ตลาดนัดสีเขียว จังหวัดสุรินทร์ ตลาดนัดไม่ธรรมดา…บนการจัดการเพื่อรักษาสมดุล

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะต่อลมหายใจของตนเองด้วยการเลือกรับประทานอาหาร  ตลาดนัดสีเขียว จังหวัดสุรินทร์ จึงกลายเป็นประตูทางออกสำหรับกลุ่มคนเหล่านั้น  ตลาดนัดที่ไม่ธรรมดา ณ ณ ลานด้านหน้าเวทีไผทสราญ สวนรัก สวนสาธารณะ วัดจุมพล กลางเมือสุรินทร์ ซึ่งแรกเริ่มก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 โดยมีนัดกันเป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์….

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.สุรินทร์

  มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะต่อลมหายใจของตนเองด้วยการเลือกรับประทานอาหาร  ตลาดนัดสีเขียว จังหวัดสุรินทร์ จึงกลายเป็นประตูทางออกสำหรับกลุ่มคนเหล่านั้น  ตลาดนัดที่ไม่ธรรมดา ณ ณ ลานด้านหน้าเวทีไผทสราญ สวนรัก สวนสาธารณะ วัดจุมพล กลางเมือสุรินทร์ ซึ่งแรกเริ่มก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 โดยมีนัดกันเป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์จึงกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งใหม่สำหรับชาวสุรินทร์ผู้แสวงหาการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการสร้างสุขภาวะที่เข้มแข็งให้กับท้องถิ่นตนเอง

N ทำไม..ไม่ธรรมดา

มองโดยผิวเผิน ตลาดนัดสีเขียว ที่ทอดตัวยาวตามแนวถนนกรุงศรีนอกซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองสุรินทร์แห่งนี้อาจไม่แตกต่างจากตลาดสดทั่วไป แต่ถ้าสังเกตให้ดี ที่นี่คือ ตลาดทางเลือก ที่จำหน่ายเฉพาะสินค้าเกษตรปลอดสารพิษสารเคมี ผักพื้นบ้าน อาหารหรือขนมท้องถิ่นที่หาชิมได้ยาก รวมถึงผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างเสริมการมีสุขภาวะที่ดีในสังคมทั้งมิติทางใจ กาย สังคม และจิตวิญญาณ

ตลาดนัดสีเขียว จึงทำหน้าที่เสมือนเป็น จุดนัดพบ ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคซึ่งเชื่อมวิถีความเป็นเมืองกับชนบทให้ไปด้วยกัน ผ่านการพบปะ พูดคุย และอยู่บนฐานของความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายและเกื้อกูลต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

ตลาดนัดสีเขียว จ.สุรินทร์

 

บนเนื้อที่ไม่ถึงสองไร่ยังมีบริการแพทย์แผนไทย ตลอดจนมุมศิลปะเพื่อเด็กเยาวชน การแสดงผลงานศิลปะ หัตถกรรม และนิทรรศการความรู้ที่บ่งบอกความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ความเป็นท้องถิ่นสุรินทร์  ในบางโอกาส ตลาดนัดสีเขียวยังเป็น พื้นที่ทางสังคม ที่เสนอข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นสาธารณะซึ่งอยู่ในความสนใจของผู้คน เช่น การติดตามตรวจสอบการทำงาน การใช้อำนาจ หรือการกำหนดนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการจัดงานครบรอบเหตุการณ์สำคัญ เช่น 14 ตุลา สภาประชาชน  กิจกรรมรณรงค์ไม่เอาจีเอ็มโอ ซึ่งบางเวทีได้นำไปสู่ข้อเสนอระดับนโยบายของภาคประชาชน ตลาดนัดสีเขียวจึงเป็นพื้นที่สาธารณะทางสังคมที่คนจากหลายองค์กรหลายหน่วยงานทั้งราชการ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นจังหวัดและระดับภาคสามารถมาใช้ร่วมกันได้

ในมิติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ตลาดกลางแจ้งแห่งนี้ยังถูกใช้เป็น เวทีและแหล่งรวมศิลปะพื้นบ้านและวัฒนธรรม ที่หลอมรวมความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของชนพื้นเมืองในจังหวัดสุรินทร์เอาไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่นทั้งชาวเขมร กูย ลาว ซึ่งแต่ละครั้งก็มักพกพาความเพลิดเพลินและสนุกสนานมาเยือน


N ย้อนหลัง…การเดินทางของตลาดนัดสีเขียว

ตามแผนงานและยุทธศาสตร์การทำงานภาคประชาชนของจังหวัดสุรินทร์  กิจกรรมตลาดนัดสีเขียว จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะของประชาชน ประชาสังคม สร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการ เพื่อการขยายภูมิปัญญา แนวคิด ประสบการณ์ จากพื้นที่สู่สาธารณะและสู่กระบวนการทางนโยบาย  ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติการเชิงลึกเพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายประชาสังคมในจังหวัดสุรินทร์  สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ภาคประชาชนทั้ง 4 ด้าน คือ  ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองยุทธศาสตร์ชุมชนสังคมเข้มแข็ง ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพลังงานอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์การเมืองภาคประชาชนปรากฏการณ์ที่เห็นเป็นตลาดนัดสีเขียวทุกวันนี้ คือ การสั่งสมขึ้นจากฐานคิดและประสบการณ์การทำงานมากว่า 20 ปี ของกลุ่มคนทำงานด้านเกษตรและกสิกรรมปลอดสารพิษ กลุ่มเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งงานพัฒนาด้านอื่นๆ ในนามเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสุรินทร์ จนได้บทเรียนว่าด้วยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และพลังงานท้องถิ่น เชื่อมโยงกับแนวคิดและแบบอย่างด้านเกษตรผสมผสานของปราชญ์ท้องถิ่นชาวสุรินทร์ ทำให้กลุ่มเกษตรกรรุ่นต่อมานำมาทดลองและขยายผลโดยเพิ่มบทบาทและพื้นที่ให้กับการทำเกษตรแนวธรรมชาติมากขึ้น จนกลายเป็นกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในท้องถิ่นสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงแกนนำคนหนึ่งที่ร่วมก่อรูปตลาดนัดสีเขียวเล่าผ่านวงประชุมเมื่อต้องทบทวนถึงก้าวแรกๆ ของการทำตลาดนัดสีเขียวว่า “เกิดจากพื้นฐานหลักๆ ที่มีการคิดร่วมกันว่า น่าจะพื้นที่ของการพบปะแลกเปลี่ยนกันระหว่างความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตที่อยู่ในภาคชนบทซึ่งทำการผลิตในแปลงเกษตรอินทรีย์ กับภาคชุมชนเมืองซึ่งอยู่ในฐานะของผู้บริโภค แต่ยังต้องพึ่งพาผลผลิตและอาหารจากภายนอก”

การตั้งต้นบนเงื่อนไขของการเป็นตลาดทางเลือกโดยใช้ชื่อตรงไปตรงมาว่า “ตลาดนัดสีเขียว” จึงเป็นความลงตัวที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคนเมืองและคนชนบทมีพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน บนพื้นฐานการผลิตและการบริโภคที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศน์ ดีต่อสุขภาพ และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย  สอดคล้องกับวาระแห่งชาติและนโยบายจังหวัดว่าด้วยเรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำให้ตลาดนัดสีเขียวส่งผลในเชิงรูปธรรมได้เร็วตามที่คณะทำงานต้องการ  โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างขานรับและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี  พื้นที่ทางสังคมแห่งนี้ยังเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นเป็นของตนเองอันจะเป็นพลังทางปัญญาและนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นสุรินทร์ให้สุขสบายในที่สุด

 

บรรยากาศงาน “ตลาดนัดสีเขียว”

N จุดเริ่มต้น อุปสรรค การฝ่าฟัน และคำตอบรับ

ด้วยฐานคิดที่ไม่ได้ทำตลาดนัดธรรมดา การใส่ใจในเรื่อง “กระบวนการ” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะการทำงานเชิงความคิดที่ต้องดำเนินไปพร้อมกับการทำงานแบบมีส่วนร่วม จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคณะกรรมการจัดการตลาดนัดสีเขียว จึงระมัดระวังเป็นพิเศษกับการวางสัดส่วนคนทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนทั้งตัวแทนจากภาครัฐ กลุ่มเกษตรกร และจากองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมาย แนวทาง วัตถุประสงค์ วางแผนและออกแบบกิจกรรม พร้อมกับการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง ข่าวสารนโยบาย สำรวจและสุ่มความต้องการของผู้บริโภค ตรวจสอบฐานการผลิตของเกษตรกร เพื่อนำมาวิเคราะห์ ประเมินศักยภาพและหาความเป็นไปได้ในการทำตลาดนัดสีเขียวให้เกิดขึ้น ปัจจุบัน คณะกรรมการจัดการตลาดนัดสีเขียว ได้แบ่งบทบาทหน้าที่ออกเป็นฝ่ายต่างๆ คือ ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ฝ่ายลงทะเบียนและเหรัญญิก ฝ่ายดูแลความสะอาด และฝ่ายอาคารสถานที่

อุปสรรคสำคัญที่ตามมา คือ การทำความเข้าใจกับคนในสังคมถึงความหมายใหม่ของการเป็นตลาดนัดที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเป็นจุดซื้อขาย  การออกแบบกิจกรรมที่สะท้อนถึงคุณค่าและความหลากหลายโดยมีเป้าหมายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การทำงานของภาคประชาชนจึงเป็นรูปธรรมที่ต้องทำให้ปรากฏอย่างเป็นกิจวัตรและต่อเนื่อง พร้อมกับพูดคุยหรือเสวนาถึงความเป็นมาเป็นไปของการจัดตั้งตลาดนัดสีเขียวทุกครั้งที่มีโอกาส

เวทีสืบเสวนา “ตลาดนัดสีเขียว”

ชมนิทรรศกาล

 

เช่นเดียวกับการสร้างความเข้าใจกับตัวเกษตรกรหรือผู้ผลิตว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุดหรือสิ่งที่คาดหวังในการทำตลาดนัดสีเขียว เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจึงจำเป็นต้องมีฐานความรู้ความเข้าใจในเรื่องกลไกการผลิต การตลาด และเรื่องราคาอยู่พอสมควร ทั้งโดยการศึกษาดูงานการทำเกษตรธรรมชาติของกลุ่มอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์และนำมาทดลองใช้กับตัวเอง และการแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายที่มีแนวทางคล้ายคลึงกันซึ่งเป็นกำลังใจและสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเพื่อนสมาชิก

กระบวนการจัดการของคณะกรรมการตลาดนัดสีเขียว ยังครอบคลุมการให้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องกลไกการผลิตแก่เกษตรกร เพราะผู้บริโภคมักถามหาเรื่องความต่อเนื่องของสินค้า รวมทั้งความใหม่ สด สวยงาม เพราะยึดติดกับพืชผักเศรษฐกิจที่สามารถหาซื้อได้ตลอดปีตามตลาดสดทั่วไป ในขณะที่การปลูกผักพื้นบ้านหรืออาหารท้องถิ่นส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตตามฤดูกาลเท่านั้น

ทางออกหนึ่งเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มผู้บริโภคในเมืองก็คือ การจัดทัศนศึกษาชมแปลงผักของเกษตรกรผู้ผลิต ทำให้ให้ผู้บริโภค ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่เทศบาลและหน่วยงานที่เข้าชมให้การยอมรับในคุณภาพของสินค้า รวมทั้งเห็นอกเห็นใจในความอดทนและใช้เวลากว่าจะได้ผลผลิตมาจำหน่าย จึงช่วยลดปัญหาเรื่องการต่อรองราคา นำมาสู่สัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และเป็นพื้นฐานสู่การสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นระหว่างผู้คนในสังคม

คณะทำงานตลาดนัดสีเขียวยังทำงานควบคุมคุณภาพผลผลิต โดยมีฝ่ายดูแลตรวจสอบผลผลิตในระดับไร่นาก่อนนำสู่ตลาด นอกเหนือจากที่สมาชิกแต่ละคุ้มบ้านจะช่วยกันตรวจสอบภายในกลุ่มของตัวเองแล้ว บางครั้งหากต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยก็จะขอความร่วมมือกับภาครัฐ เช่น สาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด  ตลอดจนการใส่ใจในบรรจุภัณฑ์สินค้าซึ่งรณรงค์ให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบตองแทนการใช้โฟม และการใช้ตะกร้า ถุงผ้า หรือนำถุงพลาสติกเดิมกลับมาใช้อีกครั้ง  แต่ก็ยังเป็นไปได้ยากเพราะสวนทางกับกระแสการบริโภคของโลกปัจจุบัน

การเผยแพร่ รณรงค์ ให้คนทั่วไปได้รู้จักตลาดนัดสีเขียว คณะทำงานเลือกใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องขยายเสียงทั้งโดยรถแห่ คัทเอาท์ ป้ายผ้า แผ่นพับ เพื่อเป็นตัวเร่งให้สาธารณะได้รู้จัก แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่าการได้ลองมา “ชิม” แล้วบอกกันแบบ “ปากต่อปาก” เพราะเงื่อนไขด้านงบประมาณที่มีอยู่จำกัดย่อมไม่อาจเพียงพอสำหรับการทำประชาสัมพันธ์ในระยะยาว

ในเชิงการจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต อาศัยฐานคิดที่ต้องการให้ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดที่กลุ่มชาวนา ชาวไร่ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการมากที่สุด จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาตลาดนัดสีเขียวโดยเก็บค่าบำรุงรายสัปดาห์จากสมาชิกเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายในการพัฒนาตลาด

ด้านการให้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มองค์กรต่างๆ แม้จะมีเสียงตอบรับที่ดี แต่มองในแง่ระดับการมีส่วนร่วม พบว่า ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องด้วยศักยภาพและความพร้อมที่ต่างกันของแต่ละกลุ่มแต่ละองค์กร โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคธุรกิจซึ่งยังมีส่วนร่วมน้อยมาก อาจเป็นเพราะการทำเกษตรปลอดสารเป็นการผลิตขั้นต่ำที่มีจำนวนไม่มากจนต้องพึ่งพาระบบธุรกิจ ประการสำคัญ การที่ภาครัฐยังไม่บรรจุแนวคิดเรื่องตลาดนัดสีเขียวเข้าสู่วาระหรือแผนงานนโยบายของท้องถิ่นหรือจังหวัดอย่างชัดเจนทำให้เป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบที่ชัดเจนและแน่นอนของตลาดนัดสีเขียวในอนาคต

N ข้อค้นพบและผลที่เกิดขึ้น

ต่อวิธีคิดและพฤติกรรม

1. เกษตรกรรู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรีเพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง เพราะมีกิน มีใช้ และเหลือเก็บมากขึ้น

2. การเปิดพื้นที่และรับทราบความต้องการของผู้บริโภคในเมืองช่วยกระตุ้นให้กลุ่มผู้ผลิตหรือเกษตรกรมีกระบวนการวางแผนและออกแบบการผลิตพืชผักตนเองมากขึ้น เช่น ฤดูกาลนี้ควรจะเพาะหว่านอะไร และสิ่งที่หาได้ตามธรรมชาติจะมีช่วงไหนบ้าง

3. ความนิยมและการตอบรับที่ดีของผู้บริโภคช่วยสร้างคุณค่าและพื้นที่ให้กับผักพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น ซึ่งสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิต ส่งผลให้การกู้ยืมเงินรายสัปดาห์ของเกษตรกรลดลง

4.ความเป็นเอกลักษณ์ของตลาดปลอดสารช่วยเป็นกลไกควบคุมและกำกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนให้หันมาเลือกรับประทานผักพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่นที่ปลอดภัยและหาซื้อได้ในบางฤดูกาล  ช่วยลดการบริโภคผักเศรษฐกิจซึ่งเสี่ยงต่อสารพิษจากยาฆ่าแมลง

5. เกิดเจตคติที่ดีของบุตรหลานเกษตรกรในการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ทำให้เห็นคุณค่าของเงินที่หามาได้ และสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัวยิ่งขึ้น

6. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความเชื่อมโยงที่เป็นมิติทางสังคมมากขึ้นระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ผู้ผลิตกับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

7. กลุ่มคนทำงานได้รู้จักพันธมิตรและเครือข่ายในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น

 

ต่อกระบวนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

1. เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ของการเป็นตลาดที่มีความหมายมากกว่าการเป็นจุดซื้อขายธรรมดา แต่คือพื้นที่ทางสังคมที่เป็นจุดพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งรวมความหลากหลายของชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน

2.เป็นการเพิ่มพื้นที่ในการสื่อสารระหว่างกันของคนเมืองและคนชนบท ผ่านเรื่องราวและประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นตนเอง

3. มีผลให้การขับเคลื่อนงานเชิงประเด็น เช่นกรณีพื้นที่สาธารณะ – ตลาดนัดสีเขียว กลายให้เป็นวาระทางสังคมของท้องถิ่นสุรินทร์

4. การประชุมเพื่อสรุปบทเรียนการทำงานตลาดนัดสีเขียวทุกๆ 3 เดือน ช่วยยกระดับการทำงานและกระบวนการจัดการที่เป็นรูปธรรมสู่การพัฒนาให้เป็นชุดความรู้และประสบการณ์การทำงานสร้างสุขภาวะและชีวิตสาธารณะที่เข้มแข็งของท้องถิ่น ซึ่งมีการนำไปแลกเปลี่ยนเผยแพร่ในการประชุมสมัชชาวิชาการของภาคประชาชนจังหวัดสุรินทร์ซึ่งจัดขึ้นทุกปี

 

N ปัจจัยเงื่อนไข…สู่ความสำเร็จ

1. การสร้างความเท่าเทียมระหว่างภาคชนบทและเมืองด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ของคนเมืองและคนชนบทผ่านการพบปะ พูดคุย และเสวนาในเรื่องราวของท้องถิ่นบ้านเมืองซึ่งนำไปสู่การจัดการสุขภาพแบบองค์รวมและสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้น

2. ความมุ่งมั่นที่จะพึ่งพาตัวเองของกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ทำให้ลุกขึ้นมาทำด้วยตัวเอง ควบคุมคุณภาพได้ ไม่ปฏิเสธการตรวจสอบ รักษาความต่อเนื่อง และอยู่บนความซื่อสัตย์และเกื้อกูลต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

3. การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในเกษตรทางเลือก  ทำให้ผู้ผลิตภูมิใจที่สินค้าของตนเองขายได้ และมีกำลังใจที่จะผลิตสินค้ามาจำหน่ายต่อไป

4. การมีองค์กรพัฒนาในพื้นที่ คอยเป็น ‘พี่เลี้ยง’ ให้การช่วยเหลือ และมีงานฐานความรู้เป็นเครื่องมือสนับสนุนส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตอย่างจริงจังต่อเนื่อง

5. การมียุทธวิธีในการช่วงชิงประเด็นและพื้นที่การทำงาน โดยอาศัยจังหวะเวลาและโอกาสที่เหมาะสม เช่น กรณีการกำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ

6. ความร่วมมืออันดีขององค์กรส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลเมืองสุรินทร์ กับการปรับทัศนะใหม่ในการเข้าใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

7. การประสานการทำงานในแนวราบของภาคประชาชน ซึ่งสร้างความเท่าเทียมกันบนฐานความคิดที่แตกต่างกันของผู้คน โดยมีกิจกรรมที่สร้างความเคลื่อนไหวและหลากหลายด้วยการมีส่วนร่วมของกลุ่มคน องค์กร หน่วยงานต่างๆ เป็นตัวเชื่อม

8. การมีสื่อช่วยสนับสนุนและขยายผล ทั้งการนำเสนอโดยสื่อส่วนกลาง เช่น นิตยสาร รายการโทรทัศน์ วีดิทัศน์แนะนำตลาดนัดสีเขียว เว็บไซด์ และสื่อในพื้นที่ เช่น วิทยุชุมชน


N 4 ความคิดทิ้งท้าย…หากมีใครอยากนำไปทำบ้าง

1. ในเมื่อพื้นที่สาธารณะคือมิติของการใช้พื้นที่ทางสังคม หน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาล ควรต้องเป็นเจ้าภาพร่วมในการคิด ออกแบบ และวางแผนด้วยตั้งแต่แรก

2. การเปิดเวทีของการพูดคุยให้มากขึ้นทั้งกับกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภคในมิติความเชื่อมโยงระหว่างนิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จะเป็นจุดเสริมพลังเพื่อสร้างคุณค่าที่มากขึ้นให้กับตัวตลาด

3. การให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เด็ดขาด เช่นเดียวกับการจัดวางผลผลิตที่จำหน่ายให้ถูกสุขอนามัย เป็นระเบียบสวยงาม รวมถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือลดการใช้บรรจุภัฑณ์ที่ไม่จำเป็น

4. เพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ควรดึงหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ใจต้องมาก่อน จากนั้นสร้างความเข้าใจและการรวมกลุ่มในพื้นที่เพื่อปฏิบัติการจริงจนสามารถรวมผลผลิตมาจำหน่ายได้ภายใต้บริบทเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นตนเองเป็นสำคัญ การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นก่อนจะถูกบันทึกไว้ พร้อมกับการสรุปบทเรียนและ ประสบการณ์การทำงานเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นชุดความรู้คู่ท้องถิ่นต่อไป

FACT SHEET
เอกสารข้อมูล
เอกสารข้อมูลประกอบ : ห้องย่อยที่ 1  พื้นที่สาธารณะกับท้องถิ่นน่าอยู่
 เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม  “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย”  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2549  ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ  กทม
สนับสนุนข้อมูลโดย

โครงการท้องถิ่นสุรินทร์สุขสบาย (สเราะสแรสเร็นสรูลบูล)

เลขที่ 53/1 ซ.สระโบราณ ถ.สระโบราณ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ 32000

โทรศัพท์ 0-4451-1172

จัดทำโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3  www.ldinet.org

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Be the first to comment on "ตลาดนัดสีเขียว จังหวัดสุรินทร์ ตลาดนัดไม่ธรรมดา…บนการจัดการเพื่อรักษาสมดุล"

Leave a comment

Your email address will not be published.