ความเร็วคือความงาม

“ฉันจะผ่านโลกนี้แต่เพียงหน จึงกุศลใดๆที่ทำได้
หรือเมตตาที่อาจให้มนุษย์ใด ขอให้ฉันทำและให้แต่โดยพลัน
อย่าให้ฉันทำละเลยเพิกเฉยเสีย หรือผัดผ่อนอ่อนเพลียไม่แข็งขัน
เพราะตัวฉันต่อไปไม่มีวัน จรจรัลทางนี้อีกทีเลย”

 

โดย .. ฮักก้า

 


 

 

 แม้จะเขียนภาพเพื่อไปสอน มากกว่าเขียนภาพเพื่อไปโชว์ แต่บรมครูศิลปะชื่อดัง อารีสุทธิพันธุ์ ก็มีผลงานออกมาให้คอศิลปะได้ชื่นชมในนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญๆอยู่เรื่อยๆ

โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” กับ “วัด” ถือเป็นแบบที่ครูอารี เลือกถ่ายทอดผ่านภาพเขียนมากที่สุด

เหตุที่มีใจใคร่เขียนสองสิ่งนี้ ท่านมองว่า ผู้หญิงเป็นเรื่องของการเจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์ ขณะที่วัดถือเป็นสถานที่สั่งสมซึ่งความดี

ตลอดชีวิตนี้ท่านเขียนภาพวัดมาแล้วหลายวัด โดยฝึกฝนเขียนภาพ “วัดโพธิ์” มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เป็นภาพแรก

“มีชีวิตอยู่ก็ต้องเข้าวัดไปเขียนภาพวัด ตายแล้วไม่ต้องเข้าวัด ให้เขาเอาศพไว้ที่โรงพยาบาล” ครูอารีบอกกลั้วเสียงหัวเราะ

สาระในภาพเขียนวัดของครูอารี มีอยู่ 4 อย่างคร่าวๆ 1 มีช่อฟ้า 2 มีเส้นดิ่ง 3 มีเส้นนอน และ 4 มี “ทรงจอมแห” ( รูปทรงของพระปรางค์ที่สร้างโครงรูปเส้นรอบนอก มีลักษณะแอ่นโค้งเหมือนอาการทิ้งน้ำหนักตัวของแหที่ถูกยกขึ้น รูปทรงเช่นนี้ความจริงถูกนำมาใช้กับการออกแบบพระเจดีย์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาก่อนแล้ว และต่อมาจึงพัฒนานำมาใช้กับรูปทรงพระปรางค์บ้าง)

สำหรับครูอารีแล้ว “ความเร็วคือความงาม” เมื่อไหร่ที่มีการเคลื่อนไหวรูปร่างที่ปรากฏบนภาพจะไม่แน่นอน

“ผมเชื่อว่าความเคลื่อนไหวและความงามอยู่ด้วยกัน แสดงให้เห็นด้วยการลาก และระบายสีให้ซ้ำซ้อนกัน บนบริเวณว่างรองรับมีทิศทางหลากหลายตามช่วง
เวลาได้เป็นภาพลักษณ์สี ภาพลักษณ์ที่คาดว่าสื่อถึงกันได้”

ถึงตอนนี้ท่านยังคงเขียนภาพวัดอยู่เรื่อยๆ ถ้าว่างเมื่อไหร่เป็นต้องลงมือเขียนทันที

แต่การเขียนในช่วงหลังๆ ไม่จำเป็นต้องดั้นด้นไปให้ถึงสถานที่จริงแล้ว แค่เพียงนึกถึงก็เขียนออกมาได้แล้ว

“อยู่ที่บ้านก็เขียนได้ เพราะสาระที่ว่ามันมีอยู่แล้วนี่”

หลังจากที่เรียนจบจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา (มศว.ประสานมิตร) แล้วไปต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา กระทั่งเกษียณอายุราชการจาก มศว.ประสานมิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ครูอารีในวัย 76 ปี มีความสุขอยู่ท่ามกลางลูกศิษย์ลูกหามากมาย (ที่ต่างเติบโตตามเส้นทางที่ตัวเองเลือก) และยังพร้อมเป็นผู้ให้อยู่เสมอ

“เมื่อผมเป็นครู ผมก็อยากจะให้นักเรียนมากที่สุด ให้เขาไปเถอะ ทำไมหน่ะหรือ เพราะผมเกิดมาหนเดียว”

ออกจากบ้านไปสอนเขียนภาพ ท่านไม่เคยร้างลาไปจากหน้าที่นี้ ทั้งสอนแบบตามอัธยาศัย รวมกลุ่มกันให้ไปสอน และสอนในฐานะอาจารย์พิเศษ

“ผมจะต้องสอนอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้รู้ว่าผมยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และการไปสอนในตอนนี้ไม่เคยหวังอะไรทั้งสิ้น ให้เขาทั้งนั้น”

ความเป็นครูศิลปะของครูอารียึดหลักทางพุทธศาสนา 7 ข้อที่ว่า…1 ให้รู้จักเหตุ 2 ให้รู้จักผล 3 ให้รู้จักตัวตน 4 ให้รู้จักความพอ 5 .ให้รู้จักกาลเวลา 6 ให้รู้จักเข้าประชุม และ 7 ให้รู้จักแต่ละบุคคล

และที่สำคัญคือยึดที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

“เรามักสอนให้ลูกศิษย์ทำตามครู แต่เราไม่ได้สอนให้เขารู้จักคิดว่าทำไมต้องทำตามครู ทำไมเราไม่ให้เขาได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ และให้เขาตัดสินใจทำตามด้วยตัวเขาเอง ผมว่าลองให้เขาเห็นหยดน้ำ ให้เขาเห็นดวงอาทิตย์ แล้วเขาจะคิดถึงรุ้งกินน้ำได้ รุ้งกินน้ำคือภาพลักษณะตามธรรมชาติ เมื่อเขาเข้าใจเขาก็จะรู้ว่า รุ้งกินน้ำจะไม่เกิดขึ้นตอนกลางคืน เพราะจะเกิดตอนกลางวัน”

สิ่งใดคือความมุ่งมั่นของครูอารีในวัยไม้ใกล้ฝั่ง? … ท่านส่ายหน้าและและกล่าวขึ้นเป็นบทกวีอันมีเนื้อหาน่านำไปขบคิดว่า

“ฉันจะผ่านโลกนี้แต่เพียงหน จึงกุศลใดๆที่ทำได้
หรือเมตตาที่อาจให้มนุษย์ใด ขอให้ฉันทำและให้แต่โดยพลัน
อย่าให้ฉันทำละเลยเพิกเฉยเสีย หรือผัดผ่อนอ่อนเพลียไม่แข็งขัน
เพราะตัวฉันต่อไปไม่มีวัน จรจรัลทางนี้อีกทีเลย”

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 15 มกราคม 2550

Be the first to comment on "ความเร็วคือความงาม"

Leave a comment

Your email address will not be published.