จรรยาบรรณเป็นข้อประพฤติปฏิบัติอันเป็นเรื่องแคบเข้ามากว่าธรรมะในการวิจัย จรรยาบรรณในการวิจัยหรือจรรยาบรรณของนักวิจัยในประเทศพัฒนาแล้วที่มีการพัฒนาก้าวหน้าด้านการวิจัยมาเป็นเวลาช้านานเป็นร้อยๆ ปี จรรยาบรรณเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เกิดขึ้นและยอมรับปฏิบัติกันมาจนเป็นวิสัยธรรมดาสามัญ หรืออาจเรียกว่าเป็นประเพณีวัฒนธรรมด้านการวิจัย
สำหรับประเทศไทยนั้นการวิจัยยังเป็นเรื่องใหม่ จึงยังต้องกำหนดหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติอันเป็นกติกามารยาทในการวิจัยให้ชัดเจนเป็นที่รับรู้และนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติของหมู่ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ยกตัวอย่าง คู่มือแนวทางปฏิบัติจรรยาบรรณนักวิจัย ซึ่งกำหนดขึ้นโดยสภาวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2541) อันประกอบด้วยแนวทางปฏิบัติหลักๆ จำนวน 9 ข้อ หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยอื่นๆ อาจมีระเบียบกฎเกณฑ์และแนวทางแตกต่างกันออกไป
จรรยาบรรณบางประการอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของสังคมอยู่แล้ว ก็มิได้ระบุไว้เป็นเอกสารหรือลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นที่รู้กันเองในใจและความคิดของคนส่วนใหญ่จนเป็นบรรทัดฐานทางสังคม และละไว้ในฐานที่เข้าใจ อย่างไรก็ดีจรรยาบรรณการวิจัยที่สำคัญอันเป็นหลักสากล บางทีก็ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยในสังคมไทยก็อาจมีผู้เขียนเสนอแนะไว้หรือรวบรวมไว้ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วในตอนแรก (สุชาตา ชินะจิต, 2545) ซึ่งสามารถค้นคว้าหาอ่านในรายละเอียดได้อีกในเอกสารต่างๆ
สำหรับในตอนนี้ใคร่ขอยกตัวอย่างปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นในวงการวิจัยไทย โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาต่างๆ อันอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพของงานวิจัยไทยในอนาคต และควรได้มีการวางหลักเกณฑ์ด้านจรรยาบรรณการวิจัยไว้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางยึดถือปฏิบัติ
1.อาจารย์กับผลงานวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ ในช่วงเวลา 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้นำระบบตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ตามระบบแบบประเทศตะวันตกเข้ามาใช้ คือ เปิดโอกาสให้อาจารย์ก้าวไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) โดยอาศัยการเพิ่มพูนผลงานวิจัยของอาจารย์นั้นๆ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีลูกศิษย์ระดับปริญญาโท – เอก (บัณฑิตศึกษา) จะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการทำวิทยานิพนธ์ (งานวิจัย) อันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาระดับบัณฑิต
มีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ใช้ผลงานวิจัยจากวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ประกอบการขอตำแหน่งทางวิชาการของตนเอง ทำให้เกิดคำถามเสมอๆ ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการถูกต้องหรือไม่ คำตอบในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณในการวิจัยหลายประการ และคำตอบในบางประเด็นก็ไม่ชัดเจน ดังที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า grey area หรืออยู่ในแถบสีเทา คือ จะขาวก็ไม่ใช่ จะดำก็ไม่เชิง หมายความว่า จะระบุว่าถูกหรือผิดนั้นยังไม่ได้ ต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น
– งานวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่อาจารย์ได้วางแผนไว้ก่อน หรือเก็บข้อมูลมาก่อนแล้ว ฯลฯ หรือไม่ หรือ
– งานวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์นั้นอาจารย์ได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมแนะนำตั้งแต่ต้นจนจบหรือไม่
ถ้าคำตอบออกมาเป็นบวก อาจารย์ก็อาจได้รับเครดิตจากผลงานวิจัยนี้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องเป็นส่วนน้อย เพราะงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์นั้น เป็นงานที่ลูกศิษย์ควรเป็นคนลงมือทำเองเป็นส่วนใหญ่ คำถามที่ยุ่งยากต่อไปก็คือ อาจารย์ควรได้รับเครดิตเท่าใด บางทีอาจมีชื่ออาจารย์ในผลงานวิจัย (วิทยานิพนธ์) นั้นมากกว่าหนึ่งคน แต่ละคนควรได้รับเครดิตเท่าใด
เรื่องนี้ก่อให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นและขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีนั้นๆ แต่เครดิตของอาจารย์รวมกันแล้วควรมีค่าต่ำกว่าเครดิตของลูกศิษย์เจ้าของผลงาน อนึ่ง ในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยจากวิทยานิพนธ์ เนื่องจากลูกศิษย์เจ้าของผลงานเป็นผู้ทำงานมากที่สุด ดังนั้น ชื่อแรกของผู้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยจึงควรเป็นชื่อลูกศิษย์ผู้เป็นเจ้าของวิทยานิพนธ์นั้นเอง ซึ่งเป็นผู้ได้รับเครดิตสูงสุด
หมายเหตุ : ความจริงในการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์นั้น เคยมีระเบียบระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่นับผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ผู้นั้น ดังนั้นผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาก็ไม่ควรนำมาประกอบการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ปรากฏว่า ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์นั้น (วิทยานิพนธ์) มักจะไม่บอกว่ามาจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์
ประเด็นนี้จึงยังเป็นประเด็นสีเทา และเป็นความไม่ชัดเจนทางจรรยาบรรณนักวิจัย และก่อให้เกิดปัญหาได้เสมอ สำหรับอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยมากจริงๆ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพและมีศักดิ์ศรีและมาตรฐานสูง ส่วนมากเขาจะไม่อาศัยผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์มาเป็นบันไดสำหรับความก้าวหน้าของตนเอง เพราะผลงานวิทยานิพนธ์นั้นได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อการสำเร็จปริญญาของนักศึกษาไปแล้ว และผลงานที่แท้จริงของอาจารย์ผู้นั้นก็คือจำนวนลูกศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาและรับปริญญาไปแล้วนั้นเอง
มาตรฐานจรรยาบรรณการวิจัยและการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับประเด็นนี้จึงน่าจะได้ดำเนินการให้เป็นบรรทัดฐานที่ชัดเจนขึ้นต่อไปในอนาคต โดยจะต้องนำหลักการสากลมาพิจารณาปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในวงการวิจัยและสถาบันการศึกษาในประเทศไทย
2.การจ้างผู้อื่นทำงานวิจัยเพื่อใช้เป็นวิทยานิพนธ์หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นในนามตนเอง ในปัจจุบันได้มีบริษัทรับจ้างทำวิจัยให้แก่บริษัทการค้าต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น บริษัททำวิจัยด้านการค้าและการตลาด เพื่อรับจ้างวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภค และการยอมรับสินค้าบางอย่างของบริษัทผู้ผลิตสินค้า หรือบริษัทที่ปรึกษาที่ทำการวิจัยด้านต่างๆ อาทิ ศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน ศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อน ศึกษาผลกระทบของการสร้างโรงงานไฟฟ้า เป็นต้น
ความจริงการวิจัยแบบนี้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์และถูกต้องตามหลักสากล อย่างไรก็ดีในเวลานี้ การจ้างทำงานวิจัยได้ขยายลุกลามเข้าไปในวงการศึกษาและวงการนักวิจัย จึงเกิดปัญหาการรับจ้างวิจัยทำวิทยานิพนธ์ และการจ้างวิจัยโดยนักวิจัยที่อาจรับทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่างๆ มา
ประการแรก ขอกล่าวถึงปัญหาการจ้างวิจัยทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องผิดทั้งจรรยาบรรณการวิจัยและผิดหลักการในการศึกษาแน่นอน ผิดทั้งนักศึกษาและอาจารย์หรือคณะอาจารย์ที่ควบคุมดูแลการวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ลุกลามกว้างขวางพอสมควรในสถาบันการศึกษาไทยในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่สถาบันการศึกษามุ่งเน้นเรื่องการแสวงหารายได้ (เงิน) ยิ่งกว่าการสร้างสรรค์ปัญญาให้ลูกศิษย์ การจ้างวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์นี้ทำกันมากในสาขาสังคมศาสตร์ สาขาบริหารธุรกิจ เป็นต้น
การจ้างวิจัยมีทั้งนักศึกษาในสถานศึกษาเอกชนและสถานศึกษาของรัฐ ทั้งสถาบันเล็กและสถาบันใหญ่ จึงเป็นปัญหาที่น่าจะต้องดูแลแก้ไขกันต่อไป การสร้างจรรยาบรรณที่เป็นมาตรฐาน และการมีธรรมะและคุณธรรมในการดำเนินงานของคณาจารย์บางคนที่ดูแลนักศึกษาระดับบัณฑิตในสถาบันการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ส่วนประเด็นที่สอง ได้แก่ กรณีที่ผู้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนวิจัย แล้วแบ่งงานส่วนหนึ่งเอาไปจ้างให้บริษัทวิจัยดำเนินการให้ ส่วนงานที่นำไปจ้างให้ผู้อื่นดำเนินการให้ หากเป็นเพียงส่วนน้อยด้วยเหตุผลที่ว่าคณะวิจัยอาจขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นและการจ้างให้วิจัยอาจลงทุนน้อยกว่า โดยหลักการการกระทำเช่นนี้ก็คงไม่ผิดจรรยาบรรณการวิจัย หากเป็นการกระทำโดยโปร่งใส มีเหตุผล และมีการประกาศให้เครดิตในส่วนนั้นแก่ผู้รับจ้างวิจัยไว้อย่างเหมาะสม เสมือนว่าผู้รับจ้างวิจัยเป็นผู้ช่วยวิจัยส่วนหนึ่ง
ประเด็นปัญหาอาจมีว่า ผู้รับทุนโดยตรงจะแบ่งงานไปจ้างบริษัทวิจัยได้สักกี่ส่วน ผู้รับทุนได้คาดหมายและแจ้งแผนงานดังกล่าวไว้แก่แหล่งทุนวิจัยหรือไม่ หรือประเด็นปัญหาวิจัยนั้นอาจเกิดขึ้นภายหลังการดำเนินงานวิจัยแล้วโดยมิได้คาดหมายไว้ก่อน และจำเป็นต้องแบ่งงานส่วนนั้นไปว่าจ้างให้ผู้อื่นดำเนินการให้ ที่เรียกว่า subcontract ผู้วิจัยก็ควรแจ้งเพื่อขอความเห็นชอบต่อแหล่งทุนวิจัย แล้วรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในรายงานการวิจัยเมื่องานเสร็จสมบูรณ์ เหตุการณ์ในกรณีที่สองนี้จะปรากฏบ่อยขึ้นเมื่อมีการส่งเสริมให้มีการวิจัยมากขึ้น ในขณะที่นักวิจัยในประเทศยังมีจำนวนไม่มากเพียงพอ
ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ ติดต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โทร.0-2298-0454 e-mail : pr@trf.or.th
ที่มา : www.manager.co.th/คุณภาพชีวิต
ภาพ : Internet
|
Be the first to comment on "จรรยาบรรณของนักวิจัย"