ชื่อเสียง ‘ปลาทูแม่กลอง’ ไม่ได้มาง่ายๆ แต่ที่มีชัยเหนือปลาทูทำเลอื่น ก็ด้วยศักดิ์ศรีแห่งความอร่อย นุ่ม มัน หอม หวาน ประกอบกับบุคลิกภาพอันโดดเด่น คือ ตัวอ้วน เนื้อนุ่ม หนังบาง หางเหลือง ดูเป็นปลามีชาติตระกูล
ส่วนสัดความกว้างของลำตัวที่บอกความเป็นผู้ดี อยู่ที่ราวๆ 3 นิ้วมือ และที่เห็นตัวสั้นๆ นั้นชาวประมงเชื่อกันว่า เป็นปลาตัวเมีย หากินน้ำตื้นใกล้หาดเลนแหล่งอาหาร ส่วนปลาทูยาวเป็นตัวผู้ หากินไกลๆ หนังหนา เนื้อแข็ง มันน้อย เลยกินไม่อร่อย
วงจรชีวิตปลาทู เริ่มวางไข่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม แถวหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นเจ้าลูกปลาทูน้อยจะว่ายทวนลมมาถึงอ่าวแม่กลองในช่วงฤดูน้ำหลาก ราวเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เพื่อมาพบตะกอนปากอ่าวที่เพียบพร้อมไปด้วยสารอาหาร ปลาทูรุ่นเด็ก หัวโต ตัวผอม หนังหนา เนื้อแข็ง หางเขียว ก็จะพัฒนาตัวสู่ปลาทูวัยสาวตัวอวบอัด
และนี่เอง เป็นที่มาของงานเทศกาลกินปลาทู ล่าสุดปีนี้ จัดเป็นครั้งที่ 9 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ชื่อตอน ‘ปลาทูเต็มสาว’ ณ สนามหน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม
ที่จริงงานปลาทูเมืองแม่กลองจัดมานานแล้ว โดยมีหอการค้าจังหวัดเป็นแม่งาน แต่ยกระดับเป็นงานมีคอนเซปต์ มีชื่อตอน ก็ในครั้งที่ประธานหอการค้าจังหวัดชื่อ สุรจิต ชิรเวทย์ และเป็นคนเดียวกับที่รับมอบรางวัล SVN Award ภาคธุรกิจ ของ เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2006 ไปเมื่อเร็วๆ นี้
ยกตัวอย่าง ปี 2536 ตอน ‘กินปลาทูแม่กลองให้แมวอาย’ เพื่อบอกถึงวิธีกินปลาทูที่ถูกต้องให้ได้รสชาติ ตั้งแต่หางถึงหัว อันเป็นรสนิยมการกินปลาทูอันประณีตของคนแถบนี้
ปี 2537 ตอน ‘ปลาทูหน้างอ’ อันนี้อยากสื่อกับคน กทม.ให้รู้จักเอกลักษณ์ปลาทูแม่กลองแท้ ต้องหน้างอคอหัก (ตอนถูกพับลงเข่ง) พร้อมสะท้อนความเคืองต่อวิธีประมงแบบเอาแต่ได้ จนทำให้ประชากรปลาทูอ่าวแม่กลองลดลงๆ
ปี 2538 ตอน ‘ปลาทูไม่เครียด’ เพื่อพูดถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนแม่กลอง ได้แก่ ‘โป๊ะ’ ซึ่งลดจำนวนลงจากในอดีตที่เคยมีเป็นร้อยๆ ลูก เหลือแทบไม่ถึง 10 ลูกในวันนี้
และล่าสุด ‘ปลาทูเต็มสาว’ ก็เพื่อตอกย้ำปัญหาวิกฤติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการทำประมง
ฉะนั้น งานนี้ไม่ใช่แค่ชวนกันมากินปลาทู แต่ละชื่อแต่ละตอนไม่ได้ตั้งเอาเท่ แต่มีเหตุมีผล มีภูมิปัญญาและวิชาการรองรับ รวมทั้งมี ‘สาร’ ที่ต้องการจะสื่อ
หอการค้า (แค่) พอเพียง
ในตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัด สุรจิตยังทำให้องค์กรของเขาต่างจากใครๆ…
“หอการค้าต้องเป็นกลาง”
พูดถึงหอการค้าจังหวัด หลับตาครั้งใดก็เห็นแต่ภาพกลุ่มนักธุรกิจผู้มีฐานะดีในจังหวัด แต่เมื่อสุรจิตบอกว่า “ไม่ใช่” หอการค้าจังหวัดต้องเป็นแหล่งรวมคนหลากหลายวิชาชีพ เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ หอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม จึงประกอบไปด้วยทั้งเกษตรกร ชาวประมง หมอฟัน ฯลฯ นับรวมได้ราว 180 คน
“หอการค้าต้องไม่ใช่องค์กรการกุศล ที่ใครๆ คอยจะมาขอเงินบริจาค เราเป็นหอการค้าที่จนที่สุด”
เขาจึงวางกติกาการใช้จ่ายให้มีกฎเกณฑ์เคร่งครัด การดำรงอยู่โดยไม่คิดพึ่งพาค่าสมาชิก เพราะจัดเก็บแต่พอประมาณเพื่อให้คนหลายกลุ่มเข้าร่วมโดยสะดวก การหารายได้ยึดหลักพอเพียง
“รู้ว่าปีที่แล้วงบสัก 800,000 บาทก็อยู่ได้ ปีหน้าก็ตั้งเป้าเท่าเดิม ไม่ต้องหาเพิ่มให้ยุ่งยาก” และรายได้หลักเป็นกอบเป็นกำ ณ ขณะนี้ ก็คือ เทศกาลกินปลาทู
โดยงานเทศกาลดังกล่าว มีคณะกรรมการหอการค้าเป็นผู้คิดคอนเซปต์ ออกแบบตัวมาสคอตรูปน้องปลาทูมีจริต และนำจดทะเบียนลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา
หนุ่มแบงค์แห่งลุ่มน้ำ
ย้อนไปเมื่อปี 2516 สุรจิต ชิรเวทย์ คว้าปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนมุ่งหน้าสู่สมุทรสงครามบ้านเกิด ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “ไม่ชอบกรุงเทพฯ” และเริ่มต้นชีวิตการทำงานในฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย
แต่สิ่งสำคัญที่ ‘หนุ่มแบงค์’ อย่างเขาได้เรียนรู้จากการซอกแซกไปทั่วทุกตารางนิ้วในความรับผิดชอบ เพื่อพบปะลูกค้า ประเมินสินเชื่อตามเรือกสวนท้องร่อง ไม่ใช่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่กลับเป็นการซึมซับเรื่องราวทางธรรมชาติ และภูมิรู้ท้องถิ่น
“แม่กลองเป็นเมืองสามน้ำ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย ขึ้น-ลงทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง กิจกรรมอาชีพถูกกำหนดด้วยน้ำและลม ขา 2 ข้างของแม่กลองอยู่บนประมง กับเกษตรในแบบแผนที่ต่างจากพื้นที่อื่น ผมพบว่าเมืองนี้ภูมิปัญญาโคตรเยอะ แล้วไม่ใช่ความรู้แบบดาษๆ แต่ชาวบ้านรู้จริง รู้แบบบูรณาการ อย่างที่คนเรียนสูงๆ ชอบพูด แต่ไม่ค่อยรู้จริง”
สุรจิตเก็บทุกรายละเอียดของสภาพแวดล้อม และภูมิปัญญาการดำรงชีพ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นภารกิจในฝ่ายสินเชื่อ มากกว่านั้นคือการตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของสิ่งเหล่านี้
ครั้นความเปลี่ยนแปลงมาเยือน เมื่อเขื่อนศรีนครินทร์ประเดิมสร้างเป็นแห่งแรกบนลำน้ำแม่กลอง ในปี พ.ศ.2520 ตามมาด้วยเขื่อนทุ่งนา เขื่อนเขาแหลม รวมถึงการแบ่งน้ำไปใช้เพื่อการทำประปาป้อนชาวกรุงเทพฯ ซึ่งกระทบอย่างจังต่อระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติในพื้นที่ และแน่นอน วิถีการทำกินบนสายน้ำของคนแม่กลอง ถูกกระแทกอย่างไม่อาจหลบเลี่ยงด้วยเช่นกัน
“ลูกค้าจากที่เคยขอสินเชื่อไปต่อยอดด้านเกษตร ทำโรงตาล ขยายพื้นที่เพาะปลูก กลายเป็นการกู้เพื่อไปซาอุฯ คนแม่กลองเริ่มส่งลูกหลานเรียนสูงๆ และสอนว่าโตมาอย่าเป็นเกษตรกร”
ต่างกันลิบกับยุคที่เขาเติบโต คนแม่กลองจบแค่ ป.7 ใช้ชีวิตสมถะมั่นคงในวิถีการเกษตร ลูกทะเลบ่มเพาะอุปนิสัยสไตล์นักเลง กล้าได้กล้าเสียจากอาชีพประมง ขณะที่ลูกจ้างธนาคารเงินเดือน 1,745 บาท คนทำน้ำตาล หาปลา มีรายได้ทุกวันรวมๆ แล้วเดือนละเกือบ 5,000 บาท
กรรมของ ‘หิ่งห้อย’ และ ‘หอยหลอด’
ความเป็นไปตลอดหลายสิบปีของชีวิตในลุ่มน้ำแม่กลอง อยู่ในการรับรู้ของสุรจิตตลอด หลังตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนด ในวันที่วัยนับได้ 48 ปี เขาลงมือรวบรวมและเรียบเรียงความรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตเป็นหนังสือชื่อ ‘คนแม่กลอง’
“อยากให้เป็นฐานข้อมูลจังหวัด เราต้องรู้ทุนเดิม เพื่อมองทิศทางที่จะไปสู่ จังหวัดก็เหมือนคน มีหลายเป้าหมายในชีวิตไม่ได้”
แล้วสมุทรสงครามจะเป็นเมืองชนิดไหน
ถึงวันนี้การดำเนินชีวิตและอนาคตของแม่กลองยังคาบลูกคาบดอก หลายฝ่ายพยายามผลักดันกฎกติกาเพื่อเปิดทางให้อุตสาหกรรมขยายตัวโดยสะดวก นักท่องเที่ยวเริ่มมองแม่กลอง-อัมพวาเป็นเดสทิเนชั่นใหม่ใกล้เมืองกรุง ขณะที่คนอีกส่วนก็ยังเดินหน้าในวิถีชีวิตด้านเกษตรและประมง
ระหว่างที่การตกลงร่วมกันยังไม่ได้ข้อสรุปว่า สมุทรสงครามจะเป็นเมืองอุตสาหกรรม เน้นท่องเที่ยว หรือจะชูเกษตรกรรมตามวิถีของบรรพบุรุษ แต่ที่แน่ๆ กระแสความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกกำลังรุกคืบสู่ถิ่นแม่กลองอย่างไม่หยุดยั้ง
ยกตัวอย่าง…
หิ่งห้อย เลื่องชื่อคู่ตลาดน้ำอัมพวา
“มันเป็นสัตว์ขี้อาย ซึ่งเสียงดัง แสงสว่าง และไอเสีย เป็นศัตรูสำคัญ วันนี้นักท่องเที่ยวนั่งเจ็ทสกี แล้วมุดดูใต้ต้นลำพู ทั้งยังพยายามถ่ายรูป รีสอร์ทสาดสปอตไลท์ มีเรือคาราโอเกะ ตอนนี้มีหิ่งห้อยเหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของที่เคยมีแล้ว”
หอยหลอด ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองหอยหลอด’
“เมื่อก่อนชาวบ้านใช้ปูนขาวหยอด หอยหลอดตัวยาว 4 นิ้วครึ่งกินอร่อย ตอนนี้ใช้น้ำปูนขาวราดทั้งหาด ยังไม่พอเอาโซดาไฟราดอีก จนหอยหลอดโผล่มาทุกขนาด ตัวเท่าก้านไม้ขีดก็ถูกกิน ทั้งที่วัยยังไม่สมควรจะถูกกิน แล้วก็ขยายพันธุ์ไม่ได้”
ปลาทู ผู้อาสาตัวว่าจะกู้แม่กลอง
“ปีที่แล้วตอนจัดงานกินปลาทู ผมบนกรมหลวงชุมพรฯ ด้วยการจุดประทัด 30,000 นัด ขอให้น้ำหลาก มีปลาทูพอขายในงาน ปีนี้ผมบนเพิ่มเป็น 50,000 นัด (หัวเราะ) เพราะปลาทูแม่กลองลดจำนวนลงทุกที จากการทำประมงที่ไม่ถูกต้อง”
สุรจิต ระดมสรรพกำลังจัดงานเทศกาลกินปลาทู ทั้งคนในท้องถิ่น และลูกหลานแม่กลองที่กระจายไปทำงานยังต่างถิ่น ใครมีใจก็มาช่วยกัน งานกินปลาทูจึงได้รับความสนใจจากทั้งคนแม่กลองและนักท่องเที่ยว ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งโขน กรมศิลป์ ละครชาตรี หุ่นละครเล็ก ‘โจหลุยส์’ การแสดงของเด็กนักเรียน ประกวดร้องเพลง วงดนตรีไทย สากล ไปจนถึงแชมเบอร์มิวสิค (วงดนตรีคลาสสิกขนาดย่อม)
ด้วยหวังว่า งานนี้จะเป็นการปลูกฝังคนแม่กลองให้รักถิ่น พร้อมๆ กับเป็นการสื่อสารไปยังคนภายนอกว่าด้วยเรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปของสมุทรสงคราม ผ่านพรีเซ็นเตอร์สุดเซ็กซี่.. น.ส.ปลาทู
ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ/จุดประกาย : Life-LifeStyle
18 มกราคม 2550
Be the first to comment on "น.ส.ปลาทู กู้แม่กลอง"