ประชาคมท้องถิ่นจัดการฐานทรัพยากร

ประชาคมท้องถิ่นจัดการฐานทรัพยากร
พลเดช ปิ่นประทีป (เขียนให้โพสต์ทูเดย์ พุธที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๕)

     ช่วงนี้มีโอกาสไปเยี่ยมชุมชนคนรักป่าทุกภูมิภาคร่วมสิบแห่ง น่าชื่นใจที่เห็นขบวนการชาวบ้านในระดับชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งมีจิตสำนึกแรงกล้าในการดูแลรักษาฐานทรัพยากรและสามารถจัดการกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนได้อย่างดีเยี่ยมท่ามกลางกระแสการการช่วงชิงพื้นที่ปลูกข้าวโพด มันและยางพารากับปรากฏการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่ม ควรที่ภาคประชาสังคมจะไปเรียนรู้ สนับสนุนและให้กำลังใจกัน

ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

     ประชาคมท้องถิ่นที่นี่ประกอบด้วยชุมชน ๑๓ หมู่บ้าน ๑,๘๑๖ หลังคาเรือน ประชากร ๖,๐๖๖ คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทยพุทธซึ่งอพยพมาจากหลายที่ มีฐานะทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้แล้ว คือทำการเกษตรกรรมสวนผลไม้ ยางพารา ปาล์มและแปลงไม้ดอก มิได้ยังชีพจากการอาศัยของในป่าแบบคนอีสาน แต่มีจิตสำนึกและแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบชนชั้นกลางเป็นตัวขับเคลื่อน เริ่มจากเมื่อ ๒๐ ปีมาแล้ว มีสถานการณ์ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและกระแสปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้พื้นที่เกิดความแห้งแล้งมากจนผู้นำกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้ ลุกขึ้นมารวมตัวกันจัดตั้งตนเองเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่า ทำการเฝ้าระวังดูแลป่าและปลูกป่าขึ้นมาทดแทนอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายที่แข็งแรงขยายไปจนทั่วทั้งตำบล มีผลงานการดูแลรักษาป่าขนาดใหญ่มากถึง ๒๘,๔๐๐ ไร่ ดีเด่นเป็นแบบอย่าง ทำให้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวเมื่อปี ๒๕๔๙

     ผมไปคราวนี้พบว่าป่าของพวกเขายิ่งมีความหนาแน่นและระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีการบุกป่าอีกเลย ชุมชนมีวิถีทำมาหากินแบบพอเพียง ทำเกษตรแบบยั่งยืนและคำนึงถึงสุขภาพ หมู่บ้านสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย จัดการขยะและสิ่งแวดล้อมได้ดีซึ่งสะท้อนถึงจิตสำนึกและนิสัยใจคอของผู้คน นอกจากทรัพยากรป่าและที่ดินทำกินแล้ว เครือข่ายยังบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำขนาด ๒.๒ ล้านลบม.กับบ่อน้ำในฟาร์มส่วนตัว ๑๒๐ บ่อรวม ๒๕๐,๐๐๐ ลบม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบฐานข้อมูลดิจิตอลและเครือข่ายจิตอาสา ที่นี่ไม่มีปัญหาน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ในขณะที่หลายหมู่บ้านซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของภูเขากลับเกิดอุทกภัยดินโคลนถล่มทุกปี จนต้องมาขอศึกษาดูงาน

ความเป็นประชาสังคมคือปัจจัยสำคัญ

เครือข่ายชุมชนที่นี่มีภาวะการนำที่แข็งแรง มีความสามัคคีเป็นปึกแผ่นมาก พวกเขามีกิจกรรมเวทีสภากาแฟที่พบปะกันเป็นประจำทุกวันที่ ๒๐ ของเดือนโดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพทั้ง ๑๓ หมู่บ้าน ทุกครั้งจะมีชุมชนและผู้นำร่วมพบปะหารือในประเด็นสาธารณะหรืองานส่วนรวมของตำบลกันอย่างหนาแน่น บางคราวมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากถึง ๕๐๐ คนก็เคย ล่าสุดเพิ่งจัดไปเป็นครั้งที่ ๑๐๒ ครับ  คนหนุ่มสาวที่เป็นศิลปินรวมตัวกันตั้งวงดนตรีขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะวัฒนธรรมเป็นตัวเสริม 

การที่เครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่นมีเวทีสาธารณะในลักษณะที่สร้างสรรค์เช่นนี้นับเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการแสดงอำนาจเหนือสาธารณะที่ทรงพลัง  นอกจากสภากาแฟของผู้ใหญ่แล้วที่นี่ยังมีสภาเด็กและเยาวชนที่แสดงบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย รวมทั้งสตรีก็มีบทบาทเด่นชัดมาก 

มีระบบการจัดการทรัพยากรร่วมกัน

ที่นี่มีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ทั้งฝ่ายชุมชน (กลุ่ม เครือข่าย)  ท้องถิ่น (เทศบาล)  ท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) และหน่วยงานภูมิภาค (ป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ อำเภอ จังหวัด) โดยพาะอย่างยิ่งในสามส่วนแรกที่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย นับเป็นแบบอย่างของความเป็นประชาสังคมระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็งมากจึงมีพลังทางปัญญาและพลังทางสังคมที่มากเพียงพอที่จะกำกับทิศทางการพัฒนาและทำให้เกิดเกิดธรรมาภิบาลขึ้นจริงในพื้นที่

มีตัวอย่างรูปธรรมการจัดการร่วมกันที่มีพลังเป็นจำนวนมาก อาทิ กรณีเครือข่ายชุมชนได้จัดทำคู่มือสิ่งแวดล้อมตำบลที่ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และนโยบาย-ยุทธศาสตร์จากหลายภาคส่วนมาร่วมกัน  กรณีการจัดทำยกร่างเทศบัญญัติโดยกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายชุมชนและสภาท้องถิ่น  หรือกรณีที่มีโรงงานเข้ามาตั้งในพื้นที่ ผู้ประกอบการทุกรายจะได้รับแจ้งแนวปฏิบัติจากเครือข่ายพร้อมทั้งแจกคู่มือเพื่อปฏิบัติตามกติกาสิ่งแวดล้อมชุมชนซึ่งมักได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  นอกจากนั้นบางคราวที่เทศบาลต้องการความเห็นต่อนโยบายหรือโครงการที่กำหนดมาจากส่วนกลางก็จะทำหนังสือขอข้อคิดเห็น คำแนะนำจากเครือข่ายอย่างเป็นกิจลักษณะ นับเป็นวิธีการทำงานที่อิงพลังกันและกันได้อย่างน่าสนใจ 

เต็มไปด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม

 

 

ที่ตำบลคลองชะอุ่นมีนวัตกรรมทางสังคมและการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นมากมาย ทั้งในเรื่องทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่า-สิ่งแวดล้อม  เรื่องการทำมาหากิน  เรื่องประชาธิปไตยชุมชน-ประชาสังคม-ธรรมาภิบาลท้องถิ่น  เรื่องการจัดระบบเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติของชุมชนขึ้นเองโดยใช้เอสเอ็มเอส เฟซบุค ทวิตเตอร์และวิทยุสื่อสาร  เรื่องกระบวนการพัฒนาเทศบัญญัติเพื่อเป็นเครื่องมือของสังคมในการอยู่ร่วมกัน  เรื่องการนำเทคโนโลยีจีพีเอสและเอ็มไอเอสมาใช้พัฒนาระบบจัดการฐานทรัพยากร  เรื่องการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมชุมชนและการตั้งมูลนิธิเพื่อยกระดับสถานภาพองค์กรเป็นนิติบุคคลสำหรับการขับเคลื่อนในระยะยาว  สิ่งเหล่านี้ควรที่จะมีการสังเคราะห์ไว้เป็นบทเรียนและองค์ความรู้สาธารณะ

 

 

ไม่เซ็นต์ไม่เป็นไร จัดการด้วยตัวเองได้

มีกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษาติดตามอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง (ร่าง) เทศบัญญัติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมชุมชนซึ่งชาวบ้านเขาผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นและได้รับการเห็นชอบจากสภาเทศบาลเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเสนอผู้ว่าเพื่อลงนามประกาศกลับถูกระงับ ไม่ยอมเซ็นต์ให้ อย่างไรก็ตามชุมชนและเทศบาลก็มิได้ติดใจและไม่รอคอยใดๆ พวกเขาถือว่ามันเป็นกติกาสังคมที่ร่วมสร้างกันขึ้น จึงใช้ (ร่าง) เทศบัญญัติดังกล่าวเป็นเสมือนธรรมนูญชุมชนที่ทุกคนยอมรับ  แม้ทางราชการจะยังไม่ประกาศก็ตาม

Be the first to comment on "ประชาคมท้องถิ่นจัดการฐานทรัพยากร"

Leave a comment

Your email address will not be published.