ชุมชนไม้เรียง
เป็นตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ขนาดพื้นที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร อยู่ในอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประชากรจำนวนประมาณ 1,382 ครัวเรือน และประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลักมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรเชิงพาณิชย์ ด้วยการปลูกยางพาราเป็นพืชเดี่ยว และทำให้วิถีชีวิตของชาวไม้เรียงขึ้น อยู่กับยางพาราตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ความหวังและชีวิตของชาวบ้านยิ่งผูกติดกับยางพาราอย่างแนบแน่นมากขึ้น หลังจากที่ชุมชนไม้เรียงประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก ในปี พ.ศ. 2505 วาตภัยครั้งนั้นได้ทำให้พื้นที่ป่าไม้และสวนยางเดิม รวมทั้งพื้นที่เพาะปลูกของชุมชนไม้เรียงถูกทำลายราบเรียบ ชาวบ้านจึงได้ขยายพื้นที่การทำสวนยางพารามากขึ้น เพื่อทดแทนพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลาย โดยปลูกยางขึ้นมาใหม่จากการสนับสนุนด้านทุนและพันธุ์ยาง ของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับยางพารา เมื่อถึงเวลาที่ราคายางตกต่ำมาก ชาวชุมชนไม้เรียงซึ่งเป็นชาวสวนยางขนาดเล็กที่ไม่ค่อยจะพอกินอยู่แล้ว ยิ่งเดือนร้อนอย่างหนัก หนี้สินล้นพ้นตัว บางคนถึงขนาดล้มละลายต้องขายสวนยาง ชาวชุมชนไม้เรียงนำโดยประยงค์ รณรงค์ จึงได้พูดคุยและร่วมกันวิเคราะห์ว่าปัญหาคืออะไร สาเหตุของปัญหามาจากอะไร แนวทางแก้ไขปัญหาควรเป็นเช่นใด และใครควรเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาและหาทางออก ร่วมกันของชาวชุมชนไม้เรียง พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของเกษตรกรชาวสวนยาง คือ ทำไมชาวสวนยางจึงมีแต่ความยากจน ขณะที่พ่อค้ายางไม่ว่าเจ้าของโรงรมยาง หรือผู้ค้ายางต่างก็ร่ำรวยจากการประกอบธุรกิจยางพารา ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัญหาโดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาของชาวบ้าน พบว่า การที่เกษตรกรขายยางในราคาถูกนั้น เนื่องจากถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางหลายชั้น อีกทั้งปัญหาหลักคือการที่ชาวสวนยางขาดความรู้ทั้งด้านการจัดการ และด้านข้อมูลข่าวสาร ไม่รู้ภาวะตลาด โดยเกษตรกรเป็นเพียงผู้ผลิตเท่านั้น และอีกส่วนหนึ่งมาจากการผลิตยางแผ่นของชาวบ้าน ยังไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐานเพียงพอ ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหา จึงต้องมีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อร่วมกันปรับปรุงคุณภาพยางแผ่นที่มีการควบคุมคุณภาพ และใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อให้ขายยางปริมาณมากๆ ให้ได้ราคาและมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด
ในเวลาต่อมาประยงค์ รณรงค์ และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงไปศึกษาดูงานโรงงานยางแผ่นอบแห้งขององค์การสวนยางนาบอน และโรงงานของเอกชนเมื่อปี พ.ศ.2525 และเกิดความมั่นใจว่าการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อแปรรูปยางน่าจะเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาทั้งด้าน การควบคุมการผลิต และการตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง หลังจากนั้นพวกเขาจึงได้รวมกลุ่มประชุมปรึกษาหารืออีกหลายครั้ง เพื่อหาข้อสรุปเรียนรู้จากการศึกษาดูงาน และวางแผนดำเนินการเพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปยาง โดยกำหนดขนาดของโรงงานและกำลัง การผลิตภายใต้ทุนและกำลังที่มีอยู่ พร้อมกับการทำงานด้านความคิดกับชาวบ้านด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจ เพื่อสร้างแนวร่วมและระดมทุน จนในที่สุด “กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม้เรียง” จึงก่อเกิดขึ้นมา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2527 และเริ่มทำการผลิตเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2527 ด้วยสมาชิกก่อตั้งจำนวน 37 คน มีกำลังการผลิตยางอบแห้งวันละ 500 กิโลกรัม จนปัจจุบันสามารถขยายสมาชิกเป็น 179 คน และมีกำลังการผลิตสูงสุดได้ถึงวันละ 5 ตัน
เรียนรู้ประสบการณ์การบริหารธุรกิจชุมชน
โครงสร้างของ “กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม้เรียง” ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารที่มาจากการเลือกตั้งจากสมาชิก และสมาชิกของกลุ่ม และจ้างผู้จัดการ พนักงานประจำ และแรงงานในโรงงานเพื่อทำหน้าที่ดำเนินการธุรกิจของกลุ่มภายใต้การกำกับติดตามของกรรมการบริหาร และประชุมใหญ่สมาชิกทุกปีเพื่อชี้แจงผลงานและแสดงบัญชี
สำหรับด้านการจัดการนั้น ทางกลุ่มฯ จะรับซื้อน้ำยางจากสมาชิก และนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นส่งขายให้กับพ่อค้า ทั้งนี้มีการทำบัญชีด้านการเงินอย่างชัดเจน อีกทั้งเงินหมุนเวียนที่ใช้ในการซื้อขาย ค่าตอบแทน และรายได้จากการขายสินค้า ได้ใช้กลไกผ่านธนาคารเพื่อสร้างเครดิตและสร้างความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังมีการติดตาม ราคายางพาราและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความต้องการ ยางพาราของตลาดโลก และติดตามด้านนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทางกลุ่มฯ รู้เท่ากัน ต่อข้อมูลข่าวสารและการเปลี่ยนแปลง
ตลอดเวลาที่ดำเนินธุรกิจ ทางกลุ่มฯ ไม่เคยผิดพลาดหรือมีปัญหาด้านคุณภาพสินค้าและการส่งมอบ แม้ว่าบางครั้งจะมีปัญหาปริมาณการผลิตไม่เพียงพอก็พยายามจัดการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้ผิดสัญญา และเสียเครดิต โดยก่อนหน้าที่จะมีวิกฤตเศรษฐกิจ ทางกลุ่มฯ ได้ขายสินค้าให้กับบริษัทผู้ส่งออกโดยตรงมาโดยตลอด ด้วยการเสนอสินค้าตัวอย่างให้กับผู้ส่งออกและคัดเลือกผู้ส่งออกที่เสนอตัวมา ขณะนี้แม้ว่าจะไม่ได้ค้าขายกับผู้ค้าส่งออก ก็ขายให้กับบริษัทผู้ค้ารายใหญ่ของภาคใต้
จากโรงงานยางแปรรูปสู่การผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง
การดำเนินการต่างๆ ของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม้เรียงตั้งแต่ ปี 2527 ไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ของชาวชุมชนไม้เรียงเอง ที่มีจิตใจมุ่งการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบเพื่อสรุปบทเรียนและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งเตรียมรับมือต่อปัญหาใหม่ๆ ลองผิดลองถูกเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ประกอบกับการมีผู้นำซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อส่วนรวม ทำให้กลุ่มฯ สามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาถึง 16 ปี (พ.ศ.2527-2543)
อย่างไรก็ตามแม้ว่าทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม้เรียงจะสามารถ แก้ปัญหาด้านคุณภาพยาง การขาย และการลดต้นทุนการผลิต แต่ปัญหาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากความสามารถในการจัดการภายในยังมีอยู่ไม่สิ้นสุด เช่น ปัญหาความต้องการของตลาดโลก ปัญหาคุณภาพและปริมาณน้ำยาง ที่ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ หรือปัญหาด้านนโยบายของรัฐ เป็นต้น จากการพูดคุยปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาจึงได้คำตอบใหม่ว่า ยางพาราไม่สามารถเป็นคำตอบเดียวสำหรับการดำรงชีวิต
ประกอบกับข้อจำกัดของการดำเนินการธุรกิจเฉพาะสมาชิกของกลุ่มเกษตร ที่ยังไม่สามารถขยายสมาชิกเพิ่มเติมได้เนื่องจาก กำลังรับซื้อยังมีไม่เพียงพอ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความสุข ความอยู่ดีกินดี และความสามารถในการพึ่งตนเองของชาวชุมชนไม้เรียง
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงจึงเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวชุมชนไม้เรียง ในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านเกษตรกรรมยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุขชุมชน ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมชุมชน และด้านกองทุนชุมชน ทั้งนี้ มี “สภาผู้นำชุมชนไม้เรียง” ที่มาจากตัวแทนของหมู่บ้านต่างๆ หมู่บ้านละ 5 คน รวมเป็น 40 คน ประกอบด้วย ทั้งหญิงและชาย และคนรุ่นหนุ่มสาว รุ่นผู้ใหญ่วัยกลางคน และรุ่นอาวุโส ทำหน้าที่บริหารและร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาชุมชนขึ้น
โดยกิจกรรมหนึ่งของแผนพัฒนาชุมชนไม้เรียงที่เป็นการเปลี่ยนทิศทาง ของเกษตรกรรมแผนใหม่ที่มุ่งเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และฝากชีวิตไว้กับยางพารา มาเป็นการแสวงหาความหลากหลายของการประกอบอาชีพการเกษตร และมุ่งเน้นการพึ่งตนเองได้ภายในชุมชนเป็นหลัก คือ การพัฒนาความสามารถของเกษตรกรและเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมการเกษตร 8 กิจกรรม ได้แก่ กลุ่มเพาะเลี้ยงปลา กลุ่มผักปลอดสารพิษ กลุ่มแปรรูปข้าว กลุ่มเพาะเลี้ยงไก่พื้นเมือง กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ กลุ่มเพาะเลี้ยงสุกร กลุ่มสมุนไพร และกลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ด
กลุ่มกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการผลิตเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอก โดยผ่านการจัดการของแต่ละกลุ่มที่มีองค์กรบริหารของตน
โดยแต่ละกิจกรรมมีการวิเคราะห์ความต้องการและความเป็นไปได้ของการผลิตและการตลาด ตลอดจนการประมาณการส่วนแบ่งของตลาดภายใน ของชุมชนไม้เรียงที่มีจำนวนหนึ่งพันกว่าครอบครัว รวมไปถึงการเชื่อมโยงสู่เครือข่ายต่างๆ ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ นอกจากนี้แต่ละกลุ่มยังมีการสอดประสาน ของกิจกรรมและปัจจัยนำเข้าที่มีอยู่ภายในชุมชนอย่างเป็นระบบ เช่น กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ทำหน้าที่ส่งอาหารคุณภาพ ดีราคาถูกว่าท้องตลาดให้กับกลุ่มเลี้ยงสัตว์ประเภทต่างๆ กลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ดได้ขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา หรือการมุ่งผลิตไก่สามสายเลือดไม้เรียง ที่เป็นพันธุ์ผสมจากไก่พันธุ์ไข่ พันธุ์เนื้อ และไก่พื้นบ้าน เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ต่อไปสินค้าทุกประเภทต่อไปจะอยู่ภายใต้ ชื่อ “ไม้เรียง” อันเป็นการเปิดตัวสินค้าต่อตลาดภายนอก
สำหรับด้านแหล่งเงินทุนนั้น ในเบื้องต้น ชาวชุมชนไม้เรียงได้รับการสนับสนุนจากกองทุนชุมชน (SIF) และมีการระดมทุนจากการขายหุ้นให้กับสมาชิกกลุ่ม โดยต่อไปจะมีการสนับสนุนด้านเงินทุนจากธนาคารหมู่บ้าน และกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้นมาแล้ว ทั้งนี้ ในอนาคตผู้นำชุมชนคาดหวังว่า กลุ่มกิจกรรมแต่ละกิจกรรมนี้อาจส่งผลให้มีการตั้งบริษัทชุมชนไม้เรียงที่มีชาวบ้านร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมบริหาร และร่วมรับผลประโยชน์ขึ้นอีก 8 บริษัท ก็เป็นไปได้
เครือข่ายการเรียนรู้และมวลมิตร
ปัจจุบันชุมชนไม้เรียง มีเครือข่ายต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ โดยเครือข่ายดังกล่าว ได้แก่ เครือข่ายยางพารา เครือข่ายยมนา (ชาวสวนยางพารา-ชาวสวนไม้ผล-ชาวนา) เครือข่ายภูมิปัญญาไท เครือข่ายสาธารณสุขชุมชน นอกจากนี้ชุมชนไม้เรียงยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานชุมชนเข้มแข็งให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ
อีกทั้งการดำรงอยู่ของชุมชนนั้นไม่ได้มีความโดดเดี่ยวหรือต่อสู้แต่เพียงลำพัง แต่ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน ด้านคำปรึกษา ด้านการประสานงาน และด้านการอำนวยความสะดวกให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ มูลนิธิหมู่บ้าน ที่ได้ทำงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 และจากองค์กรภาครัฐ อย่างเช่น องค์กรบริหารส่วนจังหวัด ที่จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างโรงงานยางแห่งใหม่ เกษตรจังหวัด-อำเภอ-ตำบล กองทุนชุมชน ฯลฯ
การถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้อันยาวนาน ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีของชุมชนไม้เรียง แม้จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่สิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้และความใส่ใจ ความตื่นตัวที่จะเรียนรู้ของชุมชนอย่างยืนหยัด และต่อสู้กับปัญหาร่วมกัน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการดำเนินงานธุรกิจชุมชน โดยมีส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหนุนช่วยให้กระบวนการเรียนรู้บังเกิดผล ขณะที่ผลกำไรจากการประกอบการซึ่งเป็นเรื่องรองลงมา แต่ก็มีความสำคัญเพราะเป็นตัวขับเคลื่อนให้กลุ่มอยู่รอด และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การมีจิตสาธารณะแยกแยะ ประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมของผู้นำ ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แม้ว่าไม่อาจเป็นสูตรสำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุดบทเรียนจากไม้เรียงก็สามารถเป็นแนวทาง ในการสนับสนุนธุรกิจชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
Be the first to comment on "ชุมชนไม้เรียง"