‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (จบ) :นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณกว่าสี่หมื่นห้าพันล้านบาทลงไป เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาและการบริหารราชการแผ่นดินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (6) : ‘ปมสถานการณ์ที่ต้องช่วยกันแก้’
|
บทรายงานสาธารณะ ชุด‘ชุมชนบนกองเพลิง’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้ |
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
ตอนที่ 6
‘ปมสถานการณ์ที่ต้องช่วยกันแก้’ ในสถานการณ์การต่อสู้ของประชาชน และชุมชนมุสลิมท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มุ่งการยึดอำนาจรัฐ เป็นเป้าหมายนั้น ทำให้ทั้งจังหวัดชุมชนและอำนาจรัฐ กลายเป็นสองฝ่ายที่เป็นคู่กรณีซึ่งกำลังเผชิญหน้ากัน ดังนั้นการที่ฝ่ายอำนาจรัฐพยายามแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อย่างถึงที่สุด แต่ด้วยความที่เป็นคู่กรณีกันอยู่จึงมีช่องว่าง และข้อจำกัดด้านอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามมากมาย แต่อย่างไรก็ตามในด้านของอำนาจรัฐเอง ยังมีปมเงื่อนทางการเมือง และปมเงื่อนสถานการณ์ที่สำคัญที่ขอหยิบยกมา 5 ประการ เพื่อให้มองเห็นภาพและหวังในความร่วมมือกันทั้งประเทศที่จะช่วยกันแก้ไข ประการที่ 1 ผู้นำรัฐบาลมีความเข้าใจต่ำมาก โดยทั่วไปแล้วอาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายกรัฐมนตรี มีความเข้าใจ ปมความคิด ความเชื่อ ของประชาชนและชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งมีตนเองเป็นรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำมาก รัฐบาลไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาทางการเมือง ไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เช่นนี้ต้องใช้มาตรการทางการเมือง การปกครองเข้าไปแก้ไข รัฐบาลเข้าใจว่าปัญหาจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงแค่อาชญากรรมปกติในท้องถิ่น ซึ่งลำพังมาตรการการปราบปราม การบังคับกฎหมายเข้าไปแก้ไข ก็สามารถแก้ไขได้ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอาจจะเรียกได้ว่า เป็นแนวทาง “นิติศาสตร์นำการเมือง” โดยที่พยายามบอกกับสาธารณะว่าสิ่งนี้คือ “การเมืองนำการทหาร” ที่นักวิชาการ กำลังเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล มีหลายฝ่ายช่วยกันทำอยู่แล้ว ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม การคาดหวังที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงมีไม่มากนัก ประการที่ 2 อำนาจรัฐซ้อน ด้วยความห่วงใยของสังคมไทยทั้งมวลต่อปัญหาวิกฤติไฟใต้รวมทั้งความห่วงใยของสังคมชั้นสูงในประเทศ ที่ต่างก็มีความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง บทบาทของผู้มีบารมีนอกอำนาจรัฐจึงก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพื้นที่ ซึ่งแนวทางของส่วนนี้ มีทั้งที่เหมือนและแตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินงานอยู่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ต่างฝ่ายต่างระมัดระวังที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะหนุนเสริมกันตลอดเวลา แต่ในด้านหลักคิด และแนวทางในการแก้ไขปัญหา พบว่าทั้ง 2 ส่วนมีความแตกต่างกันอยู่มาก ประกอบกับในขณะนี้อยู่ในช่วงวิกฤติทางการเมืองระดับชาติที่กำลังรอการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นปมการเมืองในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน ประการที่ 3 แนวทางและยุทธศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากที่ผ่านการลองผิดลองถูกในการควบคุมสถานการณ์ไฟใต้มาได้ระยะหนึ่ง หน่วยปฏิบัติการทหาร ตำรวจ มีความเข้าใจต่อสถานการณ์และกุมสภาต่อฝ่ายตรงข้ามได้มากขึ้น การปฏิบัติการทางยุทธวิธีและการข่าว ได้ผลมากขึ้น แต่ฝ่ายก่อการก็ปรับตัวสู้อยู่ตลอดเวลา ด้วยเทคนิค ยุทธวิธีที่พลิกแพลงมากกว่าเดิม และมักจะประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ นอกจากนั้นภายใต้พระราชกำหนดบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่รัฐบาลได้ออกมา เพื่อให้ทหาร ตำรวจ ใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้สะดวกขึ้น ขณะนี้ พบว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ก่อผลกระทบข้างเคียงเป็นอย่างมาก กล่าวคือเจ้าหน้าที่มักใช้ พ.ร.ก. ด้วยความมักง่าย และสร้างความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน ซึ่งเกิดเป็นเงื่อนไขและเกิดแนวร่วมมุมกลับมากมาย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับสิ่งที่ฝ่ายอำนาจรัฐปรับเปลี่ยน ล้วนเป็นเพียงแค่เทคนิคยุทธวิธีในการต่อสู้เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าและรัฐไม่ยอมเปลี่ยนคือแนวทางและยุทธศาสตร์ ที่มีความสำคัญมากว่า ดังนั้นแม้ว่าอำนาจรัฐจะกุมสถานการณ์ได้มากขึ้นตามที่แถลง แต่การทำงานทางการเมืองยังไม่เริ่มอย่างจริงจังและถูกต้อง ก็ยากที่จะสามารถพลิกสถานการณ์ ได้ เพราะยังไม่สามารถแก้ปมความคิด ความเชื่อ ของชุมชนท้องถิ่นได้ ยังไม่สามารถที่จะครองใจชาวบ้านได้จริง แม้ว่าจะมีงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า มีงานพัฒนาการศึกษา การพัฒนาอาชีพ ประการที่ 4 ยึดพื้นที่ได้ แต่ยึดคนไม่ได้ การจัดตั้งมวลชนของภาครัฐได้ทำไปอย่างมากมาย แต่ประเมินว่าได้ผลน้อย สงครามกลางเมืองในจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจากสงครามคอมมิวนิสต์ในอดีตที่ประเทศไทยเคยเอาชนะมาแล้ว ด้วยแนวทางสันติวิธี ยุทธศาสตร์การเมืองนำทหาร และนโยบาย 66/2523 ที่ลือลั่น สงครามคอมมิวนิสต์เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย เมื่อรัฐขับเคลื่อนแนวทางการปฏิวัติประชาธิปไตยเข้าแก้ปัญหา สถานการณ์จึงคลี่คลายลงได้และเกิดความสมานฉันท์ของคนในชาติขึ้นอีกครั้ง จากที่เคยลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ ก็กลับมาพัฒนาชาติไทยอย่างมีความหวัง มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ใช้แนวทางการเมืองนำการทหารมาแก้ไขปัญหา จชต. ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องตระหนักว่าวิกฤตไฟใต้ในครั้งนี้มีบริบทที่แตกต่างจากสงครามคอมมิวนิสต์ในอดีตเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านชาติพันธุ์ ทางด้านศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งต้องการการศึกษา ค้นคว้า และออกแบบใหม่อย่างจริงจัง มิใช่ลอกเลียนนโยบาย 66/2523 มาใช้ทั้งดุ้น น่าสังเกตว่าการที่อำนาจรัฐพยายามใช้แนวทางการเมืองนำทางการทหารซึ่งเคยใช้ได้ผลในสงครามคอมมิวนิสต์มาจัดตั้งมวลชน ทั้งชุมชนพุทธและชุมชนมุสลิมในจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงพบช่องว่างขนาดใหญ่ทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และปมความคิดความเชื่อของชุมชนที่ยังไม่เคยได้รับการคลี่คลาย จึงมีหลักประกันน้อยมากว่าจะสามารถครองหัวใจของชาวบ้านมาด้วย จึงเข้าทำนองที่ว่า “ยึดพื้นที่ได้ แต่ยึดคนไม่ได้” “ยึดคนได้ แต่ยึดความคิดไม่ได้” ประการที่ 5 สังคมใหญ่ใจแคบ ประเทศไทยและสังคมไทยทั้งหมดคือองคาพยพเดียวกัน เมื่อชายแดนใต้เจ็บป่วย ทั้งประเทศก็เจ็บปวดไปด้วย แต่กระแสความเข้าใจและความต้องการของสังคมใหญ่เป็นตัวกำหนดรัฐบาล ดังนั้นหากสังคมใหญ่ ขาดความรู้ความเข้าใจต่อปัญหา และปัจจัยรากเหง้าของไฟใต้ แล้วเอาอารมณ์ความรู้สึกมากดดัน คาดหวังกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา นอกจากจะแก้ไขปัญหาไม่ได้แล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นไปด้วย ปัจจุบันสังคมใหญ่มีความเข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยมาก และมีอคติอย่างสูง เพราะถูกกระแสชาตินิยมสายเดี่ยวเข้าครอบงำเป็นเวลายาวนาน ใครที่มีความคิดเห็นดีๆ จะเสนอก็ไม่กล้า มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของฝ่ายก่อการถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นคนที่ไปเสียสละเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในสนามรบ ต้องกลับมาถูกประชาทัณฑ์ที่บ้านของตัวเอง เพียงเพราะแสดงความเห็นด้วยความหวังดีและตรงไปตรงมา สภาพเช่นนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก หากไม่มียุทธศาสตร์ก็อย่าหวังว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ใครก็ตามที่มีความห่วงใย ต้องช่วยกันแก้ไข อย่างโยนให้เป็นภาระของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และที่สำคัญแนวทางการคลี่คลายปม ก็ต้องยึดมั่นในแนวทางของสันติวิธี ใช้แนวทางทางปัญญา และมีการพูดคุยหาทางออกกันอย่างจริงจัง |
ที่มา : ประชาไท |
{mospagebreak}
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (7) : ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ; ดับหรือโหมไฟใต้’
|
บทรายงานสาธารณะ ชุด‘ชุมชนบนกองเพลิง’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้ |
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
ตอนที่ 7
‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ; ดับหรือโหมไฟใต้’ มีเรื่องหนึ่งที่พวกเราเฝ้าติดตามมาโดยตลอดและพบว่ามีพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนมุสลิม ประสบปัญหาอย่างมากคือ ผลกระทบจากพระราชกำหนดบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับพิเศษที่มาแทนที่กฎอัยการศึก เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2548 ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังจากที่มีพระราชกำหนดบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน ก็คือ การมีชื่อในบัญชีดำ และตกเป็นกลุ่มเสี่ยงตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ว่านี้ ปัจจุบันมีผู้นำชุมชนและเยาวชน มากกว่า 1 พันคนที่ตกอยู่ในบัญชีและมีความเดือดร้อนมาก บางคนต้องถูกส่งตัวไปเข้าค่ายฝึกอบรมของทางทหาร ตำรวจ ซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง 5-6 ครั้งแล้วก็ยังมี แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะอบรมเท่าไร รายชื่อก็ยังปรากฏอยู่ในบัญชีอยู่เช่นนั้น จะลบชื่อออกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร สำหรับในเรื่องทีชาวบ้านมีความเดือนร้อนนี้พบว่า สวนทางกับสิ่งราชการได้กล่าว เพราะทุกครั้งที่จะต่ออายุ พ.ร.ก. รัฐบาลจะอ้างถึงผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนด เพราะทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นเอกภาพ และกฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลทำให้ติดตาม จับกุม แกนนำผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จากการประเมินเบื้องต้น ผลกระทบจากพระราชกำหนดฉบับนี้ เมื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่มักจะทำโดยขาดพยาน หลักฐาน เท่าที่ควร ทำให้มีการจับกุม หรือควบคุมตัวผิดคน และในที่สุดก็ต้องปล่อยตัวออกมา การไม่จำแนกแยกแยะระหว่างผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหา กับบุคคลในครอบครัวของเขา ก็เกิดปัญหามาก การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานไปควบคุมตัวเบื้องต้น ก่อนที่จะนำตัวไปเข้าสู่กระบวนการคดีอาญานั้น พ.ร.ก. ให้โอกาสเจ้าหน้าที่ทำได้ถึง 30 วัน ซึ่งการจับกุมคนหรือควบคุมคนโดยขาดพยานหลักฐาน. ทำให้ประชาชนสูญเสียเวลาทำมาหากิน และไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอะไรจากใครได้เลย นอกจากนั้น พ.ร.ก. ยังเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้มาตรการกดดันผู้ต้องสงสัย แม้ว่าจะขาดข้อมูลที่เหมาะสมเพียงพอ การตรวจค้นสถานที่ บุคคล รวมทั้งการตั้งด่านตรวจ ส่วนใหญ่มักจะถูกมองว่า เจ้าหน้าที่เพ่งเล็งไปที่พี่น้องมุสลิมเป็นสำคัญ อย่างนี้เป็นต้น ผลกระทบดังกล่าวเป็นที่น่าคิดกันว่า ได้คุ้มเสียหรือไม่ กับการมีพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ อีกประการหนึ่งของปัญหาความเดือดร้อน เมื่อตัวเองต้องตกอยู่ในบัญชีใดบัญชีหนึ่งของทางราชการหน่วยงานราชการด้านความมั่นคงก็มักจะสนใจว่าคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในการเคลื่อนไหวเรื่องอื่นๆ เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีใดหรือไม่ ซึ่งจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัย และหวาดระแวง มีกลุ่มคนกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีค่าหัว ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้ประกาศบัญชีดำออกมา โดยให้สินบนนำจับ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แม้ปัจจุบันยังไม่การประกาศเพิ่ม แต่ว่ารายชื่อที่ประกาศแล้ว หลายคนถูกฆ่า หลายคนถูกจับ แต่อีกจำนวนมากก็ยังหายตัวไป กลุ่มคนเหล่านี้ชื่อของเขาจะติดอยู่ในบัญชีดำตลอดไป ยากที่จะล้างออกได้ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชีเป็น ‘กลุ่มเสี่ยง’ ของฝ่ายปกครอง ซึ่งคำจำกัดความของ ‘กลุ่มเสี่ยง’ ที่ว่านี้ มีความที่กว้างและหลวมมาก จึงเป็นปัญหามาก เพราะขึ้นอยู่กับอำนาจและอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ เมื่ออยู่ในบัญชีกลุ่มเสี่ยงแล้ว ทางการก็จะตามตัวมาพบและให้เซ็นยินยอมก่อนที่จะส่งตัวไปเข้าค่ายอบรมภายในจังหวัดหรือต่างจังหวัด คราวละประมาณ 7-10 วัน เมื่อไปถึงค่ายก็จะมีการฝึกอบรม และสอนให้เปลี่ยนความคิด เมื่ออบรมเสร็จแล้วก็จะส่งกลับบ้าน กิจกรรมจบไป แต่รายชื่อก็ยังคงอยู่ หมายความว่าคนเหล่านี้ก็จะยังมีชื่ออยู่ในบัญชีกลุ่มเสี่ยงต่อไป ไม่รู้ว่าจะถูกล้างออกจากบัญชีวันไหน และคนเหล่านี้จะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีอีกกลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชี พ.ร.ก. โดยตรง ถ้าเป็นการดำเนินงานของฝ่ายทหารและนาวิกโยธิน มักจะเริ่มจากการที่ฝ่ายทหารหรือนาวิกโยธินได้ข้อมูลจากฝ่ายข่าวของตนว่าใครเป็นผู้ที่มีข้อน่าสงสัยก็จะทำการขึ้นบัญชีไว้ จากนั้นก็จะเรียกตัวมาเพื่อเค้นข้อมูล สั่งสอนอบรมและล้างสมอง ตามวิธีการของทหาร ประเภทนี้เกิดจากทหารขี้เกียจออกไปหาชาวบ้าน จึงใช้วิธีการเรียกคนที่อยู่ในบัญชีกลุ่มเสี่ยง มาสอบและอบรม และปล่อยตัวไป แต่ชื่อในบัญชีก็ยังคงอยู่ ถ้าเป็นทางสายตำรวจ จะใช้ข้อมูลจากพยานที่ให้การซัดทอด เมื่อมีชื่ออยู่ในบัญชี พ.ร.ก. ตำรวจก็จะออกหมายเรียกผู้นั้นมาสอบปากคำ และสอนสั่งตามแบบของตำรวจ เพื่อไม่ให้เป็นผู้ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ให้เป็นแนวร่วม จากนั้นก็มีการเรียกตัวมาซ้ำอีก ได้เมื่อต้องการถ้าหากเรียกมาสอบสวนแล้วไม่มาตามหมายเรียก ตำรวจก็จะออกหมายจับ ป.วิ อาญา เมื่อถูกจับก็ต้องนอนในคุกเพราะเป็นผู้ต้องหา ถ้าไม่อยากนอนในคุกก็ต้องประกันตัวออกไป แล้วก็รอการขึ้นศาล ขั้นตอนของการรอขึ้นศาลนั้น ศาลท่านก็มีเวลาน้อย จึงพบบ่อยๆ ว่าบางคนกว่าจะได้เรียกขึ้นศาลต้องรอคิวถึง 3 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นจะเดินทางไปไหนก็ยากลำบากมาก ต้องต่ออายุประกันตัว อย่างไรก็ตามคนเหล่านี้ ก็จะมีชื่อไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก. เช่นกัน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก ต่อประเด็นนี้ ผมมีข้อเสนอต่อการแก้ไขว่า ฝ่ายข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ผู้ที่รับผิดชอบ ควรมีข้อพึงระวังในระหว่างที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก. ต่อไป หน่วยงานที่รับผิดชอบควรจัดทำมาตรฐานในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนของการจำแนก ก่อนเริ่มนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการใช้ พ.ร.ก. ควรจะมีมาตรฐานในการปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้เกิดดุลพินิจที่เหมาะสมและก่อผลกระทบให้น้อยที่สุด และการเผยแพร่มาตรฐานการปฏิบัติงานนี้ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับทราบแนวทางปฏิบัติในการใช้กฎหมายนี้ตามสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งควรจะมีการแพร่ข้อมูลโดยการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้สิทธิอันพึงมี พึงได้ ในการที่จะไม่ถูกละเมิด โดยให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว และควรสื่อที่เป็นสองภาษาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างชัดแจ้ง นอกจากนั้น ควรส่งเสริมให้มีกระบวนการตรวจสอบโดยภาคประชาชน โดยมีองค์กรที่เป็นกลางของทั้งฝ่ายชุมชนและฝ่ายข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่ร่วมด้วย พ.ร.ก. เป็นเครื่องมือในการทำงานของฝ่ายรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ถ้าใช้เครื่องมือได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสมก็สามารถยุติไฟใต้ได้ แต่ถ้าใช้อย่างมักง่ายไม่ระมัดระวัง พ.ร.ก. ฉบับนี้แทนที่จะช่วยยุติไฟใต้ก็กลับจะเป็นการราดน้ำมันโหมกระพือไฟใต้ให้ลุกโชน |
ที่มา : ประชาไท |
{mospagebreak}
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (8) : ‘ล้างบัญชี พ.ร.ก. เปิดทางด้วยสันติวิธี’ |
บทรายงานสาธารณะ ชุด ‘ชุมชนบนกองเพลิง’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้ |
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
ตอนที่ 8 ‘ล้างบัญชี พ.ร.ก. เปิดทางด้วยสันติวิธี’ ในช่วงนี้ เวลาไป พบปะกับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องที่ผมได้ฟังถึงความเดือดร้อนของพวกเขาบ่อยที่สุดคือ พ.ร.ก. คนนั้นก็โดน พ.ร.ก. คนนี้ก็มีชื่อ และคนนั้นผ่านการเรียกตัวไปอบรมแล้ว 4-5 ครั้ง เวลาที่เราจัดประชุมพูดคุย ปรึกษาหารือเพื่อทำงานพัฒนาชุมชนกัน อยากจะให้มีบางเข้ามาร่วม ก็ติดปัญหาเรื่อง พ.ร.ก. ถ้าอยากได้ตัวมาจริงๆ ก็ต้องประสานงานกับหน่วยทหาร ฉก. เพื่อที่จะขออนุญาตพาตัวมาร่วมกิจกรรม เสร็จแล้วก็ต้องพาตัวไปส่งคืน เป็นเช่นนี้อยู่ประจำ พ.ร.ก. จึงเป็นคำที่ฮิตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้มีผู้ที่เดือดร้อนจาก พ.ร.ก. ไม่ต่ำกว่าพันคน ในระยะเวลา 1 ปี ที่รัฐบาลใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ทางภาครัฐได้ประกาศออกมาว่า ผลสำเร็จจากการที่ได้ใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ คือ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น การติดตามจับตัวผู้ต้องสงสัยก็ทำได้ง่ายขึ้น แต่ผลเสียจากการใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็มีมากเช่นกัน พ.ร.ก. ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ ไม่สามารถทำให้เหตุการณ์ยุติลงได้ สถานการณ์ไม่คลี่คลายลงเลย ตรงกันข้ามเมื่อใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ เหตุการณ์กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนใช้ พ.ร.ก. แอบไปแสวงหาประโยชน์และปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุก็มี และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ที่ใช้ พ.ร.ก. มักจะเข้าไม่ถึงประชาชน และมักใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน เป็นการเพิ่มความระแวง สร้างความเกลียดชังของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ทั้งเป็นการเอื้อให้ฝ่ายผู้ก่อการได้ประโยชน์ในทางอ้อม เรียกว่าเป็นการสร้างแนวร่วมมุมกลับให้กับฝ่ายก่อการไปโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นฝ่ายก่อการยังใช้ผลกระทบจาก พ.ร.ก. นี้ ทำลายความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน การใช้ พ.ร.ก. จึงมีข้อวิจารณ์หลายประการเช่นว่า แทนที่จะเป็นผลดี กลับเป็นอุปสรรคต่อการประกอบศาสนกิจ วิถีชีวิตทางศาสนาของชาวมุสลิมท้องถิ่น พ.ร.ก. เป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตท้องถิ่น และไปส่งเสริมการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม คุมขังชาวบ้านได้อย่างง่ายๆ โดยหลีกเลี่ยงกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนอย่างมิชอบโดยอ้างกฎหมายพิเศษ เป็นเครื่องมือ เพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายพิจารณาความอาญา ทั้งที่สามารถทำได้ และไม่ควรจะอ้างเจ้าหน้าที่เขียนคำร้องต่อศาล เพื่อขอออกหมายจับ โดยบรรยายคำร้องเกินความจริง เพื่อให้เป็นเรื่องความผิดต่อความมั่นคง ทั้งๆ ที่หลายเรื่องก็เป็นเพียงอาชญากรรมธรรมดา ดังนั้น หากมีการปรับปรุงแก้ไข ทบทวน มาตรการในการใช้ พ.ร.ก.และเข้มงวดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ให้สามารถใช้ พ.ร.ก.เป็นเครื่องมือในการควบคุมและแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เป็นเครื่องมือสร้างความสมานฉันท์ ไม่ให้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง หากทำได้ก็จะเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งต่อประชาชน และเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหลักการแล้วควรมีการทบทวน ปรับปรุง เพื่อยกระดับมาตรการการใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวให้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง และสร้างความสันติสมานฉันท์ โดยน่าจะมีหลักการใหญ่ ๆ ดังนี้ 1. พ.ร.ก. ที่ใช้นี้ควรใช้ภายใต้แนวทางการเมืองนำการทหาร หรือสันติวิธี มิใช่การใช้ พ.ร.ก. ภายใต้ แนวทางนิติศาสตร์นำการเมือง อย่างที่เป็นอยู่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สถานการณ์ของอาชญากรรมท้องถิ่นตามปกติ แต่เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งต้องแก้โดยใช้มาตรการทางการเมือง 2. การใช้ พ.ร.ก. ต้องไม่เป็นไปเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง แต่ต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมือง 3. พ.ร.ก. ต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชน ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง โดยไม่เลือกปฏิบัติ 4. พ.ร.ก. ต้องเป็นไปบนพื้นฐานของการยอมรับและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย 5. พ.ร.ก. ต้องสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเป็นรูปธรรมและครบถ้วน ต้องเป็นผลงานที่สามารถแสดงได้อย่างเป็นรูปธรรมในด้านการให้ความยุติธรรมกับประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น สำหรับในเรื่องรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา ผลกระทบจาก พ.ร.ก. นั้น ผมมีความเห็นว่า ประการที่ 1 ควรสนับสนุนองค์กร NGO ให้ NGO ในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก. โดยเป็นส่วนที่จะช่วยเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นจุดที่จะสะท้อนข้อมูลกลับและเป็นส่วนประสานงานเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข หรือให้ความร่วมมือ ซึ่งกันและกัน ในขณะนี้ประมาณว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจาก พ.ร.ก. และมีชื่ออยู่ในบัญชีกลุ่มเสี่ยง มีไม่ต่ำกว่า 1 พันคน ใน 1 พันคน ถ้ามาจาก 1 พันครอบครัว สมาชิกครอบครัวๆ ละ 5 คน ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้เดือดร้อน 5 พันคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย ดังนั้นถ้ามีการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางด้านจิตใจและวิถีชีวิต และจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการหันมาต้อสู้ทางการเมืองโดยแนวทางสันติวิธี แทนที่จะบีบบังคับให้ไปสู้ด้วยการใช้ความรุนแรง ประการที่ 2 การล้างบัญชี พ.ร.ก. อย่างที่กล่าวข้างต้น บัญชี พ.ร.ก. เป็นบัญชีที่มีลัษณะที่ฉาบฉวย คำจำกัดความของกลุ่มเสี่ยงก็หละหลวม ทำให้เกิดผู้รับผลกระทบแบบเหวี่ยงแหเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวร่วมมุมกลับ ทำให้เกิดการบีบคั้นประชาชน ไม่มีทางออกจึงต่อสู้ด้วยความรุนแรง ดังนั้นจึงควรมีการล้างบัญชี พ.ร.ก. กันอย่างจริงจัง อย่างมีกระบวนการ มีขั้นตอนที่มาตรฐานและเป็นเอกภาพ ทั้งทหาร พลเรือน ฝ่ายปกครอง อาจจะกำหนดหลักสูตรในการเข้าอบรม ให้ผู้มีรายชื่อในบัญชี พ.ร.ก. เข้าหลักสูตรอบรมเฉพาะ ทางด้านการเมืองและด้านคุณธรรม จริยธรรม 3-4 สัปดาห์ จัดบรรยากาศที่เหมาะสม มีวิทยากรที่มาจาก สหสาขา วิทยการ วิชาชีพ ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายการพัฒนา ทั้งทางเศรษบกิจ สังคม การเมือง คุณธรรม จริยธรรม เมื่อจบหลักสูตรก็มอบประกาศนียบัตร และล้างชื่อออกจากบัญชี พ.ร.ก. อย่างเป็นระบบ ถ้าทำเช่นนี้ได้จะทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับการบำบัดเยียวยาทางด้านจิตใจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงตามแนวทางพระราชทาน ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ กล่าวคือเป็นการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่กำลังต่อสู้ กลุ่มที่ไม่ยอมจำนน และเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การสู้ทางสันติวิธีต่อไป ประการที่ 3 การผลักดัน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ควรมีการผลักดัน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามข้อเสนอของ กอส. โดยเร็ว โดยที่หวังว่าเมื่อมี พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ พ.ร.ก. อีกต่อไป เพราะมีกลไกใหม่ขึ้นมารับภาระ ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบ และมีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งนี้ พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ควรขับเคลื่อนสังคมอย่างเป็นกระบวนการและอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะยิ่งต้องเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกอำเภอ ตำบล และรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ติดตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ จนกระทั่งได้กฎหมายประกาศออกมาใช้ และมีกลไกเป็นเครื่องมือของสังคมในการคลี่คลายปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว |
ที่มา : ประชาไท |
{mospagebreak}
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (9) : ‘ความปลอดภัยของครูและชุมชน’
บทรายงานสาธารณะ ชุด ‘ชุมชนบนกองเพลิง’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้ โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ตอนที่ 9 ‘ความปลอดภัยของครูและชุมชน’ หลายๆ ครั้งที่ผมได้ได้ฟังมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ในการดูแลครูและพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปัญหาเฉพาะ ทั้งทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา และสถานการณ์ความรุนแรง พบว่า มีความรู้สึกเหนื่อยใจแทน ปัญหาความเดือดร้อนของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเรื่องของความไม่มีขวัญกำลังใจ ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ไม่ต้องการที่จะไปสอน ไม่ต้องการเสี่ยงชีวิต โดยครูจำนวนกว่า 3,000 คน ที่ร้องขอย้ายออกจากพื้นที่ แต่ว่าได้ย้ายไม่กี่สิบอัตรา ส่วนที่เหลือก็ยังคงต้องก้มหน้า ก้มตาทำงานไป ยกเว้นแต่ว่า ทนไม่ไหวจึงลาออก ในเมื่อเรื่องบุคลากรในการศึกษา เป็นปัญหาอย่างมาก ในเรื่องขวัญและกำลังใจอันเนื่องมาจากสถานการณ์ แต่ว่ากระทรวงศึกษาธิการ กลับไปให้ความสนใจในการสอนภาษามลายู การสอนภาษาจีน การสอนศาสนา และการสอนอื่นๆ ที่เป็นงานระยะยาว ตราบใดที่เรายังไม่สามารถดูแลครูให้มีความปลอดภัยและมีขวัญกำลังใจได้ ก็อย่าไปป่วยการคิดเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเลย เพราะไม่มีประโยชน์ ครูไม่มีอารมณ์คิดฝันด้วย ครูไม่มีสมาธิในการสอนมากพอที่จะใส่ใจในเรื่องเนื้อหาสาระดังกล่าว จากเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญและยังความเศร้าสลดใจไปทั่วประเทศ กรณีของ นางสาวจูหลิง ปงกำมูล และนาวสาวศิรินารถ ถาวรสุข ครูสาวของโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เจริญ อ.ระแงะ จ. นราธิวาส ถูกกลุ่มคนร้ายทั้งชายและหญิงจำนวนมากรุมกระหน่ำตีอย่างโหดเหี้ยม ผิดมนุษย์ กระทั่งนางสาวจูหลิง บาดเจ็บสาหัส ถึงขั้นโคม่า ส่งผลให้เกิดความหวั่นวิตก มีผลต่อความเชื่อมั่นในมาตรการความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้น โดยทันทีทันควัน หน่วยงานภาครัฐก็ได้มีการประชุม และเร่งออกมาตรการล้อมคอก ตามมา 4 ข้อ ว่า 1. ต้องให้มีการหารือร่วมกัน ระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการดูแลครูและนักเรียนในพื้นที่ 2. ให้แม่ทัพภาคที่ 4 ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ครูและตำรวจในพื้นที่และจัดกองกำลังให้เกิดความมั่นใจ ในการรักษาความปลอดภัย 3. ให้ปรับปรุงเรื่องการข่าว 4. ต้องเข้าไปพัฒนาหมู่บ้าน โดยเพิ่มงานจิตวิทยามวลชน เพื่อยับยั่งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก เพราะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีกองกำลังที่ถูกล้างสมองอีกเป็นจำนวนมาก และอาจจะลุกขึ้นมาก่อเหตุได้ในทุกวินาที จริงๆ แล้วมาตรการทั้ง 4 ข้อข้างต้น ถ้าย้อนกลับไปดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นมาตรการเดิมๆ ที่เคยพูดถึงมาเป็นปีแล้ว กระทรวงศึกษาเองก็เคยเรียกร้องกับฝ่ายความมั่นคง นำเสนอยุทธวิธีในการป้องกันภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนการเปิดเทอม กระทรวงศึกษาก็มักจะกุลีกุจอกับฝ่ายความมั่นคง ประชุมหารือและวางแผนป้องกันอย่างเข้มข้น แต่จนแล้วจนรอด ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถป้องกันความสูญเสียได้เลย ดังนั้นน่าจะถึงเวลาได้แล้วที่พวกเรา จะต้องมาทบทวนกันอย่างจริงจังว่า แนวคิด แนวทาง และสมมติฐานแบบเดิมๆ เช่นนี้จะสามารถดูแลความปลอดภัยของครูได้จริงหรือ ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่คอยเฝ้าดูแล เฝ้าติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ผมมีความเห็นว่า เราจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์เสียใหม่ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อความปลอดภัยของครู โดยในที่นี้จะขอเสนอเป็นแนวทางเบื้องต้น 5 ประการ ประการที่ 1 ทิศทางนโยบาย เราต้องพยายามให้นโยบาย ทิศทางให้หลักคิดแก่ครูและโรงเรียนว่า ครู โรงเรียน และชุมชน ต้องทำตัวของตัวเองให้เป็นปริมณฑลความเป็นกลาง ทางการเมือง อย่าลืมว่าขณะนี้ในสถานการณ์คือสงครามกลางเมือง เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างรัฐกับชุมชนท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต่างฝ่ายต่างเป็นคนไทย ฝ่ายหนึ่งไม่พอใจการปกครองของรัฐ แล้วเกิดการต่อสู้กันด้วยความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง ครู โรงเรียนและชุมชน ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าฝ่ายใด ครูจะต้องไม่ทำตัวเป็นฝ่ายความมั่นคงเสียเอง ครูจะต้องไม่ทำตัวเป็นสายของทหาร ตำรวจ ที่คอยให้ข่าว ครูจะต้องไม่ร่วมกับฝ่ายก่อการ ครูจะต้องวางตัวเป็นกลาง หมายความว่าเป็นมิตรกับทุกฝ่าย เป็นเพื่อนกับทุกคน ถือทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ ครูจะต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นร้อนๆ ประเด็นความขัดแย้ง ประเด็นทางการเมือง และประเด็นที่เป็นเรื่องการต่อสู้และสถานการณ์ สิ่งเหล่านี้ครูต้องระมัดระวัง ถ้าครูทำเรื่องนี้ได้ดี ก็จะเป็นเกราะป้องกันตนที่ดีที่สุด ประการที่ 2 ไม่ใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งหน่วยรบ หน่วยราชการทุกหน่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารตำรวจ ฝ่ายปกครอง ต้องไม่ใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งของหน่วยติดอาวุธ มีโรงเรียนเป็นจำนวนมากที่ถูกหน่วยทหารหรือ ตชด. ไปตั้งเป็นค่าย ถ้าคิดแบบตื้น ๆ ดูเหมือนดี เพราะปลอดภัย แต่ถ้าคิดให้ลึกๆ แล้วจะพบว่า หน่วยต่างๆ นั้นมาอยู่ชั่วคราว ไม่กี่เดือนก็ไป แต่ครูและโรงเรียนต้องอยู่ตลอด สภาพที่โรงเรียนไม่เป็นกลางเช่นนี้ จะย้อนมาทำร้ายครูและโรงเรียน นับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นประเด็นที่เสนอว่าจะต้องไม่ใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งของหน่วยรบ นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าทำได้ครูจะปลอดภัย เพราะโรงเรียนและครูจะมีสถานะที่เป็นกลางมากขึ้น เป็นเพื่อกับทุกฝ่าย เป็นกลางกับทุกคน ประการที่ 3 คุ้มครอง ครูด้วยพลังชุมชน ไม่ควรใช้กองกำลังทหาร ตำรวจ ติดอาวุธ คุ้มครองครู เพราะดูเหมือนดี แต่ถามในใจลึกๆ ของครูจะพบว่า พวกเขาไม่ต้องการอยู่ใกล้ทหาร ตำรวจ ไม่ต้องการให้หน่วยทหารมาตั้งอยู่ในโรงเรียน เพราะว่าจะทำให้เป็นลูกหลงหรือตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายก่อการได้ ถ้าไม่ใช้กองกำลังทหาร ตำรวจ ดูแลครูแล้ว จะมีใครมาดูแล คำตอบคือชุดคุ้มครองของหมู่บ้าน ชุดคุ้มครองของชาวบ้าน ดูแลกันเองดีที่สุด ประเด็นอยู่ที่ว่าทุกวันนี้ก็ มีชุดคุ้มครองแบบที่ว่านี้อยู่แล้ว แต่ว่า การบริหารจัดการเรื่องคนละงบประมาณกลับไปอยู่ที่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ดังนั้นเพียงแค่เราจัดสรรงบประมาณในการทำงานให้กับครูและอาสาสมัครชาวบ้านเหล่านี้โดยตรง และให้เขาคิดวางแผนแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา ด้วยภูมิปัญญาของเขาเองจะดีกว่าเพราะเขารู้ดีที่สุดว่าต้องทำอย่างไร ต้องปกป้องกันอย่างไร ขออย่างเดียว จังหวัด อำเภอ และส่วนกลางอย่าไปเจ้ากี้เจ้าการเท่านั้น ประการที่ 4 ให้อำนาจการจัดการแก่ชุมชนท้องถิ่น ผู้นำ อบต. ในระดับจังหวัด และผู้นำเครือข่ายสมาพันธ์ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายท่าน พูดตรงกันว่า หากมีการปรับวิธีคิด และวิธีจัดการโครงการนโยบายอัตราจ้าง 4500 บาท ก็จะทำให้เขาดูแลความปลอดภัยกันเองได้ ขณะนี้ทางราชการมีการจ้างแรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอัตราพิเศษ 4,500 บาท/ เดือน โดยจ้างคนหนุ่ม คนสาว เข้ามาทำงานช่วยสนับสนุนข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ โดยในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อคลี่คลายปัญหาความไม่สงบและแต่ในเรื่องของการบริหารจัดการ พบว่า อัตราแรงงานที่มีการว่าจ้างนั้น มักจะไปกองอยู่ที่อำเภอ และเทศบาล โดยเมื่อจัดจ้างแล้ว ก็ส่งไปช่วยครูตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึงมักเป็นคนต่างพื้นที่ ไม่คุ้นเคย เป็นคนที่ครูไม่รู้จัก อันนี้เป็นปัญหา วิธีการแก้ ควรมอบจำนวนอัตราเหล่านี้ไปที่ครูและชุมชน ที่โรงเรียนต่างๆ จะมีกรรมการสถานศึกษา อาจจะให้กลไกเหล่านี้เป็นคนคัดเลือกคนและให้โรงเรียนเป็นผู้จ้างคนในชุมชนมาเป็นกำลังในการดูแลรักษาความปลอดภัยของครูและโรงเรียน หรือจะให้เป็นบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นหรือ อบต. ก็ได้ และ อบต. แต่ละแห่งน่าจะยินดีที่จะสบทบงบประมาณด้วยซ้ำ ประการที่ 5 บทบาทโรงเรียนรัฐ ถ้าหากมีการส่งเสริมบทบาทของโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนของ สนง. คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมุสลิมโดยรวม ซึ่งสามารถเริ่มได้จากงานการเยียวยา ด้านฟื้นฟูชุมชน ด้านพัฒนาชุมชน ใช้เงื่อนไขของกิจกรรมเยียวยาฟื้นฟูและพัฒนาเหล่านี้ ไปสร้างสายสัมพันธ์ ความผูกพัน ระหว่างโรงเรียนกันชุมชน ชุมชนกับครู ระหว่างครูกับผู้ปกครอง เป็นต้น กรรมการสถานศึกษาที่มีอยู่ ก็จะมีบทบาทในการทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนของชุมชนไม่ใช่เป็นโรงเรียนของรัฐที่ไปตั้งอยู่ในชุมชนเท่านั้น ถ้าสามารถทำได้เช่นนี้ ชุมชนจะกลายเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันความปลอดภัยของครูในระยะยาว |
ที่มา : ประชาไท |
{mospagebreak}
‘พลเดช ปิ่นประทีป’ ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (จบ) : งานพัฒนาชุมชนในสถานการณ์สงคราม | |
บทรายงานสาธารณะ ชุด ‘ชุมชนบนกองเพลิง’ จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้ | |
|
|
|
|
นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณกว่าสี่หมื่นห้าพันล้านบาทลงไป เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาและการบริหารราชการแผ่นดินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในช่วง 2 ปีแรก รัฐบาลประกาศใช้เงินหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยมีหน่วยราชการเป็นผู้เสนองบประมาณ แต่เหตุการณ์ที่รุนแรง ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสั่งชะลอการเบิกจ่ายงบประมาณไว้ก่อน และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายพัฒนานายจาตุรนต์ ฉายแสง ลงไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมกลุ่มต่างๆ ให้ทราบความต้องการเสียก่อน ที่จะมาปรับงบประมาณหน่วยงานต่างๆให้สอดคล้อง |
|
เมื่อรองนายกรัฐมนตรีได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นจากเวทีประชาคมต่างๆ ประมาณ 15 ครั้ง ในช่วง 1 เดือน ก็ได้มีการเสนอผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาคมต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน แต่รายงานฉบับนั้นได้รับการปฏิเสธจากนายกรัฐมนตรี ในขณะที่สาธารณชนและสื่อมวลชนต่างๆ ส่งเสียงเชียร์ ในช่วงนั้นเองได้ผมมีโอกาสร่วมคณะเดินทางไปทำงานของรองนายกรัฐมนตรีด้วย จึงได้ติดพันงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่นั้นมา หลังจากการรับฟังของรองนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขออนุญาต ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงในขณะนั้น เพื่อขอจัดเวทีประชาคมให้ชุมชนต่างๆ มาพูดคุยเพื่อเสนอแผนงานต่อรัฐบาล เราได้ตระเวนจัดไปในทุกอำเภอ เพื่อให้ทราบว่าชุมชนในแต่ละอำเภอต้องการโครงการพัฒนาในลักษณะไหน ในครั้งนั้น เราได้เปิดเวทีพูดคุยกันขนานใหญ่ รวมทั้งสิ้น 45 ครั้ง ในที่สุดได้ทำแผนงาน/ โครงการพัฒนาความต้องการของอำเภอต่างๆ ทั้ง 33 อำเภอ จัดทำเป็นแผนในระดับจังหวัดและมีแผนในระดับภาพรวม ในที่สุดได้ส่งมอบแก่รองนายกรัฐมนตรีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งได้เดินทางลงไปรับแผนงาน/ โครงการของภาคประชาชนด้วยตนเอง ร่วมกับรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เวทีเสนอแผนและรับมอบโครงการที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ในคราวนั้นมีแผนต่างๆ ที่ภาคประชาชนเสนอรวมทั้งสิ้น 174 แผนงาน วงเงินรวม 2,800 ล้านบาท เมื่อรองนายกรัฐมนตรี และรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้นำแผนต่างๆ เข้ามาที่ กทม. และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติในหลักการและกรอบงบประมาณรวมทั้งสิ้น 94 โครงการ รวมวงเงิน 1,364 ล้านบาท จากนั้นโครงการได้ถูกกระจายมอบให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้จัดทำรายละเอียดและเป็นหน่วยที่รับงบประมาณไปดำเนินการในพื้นที่แทน เพราะ ภาคประชาชนไม่สามารถรับงบประมาณไปดำเนินการเองได้ น่าสังเกตว่าโครงการต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อเสนอของภาคประชาชน และส่วนที่เป็นแผนงานเดิมของหน่วยงานราชการ โดยส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะการส่งเสริมอาชีพกลุ่มต่างๆ ทางด้านเกษตรก็ส่งเสริมการเลี้ยงปลา โค แพะ การปลูกต้นปาล์ม สวนยาง ตลาดขายส่งผลไม้ เป็นต้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วงของการทำงานตามโครงการการพัฒนาในสถานการณ์ภาวะความไม่ปรกติ เราพบว่า งานพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งดำเนินไปเสมือนอยู่ในเหตุการณ์ปกตินั้น ไม่ได้ผลจริงจังนัก แพะและโค ที่มอบให้กับชาวบ้าน ไม่นานก็อยู่ในสภาพที่ล้มตาย และกลายเป็นอาหารของชาวบ้านไป โดยไม่เกิดผลในแง่ของความยั่งยืน บางหน่วยงานพยายามส่งเสริมต่อยอด นำไปสู่อุตสาหกรรมที่เรียกว่า ฮาลาล แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ดูเหมือนว่า วิถีชีวิต และระดับศักยภาพของชุมชนยังอยู่ห่างไกลจากจุดนั้น มีบางหน่วยงานพยายามส่งเสริมธุรกิจแบบ SME โดยการแปรรูป แต่ก็อยู่ในระยะเพิ่งเริ่ม ซึ่งยากลำบากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนั้น สถานการณ์สันติภาพ หรือสงคราม มีผลต่อรูปแบบของงานพัฒนา ในสถานการณ์แบบหนึ่ง ไปใช้รูปแบบการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง ก็จะไม่สอดคล้อง ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสถานการณ์ความไม่สงบ ทุกคนอยู่อย่างหวาดผวา สังคมแตกแยก เสี่ยงต่อชีวิต ในสถานการณ์เช่นนี้ ไหนเลยจะมีอารมณ์พัฒนาในรูปแบบแบบปกติได้ ประชาชนที่ถูกเชิญเข้ามาร่วมกิจกรรมการพัฒนาของรัฐ พวกเขาก็มาอย่างเสียไม่ได้ แต่ว่าในใจของเขายังห่วงกังวลในเรื่องของความปลอดภัย สถานการณ์ความไม่สงบ ครั้งนี้ผู้ได้รับผลระทบไม่ต่ำกว่าสาม พันราย ในจำนวนนี้ตายไปเกือบสองพันราย ในขณะที่ภาครัฐให้การเยียวยาไปแล้วประมาณ 84 % ใช้เงินมากกว่า 600 ล้านบาท ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ความไม่สงบนั้น มีงานอีกแบบหนึ่งที่ต้องจัดการดูแลคือ งานการเยียวยาผู้รับผลกระทบและฟื้นฟูชุมชน งานเช่นนี้มีความสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกและ สถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านมากกว่า การเยียวยาของรัฐทำไปได้มาก โดยใช้เงินจำนวนไม่น้อย แต่ในภาพรวมถือว่ายังไม่ได้การเมือง ยังไม่ได้หัวใจของชาวบ้านมากนัก น่าศึกษาว่าเป็นเพราะเหตุใด ชาวบ้านผู้ได้รับการเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนมุสลิม ชายแดนภาคใต้ เขาไม่รู้สึกว่าเป็นบุญคุณเขาถือว่าเป็นหน้าที่ที่ราชการต้องทำอยู่แล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า สังคมมุสลิมชายแดนภาคใต้ ยังมีปมความคิดความเชื่อในเรื่อง การต่อสู้ ทำสงครามทางศาสนา ตามบทบัญญัติของศาสนา ตราบใดที่ปมความคิดยังแก้ไม่ตก การช่วยเหลือของรัฐก็ยังไม่ได้หัวใจของพวกเขา เท่าที่ควรจะเป็น ฝ่ายกองกำลังผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากทางฝ่ายรัฐพวกเขาก็ไม่ถือว่าเป็นบุญคุณ เพราะตัวเขาไม่ถือว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงแต่อย่างใด ในส่วนสังคมไทยทั่วประเทศ ซึ่งมีอคติต่อชุมชนมุสลิมชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว เมื่อรัฐไปช่วยเหลือชุมชนมุสลิมผู้ได้รับผลกระทบ สังคมใหญ่ก็มีข้อกังขาว่า ไปช่วยทำไม เพราะสังคมใหญ่ยังไม่เข้าใจและมีทัศนคติที่คับแคบ ทำให้การเยียวยาของภาครัฐทำไปมาก ใช้เงินไปไม่น้อยแต่ว่าผลทางการเมืองมีไม่เท่าที่ควร การเยียวยาของภาครัฐส่วนใหญ่ มักดำเนินการไปภายใต้ราชการที่ล่าช้า มีระเบียบมาก กลไกในการปฏิบัติช่วยเหลือประชาชนก็อ่อนล้า เพราะตัวข้าราชการเองก็อยู่ในความเสี่ยงจากสภาวะความไม่สงบเช่นกัน การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปในลักษณะประชาสงเคราะห์ เสมือนหนึ่งว่าไปช่วยผู้ที่ต่ำต้อยกว่า ประชาชนและชุมชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ด้วยความริเริ่มของคณะกรรมการนโยบาย ยุทธศาสตร์การเยียวยาซึ่งมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมบทบาทของปอเนาะ 70 แห่ง และอาสาสมัคร 236 คน ให้ปอเนาะเป็นศูนย์เยียวยาของชุมชน ปรากฏว่าเกิดการมีส่วนร่วมและเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างดี โดยเฉพาะส่วนที่ตกหล่นจากการบัญชีการช่วยเหลือของทางราชการ ในขณะนี้เวลาผ่านไป 6 เดือนแล้ว โครงการได้ออกช่วยดูแลเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบ ที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการไปแล้วแต่ว่าไม่มีการต่อเนื่อง ขณะนี้ได้ไปเยี่ยมบ้านผู้ได้รับผลกระทบไปแล้วทั้งสิ้น 976 ครั้ง ซึ่งที่น่าดีใจว่าเป็นโครงการได้สามารถเชื่อมโยงความรู้สึก ความเอื้ออาทรต่อกัน ไปเยี่ยมบ้าน มีการนัดหมายรวมกลุ่ม มีกิจกรรมกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้กำลังใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนในการฝ่าฟันปัญหา ความลำบากของแต่ละคน ทำให้เกิดขวัญ กำลังใจและมีความหวัง นอกจากการดำเนินงานเยียวยา โดยภาครัฐแล้ว กอส. ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติโดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ได้หาเงินบริจาคจากนักธุรกิจ เงินจำนวนนี้ได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาและให้ทุนการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบซึ่งตกหล่นจากความช่วยเหลือของภาครัฐ นับว่าเป็นความพยายามของภาคประชาชนที่จะช่วยเหลือดูแลกันเอง ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง งานเยียวยาชุมชนในช่วงที่ผ่านมา น่าจะถือได้ว่า เป็นรูปแบบของงานพัฒนาชุมชนอย่างหนึ่งที่มีความจำเป็นและความสอดคล้องกับสถานการณ์ความไม่สงบมากกว่ารูปแบบงานพัฒนาทั่วไป นอกจากผลของการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบแล้ว เราพบว่ากระบวนการเยียวยาชุมชน โดยช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงบทบาทของอาสาสมัครในพื้นที่ให้เป็นเครือข่ายและองค์กรของผู้ที่มีจิตใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นับได้ว่าเป็นการวางรากฐานในทางเครือข่ายและกำลังคนนักพัฒนาและอาสาสมัครของพื้นที่ในระยะยาว |
|
ที่มา : ประชาไท by : webmaster 04-10-2549 |
Be the first to comment on "งานพัฒนาชุมชนในสถานการณ์สงคราม(จบ)"