ข้าวไทยกับ GMOs

ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกายังไม่กล้าทำข้อตกลงเรื่องนี้กับออสเตรเลีย และได้พูดถึงเรื่อง มะละกอ GMOs ที่ปรากฏเป็นข่าวดังในขณะนี้ว่า….

ข้าวไทยกับ GMOs


เวทีสาธารณะ “เขตการค้าเสรี…เรื่องใกล้ชิดชีวิตคนอุบล”ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้น โดย โครงการชีวิตสาธารณะ – อุบลน่าอยู่ หรือชื่อความเคลื่อนไหว “ฮักแพง…แปงอุบล” ” และด้วยความร่วมไม้ร่วมมือจาก โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จ.อุบลราชธานี เป็นภาคต่อเนื่องจากเวทีสาธารณะครั้งที่ 1 ที่จัดไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในครั้งที่ 1 นั้นเป็นการเปิดประเด็นสาธารณะให้เราชาวอุบลได้รับรู้และตระหนักว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA นั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป เราจะต้องได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน
สำหรับการเสวนาครั้งที่ 2 นี้ได้พูดคุยกันในหัวข้อ “ข้าวไทยกับ GMOsเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม ณ ศาลาหลังใหม่ในบริเวณอุทยานบุญนิยม ชุมชนราชธานีอโศก รูปแบบของการเสวนายังคงเหมือนเวทีสาธารณะครั้งที่ 1 มีการพูดคุยและระดมความเห็นกันครึ่งวันตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงวัน นอกจากนั้นยังมีน้อง ๆ คณะละครหุ่นฮักแพงมาร่วมแสดงละครหุ่นเรื่อง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์” ช่วยสร้างสีสันให้กับการจัดเวทีครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ผู้ดำเนินรายการ คือ อ.สุเชาว์ มีหนองหว้า อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ร่วมการเสวนาทั้ง 3 ท่านต่างก็เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการค้าเสรีและพืชตัดแต่งพันธุกรรมเป็นอย่างมาก

โดยผู้ร่วมเสวนาคนแรกคือ คุณพรวิช ศิลาอ่อน ท่านเป็นนักวิชาการพาณิชย์ กลุ่มเจรจาสินค้าเกษตรและสิ่งแวดล้อม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวง ได้ให้ข้อมูลว่าการทำข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยทำกับประเทศต่าง ๆ นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อตกลงการค้าโลก (WTO)เพื่อลดการกีดกันทางการค้าอย่างไร้เหตุผลลง แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นแบบพหุภาคีที่ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ จึงทำให้แต่ละประเทศหันมาเจรจาและทำข้อตกลงการค้ากันในแบบทวิภาคีแทน โดยเฉพาะ และได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีนั้นต่างไปจากสนธิสัญญาบาวริ่งเพราะว่าไม่มีใครบังคับให้ต้องทำ มีความยืดหยุ่นสูงสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ว่าเราจะรับหรือไม่รับข้อตกลงนั้น ๆ หรือไม่ อย่างไรนอกจากนั้นท่านยังให้รายละเอียดเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ www.moc .go.thหากผู้ใดสนใจจาก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้าเว็บไซต์กรมการเจรจาการค้าต่างประเทศ ซึ่งจะมีหน้าเว็บเพจของเรื่อง FTAจะมีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้

ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านต่อไปคือ คุณมนตรี โกศัลวัฒน์ เลขาธิการสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า อ.ตระการพืชผล เป็นผู้หนึ่งที่ส่งเสริมและรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งยังเป็นตัวกลางเชื่อมการติดต่อด้านการผลิตและการค้าข้าวของเกษตรกรไทยในระดับนานาชาติด้วย กล่าวว่าการค้าเสรีที่เป็นอยู่นั้นไม่ยุติธรรมและมันไม่ได้เสรีจริง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้รับผลกระทบแค่ไหน ด้านไหน อย่างไร จึงอยากจะได้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนว่าอะไร อย่างไร เราได้เปรียบอะไร เสียเปรียบอะไร คุ้มค่าหรือไม่กับการทำ FTA คุณมนตรีได้ยกตัวอย่างการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง ไทย ออสเตรเลีย เกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะกลายเป็นผู้ที่เสียเปรียบ ในขณะที่อุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่งได้เปรียบ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เรียกว่า ข้าวซุปเปอร์ไรซ์” เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงมากก็จริง แต่คนกินไม่ได้เพราะว่าแข็งมากต้องนำไปใช้เลี้ยงสัตว์แทน และได้พูดถึงเรื่อง “Hybrid seed” เมล็ดพันธุ์ชนิดนี้ผู้ที่ปลูกจะต้องซื้อใหม่ทุกครั้งไป ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ขยายต่อเพื่อเพาะปลูกได้ ถึงจะเก็บไปใช้เพาะปลูก ลักษณะของพืชที่ได้ก็ไม่เหมือนกับที่เกิดจากเมล็ดพันธุ์รุ่นแรก ทำให้ธุรกิจเมล็ดพันธุ์กลายเป็นธุรกิจที่ผูกขาด บริษัทขายเมล็ดพันธุ์ทั้งของไทยและของต่างชาติที่เป็นผู้กำเทคโนโลยีเอาไว้จะเป็นผู้ได้เปรียบ และสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาหาประโยชน์จากเกษตรกรได้ ในกรณีของพืชตัดแต่งพันธุกรรมก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่อยากให้เป็นเพียงคำว่าคาดว่าจะมีผลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องการความชัดเจนจากผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ผู้ร่วมการเสวนาคนสุดท้ายคือ คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีชีวภาพและพืชตัดแต่งพันธุกรรมอย่างมาก ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือ พืช GMOs มาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กล่าวว่าเมื่อเราได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีสิ่งที่กระทบแน่นอนคือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องการลดภาษีให้เหลือศูนย์ และเรื่องการปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติเสมอเดียวกับคนไทย ต่อไปในอนาคตเขตแดนรัฐจะไร้ความหมาย และได้เปรียบการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีเทียบได้กับสมัยที่ไทยถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาบาวริ่งในอดีต แต่จะหนักหน่วงและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมนม เนื้อของไทยอีก 20 ปีข้างหน้านับถอยหลังรอวันล่มสลายเพราะข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ไทยทำกับประเทศออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ได้เปรียบในอุตสาหกรรมนมและเนื้อสัตว์ แม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกายังไม่กล้าทำข้อตกลงเรื่องนี้กับออสเตรเลีย และได้พูดถึงเรื่อง มะละกอ GMOs ที่ปรากฏเป็นข่าวดังในขณะนี้ว่า เราควรเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเอาหรือไม่เอา GMOs แต่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า เรา ในที่นี้คือใคร เราคือเฉพาะรัฐบาลหรือประชาชนคนส่วนใหญ่

และการเสวนาครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ระพี สาคริก อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบิดาแห่งกล้วยไม้ไทย เข้าร่วมฟังตลอดการเสวนาและได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่มีคุณค่ากระตุ้นเตือนให้เราตระหนักในความเป็นอยู่ของเรา ต้องไม่ละโมบโลภมาก ไม่ต้องกระเสือกกระสนให้ร่ำรวยก้าวไกลไปสู่เวทีนานาชาติ เราจะทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ทำไมเราจะอยู่อย่างยากจน แต่มีศักดิ์ศรีมีชีวิตที่เป็นอิสระจากพันธนาการต่าง ๆ ไม่ได้หรือ นอกจากนั้นท่านอาจารย์ยังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาไทยว่า เป็นการฆ่าตัดตอนทางความคิดของนักศึกษา สอนให้ผู้เรียนลืมตัวหลงตัวเอง ยิ่งเรียนสูงยิ่งห่างไกลพื้นดิน ข้อคิดที่ได้รับจากท่านศาสตราจารย์ระพี สาคริก ผู้มีความเป็นครูอยู่เต็มเปี่ยมได้ให้สติและคุณค่าแก่ผู้เข้าร่วมการเสวนาวันนั้นเป็นอย่างมาก

จากการเสวนาวันนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงผลเสียของ GMOs หรือความชัดเจนและรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดเสรีข้าวที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนอุบลและคนไทยเท่าใดนักแต่ก็นับว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่เปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการว่า จะเห็นด้วยหรือไม่ด้วยตัวของตัวเองอย่างไร โปรดเตรียมพบกับเวทีสาธารณะเขตการค้าเสรีครั้งที่ 3 เรื่อง การค้าเสรีกับสิทธิบัตรยา” ได้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2547 นี้

จาก : จดหมายข่าวฮักแพง แปงอุบลฯ

Be the first to comment on "ข้าวไทยกับ GMOs"

Leave a comment

Your email address will not be published.