ที่จริงแล้ว ถ้ามองในเนื้อหาสาระ ขบวนชุมชนท้องถิ่นนับเป็นงานพัฒนาเชิงปฏิรูปที่เคลื่อนตัวมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างมากมายตามรายทาง ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ทั้งในด้านโครงสร้างทางความคิด-ทฤษฎีการพัฒนา ด้านแนวนโยบายการพัฒนากฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนด้านโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม
การปฏิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มุ่งสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปจึงไปไกลกว่าและลึกกว่างานพัฒนาและงานแก้ปัญหาตามปรากฏการณ์ระดับผิวอันเป็นงานประจำของทางราชการหรืองานหว่านโปรยงบประมาณประชานิยมที่นักการเมืองชอบใช้
การปฏิรูปเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของการเรียนรู้และเกิดความพร้อมใจกันของสังคมฝ่ายต่าง ๆ การปฏิรูปจึงต้องใช้ระยะเวลาและการปรับตัวเข้าหากัน ไม่ใช่วิธีการบังคับใจให้เปลี่ยนแปลงกันอย่างฉับพลันโดยใช้อำนาจรัฐ อำนาจกฎหมาย อำนาจกองทัพ หรืออำนาจมวลชนแบบการปฏิวัติ
การปฏิรูปเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงในทางสายกลาง ซึ่งย่อมมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบเป็นธรรมดา ธงปฏิรูปประเทศไทยที่ถูกชูขึ้นด้วยความจำเป็นในวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองคราวนี้เป็นเพียงหน้าต่างแห่งโอกาสบานน้อย ๆ ที่เปิดออกมาเพียงระยะเวลาที่สั้นมาก ใครที่เห็นประโยชน์ร่วมกันควรเร่เข้ามา ส่วนคนอื่นต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของความสมัครใจครับ
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปร่วมพูดคุยกับขบวนองค์กรชุมชน ผู้นำ อบต. และเอ็นจีโอจาก 19 จังหวัดในภาคอีสานร่วม 200 คน คนเหล่านี้เกินครึ่งเคยร่วมขบวนคนเสื้อแดงมาแล้ว พวกเขามีความคึกคักกันมากที่จะร่วมการปฏิรูปคราวนี้ จึงอนุมานได้ว่าภูมิภาคอื่น ก็คงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ที่นั่นพวกเขาจะเน้นการปฏิรูปภาคปฏิบัติการและการเปลี่ยนจิตสำนึกสังคมเป็นด้านหลัก เพราะเป็นเรื่องที่สามารถกำหนดเองได้มากกว่าจะมุ่งกระบวนการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลหรือรัฐสภาซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลารอคอยและต้องพึ่งพาอำนาจภายนอก
พวกเขาตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนไว้ที่ “การปฏิรูปอำเภอ”” ด้วยเหตุผลว่าอำเภอเป็นขอบพื้นที่การปกครองที่มีอำนาจรัฐภูมิภาคและส่วนกลางเข้าไปควบคุมดูแล เป็นขอบพื้นที่ทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ-สังคม ที่มีหน่วยราชการครบทุกด้านที่เกี่ยวพันกับชีวิตของชาวบ้าน และเป็นขอบพื้นที่ซึ่งมีองค์กรปกครองท้องถิ่นแบ่งกันดูแลครอบคลุมทุกตารางเมตร
สาเหตุที่ไม่ตั้งเป้าการเปลี่ยนแปลงไว้ที่ระดับตำบล เพราะตำบลเป็นขอบพื้นที่ที่พวกเขาทำงานพัฒนากันในยามปกติอยู่แล้ว เขาเห็นว่าควรจะใช้ธงปฏิรูปคราวนี้ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยกระดับขึ้นไป ส่วนที่เขาไม่ตั้งเป้าการเปลี่ยนแปลงถึงระดับจังหวัดเพราะขอบเขตมันรกว้างใหญ่เกินกำลังและทักษะประสบการณ์ของเครือข่ายฐานรากอย่างพวกเรา
พวกเขาตั้งใจจะผนึกกำลังเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ก้าวข้ามความขัดแย้งสีเหลือง-สีแดง เพื่อปฏิบัติการปฏิรูปอำเภอของตน ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งอำเภอ, อบต. ทุกแห่ง, กลุ่มข้าราชการที่มีอุดมการณ์ชุมชนท้องถิ่น, พ่อค้านักธุรกิจที่มีจิตอาสา, เอ็นจีโอ และศิลปิน-สื่อมวลชนในพื้นที่
แต่ด้วยเหตุที่การปฏิรูปคราวนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องนำรัฐ ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้พลังเครือข่ายทางสังคมมีความเข้มแข็งมากพอสำหรับภารกิจการนำขบวนปฏิรูปอำเภอ พวกเขาบอกว่า “ต้องปฏิวัติจิตสำนึกของเครือข่ายเสียก่อน”” ถือเป็นการปฏิวัติตนเองของภาคประชาชน จิตสำนึกที่พวกเขาขานรับกันมากและโดยทันที มี 4 ประการ คือ จิตสำนึกในการปกครองโดยตนเอง (เป็นนายชะตาของตนเอง), จิตสำนึกรังเกียจคอร์รัปชัน, จิตสำนึกปฏิเสธความรุนแรง และจิตนึกความเป็นธรรมทางสังคม
ส่วนรูปธรรมการปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงนั้น อำเภอ 300 แห่งของภาคอีสานจะได้มีการระดมความคิดเครือข่ายทางสังคมในแต่ละพื้นที่เพื่อเลือกประเด็นสาธารณะที่ทุกเครือข่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องใหญ่ของทั้งอำเภอและเป็นเรื่องซึ่งเกินกำลังที่เครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งจะทำได้สำเร็จ อย่างน้อย 1 ประเด็น โดยทุกเครือข่ายจะมาลงแขกกันจัดการให้บรรลุผลภายในระยะเวลา 3 ปีของธงปฏิรูป โดยใช้พลังทางสังคมและปัญญาลุกขึ้นมานำพากลไกรัฐและท้องถิ่นร่วมกันแก้ปัญหา หรือพัฒนาอย่างเป็นเอกภาพ
มีตัวอย่างที่เขาพูดกันซึ่งน่าสนใจมาก เช่น บางอำเภอมีปัญหาดินยุบเป็นวงกว้างและแผ่ขยายออกไปเรื่อย เนื่องจากการสูบน้ำใต้ดินมาทำเหมืองเกลือ ซึ่งรัฐและท้องถิ่นหมดปัญญาจัดการ, บางอำเภอกำลังมีปัญหาชาวบ้านนับหมื่นคนจะถูกราชการอพยพออกจากที่ป่าโดยไม่รู้ชะตากรรม, บางอำเภอมีปัญหาหนี้สินเกษตรกรโดยชาวบ้านมีที่ดินติดอยู่กับ ธกส.เกือบทุกครัวเรือน บางพื้นที่อยากทำโครงการปลูกป่าใช้หนี้ บางพื้นที่อยากทำรูปแบบกรรมสิทธิ์รวมหมู่โดยมีระบบสหกรณ์ของชาวบ้านเข้ามาเป็นตัวกลาง, บางอำเภอชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินในขณะที่มีพื้นที่สาธารณะที่รกร้างว่างเปล่าจำนวนมากและอยู่ในวิสัยที่จะแบ่งส่วนมาทำโครงการโฉนดชุมชนได้, บางอำเภอไม่มีปัญหาอะไรมากแต่อยากทำให้ห้วย หนอง คลอง บึงใสสะอาด และเป็นอำเภอที่น่าอยู่ ฯลฯ
บางทีช่วง 3 ปี ของการปฏิรูปคราวนี้ แม้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับบนไม่ได้มากเนื่องจากข้อจำกัดของรัฐบาลและรัฐสภาอย่างที่เป็นอยู่ แต่ที่ระดับฐานรากในพื้นที่ 900 อำเภอทั่วประเทศก็น่าจะเห็นรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและจิตสำนึกที่สร้างสรรค์และหลากหลายจากพลังชุมชนท้องถิ่นและพลังสังคมที่นั่นนะครับ
Be the first to comment on "ขบวนชุมชนท้องถิ่นกับการปฏิรูปอำเภอ"