ตอนที่ 50 รัฐบาลแพ้ แต่พม.ชนะ

 

แม้การเมืองเรื่องประชามติและการเลือกตั้งจะเข้มข้น หรือกระแสวิพากษ์วิจารณ์ค่าเงินบาทแข็งจะดึงจุดสนใจจากผู้คน 

งานพม.ยังคงมีสีสันในพื้นที่สื่อให้ผู้สนใจได้ติดตามอยู่ทุกวัน ทั้งในเรื่องงานทั่วไปของ กระทรวง และงานผลักดันกฏหมายในครม.และสภานิติบัญญัติ การแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองรายวันของรมช.พม. การวิจารณ์ประธาน คมช. พลเอกสนธิ บุณยรัตกลินที่มีข่าวจะลงการเมืองว่า“ไม่รุ่ง” กลายเป็นประเด็นสีสันที่สื่อหลายฉบับจับขยาย พร้อมกับพรรณนาทำนองว่า “รมช.น้องใหม่ กล้าฟันธง” ในขณะที่ผู้อาวุธโสอื่นพากันเตือนแบบเลียบเคียง เสาร์สุดสัปดาห์ถึงคิวออกรายการ “สายตรงทำเนียบรัฐบาล”กับ 2 โฆษกรัฐบาล นพ.ยงยุทธ มัยลาภ และครูเคท (อรปรียา) ที่ สทท.11 ก่อนเดินทางเข้าเฝ้าถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวังสวนจิตรลดาตอนค่ำ

 

สัปดาห์นี้มีเรื่อง กฏหมายพม.1 ฉบับ และพาณิชย์ 1 ฉบับ ที่รัฐบาลแพ้โหวตในสรท.สนช. แต่ทั้ง 2 ฉบับพลังฝ่ายก้าวหน้าในสังคมเป็นฝ่ายชนะ และสำหรับพม.แล้ว ถือว่าได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลของการเดินยุทธศาสตร์ของรมต.พม. 2 พี่น้องทั้งในส่วนที่นั่ง ในครม.อมาตยาธิปไตยและในส่วนของการเดินหมากในสภาสนช.และสังคมวงกว้าง นับว่าเป็น “บทเรียนรู้สำคัญบทหนึ่งของการเป็นรมต.” ทีเดียว

 

5 ส.ค

 

    นสพ.ไทยโพสต์ฉบับแท็บลอยด์วันนี้ลงบทสัมภาษณ์ “หมอเลี๊ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมต.ยุคไทยรักไทยผู้ใกล้ชิดทักษิณ เป็นคน6ตุลามหิดล ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสร้างพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันเป็นแกนนำกลุ่มไทยรักไทยหลังพรรคถูกยุบ และคราวนี้มีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนหรือไม่ก็เป็นผู้นำ สายตรงของทักษิณ ชินวัตร ตัวจริงอีกคนหนึ่ง หมอเลี๊ยบแสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าอยู่ข้าง “ทุนนิยมสุดโต่ง และ ประชานิยมแบบไทยรักไทย”

         หมอเลี๊ยบเป็นแพทย์และนักศึกษารุ่นน้องที่รู้จักมักคุ้นและเคารพนับถือกันมายาวนานกว่า 30 ปี แม้บัดนี้จะยืนอยู่คนละฝั่งความคิด ผมยังคงถือว่าพวกเขาคือน้องที่ใกล้ชิดอยู่เช่นเดิม เขาเป็นคนที่มีความคิดความอ่านดี ศักยภาพสูง มีความมุ่งมั่นทำงานการเมืองโดยต่อต้านศักดินาและอมาตยธิปไตยอย่างแข็งขัน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่อง “ดี” เพราะหากไม่มีคนกลุ่มนี้จะทำให้ระบบอมาตยาธิปไตยเข้มแข็งจนกลายเป็นเครื่องถ่วงรั้งโอกาสความเจริญของประเทศไทยในภาพรวมระยะยาว 

    11.00 น. ไปเป็นประธานเปิดค่ายเยาวชนประชาธิปไตย ที่ สำนักงานสท.สนับสนุนผ่านเครือข่ายเดือนตุลา พวกเขาทำค่าย มีเยาวชนร่วมกิจกรรมค่ายละ 50 คน รวม 512 คนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ พี่ๆวิทยากรจะช่วยสอนการเขียนบทเพลง คำร้อง และทำนอง เด็กแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์กันออกมา มีเพลงที่เด็กแต่งปในโครงการนี้ประมาณ 100 เพลง ผมให้คัดเลือกที่ดีที่สุด 20 เพลง เพื่อจัดทำเป็นอัลบั้ม และบันทึกลงCD เผยแพร่รณรงค์การลงประชามติ / ประชาธิปไตย

เด็กช่วยกันทำโครงการเสนอ สท.ประมาณ 30 โครงการซึ่ง สท.ได้เตรียมงบประมาณสนับสนุนรออยู่แล้ว เด็กขอมีโครงการทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมตามที่เขาคิด

    14.00 น. ไปเยี่ยมขบวนมหกรรมประชาธิปไตยที่เมืองทองธานี Impact เป็นงานรัฐบาลจัด มีเครือข่าย สXส และภาคประชาสังคมของเราเป็นกำลังสำคัญด้วย มี 3 วัน (3-4-5 สค. 50) มีคนมาร่วมงานมากพอประมาณ มีกิจกรรมแสดง และให้ความรู้หลากหลาย รัฐบาลหวังจะใช้เป็นEvent หนึ่งในการรณรงค์กระตุ้นประชาชน ไปลงประชามติ 

ในงานมีกลุ่มม็อบPTV กลุ่มรักทักษิณ(นปก) ไปร่วมป่วนอยู่พอเป็นกระสาย พวกเขาแต่งชุดเสื้อแดง Vote No(ไม่รับรัฐธรรมนูญ)

วันนี้ผมเริ่มเปิดประเด็น “รณรงค์ให้ยอมรับผลประชามติไม่ว่าจะออกมาเช่นไร” ว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการ “รณรงค์ให้ประชาชนมาลงประชามติ”เพราะไม่เช่นนั้น บ้านเมืองเราจะเดินหน้าไปไม่ได้ และเรียกร้องให้ช่วยกันประคองประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะการเมืองปกติโดยเร็ว ซึ่งสื่อมวลชนหลายฉบับตอบรับทันที

    ตอนค่ำมีงานรวมญาติ อวยพรคุณย่าและคุณยายที่บ้านในโอกาสวันแม่แห่งชาติ และไปกินข้าวเย็นร่วมกันที่ภัตราคารแถวๆ ถนนรามอินทรา

 

6 สค.

 

    คุยกับปลัด พม. ตอนเช้าเช่นเคย มีเรื่องโครงสร้างและการจัดงานมหกรรมพม.เดือนกันยายน มีกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยากย้ายโอนเข้ามาเป็นข้าราชการ พม.

    9.00 น. เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนารัฐธรรมนูญ 50 กับมิติสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่บ้านราชวิถี เป็นงานที่เปิดมิติใหม่ของพม.ในแง่รัฐธรรมนูญและแง่วิชาการ ซึ่งกระทรวงพม.ไม่เคยทำบทบาทเช่นนี้มาก่อน ผลได้รับการตอบรับและพึงพอใจกันทั่วหน้า

    10.15 น. ไปร่วมงานสัมมนา ลด ละ เลิก การพนันที่ทำเนียบรัฐบาล มีรองนายกฯไพบูลย์ เป็นประธาน เป็นงานต่อเนื่องที่ ครม.เห็นชอบแผนงานชีวิตมั่นงคงปลอดอบายมุขของพม.(2550-2552) และพม.-ศูนย์คุณธรรม-สสส.สนับสนุนงบลงขันประมาณคนละ 5ล้าน ให้มสช.เป็นองค์กรดำเนินการในระยะที่ 1

     มสช. ทำงานทดลองใช้พลังชุมชน-ท้องถิ่น สร้างครอบครัวสีขาว(ปลอดหวย-ปลอดพนัน-ปลอดอบายมุข ) ใน จังหวัดน่าน,กทม,จันทบุรี,พัทลุงและโคราช

     วันนี้เครือข่ายพวกเขานำผลงานมาขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ ผมทำหน้าที่ประธานดำเนินการประชุมสัมมนา 2 ชม.เต็ม ได้ข้อสรุปสำคัญพร้อมที่จะนำเข้าเสนอต่อครม.และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้ง “คณะกรรมการนโยบายควบคุมการพนันแห่งชาติ” ต่อไปในเร็วนี้

    15.00 น.เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโครงการเมืองน่าอยู่ ของ LDI ที่ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไทและสสส.ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 โครงการนี้ดีมากแต่ สสส.มีปัญหาการสนับสนุนจากสสส. ทำให้ทิ้งช่วงไปเกือบ 1 ปี

          งานHC ในปีที่ 3 มีเรื่องท้าทายมากมาย

·       จะขยายผลจากงานวิชาการ – งานวิจัยพื้นที่ในปีที่ 1-2 ไปสู่การขับเคลื่อนเครือข่ายให้แรงได้อย่างไร

·   จะส่งไม้ต่อจากโครงการHCไปสู่ความรับผิดชอบของสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยทั้งระดับชาติ,ภูมิภาคและจังหวัดได้อย่างไร?
·       เมื่อจบโครงการปีที่ 3 LDI ควรมีบทบาทที่เหมาะสมอย่างไร?แค่ไหน

    19.00 น. ร่วมงานเลี้ยงรับรอง รมต.และข้าราชการระดับสูง ของศูนย์กลางแม่หญิงลาว ซึ่งเป็นแขกของ พอช. มีงานร่วมมือส่งเสริมกันมาหลายปีแล้ว มีโอกาสได้พบปะผู้นำจากองค์กรสตรีของไทยหลายคน เช่น คุณหญิง สุพัตรา มาศดิตถ์    คุณมาลีรัตน์ แก้วค่า คุณศิรินา (นายกสภาสตรีแห่งชาติ) และดร.สุจิตรา ทอมป์สัน ฯลฯ

     ได้ฟังเรื่องราวและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแม่หญิงลาวหลายประเด็น เป็นที่สนุกสนานมาก

·   งานสตรีใน สสป.ลาว เป็นงานสำคัญของพรรคและรัฐบาลเช่นเดียวกับประเทศสังคมนิยมทั้งหลายเขามีโครงสร้างองค์กรรัฐ ในระดับกระทรวง ,ระดับจังหวัด(แขวง)และระดับอำเภอ(เมือง) ส่วนระดับตำบล-หมู่บ้านไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ มีแต่สมาชิกภาคประชาชน มีเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศประมาณ 1000 คน

·   เขาสนใจงานพัฒนาสตรีและพัฒนาชุมชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง ศิลปาชีพ กลุ่มท่อนเงิน(กลุ่มออมทรัพย์)

 

7 ส.ค.

 

    9.00 น. ประชุม ครม. นอกรอบวันนี้ไม่มีพลเอกสนธิ เพราะท่านไปประเทศอินโดนีเซีย นายกฯปรึกษาเรื่องเดียวคือ “รณรงค์ประชามติ” (19 สค.) จะทำอย่างไรดี ทุกกระทรวงต่างแสดงความเห็นและบอกว่าที่ประชุมว่าทำอะไรช่วยกันบ้าง , สธ.บอกใช้ อสม800,000 คน, ศธ.บอกใช้ รร.30,000 แห่งผ่านเด็กนร.ไปถึงพ่อ แม่ ,มท.บอกไช้อาสาสมัครประชาธิปไตย 15 ล้าน คน ผมบอกให้ใช้ข่ายองค์กรชุมชน

         การประชุมครม.วันนี้มีวาระพิจารณาของ พม. 4 เรื่อง หนักๆทั้งนั้นเลย

·   การขอจัดตั้งAPCD (ศูนย์พัฒนาคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิก)ให้เป็นองค์กรมหาชน ก่อนที่จะยกระดับเป็นองค์กรระหว่างประเทศภายใน 2555 (5ปี) แต่ครม.มีมติให้เป็นองค์กรอิสระในการสนับสนุนของมูลนิธิ APCD ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯแทน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนผ่านกระทรวงพม. ทั้งทางงบประมาณ นโยบายและการบริหารจัดการทั่วไป

·   (ร่าง) พรบ.สภาองค์กรชุมชน(ที่โด่งดัง!) ถูกสนง.กฤษฎีกามีวินิจฉัยส่งกลับเข้าครม.ว่า “ไม่สมควรออกเป็นกฏหมาย” เพราะมีข้อกังวลมากมายและเกรงจะเสียธรรมชาติของชุมชนแข้มแข็งไป พม.จึงขอนำกลับมาทบทวน โดยปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง มท.,อปท.,ชุมชน

·   (ร่าง) พรบ. พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พม.ขอมติครม.อีกครั้งว่าจะยืนยันหลักการเดิมที่จะไม่ให้มีหน่วยงานใหม่,หรือไม่? เพราะกรรมาธิการสนช.ขอเปลี่ยนเป็นระลอกที่ 2 (“คือครั้งแรกขอตั้งองค์กรมหาชน ครม.ยืนยันไม่สนับสนุน,คราวนี้ขอตั้งเป็นหน่วยงานราชการระดับกรมรัฐบาลจะว่าอย่างไร”)  มติครม.ยืนยันในหลักการเช่นเดิม และมอบให้ พม.ไปประสานชี้แจงกรรมาธิการสนช. เป็นการด่วนตอนบ่ายนี้ เพราะพรุ่งนี้จะนำเข้าสภาสนช.เพื่อพิจารณาวาระ2และ3

·   การลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการทรมานนักโทษ พม.มีกม.คนขอทานอยู่ 1ฉบับที่เป็นอุปสรรคและขัดแย้งหลักการดังกล่าว ครม.มีความเห็นชอบให้ลงนาม เพราะการลงนามได้ ไม่มีผลต่อกม.เดิมที่มีอยู่

    12.30 น. กินข้าวกลางวันโต๊ะเดียวกับท่านนายกฯ ท่านถามถึงโครงการจชต.ที่ปอเนาะพ่อมิ่ง จึงรายงานท่านว่าจบโครงการเรียบร้อยแล้วและตั้งใจว่าจะให้มีพิธีปิดโครงการและส่งมอบงาน ท่านนายกหันไป ปรึกษารองฯไพบูลย์ว่าน่าจะลงพื้นที่ด้วยกันและไปหลายงานในคราวเดียว

    ออกจากตึก ครม. นักข่าวขอสัมภาษณ์หลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่งถามความเห็นกรณีมีข่าวว่าประธานคมช.จะลงการเมือง ผมตอบว่า“ไม่รุ่ง” พร้อมกับเสียงหัวเราะ วันรุ่งขึ้นข่าวลงกันเกรียว)

    14.00 น. ไปชี้แจงคณะกรรมาธิการ สนช.ชุดนี้มี ประธานของกรรมาธิการชุดต่างๆเข้ามาเป็นองค์คณะ , ทำหน้าที่กำหนดวาระประชุมสนช.ว่าจะนำเรื่องอะไร – กม.ฉบับไหนเข้าสู่การพิจารณา ผมมีหน้าที่นำมติครม.ไปแจ้งเรื่อง(ร่าง) พรบ.พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ว่ารัฐบาลยืนยันไม่ยอมให้ตั้งเป็น “กรม” แต่พวกเขาก็รู้ทันและช่วยกันปรับแก้ไปอีกว่า “ให้เป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่กรม แต่มีอธิบดีเป็นหัวหน้า. “และขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี” ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ชี้แจงที่ประชุมว่า “เหมือน หน่วยงานกพร.” ผมหยั่งกระแสแล้ว พบว่าพวกเขา (สนช.) ไม่ยอมตามรัฐบาลแน่ ครูหยุยมาคุยเป็นการส่วนตัวว่า “เรื่องนี้หมอไม่ต้องกังวล” ซึ่งผมเห็นด้วยเพราะ พม.มีแต่จะได้ แม้ว่าจะทำให้เสียธรรมเนียมปฏิบัติและขั้นตอนปกติในการตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐบาลไปบ้างก็ตามสุดท้ายพวกเขาสรุปว่า “ครม.ไม่มีอำนาจก้าวก่าย เพราะเป็นเรื่องของสนช.” พรุ่งนี้เขาจะนำร่างพรบ.นี้เข้าสภาสนช.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาวาระ 2และ3 เลย แล้วไปลุ้น โหวต ในสภากันเอาเอง!

    เรื่องนี้เป็นเรื่องร้อนสุดๆเรื่องหนึ่ง หนังสือพิมพ์พาดหัวหวือหวาเช่น “พลเดชยัวะ สนช. “,รายงานข่าวเกือบทุกฉบับพูดในทำนองเดียวกัน,ซึ่งดีมาก,เพราะพลเดชในนามของ ครม.ก็ต้องทำอย่างนั้น จะพูด-แสดง เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ,เพื่อนฝูงที่ห่างไกลอ่านข่าวแล้วเกิดเป็นห่วง เพราะภาพออกมาไม่สวย ผมบอกว่า “ดีแล้ว” ,“ นี่คือยุทธวิธี”

    15.00 น. กลุ่มวีรชน 14 ตุลา ขอพบแสดงความขอบคุณที่ รมช.พม. เป็นจักรกลสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้รับเงินชดเชย คนละ 3.5 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้รับเรียบร้อยแล้ว บางคนนำไปซื้อบ้านอยู่ถาวรแล้ว ชีวิตดีขึ้นมาก ผมดีใจไปกับเขาด้วย

 

8 ส.ค

 

    ดร.วีรชัย วีระเมธีกุล และคุณหมอกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ โทรมาหาด้วยร้อนรนว่า เรื่องกรรมาธิการเป็นเรื่องใหญ่มาก อยากให้ช่วยกัน Lobby ครูหยุยให้ชะลอเรื่องเข้าสภาวันนี้ให้ได้ เพราะรัฐบาลเกรงว่าจะแพ้โหวตและเจะเสียธรรมเนียมปฏิบัติ ระบบจะรวน ผมรับปากว่าจะช่วยพูดแต่รับรองความสำเร็จไม่ได้

    13.00 น. ประชุมกรรมการที่ปรึกษานายกฯเรื่อง จชต. ,วันนี้เชิญอจ.ชิดชนก ราฮิมมูลาบรรยาย ,ท่านชี้ว่ายุทธศาสตร์เจรจากับกลุ่มแยกดินแดนในต่างประเทศนั้นสำคัญ ไม่ควรละเลย เพราะท่านมองว่ากลุ่มปัญญาชนของมุสลิมมาเลย์ในต่างประเทศ ไม่เคยสัมผัสประเทศไทย ไม่รู้ความจริงแต่มีบทบาททางวิชาการสูงและเป็นที่เชื่อถืออ้างอิงของสื่อต่างประเทศมาก ,ผมอยู่ประชุมได้พักเดียวต้องไปสรท สนช.เพื่อชี้แจงเสนอกม.พม. ปล่อยให้พลโท ศิรพงษ์ (รองเลขาสมช.) เป็นประธานต่อ

    ที่ สภาสนช. ต้องนั่งรอคิวการพิจารณากม. 2 ฉบับ ซึ่งใช้เวลานานมาก หนึ่งใน นั้นคือ พรบ.คนพิการของพม.นั่นเอง การแสดงเหตุผลอภิปรายของสนช.ฝ่ายสนับสนุนกรรมาธิการนั้นหนักแน่นมาก  ตอนVote  ผมกับ ดร.วีระชัย (รองลธน.) นั่งลุ้นกันที่ห้องอาหารหน้า จอTV ,แกคิดว่าฝ่ายรัฐบาลน่าจะชนะทดสอบ,พอผลโหวตออกมาตรงกันข้ามแกหน้าเจื่อนเลย รัฐบาลแพ้ 77 :85 เป็นอันว่า สนช.ผ่านกม.นี้ทั้งวาระ2-3 , รอการเสนอลง ภปร.ใช้เป็นกม.ต่อไปผลจากกฏหมายฉบับนี้กระทรวงพม.ได้หน่วยงานระดับกรมเพิ่มขึ้นอีก 1 หน่วย

    วาระ สนช. ต่อมาเป็นการพิจารณากม.การค้าธุรกิจคนต่างชาติ(กม.คนขายชาติที่กลุ่มพันธมิตรเรียกขาน) ฉบับนี้รมต.พาณิชย์(เกริกไกร) ลงทุนมาเป็นประธานด้วยตนเอง กรรมาธิการเสียงข้างมากเอาด้วยกับประธานคือกำหนด “นิยามอ่อนบัญชีแนบท้ายพรบ.แข็ง” ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็นเอาไว้สู้กันในสภาชุดใหญ่ มีแต่คนดังๆทั้งนั้นเช่น คำนูญ สิทธิสมาน ,โคทม อารียา ,ภัทระ คำพิทักษ์,บัญญัติ ทัศนียานนท์,ฯลฯ สุดท้ายโหวต รัฐบาลแพ้อีกเป็นคำรบ 2ในวันเดียว คะแนน 76:64

    การพ่ายแพ้ของรัฐบาลคราวนี้ สะท้อนปัญหาความอ่อนแอ ความไม่มีประสิทธิภาพของคณะกรรมการ ปนช. (whip) ที่มีหม่อมราชวงศ์ กำรูญเทพ เทวกุลเป็นประธาน ส่งผลให้มีการลาออกกันทั้งแผงและต้องยุบและเปลี่ยนตัวกันใหม่ในเวลาต่อมา

    บทเรียนครั้งนี้ ทำให้ผมเห็นได้ชัดว่า สถานการณ์รัฐบาลใน สภาสนช.ย่ำแย่แล้วต่อไปสนช.อาจจะช่วงชิงแย่งผลงานจากรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในเรื่องกม.ต่างๆ,รัฐบาลจะถือว่าตนมีอำนาจอย่างเดิมไม่ได้เป็นอันขาด

    สำหรับในส่วนของพม. ผมมั่นใจว่า รัฐบาลแพ้ แต่ พม.ชนะ!ทั้งนี้เพราะยุทธศาสตร์ของเราถูกต้อง เรายึดอยู่กับประชาชน-สังคมมาตลอด สื่อมวลชนและสมาชิกสนช.อยู่ข้างเรามาอย่างเหนียวแน่น บางครั้งเราแพ้ในครม.เช่นกรณีพรบ.สภาองค์กรชุมชน แต่เราชนะในกระแสสังคม และผมเชื่อว่ากรณีดังกล่าวเราจะชนะในสภาอีกเช่นเดียวกัน

    วันนี้ผมไปในนาม ครม.เพื่อเสนอกม.(ร่าง) พรบ.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก-เยาวชน ,1 ฉบับ ,สภาผ่านวาระ 1 เรียบร้อยแล้ว อีกไม่นานจะกลับมาวาระ2,3 และออกเป็นกฎหมายต่อไป ,ระหว่างรอ ผมประมวลได้ว่า ในรอบ 12 เดือนยุคไพบูลย์-พลเดช เราจะมีผลงานกม.รวม12 ฉบับ (เป็นอย่างน้อย)

    19.00 น. รองนายกฯไพบูลย์มาประชุมติดตามเรื่อง กคช. ขอให้ผว.กคช.มาชี้แจงแผนการแก้ปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งระบบ ซึ่งก้าวหน้าไปมาก ถึงขั้นที่จะเสนอเข้าสู่ครม.พิจารณาอนุมัติแนวทางแก้ปัญหาทั้งระบบได้แล้วภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

 

9 ส.ค.

 

         วันนี้อยู่ที่กระทรวง ต้อนรับคณะสื่อมวลชนทั้งวัน

    10.00 น. สทท.11 มาบันทึกเทปเรื่อง “ยุทธศาสตร์ลดละเลิดการพนัน”ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสัมมนา 6 ส.ค50

         12.00 น. วรรณชัย มาปรึกษาเรื่องงาน จชต.

    13.00 น. ทีมสื่อมวลชนประจำ พม. เป็นนักข่าวสาว 4 คนมารุมสัมภาษณ์หลายเรื่อง เพราะผมหายหน้าไปต่างประเทศเสีย 2 สัปดาห์

·       เรื่องพรบ.คนพิการ
·       เรื่องพรบ.สภาองค์ชุมชน
·       เรื่องบ้านเอื้ออาทร
·       เรื่อง จชต.
·       เรื่องการบ้านการเมืองในภาพใหญ่

ทุกเรื่องถูกถ่ายทอดเป็นรายงานข่าวสั้นๆของนสพ.ฉบับต่างๆ กระจายกันไป และเสริมกันไปจนสุดสัปดาห์ 

บางกอกทูเดย์ ตีประเด็นข่าว “หมอพลเดช ถูก 3 พรรคทาบทามร่วมงาน” เนื้อข่าว ระบุว่า1/3 คือชาติไทย แต่เจ้าตัวของเป็นพลังที่เป็นกลาง ไม่สังกัดขั้วใด

    15.00 น. ให้สัมภาษณ์คุณธรรมสถิตย์ ผลแก้ว นักข่าวอาวุโสของนสพ.โพสต์ทูเดย์ คราวนี้เฉพาะเจาะจงเรื่องโครงการบ้านเอื้อาทร ผมใช้ข้อมูลที่ได้จาก ผว.กคช.เมื่อคืนให้ไปทั้งดุ้นเลย 

    ข่าววันนี้ยังคงต่อเนื่องด้วยเรื่อง พรบ.2 ฉบับที่ผ่านสภาเมื่อวาน ซึ่งเกี่ยวพันกับพม.กับพณ. และมีข่าวการลาออกจากwhip(ปนช.)ของครูหยุยและคณะประปรายออกมาแล้ว

 

 

10 ส.ค.

 

    9.30 น. ประชุมคณะกรรมการกิจการสตรีและครอบครัว ช่วงแรกทำหน้าที่ประธานแทนรองนายกฯไพบูลย์ กรรมการชุดนี้เว้นการประชุมมา 7 เดือน คราวนี้มีเรื่องรายงานเพื่อทราบทั้งนั้น ไม่มีเรื่องเพื่อพิจารณาเลย การประชุมวันนี้ทำให้ได้ทราบว่าด้านสตรี/ครอบครัวนี้ พม.มีผลงานผลักดันกม.ผ่านออกมาแล้ว 4-5 ฉบับ และยังมีอีก 3-4 ฉบับที่น่าจะผลักดันต่อ

    ผมแจ้งที่ประชุมว่า การผลักดันกม.ใหม่จากด้านรัฐบาลคงทำไม่ได้แล้วเพราะหมดเวลายกเว้นแต่จะริเริ่มมาจากฝ่าย สนช. ตกลงกันว่าจะให้สนช.เสนออีก 2 ฉบับคือ

 1)ร่างพรบ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคหญิงชาย
2)พรฏ.การใช้คำนำหน้าชื่อพศ.2460

    อจ.ไพบูลย์มาร่วมประชุมตอนท้าย ท่านให้นโยบายว่าอยากให้งานสตรีและงานครอบครัวแยกกันคิด แยกกันขับเคลื่อนเพราะเป็นเรื่องใหญ่ทั้งคู่ และคราวหน้าขอให้ฝ่ายเลขานุการ นำเสนอแผนงานทั้ง 2 ด้านว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่ประชุมพิจารณา

    13.30 น. ประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง APCD เป็นองค์กรมหาชนผมเป็นประธาน,มีพณฯธนินท์ กริยวิเชียร และอ.เสริมศักดิ์ เทพาคำ เป็นที่ปรึกษาซึ่งมาร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย

    เรื่องสำคัญวันนี้เป็นผลมาจากมติครม.เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ไม่ยอมให้ APCD เป็นองค์การมหาชน แต่ให้เป็นองค์กรอิสระภายใต้มูลนิธิ APCD และรัฐจะสนับสนุนผ่าน พม. ที่ประชุมถกเถียงกันอยู่นานว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในที่สุดได้ข้อสรุปสำคัญๆว่า

·       รมช.พม.จะติดตามดูการเขียนมติครม.ให้ชัดเจนอีกครั้ง
·       เราจะทำworkshopเพื่อทำRoadmap งานช่วงต่อไป

·       การจัดงานแสดง 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น ยังคงมีต่อไปโดยจะเชิญท่านนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน

·       มูลนิธิ APCD จะปรับโครงสร้างเพื่อรองรับภารกิจตามมติครม.

 

11 ส.ค.

 

         เช้าJokingออกกำลังกาย 5 กม.

    11.00 น. ไปออกรายการ “สายตรงทำเนียบ” ที่สทท.11 ในโอกาสวันแม่ ,พิธีกร 2 คนคือ ครูเคทกับณัฐวัฒน์ ทีมโฆษกรัฐบาล ,เรื่องส่งเสริมครอบครัวและสตรีในวันแม่ ,รวมถึงเรื่องพรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว,พรบ.ครอบครัว,พรบ.คำนำหน้าชื่อ ซึ่งมีประเด็นที่ที่ผมเสนอ อาทิ:

·       คิดแบบแม่ ต่างจากคิดแบบพ่อ (แม่คิดแบบสวัสดิการ  พ่อคิดแบบการลงทุน)

·       ชุมชนท้องถิ่นต้องการผู้นำแบบแม่
·       การรณรงค์ผู้หญิงกับบทบาททางการเมืองท้องถิ่นได้ผล มีสตรีในสัดส่วนเพิ่มจาก 6% เป็น 16%
·       กม.ที่คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม

·   กม.คำนำหน้าชื่อเป็นสิ่งที่น่าเปลี่ยนเพราะเป็นพระราชกฤษฏีกาที่ออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 ซึ่งล้าสมัยมาก ไม่ทันยุคเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงเพศปัจจุบัน

    17.00 น. เข้าเฝ้าถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินี ที่สวนจิตรลดา ,ตำหนักดุสิดาลัย ,ระหว่างรอได้พูดคุยกับรมต.หลายท่าน ต่างพูดคุยกันเรื่อง ปนช.ลาออกและการแพ้โหวตกม.2 ฉบับ

    สมเด็จพระนางเจ้าทรงเสด็จมาถึงประมาณ 17.30 น.ท่านพูดกับผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรที่วังสวนจิตรดา 400 กว่าคณะ 10,000 คน ท่านเล่าเรื่องไปยุโรป(รัสเซีย-ออสเตรีย-เยอรมัน) ใช้เวลานาน 2 ชั่วโมง ดูท่านมีความสุขมาก

         ท่านเน้นเรื่องการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ

    ท่านพูดถึงพระพุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญด้วย ท่านบอกว่าศาสนาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ไม่ควรนำมาบรรจุไว้ ที่ประชุมตบมือกราวเลย

ยังมีภารกิจพรุ่งนี้อีก 1 วัน ที่ต้องไปลงนามถวายพระพรที่สำนักราชวัง ,วัดพระแก้ว

Be the first to comment on "ตอนที่ 50 รัฐบาลแพ้ แต่พม.ชนะ"

Leave a comment

Your email address will not be published.