การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณ (2) ยิ่งปลุกเร้าให้ประชาชนที่มีการศึกษาและชนชั้นกลางในเมืองเข้าร่วมสนับสนุนมากขึ้นทุกทีเมื่อมีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป 73,000 ล้านบาท
โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว การเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลและความแยบยลของการทุจริตเชิงนโยบายซึ่งทำให้กระแสความไม่พอใจสูงขึ้นจนชนเพดาน
เมื่อเห็นว่าจำเป็นต้องก่อตัวการเคลื่อนไหวคู่ขนานเพื่อหนุนเสริมพลังต่อต้านรัฐบาลของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) จึงเชิญชวนสมัครพรรคพวก จำนวน 81 องค์กร และเครือข่ายจากทั่วประเทศมาร่วมออกตัวเคลื่อนไหวทางสังคมในนาม “เครือข่ายพันธมิตรการเมืองภาคพลเมือง”
ในที่สุด เมื่อเห็นว่ามาตรการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของภาคประชาชนยังไม่เกิดผลแตกหัก เครือข่ายของพวกเราจึงพากันขบคิดหาวิธีบีบรัดให้รัฐบาลและกลุ่มทุนสนับสนุนเกิดความพะว้าพะวง จึงเป็นที่มาของการฟื้นการเคลื่อนไหวกลุ่มการะเกดที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทรณรงค์รัฐธรรมนูญสีเขียวเมื่อ 10 ปีก่อน คราวนี้มี ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์, พลเดช ปิ่นประทีป, อนุชาติ พวงสำลี, แก้วสรร-ขวัญสรวง อติโพธิ, ธีรพล นิยม, ปรีชา อุยตระกูล, นวลน้อย ตรีรัตน์, สังศิต พิริยะรังสรรค์, สนธิญาณ หนูแก้ว, สุริชัย หวั่นแก้ว, ชูชัย ฤดีสุขสกุล, ภุชงค์ กนิษฐชาติ, เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ฯลฯ เป็นแกนกลาง
ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “กลุ่มการะเกด’49” ซึ่งกลับมาจุดประกายการเคลื่อนไหวสังคมด้วยการเชิญชวนสาธารณชนร่วมปฏิบัติการ “อารยะแข็งขืน 10 ประการ”
1. ยกเลิกการใช้ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของ AIS, TRUE และ TRUE MOVE
3. ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการทุกประเภทของ CP, Nestle’ และ Capital OK.
4. ชวนกันไปเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ให้ล้นหลาม โดยยึดคำขวัญ “เข้าคูหา กาไม่เลือกใคร”
7. ปฏิบัติดังเยี่ยงพลเมืองผู้ตื่นรู้ (Active Citizen) เตรียมรณรงค์ต่อต้านระบอบทักษิณอย่างร่าเริง สนุกสนาน และทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์
8. ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรม ร่วมกันแต่งชุดดำ หรือติดริบบิ้นที่แขนขวาในทุกวันอังคาร ที่รัฐบาลมีการประชุม ครม.
การฟื้นบทบาทกลุ่มการะเกดและการขับเคลื่อนอารยะแข็งขืน 10 ประการ มีบทเรียนรู้อะไรที่น่าสนใจ
แนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ มิใช่มีแค่เพียงการชุมนุมเรียกร้องแบบสันติอหิงสาที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น ยังมีรูปแบบวิธีการอันหลากหลายซึ่งรอการคิดค้นสร้างสรรค์อีกมาก
การชุมนุมทางการเมืองตามท้องถนน หรือในพื้นที่สาธารณะเป็นรูปแบบที่ซึ่งหน้าและทรงพลัง ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์แล้ว แม้ส่วนที่ล้มเหลวก็ไม่น้อยและบางคราวเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสีย ที่มาพร้อมกับชัยชนะบ้าง พ่ายแพ้บ้าง ตามสภาพของเหตุปัจจัยและภาวะแวดล้อม
การชุมนุมเป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับผู้มีความพร้อมเสียสละและกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ในระดับหนึ่ง จึงมักขับเคลื่อนด้วยพลังกลุ่ม หรือพลังเครือข่ายที่มีความรู้สึกหรืออุดมการณ์แรงกล้า จนเมื่อสถานการณ์ถึงจุดหนึ่งที่ชนะใจหรือเรียกความสนใจจากสาธารณชนได้ ก็จะมีคนภายนอกทั่ว ๆ ไปในสังคมเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งกลายเป็นพลังสังคมหรือพลังสาธารณะ ที่หนุนเนื่องเข้ามา อย่างหลังนี้แหละที่เป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ
การริเริ่มรูปแบบอารยะแข็งขืน 10 ประการครั้งนี้ เป็นความพยายามที่จะหาวิธีการให้คนทั่วไปที่อยู่ตามบ้านช่องและสถานที่ทำงานต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมปฏิบัติการได้โดยมิต้องมาร่วมชุมนุมตามท้องถนน
เป็นปฏิบัติการส่วนตัว (Do It Yourself :DIY) ที่สามารถลงมือทำได้ด้วยตนเองในทันที และส่งผลต่อส่วนรวมได้เช่นกัน หากมีความถึงพร้อมในเชิงปริมาณ คุณภาพและจังหวะเวลา
รูปแบบอารยะแข็งขืนเช่นนี้ อาจใช้เป็นแนวทางการต่อสู้ที่เสริมหนุนการชุมนุมทางการเมืองหรือจะเป็นการต่อสู้แบบเดี่ยว ๆ ตามลำพังก็ได้
กลุ่มการะเกด’49 ขับเคลื่อนอารยะแข็งขืน 10 ประการในลักษณะเป็นชุดมาตรการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคว่ำบาตรสินค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจการเมืองฝ่ายตรงข้าม (1,2,3), เพื่อแสดงการแข็งขืนต่อรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม (4,5,6) และเพื่อสำแดงพลังพลเมืองหนุนประชาธิปไตยจริยธรรม (7,8,9,10)
ในการเคลื่อนไหวสังคมหรือเครือข่ายที่มีผู้คนจำนวนมากและหลากหลายระดับความเข้าใจ มาตรการหรือคำสั่งหรือโจทย์ที่ตั้งขึ้นมา ควรต้องมีความสั้น กระชับ เข้าใจง่าย ตรงนี้เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ภาคประชาชนควรต้องพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับกันต่อไป
เมื่อมาตรการอารยะแข็งขืน 10 ประการเริ่มออกตัว กระแสการตอบรับจากสังคมขยายวงออกไปได้ระยะหนึ่ง สังเกตได้ว่า 3 มาตรการแรกที่มุ่งคว่ำบาตรสินค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจการเมืองและพวกพ้องบริวารเกิดผลสะเทือนก่อนเพื่อน ยิ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของสาธารณชนด้วยแล้วยิ่งอ่อนไหวมากที่สุด
ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้มักซ่อนตัวอยู่ข้างหลังนักการเมืองและกลุ่มการเมือง อาศัยเป็นบารมีคุ้มครองและทำมาหากันร่วมกัน ไม่เดือดเนื้อร้อนใจต่อปัญหาของสังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวมใด ๆ ต่อเมื่อถูกจับตาและลากออกมาสู่สายตาสาธารณชนแบบนี้ มักทนได้ไม่นาน
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (35) การะเกด 49 กับอารยะแข็งขืน"