พลเดช ปิ่นประทีป
เมื่อ 20 ปีก่อน เหตุการณ์วางระเบิดและยิงถล่มกันในใจกลางเมืองเบลฟาส์ต และบางครั้งลุกลามมาจนถึงลอนดอนเป็นเรื่องที่รัฐบาลอังกฤษอกสั่นขวัญแขวน
ซึ่งเป็นข่าวไปทั่วโลกอยู่ไม่ได้ขาด ชื่อเสียงของกองทัพ IRA (Irish Republican Army) เป็นที่รู้จักและจดจำของคนทั่วโลก แต่ปัจจุบันเขาสามารถยุติสงครามกลางเมืองดังกล่าวได้แล้วและกำลังฟื้นฟูสายสัมพันธ์ทางสังคมขึ้นใหม่อย่างน่าประทับใจ
Table of Contents
การแก้ปัญหาความไม่สงบที่ไอร์แลนด์เหนือไม่มีทางลัด สังคมและรัฐบาลอังกฤษเผชิญปัญหาสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนดังกล่าวอยู่ 25 ปี คือระหว่างปี 1969 – 1994 มีผู้เสียชีวิต 3,660 คน บาดเจ็บมากกว่า 40,000 คน โดยพบว่าประชากรไอร์แลนด์เหนือเกินกว่าร้อยละ 50 ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บดังกล่าว แต่ในที่สุดพวกเขาได้เรียนรู้และปรับตัวจนสามารถคลี่คลายปัญหาได้ด้วยตนเอง
เท่าที่พยายามศึกษาบทเรียนรู้จากไอร์แลนด์เหนือ ผมมองเห็นกุญแจสำคัญอย่างน้อย 5 ดอกที่ช่วยกันไขปัญหานี้จนสำเร็จ คือ 1.การตั้งกระทรวงไอร์แลนด์เหนือขึ้นเป็นการเฉพาะพื้นที่ (Area – based Ministry) 2. การมอบโอนอำนาจสำคัญบางส่วนของรัฐบาลกลางไปให้แคว้น (เวลล์ สก็อตแลนด์ และนอร์ธไอร์แลนด์) ดูแลชั่วคราวแบบที่เรียกว่า Devolution 3.การขอแรงสหรัฐอเมริกาตัดท่อน้ำเลี้ยงจากชาวอเมริกันไอริช 4.บทบาทของสื่อสาธารณะ BBC ที่คอยตรวจสอบทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลและกองทัพอย่างตรงไปตรงมา 5. ภาคประชาชนในไอร์แลนด์เหนือลุกขึ้นมาช่วยคลี่คลายกันเองโดยตั้งมูลนิธิกองทุนชุมชน (Community Foundation) เป็นกลไกทำงาน
2 ดอกแรกเป็นบทบาทของฝ่ายนโยบายหรือนักการเมือง ซึ่งที่จริงแล้วเกิดขึ้นภายหลังจากที่ 2 ดอกหลังทำงานอย่างแข็งขันจนความรับรู้และทัศนคติของคนอังกฤษทั่วประเทศและคนไอร์แลนด์เหนือเกิดความสุกงอม และกดดันการทำหน้าที่ของฝ่ายอำนาจรัฐ
แคว้นไอร์แลนด์เหนือมีประชากร 1.7 ล้านคน (พอ ๆ กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมกัน) เป็นเชื้อสายอังกฤษนับถือนิกายโปรเตสแตนท์ กับเชื้อสายไอริชที่นับถือนิกายคาธอลิค สัดส่วน 60:40 โดยประมาณ แต่ความขัดแย้งของบรรพบุรุษไม่ได้มีแต่มิติเชื้อชาติและศาสนาเท่านั้น หากยังมีมิติด้านอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันอีกด้วย ระหว่าง Unionist กับ Nationalist , Loyalist กับ Republicanist ในที่สุดถึงขั้นที่ต่างฝ่ายต่างตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นห้ำหั่นกัน โดยมีกองทัพรัฐบาลอังกฤษเข้าไปปราบปรามจึงกลายเป็นศึก 3 เส้าที่มีชุมชน บ้านช่อง ถนนหนทาง และป่าคอนกรีตเป็นสมรภูมิ และที่กำบังซ่อนเร้น
แคว้นไอร์แลนด์เหนือเป็นพื้นที่ยากจนและด้อยโอกาสมากที่สุดของอังกฤษอยู่แต่เดิม เมื่อเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง และความไม่สงบก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาแก่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างแสนสาหัส งบประมาณจากรัฐบาล และเงินช่วยเหลือจากภายนอกลงไปมากแต่กลับไม่ถึงประชาชนผู้เคราะห์ร้าย หรือผู้ด้อยโอกาสตัวจริง เพราะด้านหนึ่งรัฐบาลเองก็เป็นส่วนหนึ่งในคู่ขัดแย้งสามเส้า จึงเกิดการลำเอียงและหวาดระแวงกันไปมา อีกด้านหนึ่งเงินช่วยเหลือต้องผ่านหน่วยงานตัวกลางซึ่งมักถูกชนชั้นนำในพื้นที่ดูดซับไปก่อนถึงมือชาวบ้าน
ปี 1979 ซึ่งเป็นช่วงกึ่งกลางระหว่างการสู้รบ ชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในพื้นที่ทนสภาพไม่ได้ จึงลุกขึ้นมาจัดตั้งมูลนิธิกองทุนชุมชนไอร์แลนด์เหนือ ทำหน้าที่ระดมเงินทุนจากการบริจาคของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อไปสนับสนุนกลุ่ม และองค์กรภาคประชาชนด้วยกันเอง ให้สามารถช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพผู้รับผลกระทบและผู้ด้อยโอกาสให้ยืนขึ้นได้ด้วยตนเอง
มูลนิธิกองทุนชุมชน ต่างจากมูลนิธิทั่วไปตรงที่เขาจะไม่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมด้วยตนเองแต่เขาทำหน้าที่แค่เป็นตัวกลางระดมทุนจากสังคมและกระจายทุนนั้นไปสนับสนุนกลุ่มอาสาสมัครภาคพลเมืองที่กำลังทำงานอย่างหลากหลายให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมการเยียวยา ฟื้นฟูและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ จึงได้รับความร่วมมือและไว้วางใจเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ในสภาวะที่สังคมแตกแยกรุนแรงมากขนาดนั้น การทำงานของมูลนิธิกองทุนชุมชนไอร์แลนด์เหนือมีความยากลำบากมาก พวกเขาต้องวางตัวเป็นกลางและเป็นอิสระอย่างเคร่งครัดและแท้จริง มิเช่นนั้นฝ่ายต่างๆ และประชาชนที่ถูกแบ่งเป็นขั้วจะไม่ไว้วางใจ ดีไม่ดีก็อาจเป็นอันตรายได้
โชคดีที่ผลจากการใช้กุญแจหลายดอกประกอบกัน การหยุดยิงจึงเกิดขึ้นในปี 1994 ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่มูลนิธิกองทุนชุมชนฯทำงานมาได้ 15 ปีแล้ว จึงผ่านร้อนผ่านหนาวและถูกทดสอบจากชุมชนท้องถิ่นและสังคมตลอดจนภาครัฐมาอย่างโชกโชน จนเป็นที่น่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่ายให้เป็นกลไกหลักของภาคประชาสังคมในการฟื้นฟูพัฒนาไอร์แลนด์เหนือ ทำให้มีบทบาทที่สำคัญมากในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเป็นช่องทางที่กองทุนสันติภาพจากสหภาพยุโรปเข้าไปร่วมสนับสนุนด้วย
Be the first to comment on "บทบาทภาคประชาชนในกรณีไอร์แลนด์เหนือ"