ์ที่คนจำนวนไม่น้อยในประเทศ กำลังประสบและตกอยู่ในความสับสน เมื่อจำต้องเลือกโดยปราศจากตัวเลือกที่ดีที่สุด ประกอบกับภาวะหูตาฝ้าฟางมองอะไรไม่ได้ไกลเพราะต่างฝ่ายก็หูอื้อตามัวไปกับภาพและเสียง ซึ่งฟังดูเหมือนกันไปหมดทุกทิศทาง ผ่านม่านหมอกควันจากเพลิงร้อนแรงที่กำลังปะทุรอบด้าน ทั้งสถานการณ์ทางการเมือง ปัญหาภาคใต้ และปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าภายใต้ผ้าคลุมสวยหรู ซึ่งไม่ช้าอาจได้ใช้เป็นผ้าห่อศพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้คนไทยเหนื่อยหน่ายกับประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้หรือไม่ อาจไม่มีใครกล้าตอบ แต่หากจะมีใครกล้าชี้นิ้วโทษว่า ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญใหม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การปกครองแบบอำนาจนิยม ผู้ตอบข้อข้องใจได้ดีที่สุดน่าจะเป็นคนที่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเพื่อให้ได้คำตอบสมบูรณ์ เสียงจากตัวแทนการเมืองภาคประชาชนคงเป็นอีกเสียงหนึ่ง ที่ร่วมประสานให้ความเป็นประชาธิปไตยเสนาะหูยิ่งขึ้น และเสียงประสานทางการเมืองของคู่แฝดการเมืองอย่าง แก้วสรร
ขวัญสรวง อติโพธิ น่าจะเป็นอีกคู่เสียงที่สังคมควรหยดฟัง


ไฮ
คลาส : ช่วงชีวิตก่อนเข้ามาถึงจุดนี้ของ แก้วสรรกับขวัญสรวง อติโพธิ

 

แก้วสรร : พ่อผมเป็นคนกรุงเทพฯ แม่เป็นคน จ.อุทัยมีอาชีพรับราชการทั้งคู่ คือแม่เป็นครูพ่อเป็นผู้พิพากษา คุณปู่เป็นนายทหารเรือ ลูกศิษย์กรมหลวงชุมพร รุ่น 2 คุณย่าก็ตีนถีบปากกัด ฐานะก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ผมกับขวัญสรวง เกิดที่จังหวัดลำพูนตอนคุณพ่อไปรับราชการอยู่ที่นั่น จากนั้นก็ย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯแถวๆ ดาวคะนองประมาณ 3-4 ปีก็ย้ายไปอยู่ที่จ.อุบล ประมาณ 7-8 ปี พ่อเราเลี้ยงเราแบบชาวบ้าน ให้เรียนโรงเรียนวัด เดินไปโรงเรียนกับบักหำขวัญสรวง ชีวิตเป็นเด็กบ้านนอกทั่วไปบ้านช่องก็ไม่ค่อยอยู่ แอบหนีไปช้อนปลากัดอยู่บ่อยๆ เพื่อนก็เป็นคนยากจนเสียส่วนใหญ่ บางคนเป็นลูกโสเภณีก็มี คือเราได้สัมผัสกับชีวิตผู้คนมากมาย รู้ทุกข์รู้สุขของพวกเขา

พอย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯก็มาเข้าเรียนที่ สวนกุหลาบ ช่วงนี้ได้รู้จักเพื่อนที่เก่งๆ หลายคนช่วยกันหล่อหลอมความคิดเรา พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกเรียน นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์เพราะอยากเป็นผู้พิพากษาเหมือนพ่อ ช่วงที่เรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ก็ทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เป็นประธานค่ายอาสาอะไรทำนองนี้ 

 

ทำให้รู้จักคิดรู้จักตัดสินใจ ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ตอนนั้นเราก็เข้าไปช่วยนิดหน่อยคือ มีหน้าที่หามเปลคนเจ็บ โดยสรุปก็เป็นหนึ่งในจำนวนที่เขาเรียกว่าสายก้าวหน้า

ปี 2517 คือเรียนจบก็มาเป็นอาจารย์ ให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย เพราะอยากเห็นบ้านเมืองมันมีความเป็นธรรม สร้างลูกศิษย์ สร้างวิชาการให้มันดี ก่อนจะได้ทุนมหาวิทยาลัยไปเรียนต่อที่ ประเทศสหรัฐอเมริกาทางด้านกฎหมาย เมดิสัน วีสคอนซิล กับมาก็ยังเป็นอาจารย์เหมือนเดิม เริ่มหัดขีดเขียนนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองไปลงตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ร่วมกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ตอนหลังขึ้นมาเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงนั้นมีงานใหญ่ที่รัฐบาลมอบหมายให้เราจัดเอเชี่ยนเกม งบประมาณ 5 พันกว่าล้าน เราต้องคุมการก่อสร้างศูนย์กีฬา ก็ผ่านไปด้วยดี เพราะตรงไปตรงมาไม่รีดไถใครงานก็เลยออกมาดี

พอตอนหลังผมเริ่มเบื่อมหาวิทยาลัย เพราะมันกลายเป็นโรงเรียนไปแล้วทั้งอาจารย์ ทั้งข้าราชการในมหาวิทยาลัย คือดูตาแล้วมันลอยๆกันไปหมด เลยตัดสินใจออกจากการเป็นอาจารย์ช่วงนั้น เขาร่างรัฐธรรมนูญพอดี ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เขาเสนอชื่อเราเข้าสู่สภาฯเพื่อให้เข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้เข้าไปช่วย ตอนนั้นมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการร่างรัฐธรรมนูญ เลยต้องมีการรณรงค์โดยใช้สัญลักษณ์ธงเขียว รับร่างรัฐธรรมนูญเราเข้าไปเป็นประธานฝ่ายรณรงค์

เรารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยมันไม่มีคำตอบ บ้านเมืองกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราเองก็อยากเข้ามาช่วยงาน ช่วยผลักดัน จึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็ได้รับเลือก ตอนนั้นได้ 5 หมื่นกว่าคะแนนเราเข้ามาเป็นที่ 7 จาก 15 คน ก็ทำงานมาเรื่อย

ขวัญสรวง : ผมกับอาจารย์แก้วสรรเกิดห่างกัน 5 นาที สมัยนั้นยังไม่มีอุลตร้าซาวด์เลยไม่รู้ว่ามีผมอีกคนเป็นฝาแฝด พออาจารย์แก้วออกมาแล้วหมอบอกว่ามีอีกคนหนึ่ง แต่กว่าจะออกมาได้เกือบตายห่า ตัวเขียวหมดแล้ว สมัยก่อนเขาบอกว่าคนออกทีหลังถือว่าเป็นพี่เพราะเสียสละให้น้องออกไปก่อน แต่เอาเข้าจริงมันไม่มีใครยอมเลยต้องเรียกเอ็งๆ ข้าๆ กันไม่มีการนับว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง

ด้วยอะไรไม่รู้ความคิดอ่านจะเหมือนกันแต่ส่วนผสมของไฟธาตุแตกต่างกัน อาจารย์แก้วจะเป็นคนที่ได้ความเป็นเหตุเป็นผลจากทางพ่อ ส่วนผมจะได้อารมณ์ศิลปะศิลปินจากทางแม่ ก็เรียนมาด้วยกันตลอดห้องเดียวกันบ้างคนละห้องบ้าง ชีวิตช่วงแรกก็เหมือนอย่างที่อาจารย์แก้วเล่านั่นแหละชีวิตก็วิ่งเล่นกินน้ำกินดิน อยู่ตรอกก็สนุกดีอยู่ในชุมชนที่ชุดภูมิศาสตร์ค่อนข้างกระชับชีวิตท่ามกลางท้องร่องสวน มีวัด มีวิกหนัง มีตลาด มีโรงเรียน อยู่ในละแวกเดียวกัน เราก็โตมาอย่างนี้แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่นั่นที่นี่ตามพ่อไป ก่อนจะกลับมาอยู่กรุงเทพฯอีกครั้ง ผมคงไม่ต้องเล่าซ้ำก็แล้วกันเพราะอาจารย์แก้วพูดไปแล้ว

พอถึงจุดแยกของชีวิต ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย อาจารย์แก้วก็เรียนนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ส่วนผม ก็เลือกเรียนสถาปัตย์จุฬาฯ ก็ทำกิจกรรมเหมือนกัน แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในส่วนนำของนักศึกษา อยู่ชมรมเชียร์บ้าง ออกค่ายอาสาบ้าง พอช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เราไม่ได้มีส่วนร่วมจริงจัง แต่ก็ติดตามร่วมฟัง ร่วมคิดเห็น อยู่ตลอด จากเหตุการณ์นั้นเราก็เริ่มถามเรื่องทางอยู่ทางไปของบ้านเมือง ผมจำได้เลยครั้งหนึ่งมีเพื่อนของอาจารย์แก้วนี้แหละ ถามผมว่า วิชาที่มึงเรียนมานี่มันไม่ได้ช่วยสังคมเลยเอาแต่รับใช้เศรษฐี คือเราเป็นสถาปนิก ซึ่งก็มีส่วนจริงนะ แต่เราก็อยากทำคุณให้บ้านให้เมือง จึงเริ่มฮึดขึ้นมาเลยตัดสินใจไปเรียนให้มันกว้างขวางขึ้น เรามองเรื่อง Landscape ภูมิสถาปัตย์กับผังเมือง ที่เราตัดสินใจเรียนเพราะวิชานี้มันกินขอบเขตถึงเรื่องการอนุรักษ์ด้วย จากนั้นก็ขอทุนไปเรียนต่อที่เยอรมัน 5 ปี ช่วงนั้นก็คิดกับตัวเองคิดเรื่องบ้านเรื่องเมืองของตัวเองเยอะ

พอกลับมาก็เป็นอาจารย์อยู่ที่ สถาปัตย์จุฬาฯ ช่วงนี้ก็เข้าไปร่วมกิจกรรมทางสังคมตลอด เราเห็นว่าบ้านเมืองนี้ไม่ค่อยได้ใช้วิชาการอย่างจริงจัง คิดจะสร้างจะทำโครงการใหญ่ๆ แต่ละทีไม่เคยเห็นหัวคน เละเทะไปหมด ที่แย่ยิ่งกว่าคือความยะโสไม่ยอมฟังใครของฝ่ายการเมืองและข้าราชการ เราเป็นอาจารย์ก็เสนอท้วงติงผ่านบทความบ้าง ผ่านกลุ่มกิจกรรมบ้างอะไรทำนองนี้ ผมมาทบทวนดูแล้วว่าหลายเรื่องเกิดจากการไม่เอาธุระกับสังคม ปล่อยให้คนเพียงบางกลุ่มที่เราเลือกเข้าไปตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องรีบเรียนรู้และแก้ไข

ตลอดเวลาที่เป็นอาจารย์อยู่ 23 ปีผมมองหาเงื่อนไขหาปัจจัยที่จะลงไปสู่ท้องถิ่นเอาลูกศิษย์ไปเรียนรู้ด้วยอยากให้เขาเห็นความเป็นจริง ของสังคม เราอยากเข้าไปทำเรื่องอะไรก็ได้ที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาเอาธุระกับสังคมกับชุมชนที่ตัวเองอยู่ โดยเอาวิชาการที่เรามีไปช่วยเขา มีหลายโครงการที่เราลงไปทำ ล่าสุดเราก็ทำโครงการ ชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่พอเราเริ่มทำงานลักษณะนี้มากขึ้นเวลาในมหาวิทยาลัยก็น้อยลง รู้สึกเกรงใจสถาบันเลยตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำ มาเป็นอาจารย์พิเศษแทนอย่างในปัจจุบัน

 

ไฮคลาส : เข้าเรื่องเลยแล้วกัน เนื่องจากทั้งคู่ ทำงานทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องเห็นการบริหารประเทศมาหลายยุคหลายสมัยอยากให้ช่วยมองการทำงานของรัฐบาลชุดทักษิณดูบ้างว่าเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปกว่าอดีตที่ผ่านมาหรือไม่อย่างไร

 

แก้วสรร : มันก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมา การเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถสร้างพันธะกิจอะไรขึ้นมาได้ แทนที่เข้ามาก็เหมือนการได้เซ้งอำนาจมา ทำอะไรก็ไม่ค่อยคิดถึงชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นยุคทักษิณหรือยุคไหนก็เหมือนกัน แต่ยุคนี้มันต่างกันตรงที่ คอกมันลงตัว ไม่มีการต่อรองภายในพรรค โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่ขัง ส..ไว้ในพรรคคือหากลาออกจากพรรคก็สินสมาชิกภาพการเป็นส..ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ไม่เหมือนสมัยก่อนที่บรรยากาศการถกเถียงกันภายในพรรค ภายในคณะรัฐมนตรียังมีให้เห็น แต่ยุคนี้ไม่เหลือ แล้วแต่ทักษิณ จะสั่งหรือ วิปรัฐบาลจะสั่ง

เขาสามารถคุมการบริหารพรรคได้ทั้งหมด เหมือนการสั่งให้มอร์เตอร์ไซด์ที่วิ่งกันอยู่ทั่วไปแต่ก่อนมารวมเป็นวินเดียวกันได้ หากเราไปดูในสภาจะเห็นได้ว่าการอภิปรายในความเห็นที่แตกต่างนั้นแทบไม่มีเลย ชนะกันด้วยเสียงยกมือ ไม่มีมาตรการทางความคิด แม้จะดูว่าพรรคไทยรักไทยเป็นที่รวมของส..หลายพรรคที่ยุบเข้ามารวมกับไทยรักไทยก็ตาม แต่เป็นการซื้อเข้ามาเพื่อให้เป็นพรรคใหญ่ ส..ไม่มีอำนาจต่อรอง ไทยรักไทยสามารถเลี้ยงดูปูเสื่อได้คือจัดการได้หมด ส..ทั้งหลายก็ต้องรู้ว่าห้ามซ่า

แต่ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ วันนี้อำนาจมันสูงขึ้น บ้าอำนาจมากขึ้น โดยไม่มีการทัดทาน ในเมื่อคุณเลือกเขาแล้วนี่ ไม่มีการควบคุมตรวจสอบอยู่ในสภาก็นั่งคอตก ซังกะตายกันหมด สิ่งที่เห็นชัดคือสิทธิเสรีภาพในสภาได้เลือนหายไป ทำให้การสร้างสรรใหม่ๆ ไม่เกิด ประชุม ครม.แต่ละทีเหมือนไปนั่งฟังอาจารย์บรรยาย ไม่มีข้อเสนอ หรือโต้แย้ง

 

ไฮคลาส : ในมุมของคนทำงานภาคประชาชนอย่างอ.ขวัญสรวงมองการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้อย่างไร

 

ขวัญสรวง : มองที่ชาวบ้านก่อน คือชาวบ้านก็ยังเป็นชาวบ้านอยู่ดี คือติดพรรคติดพวก รอให้รัฐทำให้มาตลอด ไม่มีประสบการณ์ที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง ความจริงเราสามารถแก้ปัญหาต่างๆของเราเองได้โดยไม่ต้องรอพึ่งจากรัฐเพียงอย่างเดียว คือคนเรามีเรื่องความหลัง ปัจจุบัน และก็อนาคต ยกตัวอย่างชาวบ้านที่จ.อุบล ช่วงที่เกิดน้ำท่วมหนักคราวก่อน ชาวบ้านเขาคิดแก้ปัญหากันเองว่าจะทำอย่างไรนี่คือประสบการณ์ที่ชุมชนสร้างขึ้นร่วมกัน พอหลังจากน้ำลดก็กลายเป็นความหลังแล้วใช่มั้ย เขาก็มาสรุปกันมันเห็นอะไรมากมายจากประสบการณ์ตรงนั้น ทำให้แววตาในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปจากที่ต้องรอรัฐตลอดเวลา วันนี้เขาคิดกันแล้วว่าอนาคตจะเดินไปสู่อะไร

 

แก้วสรร : คนไทยนั้นเป็นเหมือนเม็ดทรายที่เอามากองรวมกันไว้เฉยๆ มันไม่มีสามารถที่จะคิดเป็นส่วนรวม หรือรวมตัวเพื่อส่วนรวมได้

 

ขวัญสรวง : คือประสบการณ์ที่คนจะมาคิดมาทำอะไรร่วมกันนั้นมันมีน้อยยิ่งกว่าน้อยในปัจจุบัน มันถูกรัฐทำให้ตลอด เมื่อถึงการเมืองยุคทักษิณ ผมอยากให้มองเป็น 4 บริบท คือ ภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ภาคปัจเจก และสาธารณะซึ่งความจริงแล้วสาธารณะก็อยู่ในส่วนของภาครัฐนะเพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม แต่ละภาคต้องการเชื่อมโยงกับภาคอื่นอยู่ตลอด ยุคนี้ภาคการเมืองมีบทบาทมากต้องการเข้าไปเชื่อมกับภาคอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด นโยบายยุคนี้ผมมองว่าไม่ใช่นโยบายเอื้ออาทร แต่เป็นนโยบายประชาสินบนมากกว่า คือให้ทุกอย่างทุกทางและพิสดารกว่าที่ผ่านมา เมื่อภาคการเมืองรุกเข้าครอบงำ ก็ทำให้ปัจเจกและภาคสาธารณะอ่อนแอ ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ไม่มีบทบาท การเมืองวันนี้จึงเป็นเรื่องของเจ้าของเสื้อวินไป

 

แก้วสรร : ชาวบ้านเองก็ไม่ได้โผล่หัวขึ้นมาทั้งถาม ทั้งท้วงติติงการทำงาน อย่างพ่อค้าข้าววันนี้ทำอะไรกันอยู่ ไม่เห็นออกมาพูดเลยว่าตอนนี้ไม่ไหวแล้วนะรัฐบาลให้บริษัทเอกชนผูกขาดรับซื้อข้าว แล้วเขาเอาไปขายให้ในตลาดยุโรป ต่อไปนี้ประเทศไทยจะซื้อข้าวต้องซื้อผ่านพ่อค้ายุโรปมันฉิบหายหมดแล้ว มีคนออกมาพูดมั้ย มีใครกล้าออกมาพูดกับรัฐบาลมั้ยว่า ต่อไปนี้ใครที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลจะให้สัญญาได้หรือไม่ว่าอย่าทำอย่างนี้อีก ก็ไม่มีใครกล้าออกมาพูด    

 

ไฮคลาส : ยุคการตลาดนำการเมืองจะนำสังคมไปสู่จุดใด

 

แก้วสรร : คือสังคมวันนี้มันมีช่องอยู่แล้ว ไม่สามารถรวมตัวกันได้เห็นกันแค่ปลายจมูก ถูกเขาให้สินบนผ่านทางนโยบาย อย่างลดค่าโทรเวย์บ้าง สร้างสนามบินที่กระบี่บ้าง ทำถนนเข้าจังหวัดบ้าง ประชาก็ดีใจปรบไม้ปรบมือกันใหญ่ จะเอาโบอิ้งไปลงกระบี่โดยไม่ได้รู้เลยว่ามันคุ้มทุนหรือไม่ คิดอ่านกันไม่เป็นหมดแล้ว

 

ขวัญสรวง : มีหนังสือเก่าเล่มหนึ่งผมอ่านแล้วก็รู้สึกขำเขาบอกว่า บรรดากรมการเมืองก็ถูกพ่อค้าเอาขาหมูขว้าง จนรวนเรไปสิ้นแต่ยุคนี้ไม่ได้ขว้างอย่างเดียวมันใช้วิธีโปรยเลยด้วยซ้ำ และไม่ใช่พ่อค้าขว้างข้าราชการเหมือนแต่ก่อนเดี๋ยวนี้บรรดานักการเมืองก็ใช้วิธีนี้ข้วางไปสู่ประชาชนด้วยเช่นกัน มันก็เลยเป๋กันไปหมด

 

ไฮคลาส : แต่ถ้าประชาชนได้ประโยชน์จากขาหมูนั้นอย่างเท่าเทียมมันไม่เป็นการดีหรอกหรือ

 

แก้วสรร : ประชาชนในที่นี้ต้องไม่ได้หมายถึงเฉพาะนาย ก.นาย ข. เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ทำไมวันนี้ค่าแรงมันไม่ขึ้น ทำไมระบบการผลิตบ้านเราต้องผลิตสินค้าราคาถูกคุณภาพต่ำ ยกทรงที่โบ๊เบ๊ตอนนี้ราคาตัวละ 15 บาท แต่นั่นมาจากเมืองจีนนะเพราะเราสู้เขาไม่ได้ ผลไม้อย่างแอปเปิ้ลก็มาจากเมืองจีน วันนี้มันบุกถึงตลาดศรีเมืองที่ราชบุรีแล้ว กระเทียมก็ถูกเขาตีตลาดหมดแล้ว ไอ้นโยบายการค้าเสรีของรัฐบาลนั่นแหละจะว่าอย่างไร เกษตรกรตายห่าหมดแล้วตอนนี้ อย่าไปพูดว่าประชาชนได้ประโยชน์จากถนน

 

ขวัญสรวง :  บ้านเมืองเราต้องไม่ใช่คริสมาสหรือปีใหม่ ที่มีซานต้าครอสมาแจกของ แล้วบอกว่าประชาชนได้ มันไม่ใช่เรื่องการแจกของขวัญ แต่บ้านเมืองคือเรื่องการเป็นธุระ ที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน ภาคสาธารณะกับภาครัฐต้องขึ้นมาดูแลร่วมกัน อย่างเรื่องที่ตั้งโครงการไม่เหมาะสมแต่ดันทะลึ่งไปสร้างสนามบินที่ชุมพร ต้องบอกว่านั่นมันเงินหลวงนะ วาระแรกเห็นชุมพรปรบไม้ปรบมือกันใหญ่ 

 

แก้วสรร : พ่อค้าเองที่บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ถามว่ามันจริงหรือเปล่า พ่อค้าจะลงทำธุรกิจอะไรทำไมมันถึงไม่มีเสรี มีแต่คนของพรรคการเมืองยืนคุมประตูอยู่ทั้งนั้น

 

ขวัญสรวง : ในความเห็นของผมไม่มีใครที่จะเห็นแก่ส่วนรวมทั้งหมดหรอก ทุกคนต่างมีประโยชน์ส่วนตัวด้วยกันทั้งสิ้นแต่มันก็ซ้อนทับกับสุขภาพของบ้านเมืองด้วย พ่อค้าก็ทำมาหากินไป ในทางเดียวกันกิจกรรมการค้าของเขาก็ดำรงให้ชาติอยู่ได้ประเทศอยู่ได้ด้วยเช่นกันอย่างนี้ไม่เป็นไร แต่คุณต้องลุกขึ้นมาสิว่าจะเอาอย่างไรโดยมองจากผลประโยชน์ของคุณกับผลประโยชน์ของชาติจะเอาอย่างไร ตอนนี้มันได้เวลาเจี๊ยวจ๊าวแล้วใกล้เลือกตั้งเข้าไปทุกทีแต่ไม่ค่อยมีข่าวเกี่ยวกับความกังวลว่า บ้านเมืองเราจะไปทางไหนกันในหน้าหนังสือพิมพ์ มีแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้ ผมอยากใช้คำว่า ไพร่สนุกนายนั่งดูลิเกแล้วหัวเราะหัวใคร่กันอย่างเดียว คนที่เล่นลิเกก็ดูไม่ได้สักคน


ไฮ
คลาส : ก็แสดงว่าการบริหารงานที่ผ่านมาของรัฐบาลทักษิณ ไม่ได้สร้างให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างที่กล่าวอ้าง

 

แก้วสรร : ถามไปยังชาวบ้านว่าคุณอยู่ดีกินดีจริงหรือเปล่า ลูกคนเรียนจบมาแล้วได้งานทำกันหรือเปล่า ตอนนี้ไข่ฟองเท่าไหร่ ครอบครัวมีความสุขดีหรือเปล่าที่ไม่ได้อยู่กับลูกกับผัว ต้องมาขายล็อตตารี่อยู่ตามปั๊มน้ำมัน ไปอยู่ตามโรงงานโอทีเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยมีแห้งกันไปหมด เอาอะไรมาพูดว่าประชาชนอยู่ดีกินดี

          เรื่องธุรกิจก็เช่นกันไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่กล่าวอ้าง เป็นเพียงเรื่องเงินผ่านมือแล้วก็จากไป หลังจากที่ประเทศช็อคจากวิกฤติครั้งที่แล้วจะถึงวันนี้ ถามว่าประเทศฟื้นจริงหรือ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นเพียงการอัดเงินเข้าสู่ระบบ ให้เกิดสภาพคล่องเท่านั้น ต้องดูว่าเงินที่ทุ่มลงไปนั้นเป็นเงินที่ได้จากการผลิตจริงหรือไม่ หรือเป็นเงินที่ได้จากอนาคต ร่างกายเราไม่ได้สร้างเม็ดเลือดด้วยตัวเองแต่ไปเอาเลือดจากที่ไหนไม่รู้มาอัดเข้าไป


 

 

 

 

ไฮคลาส : อนาคตจะเป็นอย่างไร

 

แก้วสรร : คุณตกลงไปอยู่ในกับดักเสียแล้วล่ะ ถามว่ารัฐบาลจัดการได้หรือเปล่า เรื่องเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย กับเรื่องค่าเงินบาท ทั้งสามเรื่องนี้มันไม่ยอมไปด้วยกันแล้วนะ รัฐยังเงียบกริบอยู่เลยไม่รู้จะแก้อย่างไร ตอนนี้เงินก็ยังไม่รู้จะไปหาจากที่ไหน พยายามหาทางดึงกองทุน กปข. สองแสนล้านมาเล่นหุ้น คืออัดเข้ามาในตลาดหุ้นเอาสินทรัพย์มาเข้าตลาดหุ้น เอาชายทะเลมาทำSee bank เอาอุทยานมาทำรีสอร์ท ตอนนี้รัฐบาลทักษิณกำลังเอาสินทรัพย์ทุกอย่างมาแปลงเป็นทุนให้หมด

ต่อให้คุณเอาที่ดินไปให้เอาทุนไปให้ จะให้เขาทำอะไรกิน ข้าวโพดราคามันก็ไม่เคยแน่นอน ขาดทุนบ้างคุ้มทุนบ้างอยู่อย่างนี้ มีแต่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาคเศรษฐกิจของชาวบ้านเขาไม่สามารถเข้าสู่ระบบตลาดขนาดใหญ่และไปแข่งกับต่างประเทศได้ คุณให้ที่ดินไปมันก็ไม่สามารถแปลงเป็นทุนในการผลิตได้เป็นเพียงแค่สิทธิ์ ต่อจากนั้นมันก็จะเริ่มหลุดมือไปอีกเหมือนเดิม กองทุนหมู่บ้านลงไปก็กลายเป็นมือถือกันหมด

 

ขวัญสรวง : นโยบายประชาสินบนที่มี ก๊วยเจ๋ง เด่นอยู่คนเดียวอย่าง หนึ่งโรงเรียนหนึ่งดีเด่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งนักบิน อะไรอีกเยอะแยะแล้วเอาเงินลงไปโดยที่เขายังไม่เป็นเลยแล้วมาบอกว่า สอนให้เขาจับปลาแทนที่จะเอาปลาไปแจก บอกให้ชาวบ้านทำประมงโดยที่เขายังไม่รู้ว่าทำอย่างไร ยังนั่งทอดหุ่ยอยู่ริมตลิ่งอยู่ นโยบายเหล่านี้มันไม่เวิร์ค

 

 

ไฮคลาส : แสดงว่านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ผิดพลาดอย่างนั้นหรือ

 

แก้วสรร : ผมมีนิยามคำว่าเศรษฐกิจต่างจากคุณทักษิณ เรื่องจีดีพี อะไรเหล่านี้ผมมองว่าเป็นเพียงยอดขายของบริษัทเท่านั้น ถ้าจะมองเศรษฐกิจของประเทศต้องดูว่าบรรดาสินทรัพย์ของเรามันได้มีการกระทำประโยชน์หรือไม่ อย่างที่ดินในประเทศมันได้ใช้ประโยชน์จริงมั้ย แรงงาน คุณว่าประเทศเราทุกวันนี้ทุกคนมีโอกาสได้งานทำและมีผลตอบแทนที่สามารถออมได้ และสามารถปรับปรุงฝีมือให้ดีขึ้นได้มั้ย วันนี้แรงงานเรายังมองไม่เห็นอนาคต เงินที่อัดเข้าไปสามารถสร้างผลผลิตอย่างที่คุณคาดหวังจริงหรือเปล่า สามารถออมและต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นหรือเปล่า สมองก็เช่นกันวันนี้เราสามารถคิดค้นนวตกรรมอะไรใหม่ขึ้นมาได้บ้าง ก็ไม่เห็น หากวันนี้ที่ดิน แรงงาน ทุน สมอง ได้กระทำอย่างเต็มที่เต็มประโยชน์ ผมจะถือว่าเศรษฐกิจของประเทศดี แต่นี่มันไม่ใช่          มาดูเรื่องเล็กๆ กันบ้างเขาบอกว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก ไหนวะ! หรือว่าครัวเป็นแค่ร้านอาหารในต่างประเทศ มันต้องอย่างประเทศออสเตรเลีย อย่างนิวซีแลนด์ถึงจะถูก ของเรามีอะไรมีแต่มันสำปะหลัง กับยาง ผลไม้เราไปได้หรือเปล่าถูกผลไม้จากจีนโดยนโยบายเปิดเสรีนั่นแหละตีจนสู้ไม่ได้ หรืออย่าง OTOP เอาคอร์สการตลาดมาคิดด้วยหรือเปล่า ตลาดแน่นอนยั่งยืนแค่ไหน เขาสั่งทีละเป็นพันๆชิ้นทำให้เขาทันหรือเปล่า ควบคุมคุณภาพได้หรือเปล่า เราต้องเอาของจริงมาดูกัน อย่าบอกว่าไทยแกร่งแข่งทั่วโลก นอกจากกระหรี่ แล้วผมมองไม่เห็นอะไร

หลังจากเศรษฐกิจบ้านเราระเบิด คนก็อยากจะเชื่อในสิ่งที่มันไม่จริง ไม่อยากคิดในสิ่งที่ดูแล้วหวั่นไหว รัฐรู้จุดอ่อนตรงนี้จึงป้อนนโยบายหลอกตาเรามาเรื่อยๆ ที่พูดมาทั้งหมดนั้นไม่ได้หมายความว่าผมต้องการไล่หรือหนุนคุณทักษิณ แต่การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะบ้านเมืองวันนี้มันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงกลับหนักหนายิ่งขึ้นด้วย ผมมองที่บ้านเมืองไม่ได้มองไปที่นักการเมืองนะ

 

ไฮคลาส : เรากำลังเดินไปสู่หลุมที่ถูกขุดไว้

 

แก้วสรร : ช่วยไม่ได้คุณเซ่อเดินไปตกหลุมเองนี่หว่า นั่นเพราะคุณหาตัวตนของตัวเองไม่เจอ พอหาไม่เจอก็แยกกันอยู่ พอถูกเอาถนนมาล่อเอาสินบนมาล่อก็เขวกันหมด ตัวตนที่แสดงถึงความเป็นสาธารณะเรายังไม่มี เราจะทำอย่างไรให้ภาคสาธารณะที่ว่านี้เติบโตขึ้นมาให้ได้ ความจริงแล้วรัฐต่างหากที่ควรเข้ามามีส่วนร่วมไม่ใช่เขียนบอกว่าประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วม เรื่องชีวิตสาธารณะของประชาชนเราทำกันเองอยู่แล้ว รัฐเองไม่ค่อยจะเข้ามาให้การสนับสนุน

 

ไฮคลาส : ถามอาจารย์ขวัญสรวง ในฐานะที่ทำงานการเมืองภาคพลเมือง เอ็นจีโอคือกลุ่มคนที่ค้านทุกเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายรัฐใช่หรือเปล่า

 

ขวัญสรวง : สิ่งที่น่าทำความเข้าใจกับสังคมเวลานี้คือ ความต่างในแง่ของวิธีคิด เราต้องประกาศให้ชัดว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่เอารัฐ แต่การเมืองภาคพลเมืองหรือภาคสาธารณะที่ว่านี้เขาต้องการยืนขึ้นเพื่อกำหนดอนาคตตัวเอง และเป็นธุระกับบ้านเมือง รวมกลุ่มกันเป็นองค์พัฒนาเอกชนหรือที่เรียกว่า เอ็นจีโอ กลุ่มนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทิศทางการพัฒนาของรัฐ

          เมื่อกลุ่มองค์ที่มีความคิดทิศทางเรื่องการพัฒนาประเทศแตกต่างกับรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหว ก็มักจะถูกมองว่า เป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ อันที่จริงแล้วเอ็นจีโอในประเทศอื่นๆเขาเรียกว่ากลุ่มการเคลื่อนไหวภาคสาธารณะ ซึ่งมีหลากหลายมากตั้งแต่เด็กๆที่รณรงค์เรื่องเก็บขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องพลังงาน กลุ่มเหล่านี้ไม่ใช่คนที่มาจากทางภาครัฐ และภาคธุรกิจแต่เป็นกลุ่มคนที่ดิ้นรนเพื่อหาความรู้ใหม่ แต่บ้านเราพยายามสร้างภาพให้กลุ่มคนตรงนี้เป็นกลุ่มคนที่ค้านทุกเรื่องเป็นกลุ่มที่ต่อต้านการพัฒนา ต่อต้านรัฐบาล กลุ่มคนตรงนี้ เป็นกลุ่มคนที่พยายามเอาธุระกับสังคม พยายามสร้างบ้านสร้างเมืองในวิถีทางของสาธารณะ ก็โดนสร้างให้ภาพมันหม่นมัวลงไป ภาพขององค์กรสาธารณะในความเข้าใจของคนในสังคมจึงแคบอยู่แค่ องค์กรการกุศลอย่างป่อเต็กตึ๊ง ไป

          หากเราทำกันๆดี สร้างกันดีๆ อาจเป็นอีกที่ทางหนึ่งให้ปัญญาชนคนหนุ่มสาว ได้มีโอกาสทำงานให้กับบ้านกับเมืองของเรา เราต้องประกาศออกไปว่าการเมืองภาคพลเมือง หรือชีวิตสาธารณะคือกลุ่มคนที่ต้องการทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองไม่ใช่กลุ่มที่ไม่เอารัฐ การเกิดขึ้นมาก็เพราะเขาต้องการเป็นธุระให้บ้านเมือง

 

ไฮคลาส : เวลาที่รัฐบาลจะทำโครงการใหญ่ๆ สักเรื่องหนึ่งมักจะเกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่สุดท้ายก็มักจะถูกสรุปว่า ชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย มองการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องว่าเป็นการเล่นเกมนอกระบบ ในเมื่อประชาชนลงคะแนนเลือกเขาเข้ามาทำหน้าที่แทนคนทั้งประเทศ ดังนั้นการตัดสินใจจึงเป็นการตัดสินใจจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ

 

แก้วสรร : นี่เป็นการตอแหลอย่างร้ายกาจ การออกมาชุมนุมคัดค้านเป็นสิทธิ ที่ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่เล่นกันในระบบไม่ใช่นอกระบบอย่างที่เข้าใจ การที่คุณได้รับเลือกตั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทุกอย่าง หากเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่าคุณกำลังเปลี่ยนประชาธิปไตยให้เป็นอำนาจนิยม เปลี่ยนการเลือกตั้งผู้แทนกลายเป็นการเลือกตั้งขุนนาง ผู้แทนเบื๊อกอะไรวะชาวบ้านส่งเสียงไม่ได้ หากเป็นอย่างนั้นก็ใช้วิธี ม้าแก้วอุปการเลยดีมั้ย คือเอาม้าวิ่งออกไปหยุดที่ใครก็ให้คนนั้นเป็นพระราชาไปเลยดีมั้ย 4 ปีก็วิ่งใหม่เอาอย่างนี้มั้ย

          เรื่องเสียงส่วนน้อยเสียงส่วนใหญ่เขาใช้กันในสภา หากจะถามว่าเขื่อนควรจะสร้างหรือไม่ ท่อก๊าซไทยมาเลย์ควรจะมีหรือไม่ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งต้องพูดกันเรื่องความเป็นธรรม ความสมเหตุสมผลไม่ใช่เสียงส่วนน้อยส่วนใหญ่ เรื่องความเป็นธรรมอย่างน้อยที่สุดจะต้องมีประชาพิจารณืให้ชุมชนเขาสามารถไต่ถามได้ ให้เสนอแนะได้ จากนั้นหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องมาดูเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น เรื่องค่าเสียหายว่าจะชดใช้กันอย่างไร

คนใช้ก๊าซใช้ไฟก็สบายสิ บอกว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ โรงแยกก๊าซไปสร้างที่ไหนก็เรื่องของมันผมไม่โดนผลกระทบนี่ แต่ไอ้คนที่เป็นเสียงข้างน้อยแล้วโดนโรงงานมาเสียบกลางชุมชน อาชีพประมงต้องฉิบหายไป ฝุ่นเต็มทะเลไปหมด ตรงนี้คุณจะให้สิทธิ์เขาอย่างไร ไปเรียกเขาว่าเป็นเสียงข้างน้อยไม่ได้ พวกมึงนั่นแหละที่ไปทำให้เขาเสียหาย และไม่ยอมรับรู้รับฟังเขา เอาอย่างนี้มั้ยเราอนุมัติให้เอาท่อก๊าซขึ้นที่บ้านนายก จะยอมหรือเปล่าคุณเป็นเสียงข้างน้อยนี่

 

ขวัญสรวง : บ้านเมืองไม่เรื่องที่จะเอาตัวเลขมากัดกัน ที่พูดมานั้นอย่ามองว่าเป็นขาประจำแล้วไม่เอาทักษิณ มันเป็นความเห็นต่อบ้านต่อเมือง ที่เราพูดกันมาตลอดไม่ใช่แค่รัฐบาลชุดนี้ที่ผ่านมาก็พูดเรื่องแบบนี้มาต่อเนื่อง 

 

ไฮคลาส : เจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนั้นที่ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ แต่มันก็เหมือนดาบสองคมในระบอบประชาธิปไตย

 

แก้วสรร : มันหมายความในแง่ทางการเมืองเพื่อไม่อยากให้เปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ ในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญเพิ่มสิทธิรับรู้ข้อมูลให้ประชาชน สิทธิในเรื่องประชาพิจารณ์เพื่อไม่ให้เกิดการเป็นเผด็จการขึ้นในพื้นที่ แต่ในสภานั้นเราต้องมองอีกเรื่องหนึ่งรัฐธรรมนูญหวังให้เกิดประชาธิปไตยในพรรคการเมือง คือเถียงกันมาให้เสร็จตั้งแต่ในพรรค โดยไม่ต้องเสียเวลามากในสภา แต่ที่เป็นอยู่ในวันนี้ในพรรคการเมืองมันไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มันเป็นการตัดสินใจจากคนเพียงคนเดียวหรือเพียงแค่กลุ่มบุคคลเท่านั้น

 

พูดกันตามตรงการเมืองบ้านเรายังถูกครอบงำด้วยระบบไพร่ คนเป็นเพียงแค่เม็ดทรายที่มองกองรวมกันเท่านั้น เรื่องที่สองในแง่การเคลื่อนไหวของประชาชนก็มองไม่เห็นต่างมุดหัวอยู่ในบ้านเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของกู พรรคการเมืองก็เป็นพรรคแบบวิน มอร์เตอร์ไซด์ เรื่องที่สามคือระบบคือต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญสวยงามแค่ไหนแต่ความคิดของคนยังไม่เห็นด้วยไม่เอามันก็ทำไม่ได้ ระบบองค์กรอิสระก็ถูกแทรกแซงคือไม่ได้เป็นอิสระจริงตามเจตนารมณ์

 

ไฮคลาส : หมายความว่าประชาชนยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง

 

ขวัญสรวง : เราทำตัวเกินความเป็นมาของตัวเองหรือเปล่า เรามีระบบแต่เราก็ตามไม่ทัน เรามีเมืองขนาดใหญ่ แต่วิธีคิดวิธีจัดการเมืองขนาดใหญ่มีหรือเปล่า ทำหรือเปล่า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรารมีองค์อิสระมากมายแต่ถามว่ามันเป็นอิสระหรือเปล่าคนที่เข้าไปเป็นอิสระจริงหรือเปล่า ดังนั้นพัฒนาการทางการเมืองต่อให้คุณวาดระบบสวยอย่างไรก็ตาม แต่ตัวตนยังก้าวไปไม่ถึงก็เปล่าประโยชน์ เมื่อเรามีระบบแบบนี้แต่เราโตไม่ทันระบบปัญหาหลายอย่างก็จะประเดประดังเข้ามา

บ้านเรามีมนุษย์อยู่ชนิดหนึ่งที่ไม่รู้จักบ้านรู้จักเมืองพ่อแม่ของตัวเอง ไปเรียนมาจากต่างประเทศพอกลับเข้ามาแล้วมีอำนาจก็เอาความคิดแบบนั้นมาโดยไม่รู้ว่ากว่าที่จะมาถึงจุดนั้นเขาผ่านอะไรมาบ้างแล้ว คนที่ไปเรียนก็ไม่รู้จักตัวเองอยู่แล้ว ไปเอาความคิดเขามาโดยไม่รู้จักพื้นฐานของเขาอีกเอากลับมายำใส่กับสังคมตัวเองอีก เป็นพวกบ้าความเจริญ บ้าทันสมัย เป็นพวกจอมปลอมทำบ้านเมืองยุ่งไปหมด อย่างที่อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จะเอาไปทำท่าเรือโดยไม่รู้ว่าที่ตรงนั้นมันเป็นเมืองโบราณมันก็พังฉิบหายหมด หรืออย่างที่จะทำถนนลัดอ่าว ที่แหลมผักเบี้ย ในแง่วิชาการแล้ว เหี้ยที่สุดเลย ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มากมายมหาศาลไม่รู้ว่ามันคิดกันได้อย่างไร แต่ก็คงสรุปได้ว่ามันคือคนพวกนี้ คนจอมปลอมที่เอาวิชาความรู้มาใช้โดยไม่รู้เรื่อง นี่ยังไม่พูดเรื่องแดกกันอุดตลุดนะเพราะโครงการนี้เงินมหาศาล

พอหลายเรื่องมันซ้อนทับกันประกอบกับชาวบ้านโดนนโยบายลดแลกแจกแถมกันจนมึนไปหมดเลยไม่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี พอมีใครออกมาใช้สติมองปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะจะถูกมองว่าเป็นพวกเอ็นจีโอที่ค้านทุกเรื่องอีก สังคมมันถึงเป็นอย่างนี้ เป็นสังคมที่ถูกขังด้านปัญญา ชาวบ้านที่ออกมาต่อต้านบอกว่านี่คือเรื่องที่ส่งผลเสียแล้วจะส่งผลถึงพวกมึงด้วยนะ ปลาทูที่บ้านมึงหน้างอและผอมขนาดนั้นแล้วยังไม่เห็นอีกหรือ จะยอมให้เอาตะกอนมาเพิ่มเอาเสาเข็มมาใส่อ่าวไทยอีกจะยอมได้อย่างไร ดังนั้นการเมืองภาคพลเมืองหรือการเอาธุระกับสังคมจะต้องเดินควบคู่ไปกับการเมืองภาพใหญ่ เราจะได้เห็นภาพสังคมที่ชัดขึ้น

 

ไฮคลาส : การเมืองภาคประชาชนคือปัจจัยให้การเมืองบ้านเราพัฒนาไปข้างหน้าใช่หรือเปล่า

 

แก้วสรร : หากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเกิดขึ้นในสังคมไทยได้จริง การเมืองบ้านเราจะมีสองเงาในการ ปรากฏตัว คือปรากฏตัวในระบบผู้แทน และก็ปรากฏตัวในส่วนของการเมืองภาคพลเมือง การเมืองจะพัฒนาไปได้จะต้องมีทั้งสองเงา ทั้งสองสิ่งนี้ก็จะตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เราต้องทำให้พลเมืองกลายเป็นประชาชน คือทำให้เม็ดทรายกลายเป็นคอนกรีต หากเรามีบทเรียนที่ดีขึ้น ท่าทีของภาครัฐต่อการเมืองภาคประชาชนก็จะเปลี่ยนไปเอง เรื่อสำคัญคือต้องทำให้ภาคประชาชนมันปรากฏตัวให้ได้

 

ขวัญสรวง : เราต้องช่วยกันสร้างความหวังดีๆ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม โดยเฉพาะในต่างจังหวัดไฟธาตุมันยังมีอยู่ ผู้คนยังคบหาสมาคมรวมตัวเป็นชุมชนอยู่ การทำอะไรเล็กๆ แล้วสำเร็จผมว่ามันมีเงื่อนไขให้ทำได้เยอะแยะ หากเรายิ่งล้างภาพคำว่า พวกไม่เอารัฐออกไปให้ได้ก็จะยิ่งดี อาจจะตั้งชื่อใหม่ว่าพลเมืองอาสาอะไรก็ได้ โดยการรวมตัวทำอะไรดีๆ ให้กับชุมชนที่เราอยู่อาศัย ผมเชื่อว่าคนที่อยากทำงาน เพื่อส่วนรวมเพื่อบ้านเพื่อเมืองมีมาก แต่วันนี้มันไม่มีที่ลง เราต้องสร้างพื้นที่ตรงนั้นให้เขาแสดงออก

 

ไฮคลาส : ณ วันนี้ ประชาชนเหมือนกับไม่มีตัวเลือกอื่นเลย หันซ้ายหันขวาก็เจอแต่กลุ่มเดิมๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็เลยตัดใจเลือกให้เข้ามาอีกอย่างนี้ก็เป็นเหมือนวังวนไม่รู้จบ

 

แก้วสรร : ต้องส่องกระจกดูตัวเองแล้วบอกว่า ที่ได้อย่างนี้เพราะเราทำตัวเราเอง หากอยากจะได้อย่างนี้ต่อไปก็ช่วยไม่ได้ สาสมแล้ว ไม่ต้องไปงง หัดด่าตัวเองเสียงมั่งว่า เราทำตัวอย่างไรทำไมถึงมีตัวเลือกเพียงแค่นี้ เราต้องกลับมาดูตัวเอง ทบทวนตัวเอง ว่าต้องการอย่างไร จะรวมตัวกันจากเม็ดทรายเป็นคอนกรีตได้อย่างไร เริ่มจากเล็กๆ ไม่ต้องใหญ่มากหรอกสำคัญที่เจ้าของปัญหาตื่นหรือยัง มีแต่เสียงร้องควรครางมีแต่เสียงบ่น แต่ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ก็ต้องได้แบบนี้แหละ

 

ไฮคลาส : มองการเมือง 4 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

แก้วสรร : หลายเรื่องเหลือเกินที่ดูแล้วมีแต่สัญญาณที่ไม่ดี เศรษฐกิจก็มองไม่เห็นเลยว่าจะฟื้นได้จริง ตอนนี้วิ่งหาเงินกันจ้าละหวั่นไปหมด เอาไปแปรรูปหมดเพื่อหาเงิน ในหมู่บ้านเองก็อยู่กันอย่างเผชิญภัยไม่มีอนาคต ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน การแก้ปัญหาหลายอย่างของรัฐบาลฝีมือก็ไม่ถึง การค้ากับต่างชาติก็เสียเปรียบสู้เขาไม่ได้ คือสัญญาณแต่ละเรื่องมีแต่เรื่องไม่ดี

          การแก้ปัญหาภาพใหญ่ในสังคมเราคงไม่บังอาจ หากบังอาจก็เป็นคนโง่ อย่างเก่งก็พูดได้เพียงว่าประชาชนจงรวมกันเข้าเพื่อเติบโตขึ้นมา จากการทบทวนตัวเอง เลิกเชื่อและยอมทำตามทุกอย่างที่รัฐกำหนด แต่เราไม่ได้บอกให้ปฏิเสธรัฐนะ โดยสรุปก็ต้องบอกให้กลับไปดูกระจกนั่นแหละ และก็อายเสียบ้างหากยังไม่ได้ทำอะไร รีบทำซะ ทำในจุดที่คุณยืนอยู่อย่างเต็มที่

 

ขวัญสรวง : การเมืองมันไม่มีความแน่นอนหรอกว่าจะเป็นอย่างไร แต่ครั้งนี้เชื่อว่าไทยรักไทยจะกลับมาเป็นอีก แต่ไม่น่าจะอยู่รอดปลอดภัยทั้ง 4 ปี สิ่งที่จะยิ่งน่ากลัวก็คือ เขาไม่ยอมลงจากหลังเสือ ต้องทำทุกอย่างให้อยู่บนหลังเสือ แต่การทำทุกอย่างบนหลังเสือ มีกรรมที่สั่งสมมาในอดีตไล่ตามอยู่ อย่างเช่นการดึงเอาเงินอนาคตมา มันไล่ตามมาใกล้ขึ้นทุกที เขายิ่งพยายามดิ้นรนหนี ซึ่งมันจะยิ่งน่ากลัวมากขึ้น

การเมืองวันนี้ก็เป็นอย่างที่บอกว่า มันเป็นผลมาจากพัฒนาการที่เรามีโดยไม่ทันเป็น แล้วพาตัวมา อีรุงตุงนัง ซับซ้อนกันไปหมด ไม่มีใครอยู่ในวิสัยจะไขทางสว่างให้ได้ทั้งหมด เพราะตัวเราเองก็เข้าไปขลุกอยู่กับมัน หากพูดในแง่ส่วนตัวก็คงทำงานให้ดีที่สุด อย่างอาจารย์แก้วสรรที่เข้าไปอยู่ในระบบการเมืองตัวแทนเขาก็พยายามเข้าไปทำงานอย่างเต็มที่ ผมเองก็ทำงานในสิ่งที่เราเชื่อว่าประชนต้องหันมาเอาธุระกับสังคม มันจึงจะคลี่คลายลงได้แม้ในระดับเล็กๆ ก็ตาม

ที่มา : นิตยสาร Hi-class

VOL.22 No.237 2005

Be the first to comment on "การเมืองสองเงา ระหว่าง แก้วสรร VS ขวัญสรวง อติโพธิ"

Leave a comment

Your email address will not be published.