ประสบการณ์ประชาสังคม (23): เวทียุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน (2546-2547)

          ในขณะที่ ดร.เดวิด แมทธิวส์ และมูลนิธิแคทเทอร์ริงในสหรัฐอเมริกาใช้เวทีประเด็นสาธารณะแห่งชาติ (National Issue Forums) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยพลเมืองที่ใช้วิจารณญาณ (Deliberative Democracy)     พวกเราในเมืองไทยกลุ่มหนึ่งก็ใช้เวทีเสวนาเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่จัดกันเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 เป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวสังคม

          เวทีประชาคมแผน ๘ เป็นการบุกเบิกที่นำมาก่อนเพื่อน   ระหว่างปี 2540-2543    ต่อมาพัฒนาเป็นที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทย ในช่วง 2544-2545   และกลายเป็นเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจนในช่วง 2546-2547   ก่อนที่จะหยุดลงไปชั่วคราวในปี 2548 ระหว่างเกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่เริ่มสมัยที่สองของรัฐบาลไทยรักไทย    จนกระทั่งปี 2552 ถึงปัจจุบัน สสส. เข้ามารับช่วงการขับเคลื่อนไปแล้วในนามของเวทีเครือข่ายสถาบันทางปัญญาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย การเคลื่อนไหวส่วนหลังนี้ดำเนินการกันในวงที่แคบลงกว่าเดิมแต่เจาะลึกในทางองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ
          เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจนเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างอิสระของข่ายงานภาคประชาสังคมซึ่งมีเจตนาที่จะขับเคลื่อนคู่ขนานไปกับนโยบายการประกาศสงครามเอาชนะความยากจนของรัฐบาลในยุคนั้น   ความเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมส่วนนี้มี 12 หน่วยงานหลักเป็นผู้สนับสนุนได้แก่ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สถาบันพระปกเกล้า, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานโครงการถักทอเครือข่ายพลังชุมชน-พลังแผ่นดิน, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, มูลนิธิหมู่บ้าน, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, DTAC และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
          คุณไพบูลย์ วัฒนธศิริธรรม ทำหน้าที่ประธานการประชุม  ส่วนหมอพลเดช   ปิ่นประทีปเป็นประธานคณะทำงานเลขานุการ ซึ่งต้องคุมทีมทำงานทางวิชาการอย่างเข้มข้นและรวดเร็วเพื่อป้อนเวที น่าสังเกตว่าทั้งสองคนมีบทบาทสำคัญอยู่ใน ศตจ. ที่รัฐบาลแต่งตั้งอยู่ด้วย
          ในการประชุมแต่ละครั้ง   ฝ่ายวิชาการและเลขานุการได้จัดทำ “หนังสือเล่มเล็ก”   สำหรับใช้เป็นเอกสารหลักประกอบการประชุม   โดย LDI ทำหน้าที่ประมวลข้อมูล ความรู้ แนวคิด ทฤษฎีและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมใช้ในการค้นคว้าอ้างอิง และแลกเปลี่ยนระดมความคิดกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ตรงนี้จุดก็บังเอิญไปคล้ายกับที่แมทธิวส์ใช้ในอเมริกา   พวกเขาเรียกมันว่า Issue Book    แต่อย่างไรก็ตาม   เมื่อผมมีโอกาสได้เข้าร่วมฝึกอบรมที่มูลนิธิแคทเทอร์ริ่งในมลรัฐโอไอโอ   จึงพบว่ากระบวนการจัดทำ Issue Book ของเขาพิถีพิถันและทรงพลังกว่าเรามาก
          ในวันรุ่งขึ้นจากการประชุม เรื่องที่เราพูดคุยกันในเวทีมักเป็นข่าวพาดหัวตัวรองในหนังสือพิมพ์ระดับชาติเสมอ ๆ ดังนั้นภายหลังเสร็จจากการประชุมเวทีแต่ละครั้ง   LDI จึงรีบจัดทำสรุปผลการประชุมและข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างเป็นกิจลักษณะและนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์   เราทำได้ภายใน 1 สัปดาห์ทีเดียว เราหวังผลที่จะให้ผู้บริหารประเทศได้รับรู้รับทราบในรายละเอียดที่มากกว่าข่าวหนังสือพิมพ์และจะได้นำไปขยายผลบ้างตามสมควรแก่กรณี
          ผมจัดส่งรายงานโดยตรงไปถึงนายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรีทุกท่าน, เลขาธิการนายกฯ, เลขาธิการ ครม., เลขาธิการสภาพัฒน์, เลขาธิการ ป.ป.ส., เลขาธิการ ป.ป.ช., เลขาธิการ กพ., เลขาธิการสำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ และเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า   ซึ่งเราถือเป็นกลุ่มเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของเรา
          เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน ที่เราได้จัดขึ้นทุก 2 เดือน รวม 10 ครั้ง มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้ :
ครั้งที่ 1    เรื่อง “จะช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไร”
              วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2546 ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ครั้งที่ 2    เรื่อง “การปฏิรูปกฎหมายเพื่อแก้ความยากจน”
              วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 ณ กระทรวงสาธารณสุข
ครั้งที่ 3    เรื่อง “ปฏิรูประบบยุติธรรม เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง และความเป็นธรรมในสังคมไทย”
              วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 4    เรื่อง “ธรรมนูญเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงและความเป็นธรรมในสังคม”
              วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2546 ณ สถาบันพระปกเกล้า
ครั้งที่ 5    เรื่อง “จัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เสริมสร้างความรู้รักสามัคคีในชาติ”
              วันศุกร์ที่ 19 กันยายน 2546 ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ครั้งที่ 6    เรื่อง “ธรรมนูญว่าด้วยความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ
              วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2546 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 7    เรื่อง “คดีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม กับข้อกังขาว่าด้วยความเป็นธรรมในสังคมไทย”
              วันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2547 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 8    เรื่อง “กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อเอาชนะความยากจนและสร้างชุมชนเข้มแข็ง”
              วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2547 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 9    เรื่อง “การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย : อำนาจอธิปไตยกับความเป็นจริง”
วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2547 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 10   เรื่อง “เลือกตั้ง 48 : โหวตเพื่อสังคมเข้มแข็ง”
              วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2547 ณ สถาบันพระปกเกล้า
          ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเวทีและมีบทบาทเชื่อมโยงกับกลไกการทำงานของรัฐบาลอยู่ในหลายส่วน   ผมมีบทเรียนรู้ที่น่าสนใจบางเรื่องครับ
          1. สำคัญที่การสร้างสรรค์และเป็นอิสระ
          ภาคประชาสังคมเป็นความเคลื่อนไหวนอกภาครัฐ   แต่มิได้หมายความว่าจะต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกันไปในทุกเรื่อง ประเด็นสำคัญคือเรื่องจุดยืนของภาคประชาสังคมที่ต้องมั่นคงอยู่กับผลประโยชน์ของสังคมส่วนร่วมหรือประโยชน์สาธารณะ เราควรพร้อมที่จะร่วมหรือต่อสู้กับรัฐก็ได้โดยมีผลประโยชน์สาธารณะเป็นกรอบในการพิจารณา
          ต่อนโยบายแก้ปัญหาความยากจน   ยาเสพติด และคอร์รัปชันของรัฐบาล ภาคประชาสังคมถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง     ในขณะเดียวกันเรายังคงรักษาความเป็นอิสระในการทำงานและแสดงความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา    เราพบว่าการมองทางบวกและการร่วมงานอย่างสร้างสรรค์และมีความเป็นอิสระเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานกับภาครัฐในทุกระดับ
          การที่คุณไพบูลย์และหมอพลเดช   นั่งอยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติของรัฐบาล    ในขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจนของเครือข่ายภาคประชาสังคมนั้น   มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เราทั้งสองคนมีบทบาทนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนวทางการทำงานต่อคณะกรรมการได้อย่างมีน้ำหนัก    ซึ่งฝ่ายการเมืองและข้าราชการมักให้การยอมรับ
          2. ขาดเครื่องรับที่ดีสัญญาณก็ไร้ความหมาย
          สาระจากความเคลื่อนไหวเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจนทุกครั้งล้วนเป็นเรื่องที่เรามั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง   จึงคาดหวังว่าข่าวสารทางหน้าหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ที่รายงานความเคลื่อนไหวจากเวทีและสรุปรายงานที่เราส่งไปให้โดยตรงถึงบุคคลสำคัญที่อยู่ในอำนาจหน้าที่    จะเป็นสิ่งที่เขาต้องการและรับไปดำเนินการด้วยความขอบคุณ แต่ผมได้มาเรียนรู้ด้วยตนเองในภายหลัง   เมื่อครั้งมีโอกาสเข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่า สิ่งที่ผมเคยคิดและทำนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดและเปล่าประโยชน์ทั้งสิ้น
          ความจริงคือคนที่นั่งอยู่ในอำนาจและตำแหน่งทั้งหลายที่ผมส่งข้อมูลไปให้นั้น   ล้วนมีภารกิจที่ยุ่งเหยิงมากในแต่ละวัน    หนังสือที่จะผ่านไปถึงท่านเหล่านั้นจะถูกกลั่นกรองและสรุปเสนอโดยข้าราชการระดับล่าง ๆ ซึ่งล้วนมีข้อจำกัดในการมองเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก   ยิ่งเป็นหนังสือจากภาคประชาชนด้วยแล้วมักถูกมองข้ามความสำคัญ    อย่างเก่งก็แค่ “รับทราบ” แล้วลงตระกร้าหรือหายลับไปทันที เว้นเสียแต่ว่าผู้มีอำนาจคนใดจะมีเครื่องรับพิเศษที่แตกต่างไปจากนักการเมืองทั่วไป   หมายความว่าเป็นผู้ที่มีความสนใจเป็นการเฉพาะหรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เขาผู้นั้นจึงจะรับสัญญาณนี้ได้ ซึ่งหาได้ยากมาก
          3. ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อเครือข่ายทั่วประเทศ
          เวทีนโยบายสาธารณเพื่อเอาชนะความยากจน เมื่อผนวกกับโครงข่ายการสื่อสาร นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการเตรียมความพร้อมของเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศเพื่อรับมือกับนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลและผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว รวมทั้งการสร้างความร่วมมือการทำงานร่วมกัน
          การเตรียมความพร้อมที่สำคัญสำหรับเครือข่ายปฏิบัติการภาคประชาชนคือการให้ข้อมูลข่าวสาร   ความรู้เท่าทันและข้อแนะนำแนวคิดแนวทางในการร่วมมือกับภาครัฐอย่างเป็นอิสระและสร้างสรรค์
          เราพบความจริงว่า ด้วยความเคลื่อนไหวและการส่งสัญญาณดังกล่าว    เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่มักรู้เรื่องราวการขับเคลื่อนทางนโยบายของรัฐบาลส่วนกลางได้รวดเร็วและละเอียดกว่าข้าราชการในภูมิภาคเสมอ
ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาสังคมต่อคนทำงานอยู่ไม่น้อย
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (23): เวทียุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน (2546-2547)"

Leave a comment

Your email address will not be published.