‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ :นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณ กว่าสี่หมื่นห้าพันล้านบาทลงไป เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาและการบริหารราชการแผ่นดินใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : ‘ชุมชนบนกองเพลิง’
|
บทรายงานสาธารณะ ชุด ‘ชุมชนบนกองเพลิง’ |
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
ตอนที่ 1
‘ชุมชนบนกองเพลิง’ นับตั้งแต่การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา นับวันสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ยิ่งมีความรุนแรงขึ้นทุกวัน มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการเป็นจำนวนมาก ในขณะนี้ชุมชนทุกชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมกันโดยถ้วนหน้า วันนี้สถานการณ์ชุมชนชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ในฐานะที่คอยติดตามจับชีพจรชุมชนชายแดนใต้มาตลอด 3 ปี ผมสรุปได้เป็น 4 ลักษณะ คือ 1.อยู่อย่างหวาดผวา ในภาพรวมนั้นผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีชีวิตอยู่ในความเสี่ยงทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นกับตนเอง กับครอบครัว กับชุมชน กับหมู่บ้าน ณ เวลาใด เพราะทุกชุมชนอยู่ในสมรภูมิสู้รบระหว่าง 2 ฝ่ายที่ต่างก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาของตนเอง แต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลในการสนับสนุนความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของตน ฝ่ายแรกคือฝ่ายก่อการที่มุ่งใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุผลทางการเมือง เป็นการประท้วงรัฐบาล แสดงความไม่พอใจต่อการปกครอง การดูแลบริหารจัดการของรัฐบาลและภาครัฐโดยในภาพรวมต้องการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความสัมพันธ์ การปกครอง การจัดการตนเอง ในขั้นนี้ แม้ว่าชัยชนะสูงสุดของฝ่ายก่อการ ซึ่งมุ่งแบ่งดินแดน จะยังอยู่ห่างไกล และยากที่จะเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะมองว่านี่คือรูปแบบการประท้วงอำนาจรัฐ ด้วยอาวุธของฝ่ายก่อการ ก็นับว่าฝ่ายก่อการได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ฝ่ายที่สอง คือฝ่ายทหาร ตำรวจ เป็นฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการก่อความไม่สงบของฝ่ายก่อการ ฝ่ายทหาร ตำรวจ นั้นมีกฎหมายเป็นเหตุผลสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของฝ่ายตนเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาและเพื่อบรรลุเป้าหมายของฝ่ายตนทั้งสิ้น แต่ผลของความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายนั้น ผลกระทบตกอยู่ที่ชุมชน ชุมชนตกอยู่ในสภาพที่ต้องระวังภัยที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต และทรัพย์สินทุกวัน ในรอบปีมีเหตุการณ์วางระเบิด เผาสถานที่ราชการทุกวันนับร้อยครั้ง ในเกือบทุกเดือนมีคนตาย คนบาดเจ็บ เกิดขึ้นเกือบทุกวัน 2.อยู่อย่างหวาดระแวง เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งคนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม ต่างได้รับผลกระทบ การปฏิบัติการที่มุ่งเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ของฝ่ายก่อการ ยิ่งทำให้เกิดความหวาดระแวง ระหว่างกันในสังคมมากยิ่งขึ้น ทั้งระหว่างประชาชนกับประชาชน ระหว่างข้าราชการกับชาวบ้าน และระหว่างชุมชนต่างศาสนิก สำหรับชุมชนนั้น ชุมชนเองก็มีความหวาดระแวงและไว้ใจใครไม่ได้ เพราะอยู่ในสภาพที่ว่า ‘ขวาก็นาย ซ้ายก็โจร’ นาย หมายถึง เจ้าหน้าที่ ที่เข้ามาหาชุมชนเพื่อซักถามข้อมูลข่าวความเคลื่อนไหว เมื่อเจ้าหน้าที่ออกไป ฝ่ายโจร ก็เข้ามาเพ็งเล็งทำให้ประชาชน ชุมชนอยู่ในสถานะที่วางตัวได้ลำบากยิ่ง จึงอยู่ในสภาพที่หวาดระแวงและหวาดผวาทั้งต่อเจ้านาย และผู้ก่อการ นอกจากนั้นหวาดระแวงประชาชนด้วยกัน หวาดระแวงชุมชนที่ต่างศาสนิก หวาดระแวงเพื่อนร่วมงาน ในปัจจุบันความเป็นปกติสุขซึ่งถูกความหวาดระแวงซึ่งกันและกันเข้ามาบดบังหมดสิ้น 3.การพัฒนาหยุดะงัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีครูถูกฆ่าตายไปแล้วทั้งสิ้น 52 คน และถูกทำร้ายบาดเจ็บ 47 คน นี่เป็นเหตุให้การศึกษาของเด็กอยู่ในสภาพชะงักงัน โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ หรือ เปิดเรียนได้ก็ต้องรีบสอน ทำให้มีเวลาสอนนักเรียนน้อยลง ในลักษณะเช่นนี้เป็นที่คาดว่า การศึกษาจะเกิดการขาดช่วงในเรื่องของทรัพยากร มนุษย์ นับเป็น Generation หรือช่วงอายุคนเลยทีเดียว ในด้านการพัฒนาทั่วไป มีเจ้าหน้าที่ของภาคประชาสังคม อาสาสมัครและผู้นำชุมชนถูกฆ่าไปแล้วหลายคน ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับกองทัพภาคที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่สตรี ผู้หนึ่งถูกยิงตายขณะทำงานอยู่ในออฟฟิศ มีเจ้าหน้าที่ผู้เก็บข้อมูลงานวิจัยให้กับ กอส. ถูกฆ่าตายในระหว่างที่ลงเก็บข้อมูลทำงานวิจัย นอกจากนั้นยังมีผู้นำชุมชนอีกผู้หนึ่งที่เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว อันเป็นรางวัลที่ให้กับผู้นำและชุมชนดีเด่น ในด้านดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมถูกประกบยิงเสียชีวิตในระหว่างเดินทาง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้นักพัฒนาชุมชนทั้งภาครัฐ และเอกชน อยู่ในสภาพที่ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะมีความไม่ปลอดภัย เพราะอาจถูกหวาดระแวงและตั้งข้อสงสัยจากฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ก่อการ เวลาทำงานที่เคยใช้เวลาช่วงค่ำและเย็นที่ชาวบ้านสะดวก ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนแต่ก่อน การทำงานพัฒนาของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นการกำหนดจากส่วนกลาง แม้ว่ารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะทุ่มเงิน 2-3 หมื่นล้านบาท สำหรับการแก้ปัญหาโดยหว่านเม็ดเงินเหล่านี้ เพื่อหวังจะช่วยให้เกิดการพัฒนา เกิดการมีงานทำ และทำให้การก่อการร้ายหยุดชะลอลง แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการพัฒนาของภาครัฐส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยส่วนกลาง คือ กรม กอง กระทรวงต่างๆ ซึ่งมักไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทำให้ชาวบ้านอยู่ในสถานะเหมือนถูกเกณฑ์มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังถูกเกณฑ์มาต้อนรับเจ้านายจากทุกกระทรวงที่ต่างฝ่ายต่างก็วิ่งลงไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ชาวบ้านถูกกระทำด้วยความปรารถนาดีจากภายนอก จนเกิดความบอบช้ำและเหนื่อยล้า ทำให้การพัฒนาอยู่ในสภาพที่หยุดชะงัก 4.ความรุนแรงกลายเป็นวิถีชีวิต จากการที่เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การฆ่า ความรุนแรงและการเผาและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำวัน เป็นที่ประจักษ์ของประชาชน คนทั่วไป ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ยังได้พบภาพข่าวจากสื่อ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อยู่ทุกวัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างค่านิยมการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ถึงแม้จะเป็นปัญหาง่ายๆ ปัญหาสามัญ ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน เพราะความรุนแรงที่เห็นเป็นตัวอย่างเหล่านี้ ได้ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในวิถีคิด วิถีทางของผู้คน ทำให้มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาง่ายๆ ตนเอง ศาลเตี้ย ในระยะหลังได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น อำนาจรัฐได้อ่อนกำลังลง ไม่สามารถควบคุม บังคับใช้กฎหมายได้ และเมื่อมีการก่อเหตุแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็โยนให้เป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งหมดนี้ทำให้สภาพของชุมชนเหมือนตั้งอยู่ในกองเพลิง ซึ่งเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง สำหรับข้อเสนอแนะทางออกสำหรับ ทุกฝ่ายในเบื้องต้นนี้ ผมมีข้อเสนอว่า ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นปริมณฑลที่มีความเป็นกลาง และต้องไม่ใช้ชุมชนเป็นเครื่องมือในการประกอบความรุนแรงของตน ไม่ว่าฝ่ายใด ทุกฝ่ายควรปล่อยให้ชุมชนเป็นเสมือนบ้านของตน และของทุกฝ่าย ปล่อยให้ชุมชนเป็นสถานที่สำหรับเยียวยา ฟื้นฟู สำหรับทุกฝ่ายเมื่อได้รับบาดเจ็บและล้มตาย ควรปล่อยให้ชุมชนเป็นที่บ่มสอนเยาวชน ให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้มีอนาคตที่ดีในวันข้างหน้า ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง ต้องถือเป็นหน้าที่ของตนในการดูแลรักษาความสงบ จะต้องไม่เอาชุมชนเป็นเครื่องมือในงานด้านรักษาความสงบของตนช่างมักง่าย สำหรับฝ่ายก่อการและฝ่ายขบวนการ จะต้องไม่ใช้ชุมชนเป็นเครื่องมือในการต่อรองหรือเป็นเครื่องในการปฏิบัติการ ส่วนผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น จะต้องไม่ปล่อยให้ใครหรือฝ่ายใดมาใช้ชุมชนเป็นเครื่องมือ ประกอบความรุนแรง ต้องทำให้ชุมชนอยู่ในสภาวะที่เป็นกลาง และเป็นบ้าน เป็นที่เยียวยา เป็นที่บ่นสอนลูกหลานของเราทุกคนให้มีความรู้ความก้าวหน้าไปในอนาคตให้ได้จริงๆ |
ที่มา : ประชาไท |
{mospagebreak}
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : ‘ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด’
|
บทรายงานสาธารณะ ชุด ‘ชุมชนบนกองเพลิง’ |
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
ตอนที่ 2
“ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด” จนถึงวันนี้เหตุการณ์ความไม่สงบ ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด ประชาชน ชาวบ้าน ชาวเมืองและ ข้าราชการเป็นจำนวนมากไม่อยากอยู่ในพื้นที่ ใครที่มีช่องทางมีโอกาสในการที่จะย้ายตนเองได้ ก็ไม่มีใครที่ต้องการจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ มีข้าราชการขอย้ายออกเป็นจำนวนหลายพันคน แต่โยกย้ายออกจากพื้นที่ก็มีจำนวนน้อย มาก นักธุรกิจที่ มีช่องทางการลงทุนที่อื่นก็ย้ายไป ธุรกิจซบเซา คนอีสานที่ไปรับจ้างกรีดยางพารา ก็ย้ายไปที่อื่น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นักศึกษาที่เรียนอยู่ในภูมิภาค ถ้าเป็นคนต่างถิ่นทยอย ผู้ปกครองก็ให้ยุติการเรียน และย้ายที่เรียนใหม่ ยอมที่จะเสียเวลาในการเล่าเรียนดีกว่าให้ลูกหลานอยู่ในพื้นที่อันตราย สภาพเหตุการณ์ภัยร้ายรายวัน มีลักษณะที่สรุปได้ดังนี้ ประการที่ 1 ความถี่มากขึ้นในแง่ความถี่ของเหตุการณ์ที่เรียกว่า การก่อการร้ายรายวันหรือภัยรายวัน มีแนวโน้มของความถี่มากขึ้น ทั้งในเรื่องของการฆ่ากันตายรายวัน การวางระเบิด การซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ การวางเพลิง การทำร้ายเจ้าหน้าที่ราชการ การตัดน้ำ ตัดไฟ การปิดเมือง ประการที่ 2 ความรุนแรงเพิ่มขึ้นมีแนวโน้ม พบว่าระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น มีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในแต่ละครั้งมากขึ้น พื้นที่ ที่เกิดความรุนแรงมีการขยายตัว มีการตาย การเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ ชุมชนที่เกิดเหตุและชุมชนที่เกิดผลกระทบโดยตรงมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ประการที่ 3 ผู้รับผลกระทบถ้วนหน้า เหตุการณ์ภัยร้ายรายวันที่เกิดขึ้นขณะนี้มีลักษณะที่ไม่เลือกเพศ อายุ อาชีพ ทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์รายวันที่พอๆ กัน ชุมชนที่เป็นพุทธ และมุสลิม มีโอกาสเกิดเหตุพอๆ กัน ต่างฝ่ายต่างได้รับผลกระทบจากเหตุร้ายพอกัน ในรอบ 3 ปี มานี้ พี่น้องมุสลิมเสียชีวิตมากกว่า แต่พี่น้องคนไทยพุทธได้รับบาดเจ็บจำนวนมากกว่า ข้าราชการและประชาชนต่างมีความเดือดร้อนจากผลกระทบพอๆ กัน นักเรียน พอค้า ครู ช่าง หมอ นักธุรกิจ มีโอกาสได้รับผลกระทบบาดเจ็บล้มตาย ได้เช่นกัน ประการที่ 4 พึ่งราชการไม่ได้ น่าสังเกตว่า หน่วยราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยทหาร ตำรวจ ที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณและกำลังคนลงไปแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังติดอาวุธของรัฐ ทหาร ตำรวจ หลายหมื่นคนแล้ว ที่ลงไปในพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ แต่ความไม่สงบก็ยังไม่ลดลงและรัฐก็ไม่สามารถที่จะช่วยคุ้มครองเหตุการณ์ร้ายรายวันให้กับประชาชนได้เลย ความพยายามที่จะตั้งบังเก้อ ตั้งด่านตรวจ จัดหน่วยลาดตระเวนหรือการจัดหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำชุมชน เราจะคุ้นชินกับภาพของทหารถือปืนอาก้า อาวุธพร้อมมือ รถหุ้มเกราะตระเวนอยู่ตามตลาด ชุมชน สถานที่ราชการ รวมถือการจัดหน่วยคุ้มครองครูและข้าราชการที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็พบว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถช่วยคุ้มครองประชาชนได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะช่วยชาวบ้านไม่ได้แล้ว ชาวบ้านยังมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่ออยู่ใกล้หน่วยเหล่านี้เสียด้วย กลัวที่ตกเป็นเป้าหมายหรือลูกหลง ในสภาพเช่นนี้ ชุมชนและปัจเจกบุคคลที่ต้องอยู่อาศัย ทำมาหากิน เรียนหนังสือหรือทำธุรกิจอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไรจึงจะรอดพ้นเหตุร้ายรายวันเหล่านี้ไปได้ ในเรื่องนี้ ผมมีแง่คิดว่า ทางออกน่าจะมีอยู่ทางเดียว คือความเป้นกลางและการพึ่งตนเอง ซึ่งมีหลักคิดและหลักการ ดังนี้ 1. พึ่งตนเอง เป็นหลักคิดที่พึ่งตนเอง ไม่หวังพึ่งคนอื่น ไม่มีใครช่วยเราได้ดีกว่าตัวเราเอง ทั้งชุมชน ข้าราชการ เอกชน จะต้องไม่พึ่งคนอื่น ไม่พึ่งเทวดาจากภายนอก ไม่หวังให้ใครมาคุ้มกะลาหัว ต้องคิดพึ่งตนเอง และคิดพึ่งพากันเองในชุมชนเท่านั้น จึงจะเป็นทางรอด 2. เป็นกลาง ยึดความเป็นกลาง ชุมชน ประชาชน และข้าราชการ ที่ต้องการจะรอดพ้นจากภัยรายวัน ไม่ควรที่จะไปยุ่งกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือ จะเป็นฝ่ายผู้ก่อการ เราต้องไม่ยุ่งกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และต้องไม่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับฝ่ายใดด้วย 3. ไม่เป็นเครื่องมือ ต้องไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดที่จะใช้เราเป็นเครื่องมือประกอบความรุนแรงของฝ่ายตนอย่างทำตัวเป็นสายข่าวของฝ่ายใดเป็นอันขาด 4. เดินสายกลาง ควรเดินทางสายกลาง ทั้งการคิด การพูดจา ตอบโต้ การโต้เถียง และการกระทำใดๆ ต่อหน้าสาธารณชน ต้องไม่สุดโต่ง เพราะการกระทำเหล่านั้นอาจอยู่ในเป้าสายตาของผู้ก่อความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่ายได้ และอาจจะนำไปสู่การหวดระแวงและลอบทำร้ายในภายหลัง สำหรับรูปธรรมการปฏิบัตินั้น ผมแนะนำว่าท่านที่เป็นราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยตรง หมายถึงข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการ คือครู กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตร ข้าราชการพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม เหล่านี้ ท่านต้องไม่ทำตัวเป็นฝ่ายความมั่นคงเสียเอง และท่านต้องไม่หวังพึ่งให้ฝ่ายความมั่นคงมาช่วยคุ้มครอง นอกจากนั้นท่านควรทำตัวเป็นที่รักของชุมชน ให้บริการประชาชนตามภาระหน้าที่ของท่าน ด้วยหัวใจ ด้วยความรู้ ด้วยวิชาชีพ ด้วยคุณธรรมและเชื่อได้ว่า ความดีของท่านนั่นแหละจะคุ้มครองตัวท่าน สำหรับชุมชนทั้งพุทธ และมุสลิม ควรหมั่นพบปะ พูดคุยกัน ไปมาหาสู่กันให้มาก ช่วยกันทำให้ชุมชนของเราเป็นกลาง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใด ชุมชนพุทธและชุมชนมุสลิม ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างชุมชนและภายในชุมชน และต้องช่วยเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ ใครบาดเจ็บ ใครล้มตาย ใครถูกผลกระทบ เป็นหน้าที่ของชุมชนที่ต้องช่วยเหลือด้วยหัวใจ โดยที่ไม่แยกฝักฝ่าย สำหรับองค์กรท้องถิ่น ท่านควรมีบทบาทดูแลให้ความสนับสนุนชุมชน ให้มีความปลอดภัยทั้งชุมชนพุทธ และมุสลิม ถ้าตัวท่านเป็นมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ท่านควรเอาใจใส่ดูแลชุมชนที่เป็นคนพุทธให้มาก หรือผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นที่เป็นคนพุทธ ท่านก็ควรต้องดูแลชุมชนมุสลิมให้มาก มีแต่การดูแลกันอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ โดยเฉพาะระหว่างชุมชนต่างศาสนิก จะยิ่งทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทางสังคมที่จะคุ้มครองและทำให้ชุมชน และปัจเจกชน สามารถเอาตัวรอดได้ ด้วยภูมิปัญญาที่เป็นกลางของเราเอง |
ที่มา : ประชาไท |
{mospagebreak}
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (3) : ‘ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้
|
บทรายงานสาธารณะ ชุด ‘ชุมชนบนกองเพลิง’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้ |
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
ตอนที่ 3
“ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้” จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้วิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุไว้หลายประการ ในจำนวนนี้มีมิติที่พูดถึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางประวัติศาสตร์ มิติทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ทางศาสนา ทางวัฒนธรรม นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ทุกฝ่ายชี้ตรงกันว่า ประเด็นเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญ เป็นปัจจัยเงื่อนไขแห่งการต่อสู้ของฝ่ายก่อการ และเป็นเหตุที่มาของความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทุกวันนี้สภาพปัญหาการจัดการการศึกษาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอย่างไร ผมของสรุปไว้ 4 ลักษณะ ประการที่ 1 แกว่งไปมาจนหลงทาง การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นปัญหาเรื่องนโยบายการจัดการศึกษาที่มีลักษณะแกว่งไปแกว่งมา จนหลงทาง กล่าวคือ ในยุคเผด็จการ รัฐบาลส่วนกลาง มุ่งบังคับให้ชุมชนมุสลิมท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับเปลี่ยนความเชื่อ พฤติกรรม และวิถีชีวิต ตลอดจนการนับถือศาสนา โดยพยายามจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการกลืนกลาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการต่อต้าน การต่อสู้ของชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ในที่สุดนโยบายของรัฐที่กำหนดโดยส่วนกลางก็หันกลับมาเอาอกเอาใจชุมชนมุสลิมท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนขาดหลักการโดยไม่ยึดถืออาศัยความรู้ และขาดวิสัยทัศน์ที่เหมาะสม ผลของการกลับไปมาเช่นนี้ ทำให้การจัดการศึกษาชายแดนภาคใต้ตกอยู่ในสภาพที่หลงทาง เกิดความอ่อนแอทั้งระบบ การศึกษาทางด้านศาสนาที่ชุมชนอยากได้ก็ไม่เข้มแข็งเหมือนแต่ก่อน การศึกษาทางด้านวิชาสามัญก็สู้คนอื่นไม่ได้ ไม่สามารถจะไปสอบแข่งขันเรียนต่อกับนักเรียน นักศึกษานอกพื้นที่ได้ เมื่อจบการศึกษาก็สอบแข่งขันคัดเลือกเข้าทำงานก็สู้คนอื่นไม่ไหว เช่นนี้จึงกลายเป็นสภาพที่เหมือนเป็น “เป็ดง่อย” ประการที่ 2 ขาดสมดุลย์ การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดความสมดุล และหลุดลอยจากความเป็นจริง ในระดับการศึกษาพื้นฐาน อันได้แก่การศึกษาทางด้านศาสนา ความรู้ ภาษา และวัฒนธรรม พบว่าการจัดการศึกษามีลักษณะไม่ครบถ้วน ทั้ง 4 องค์ประกอบ ไม่มีจุดเน้นที่เหมาะสม ไม่มีทางเลือกและไม่มีอิสระให้กับผู้เรียนเท่าที่ควร ทำให้ลักษณะการศึกษาขาดความสมดุล ในระดับการศึกษาด้านอาชีพ อาชีวะ อยู่ในสภาพที่หลุดลอยจากความเป็นจริง หลักสูตรก็เป็นลักษณะที่เหมือนกับที่อื่นทั่วประเทศ ทำให้ผู้เรียน เมื่อเรียนจบแล้วอยู่ในสภาพที่ไม่มีงานทำในพื้นที่ หรือ แข่งขันไปทำงานนอกพื้นที่ก็ไม่ไหว ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะเล่าเรียน ขาดการวิจัยและพัฒนาทางด้านตลาดและอาชีพ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ดังนั้นเป้าหมายของการจัดการศึกษาอาชีพที่เป็นอยู่ จึงเป็นเป้าที่ลอยและหลุดจากฐานความเป็นจริงในพื้นที่ ส่วนการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา น่าสังเกตว่า จชต. มีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาถึง 7 แห่ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัด ทางภาคอีสาน และภาคอื่นๆ นับว่า มากกว่ามาก แต่ว่าสถาบันการศึกษาเหล่านั้นมีลักษณะที่เน้นการศึกษาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งที่จะจัดการศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่น ให้เกิดความเข้มแข็งและเกิดการพึ่งตนเอง จึงถือได้ว่าเป็นลักษณะการศึกษาที่ไม่พอเพียงอย่างยิ่ง ประการที่ 3 เป็นเหตุของการแยกตัวทางสังคม มีปมของการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและการจัดการศึกษา จชต. ที่ถือว่าเป็นปัญหายาวนานมาจากอดีต จนถึงปัจจุบัน คือการเปลี่ยนแปลงให้ปอเนาะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามตามนโยบายของรัฐบาล เพราะเมื่อผ่านระยะเวลาสี่สิบปีจากจุดนั้น พบว่ามีส่วนทำให้เกิดการแยกตัวทางสังคมอย่างรุนแรง ในอดีตการศึกษาแบบพหุศาสนิก และการศึกษาแบบสหศึกษา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลายและเหนียวแน่น เยาวชนทั้งพุทธและมุสลิมที่ศึกษาด้วยกันในโรงเรียนเดียวกัน มีสายสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่น แต่ปัจจุบันเมื่อเกิดการแยกตัวเป็นโรงเรียนสอนศาสนา โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ในขั้นมัธยม จะเกิดการแยกตัวออกจากกัน เยาวชนพุทธก็จะเรียนในโรงเรียนของรัฐ แต่เยาวชนมุสลิมส่วนใหญ่จะไปเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีเด็กมุสลิมล้วน ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้การแยกตัวของชุมชนพุทธ ชุมชนมุสลิมก็เกิดขึ้นย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประการที่ 4 รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง อำนาจการกำหนดนโยบาย การจัดการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในสภาพที่รวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ แต่เนื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ มาก ทั้งในเรื่องของศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและ ภาษา ดังนั้นกลไกในการจัดการศึกษาของท้องถิ่น ในรูปแบบที่ใช้อยู่ทั่วประเทศ เมื่อมาใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่สอดคล้อง การกระจายอำนาจทางการศึกษาและการปฏิรูปยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะคณะกรรมการสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีคณะกรรมการสถานศึกษาอยู่ ทั้งผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการจัดตั้งขึ้นแต่เพียงรูปแบบ ไม่มีบทบาทจริง ไม่มีการทำงานจริง ผู้นำของชาวบ้าน ตัวแทนผู้ปกครองที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ก็ไม่มีบทบาทในการช่วยกำหนดและดูแลการพัฒนาโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเช่นกัน ในโครงสร้างจัดให้มีคณะกรรมการของสำนักเขตพื้นที่การศึกษาขึ้น โดยมีผู้แทนภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิท้องถิ่นเข้าไปเป็นกรรมการ แต่ในสภาพที่เป็นจริง ก็เป็นเพียงรูปแบบ ไม่สามารถช่วยให้เกิดการบูรณาการได้เลย หรือแม้แต่ตัวองค์กรดังกล่าวในพื้นที่จะมีความคิดความอ่าน ริเริ่มอะไรก็ไม่สามารถกำหนดนโยบายของตนเองเช่นกัน ในสภาพเช่นนี้การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าหากต้องการที่จะแก้ไขปัญหาและดับไฟใต้อย่างยั่งยืนนั้น หนึ่งในเรื่องสำคัญก็คือเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรดำเนินการอย่างจิรงจัง การจัดการศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปทั้งระบบ ทั่วทั้งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง เกิดการบูรณาการ เรียนแล้วมีงานทำ มีความสมดุลในชีวิตและชุมชนต่างๆ ชุมชนท้องถิ่นต้องสามารถได้รับอานิสงค์จากการจัดการศึกษา มีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาพึ่งตนเองได้ ในเรื่องนี้ใครที่มาเป็นรัฐบาลก็ควรที่จะมาทำอย่างจริงจัง การปฏิรูปการศึกษาของประเทศ อาจจะดูเป็นเรื่องยาก แม้ว่าเราจะมี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติมา 8 ปีแล้ว มีความพยามที่จะปฏิรูปการศึกษาทั้งประเทศ กันมาหลายรัฐบาล หลายรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามถ้าแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ถือเอาการปฏิรูประบบการศึกษาเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียก่อน น่าจะเป็นความเร่งด่วนที่ควรทำและให้เป็นตัวอย่าง บทเรียนของการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามถ้าจะหวังผลให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งระบบดังกล่าว ควรที่จะต้องมีกลไกการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การศึกษา จชต.เป็นการเฉพาะ อย่าปล่อยให้งานเช่นนี้เป็นงานที่ฝากไว้กับกลไกปกติ ของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่เป็นอันขาด เพราะอำนาจยังรวมศูนย์อยูที่ส่วนกลาง ดังนั้น ควรมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นเป็นการเฉพาะ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาเป็นประธาน มีผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น ไม่ปล่อยให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่เขตการศึกษาแบกรับโดยลำพัง ก็ไม่มีความหาย เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และถ้าจะปฏิรูปการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งระบบ รัฐบาลต่อไปไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดควรมี แผนงาน โครงการ งบประมาณสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมแน่นอน อย่างน้อยก็ตลอดช่วง 4 ปี ของการเป็นรัฐบาลชุดหน้า ทั้งนี้ เพื่อให้มีหลักประกันว่า การปฏิรูปการศึกษา จชต. จะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนเกิดสัมฤทธิ์ผล |
ที่มา : ประชาไท |
{mospagebreak}
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (4) : ‘พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด’
|
บทรายงานสาธารณะ ชุด ‘ชุมชนบนกองเพลิง’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้ |
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
ตอนที่ 4
‘พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด’ ปัญหาวิกฤติการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระยะที่ผ่านมา รัฐ และกองกำลังติดอาวุธของภาครัฐ ใช้มาตรการความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ซึ่งผลการพิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้ มีความพยยามยามที่จะเสนอแนวทางสันติวิธีมาเป็นทางออกและทางเลือก โดยเฉพาะจากฝ่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน ซึ่งรัฐบาลเองก็ประกาศออกมาอย่างเสียไม่ได้ว่า จะใช้แนวทางสันติวิธีหรือการเมืองนำการทหาร แต่นั่นก็เป็นเพียงแต่คำพูด เพราะสันติวิธีก็ยังเป็นเพียงกระแสรอง เพราะกระแสหลักยังเป็นการใช้ความรุนแรงเหมือนเดิม แก้ปัญหาด้วยการเอาชนะกันทางเทคนิคยุทธวิธีล้วนๆ เป็นการยากที่จะเอาชนะกันได้เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งใช้เทคนิควิธีไปปราบปราม อีกฝ่ายหนึ่งก็ปรับปรุงทางด้านเทคนิคยุทธวิธีเข้าแก้ไขต่างฝ่ายต่างพลิกแพลงได้ไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนในเรื่องของคำขวัญ ‘เข้าใจเข้าถึง และพัฒนา’ อันเป็นแนวทางพระราชทานนั้น เมื่อดูจากภายนอก ก็พบว่าในการนำไปปฏิบัติจากหน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังทหาร ตำรวจ นั้นยังดูห่างไกลความเป็นจริงอยู่มากนัก อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ สถานการณ์ของความไม่มีเอกภาพในการแก้ไขปัญหา ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผมขอหยิบยกมา 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 เอกภาพในงานความมั่นคง งานความมั่นคงในการแก้ไขปัญหา3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าขาดเอกภาพอย่างยิ่ง ขาดเอกภาพระหว่างทิศทาง นโยบาย แนวทาง ยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการ ขาดเอกภาพระหว่างหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติที่อยู่ในพื้นที่ ขาดเอกภาพระหว่างองค์กร ระหว่างองค์กรทหารและองค์กรตำรวจ ฝ่ายปกครองและฝ่ายการเมือง นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับผิดชอบของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีสั่งเปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลความมั่นคง เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปลี่ยนผู้บัญชาการทหารบก เปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการตำรวจ ฯลฯ การเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบเหล่านี้ตามอารมณ์ของผู้นำ ทำให้เกิดความสับสน และขาดความต่อเนื่องอย่างยิ่ง ประเดนที่ 2 งานความมั่นคงกับงานพัฒนา มีความไม่สอดคล้องระหว่างงานความมั่นคงกับงานพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นปัญหาของความไม่มีเอกภาพเช่นกัน งานพัฒนาทั้งในเรื่องของนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ มักถูกกำหนดไปจากส่วนกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นงานพัฒนาต่างๆ ได้แยกส่วนไปตามกระทรวง ทบว งกรม ผู้ถืองบประมาณ ส่วนในขั้นตอนของการปฏิบัติก็ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานผู้ปฏิบัติ ขาดความเชื่อมโยงกิจกรรม โครงการโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าจะพยายามให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอเป็นตัวเชื่อมโยงบูรณาการ แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ นอกจากนั้นมีความไม่สอดคล้องในเรื่องของความต้องการกับปัญหาของชุมชนในท้องถิ่นกับงบประมาณที่จัดสรรลงไปอีก ประเด็นที่ 3 ผลกระทบความไม่มีเอกภาพ ผลกระทบจากความไม่มีเอกภาพในงานความมั่นคงและงานพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น ใน 3 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบได้แล้ว ยังทำให้ปัญหาความไม่สงบทความหนักหน่วงขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันผู้รับผลกระทบจากความรุนแรง ในแต่ละวันก็เพิ่มมากขึ้น มีผู้ประมาณว่าต่อผู้ได้รับผลกระทบ 1 คน จะมีสมาชิกในครอบครัวโดยเฉลี่ยอีก 5 คน ดังนั้น ถ้าหากมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2,000 คน เอา 5 คูณ ก็จะผู้ได้รับผลกระทบในครอบครัวของเขา ประมาณ 1 หมื่นคน คณะกรรกมารอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เป็นองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งเกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี จากความเรียกร้องต้องการของนักวิชาการและภาคประชาสังคม ที่มีความเป็นห่วงเป็นใย สถานการณ์ปัญหาชายแดนภาคใต้ กอส. ได้ทำมีการศึกษาค้นคว้า อย่างละเอียดรายงานของ กอส. ที่เสนอต่อรัฐบาลและสาธารณชนมุ่งแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในด้านความมั่นคง และมุ่งสร้างเสริมพลังของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา กอส. ได้เสนอให้มีการขับเคลื่อน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทั้งในพื้นที่และในสังคมใหญ่ว่า กอส. ได้เสนอตุ๊กตา พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ในจังหวัดชายแดนใต้ฉบับนี้ว่า ควรมีกลไกในการแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างน้อย 3 กลไก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของสังคมในการสร้างเอกภาพและการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลไก ได้แก่ 1. ศูนย์ยุทธศาสตร์สันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์และอำนวยการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์นั้น ซึ่งหวังว่าจะทำให้ปัญหาการดำเนินงานต่างๆ ของหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน ทหาร ตำรวจ พลเรือน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน 2. สภาที่ปรึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ให้เป็นองค์กรเช่นเดียวกับสภาที่ปรึกษาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ว่า สภาที่ปรึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกที่ชุมชน ประชาชน ประชาสังคมต่างๆ ในท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางต่างๆ การพัฒนาและพิจารณารับรอง แผนการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน 3. กองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์ ให้เป็นกองทุนที่เพิ่มหลักประกันในการสนับสนุนงานในด้านเยียวยาและฟื้นฟูชุมชน ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดการเข้าถึง เข้าใจ ได้ดียิ่งขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อข้อเสนอของ กอส. เช่นนี้ ประชาคมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้และเครือองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้และดำเนินการพัฒนาอยู่ในขณะนี้มีความเห็นร่วมกันแล้วว่า เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก ดังนั้นจึงตัดสินใจร่วมกันที่จะขับเคลื่อน ขยายผล สานต่อข้อเสนอของ กอส. เพื่อนำไปสู่รุปธรรมทางกฎหมาย โดยจะมีการขับเคลื่อนกระบวนการ พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทันทีโดยไม่รอ งานที่จะทำร่วมกันก็คือการยกร่างกฎหมาย โดยนำกรอบแนวความคิดที่ กอส. เสนอ มาสู่การพูดคุย แลกเปลี่ยนกันในวงกว้าง และ ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมายมหาชน ให้ทำการยกร่างเป็นเอกสารกฎหมายขึ้น จากนั้นจะมีการเชิญชวนและรวบรวมรายชื่อประชาชน อย่างน้อย 1 แสนรายชื่อ เพื่อร่วมกันเสนอกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อได้รายชื่อครบถ้วนแล้ว จะเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางด้านนิติบัญญัติต่อไป เมื่อกระบวนการเข้าสู่นิติบัญญัติ จะมีคณะทำงานที่ติดตามผลักดัน จนกระทั่งผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะมีการดำเนินการควบคู่กับไปกับการเตรียมการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวน พี่น้อง ประชาชน ข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้รักสันติ ผู้ที่มีความห่วงใยในปัญหาชายแดนภาคใต้ ตลอดจนประชาชนที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนทั่วประเทศ ได้เข้ามาร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มของการปฏิรูประบบปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปสู่ความสำเร็จและอย่างยั่งยืน |
ที่มา : ประชาไท |
{mospagebreak}
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (5) : ‘ปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย’
|
บทรายงานสาธารณะ ชุด‘ชุมชนบนกองเพลิง’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้ |
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
ตอนที่ 5
“ปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย” เมื่อพูดถึงปมเงื่อนทางเมืองและปมสถานการณ์ไฟใต้ มีผู้วิเคราะห์ไว้มากมาย จากทั้งฝ่ายนักวิชาการ จากนักคิด และฝ่ายข้าราชการผู้รับผิดชอบของรัฐ แต่ในที่นี้จะขอหยิบยกในด้านของฝ่ายก่อการและชุมชนท้องถิ่น เฉพาะส่วนที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันของไฟใต้ และอาจจะเป็นประโยชน์บ้างต่อแนวทางการคลี่คลายปัญหา ประกอบไปด้วย 5 ประการ ประการที่ 1 ปมเงื่อนทางความคิด ปมเงื่อนทางความคิดและความเชื่อมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างอุดมการณ์และปลุกระดมผู้คนให้ลุกขึ้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ฝ่ายก่อการและขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตั้งแต่อดีต ได้พยายามที่จะพัฒนาชุดความคิด ความเชื่อและอุดมการณ์ ที่จะใช้สำหรับปลุกระดมเยาวชนลุกขึ้นต่อสู้ ได้ลองผิดลองถูกมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันปมความคิดความเชื่อที่พบว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย พอสรุปเป็นแกนของเรื่องดังนี้ “แต่เดิม ปัตตานีในอดีตเป็นรัฐอิสลามที่เจริญรุ่งเรือง แต่ต่อมาได้ถูกสยามยึดครอง จึงเกิดสภาพที่ทรุดโทรม ชาวมลายูมุสลิม ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสยามกดขี่ข่มเหง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิม ตามบทบัญญัติของศาสนาที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้กอบกู้รัฐอิสลามปัตตานีขึ้นมา (วาญิบ) หากจะต้องตายในการต่อสู้ ก็จะถือว่าเป็นการตายเพื่อพระเจ้า ที่เรียกว่า “ชะหีด” เพราะการทำสงครามต่อสู้ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ตามบทบัญญัติของศาสนา เป็นการทำสงครามของศาสนาที่เรียกว่า “ญีฮาด” ปมความคิด เช่นนี้สามารถปลุกระดมเยาวชนและ ประชาชนมุสลิม ชายแดนภาคใต้ได้อย่างรวดเร็ว มีพลังและแผ่กว้าง จึงทำให้ฝ่ายก่อการมีแนวร่วมและมวลชนห้อมล้อมอย่างเข้มแข็ง ในการปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐและก่อเหตุร้ายทุกครั้ง จึงสามารถเก็บความลับไว้อย่างดี ทั้งก่อนและหลังปฏิบัติการ ซึ่งไม่เคยมีกระบวนการใดๆ สามารถทำได้ แม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ขึ้นชื่อลือชาในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม ปมความคิดความเชื่อในข้างต้น ไม่ใช่ความจริงเสียทั้งหมดบางเรื่องปรุงแต่งขึ้นมาโดยที่ยังไม่มีใครสามารถทำให้ชุมชน มวลชน ฉุกคิดขึ้นมาได้ ปมความเชื่อนี้จึงสามารถใช้ในการปลุกระดมให้ลุกขึ้นสู้ได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ เสริมสร้างทัศนคติที่เหมาะสม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างความเคารพท่ามกลางความแตกต่าง หลากหลาย ทั้งในมิติทางศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธ์ และพัฒนาการทางประวิติศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นงานที่ต้องใช้เวลา และลงมือทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ประการที่ 2 เอกภาพในฝ่ายก่อการ ? อันที่จริงแล้วฝ่ายก่อการก็มีปัญหาในด้านความเป็นเอกภาพอยู่เหมือนกัน จากหลักฐานหลายๆ อย่างพบว่า องค์กรนำของฝ่ายก่อการ อันประกอบไปด้วย ฝ่ายทหารที่กุมกองกำลังทั้งหมดในพื้นที่ และกำลังปฏิบัติการอย่างฮึกเหิม นอกจากนั้นยังมีฝ่ายการเมือง ฝ่ายต่างประเทศ และฝ่ายผู้นำทางจิตวิญญาณ ปัจจุบันฝ่ายทหารผู้กุมกำลัง มีความพึงพอใจในผลงานที่ได้ผลครั้งแล้วครั้งเล่าโดยเป็นไปตามหลักคิดใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งฝ่ายตนเป็นผู้ริเริ่มและมักจะไม่ฟังเสียงใคร ทำให้ฝ่ายอื่นๆ พากันวิตก และเอือมระอา ในระดับหนึ่ง เพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันต่อทิศทางและแนวทางการต่อสู้ ดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตักเตือนและควบคุมอะไรได้ ดังนั้นทั้งสองส่วนจึงอยู่ในสภาพที่ต่างแนวทางกันในระดับหนึ่ง ประการที่ 3 ปฏิบัติการทางทหารที่ขาดทิศทางทางการเมือง หน่วยปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายก่อการ หน่วยย่อยๆ อยู่ในสภาพที่ถูกตัดขาดจากฝ่ายการเมือง ทำให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างไม่มีทิศทาง และเสียผลทางการเมือง ในขณะที่การจัดตั้งทางความคิดในหมู่เยาวชน เป็นบทบาทของฝ่ายการเมืองและฝ่ายผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่เมื่อฝ่ายการทหารเป็นผู้รับช่วง คัดเลือกเยาวชนเหล่านั้นไปฝึกและจัดตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติการ หน่วยจัดตั้งทั้งหมดก็ถูกตัดขาดจากฝ่ายการเมือง ไม่มีใครรู้ว่ามีใครบ้างที่ได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติการทางทหารแล้ว สมาชิกระหว่างหน่วยก็ไม่รู้จักกัน แม้ว่าจะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน เพราะถือเป็นความลับและต้องรักษาวินัย สภาพเช่นนี้ทำให้ทุกส่วนต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และคิดอ่านอย่างไร ดังนั้นสภาพเช่นนี้ อำนาจทั้งหมดจึงเบ็ดเสร็จอยู่ที่ฝ่ายทหาร ผู้กุมกำลัง และกุมการจัดตั้ง ในสภาพเช่นนี้จึงเห็นได้ชัดว่า แม้ฝ่ายก่อการด้วยกันเอง ใช่ว่าจะสามารถควบคุมทิศทางกันได้ ดังนั้นการที่ฝ่ายรัฐพยายามไปจัดตั้งมวลชนให้กลับมาเป็นฝ่ายตนจึงไม่ง่าย เหมือนกับสมัยที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่น่าสังเกตด้วยความเข้าใจที่จำกัดของฝ่ายราชการ ทำให้มักคาดหวังผลสูงและชอบนำมาใช้ในการโฆษณาหรือแก้ตัวทางการเมือง ต่อสาธารณะอยู่เป็นประจำ ประการที่ 4 ชุมชนมุสลิมได้รู้สึกร่วม ด้วยเหตุที่การปลุกระดมสร้างกระแสในชุมชนมุสลิม ด้วยปมความคิด ปมความเชื่อข้างต้น ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกร่วมกับการต่อต้านอำนาจรัฐ แม้ว่าจะรู้สึกหวาดวิตกกับความรุนแรงรายวัน และไม่สนับสนุนกับสงครามโดยตรง แต่ก็ไม่คัดค้าน เพราะถือว่าฝ่ายก่อการกำลังทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า การที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านลงไป ในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องทั้งช่วยเหลือเยียวยา เอาอกเอาใจ สนับสนุนการพัฒนา ทำให้เกิดการจ้างงาน แต่ก็มิอาจครองหัวใจของชุมชนเท่าใดนัก และแม้รัฐบาลทุ่มกำลังทหารตำรวจลงไปนับหมื่นนาย พลัดเปลี่ยนกันตลอดปี ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้สักที ในขณะที่มวลชนจัดตั้งของฝ่ายก่อการ ขยายตัวออกไปตลอดเวลาท่ามกลางกระแสความฮึกเหิม ประการที่ 5 ประชาคมมุสลิมนอกพื้นที่ที่มีความผูกพัน ประชากรมุสลิมในประเทศไทย มีจำนวนหลายล้านคน กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีองค์กร คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 33 พื้นที่และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นกลไกในการดูแลบริหารกิจการทางด้านศาสนา โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประมุข ชุมชนมุสลิมในประเทศไทยมีจุดกำเนิดและมีประวัติการตั้งถิ่นในประเทศที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลาและเหตุการณ์ในประวิติศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกผูกพันกันด้วยหลักศรัทธาที่ว่า มุสลิมทั่วโลกคือพี่น้องกัน ดังนั้นในเรื่องปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่ปมความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับโลกมุสลิมนั้น พวกเขามักมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันอย่างมากทีเดียว ปมเงื่อนทางการเมืองและปมสถานการณ์ในฝ่ายก่อการทั้ง 5 ประการนี้ เป็นปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย ซึ่งวิธีการคลี่คลายต้องใช้แนวทางสันติวิธี ใช้สติปัญญาใช้การพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่ถือว่าประชาชนที่ก่อการที่ลุกขึ้นต่อสู้นั้น เป็นคนอื่น แต่เป็นพวกเราด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีเขา ไม่มีเรา ทุกคนเป็นคนไทย ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ |
ที่มา : ประชาไท |
Be the first to comment on "งานพัฒนาชุมชนในสถานการณ์สงคราม"