ประสบการณ์ประชาสังคม(20) : เครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดิน (2545-2546)

          รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศให้การทำสงครามเอาชนะยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ(ศตส.)ขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการ และพลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ เลขาธิการป.ป.ส. เป็นผู้คุมกลไกขับเคลื่อนขบวนทัพ

          เมื่อจัดโครงสร้างและบุคลากรแล้ว คุณทักษิณ สั่งเดินหน้าทันที เขาประกาศต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศว่า :
          “ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ตรงกับทฤษฎีของโรเบิร์ต เมอร์ตัน คือ เมื่อวิธีการทำมาหากินที่ถูกกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้คนได้ดำเนินชีวิตแบบนั้น แต่มีวิธีการที่ดำเนินชีวิตที่ผิดกฎหมายเปิดขึ้นมาแล้วโอกาสถูกลงโทษมีน้อย แต่ได้ผลตอบแทนสูง คนก็จะเข้าสู่

จุดของการทำมาหากินที่ผิดกฎหมายที่ไม่ค่อยถูกลงโทษและผลตอบแทนสูงทันที ทฤษฎีนี้มีมานานแล้ว และวันนี้เศรษฐกิจผิดปกติ เศรษฐกิจผิดกฎหมายก็โตอย่างผิดปกติคือปัญหายาเสพติด ผมขอร้องว่าเราคงต้องเด็ดขาด”

          2 เดือนภายหลังจากประกาศสงครามยาเสพติด พรรคพวกที่ทำงานแก้ปัญหายาเสพติดกันมานานวิ่งโร่มาหาเพื่อขอปรึกษา อ.ประเวศ วะสี และผมพร้อมกัน มีคุณภิญโญ ทองชัย ผู้อำนวยการสำนักแผนและนโยบายของ ป.ป.ส. และคุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ทั้งสองท่านบอกว่าเดือดร้อนกันใหญ่แล้ว สัญญาณความรุนแรงและเด็ดขาดที่นายกรัฐมนตรีประกาศนั้นถูกนำไปแปลงเป็นคำสั่งการในสายตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง โดยมีการตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณให้เกิดการมอบตัว จับกุม กวาดล้าง ซึ่งมักหนีไม่พ้นการวิสามัญฆาตกรรมและการฆ่าตัดตอน เวลานี้งานชุมชนและงานครอบครัวเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดที่ริเริ่มบุกเบิกมาในรอบ 10 ปี มีอันต้องพังยับเยิน  ท่านนายกฯไม่ฟังใครเลย ทำอย่างไรจะสะกิดเตือนกันได้บ้าง
          เราประเมินสถานการณ์และแนวโน้มด้านต่างๆ แล้วจึงตกลงใจกันว่าจะต้องหาทางให้รัฐบาลมีการขับเคลื่อนกิจกรรมในอีกแนวทางหนึ่งควบคู่กันไปคือแนวทางชุมชน  ผมจึงต้องรับหน้าเสื่อไปพบท่านชวลิตและคุณชิดชัย เป็นการเจาะจงโดยมีคุณภิญโญ เป็นผู้ประสานนัดหมายให้ ได้ผลครับ ผู้ใหญ่ทั้งสองท่านเข้าใจเจตนาดีของพวกเราและขอร้องให้เครือข่ายภาคประชาชนเข้ามาร่วม ท่านแต่งตั้งให้หมอพลเดช เข้าไปนั่งเป็นกรรมการศูนย์อำนวยการ ศตส.ด้วย และอนุมัติโครงการขับเคลื่อนพลังชุมชนพลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน(คพช.) พร้อมงบประมาณอุดหนุน 100 ล้านบาท ทันที
          LDI งานเข้าครับ งานอื่นที่มีอยู่ก็ต้องทำกันไป แต่ภารกิจใหม่ที่รัฐบาลโยนมาให้ต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุดสมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ผมตั้งสำนักงานบริหารโครงการขึ้นเป็นการเฉพาะโดยดึงเอาบุคลากรจากเครือข่ายในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมาร่วมขับเคลื่อน เราเชิญท่านอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มาเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ และขอให้ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี เป็นประธานที่ปรึกษา ซึ่งอาจารย์ผู้ใหญ่ทั้งสองตอบรับด้วยความยินดีและให้เวลามาร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง   โครงการจึงประสบความสำเร็จด้วยดีทุกประการ
          ที่ว่าประสบผลสำเร็จนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายการปราบปรามเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีได้ แต่อย่างน้อยก็ได้ทำให้ยุทธศาสตร์ชุมชนมีที่ยืนอยู่ในวาระแห่งชาติและกลายเป็นเครื่องเตือนสติฝ่ายปราบปรามว่า การแก้ปัญหายาเสพติดนั้นไม่ได้มีมาตรการสายเหยี่ยวเพียงประการเดียวนะ
          ศตส.ในตอนนั้นมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ ด้าน Supply ใช้การปราบปรามผู้ผลิต/ผู้ค้า/ผู้ลำเลียงอย่างเด็ดขาด, ด้าน Demand เป็นการแก้ปัญหาผู้ติด/ผู้เสพอย่างเหมาะสม, ด้าน Potential Demand ให้ความสำคัญกับการป้องกันกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และด้านการบริหารจัดการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนทั้งระบบ
          นอกจากมีที่ยืนของภาคประชาชนแล้ว สิ่งที่พวกเราสามารถบรรลุผลสำเร็จด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี ของการทำงานคือ การเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาสังคม ในนามของ “เครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดิน (คพช.)” เราสามารถถักทอความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองและข้าราชการที่มีจิตอาสาและผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากทุกจังหวัดคืบไปสู่พื้นที่ทุกอำเภอได้สำเร็จครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่าย คพช.ในกรุงเทพฯ 50 เขต กับผู้ปฏิบัติงานชุมชนกทม. 1,000 คน ที่เข้าร่วมยุทธศาสตร์ Heart Land
          ภารกิจและโจทย์ที่โครงการมอบให้เครือข่ายคพช.ในทุกพื้นที่ดำเนินการคือการสำรวจปัญหายาเสพติด จัดทำข้อมูลชุมชน และดำเนินกระบวนการจัดทำแผน“อำเภอบูรณาการ”เพื่อเอาชนะยาเสพติด โดยเฉพาะอันหลังนี้ทำให้เครือข่ายต้องเชื่อมร้อยทุนทางสังคมในพื้นที่ที่เราเคยขับเคลื่อนมาก่อนในยุค SIF, กระบวนการแผน ๙, ประชาคมสุขภาพและประชารัฐ ฯลฯ เข้ามาร่วมกัน ตอนสิ้นโครงการเรามีเครือข่าย คพช. 800 พื้นที่และแผนอำเภอบูรณาการ 550 แผนอยู่ในมือ
          ก่อนสิ้นสุดโครงการเล็กน้อย พวกเราประสานนัดหมายผู้ใหญ่ 4 ท่านมาพบปะกันแบบ Lunch Meeting ที่ห้องอาหารจีนโรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มีพลเอกชวลิต, พลตำรวจเอกชิดชัย, อ.ประเวศ และอ.ไพบูลย์ ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอร่าง Concept  สำหรับแผนการขับเคลื่อนในช่วงต่อไป และคุณภิญโญ เป็นผู้คอยเสริม ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าโครงการดำเนินการได้ผลดีมากและควรจะมีการขับเคลื่อนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อไป ขบคิดกันอยู่นานในที่สุดก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะแก้ยาเสพติดของชุมชนได้จะต้องสานต่อปัญหายาเสพติดไปสู่เรื่องการมีสัมมาชีพและพ้นจากความยากจน
          การจัดตั้ง“ศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.)” จึงเกิดขึ้นจากอาหารกลางวันมื้อนั้นเอง
          ในการขับเคลื่อนเครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดินในสถานการณ์สงครามยาเสพติดพวกเรามีบทเรียนรู้อะไร
          1. ยุทธศาสตร์ภาคประชาชนกับโอกาสตามสถานการณ์
          การทำงานเชิงยุทธศาสตร์คือการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวด้วยตนเองอย่างชัดเจนและรู้จักช่วงชิงโอกาสที่เปิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ตามสถานการณ์เพื่อขับเคลื่อนงานอย่างก้าวกระโดด
          โอกาสที่ว่านี้มีทั้งส่วนที่เกิดจากปัญหาวิกฤตนำมาก่อน หรือบางครั้งเกิดจากความขาดแคลนคุณภาพในการพัฒนาซึ่งทำให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่และมีทรัพยากรเรียกร้องความร่วมมือจากภาคประชาชน
          LDI มีภารกิจและเป้าหมายใหญ่ในการสร้างความเข้มแข็งของสังคมขึ้นมาจากฐานล่างอันหมายถึงชุมชนท้องถิ่นใน 80,000 หมู่บ้านและ 2,000 เมืองทั่วประเทศ โดยเรามีเพียงสองมือเปล่า  ด้วยเหตุนี้ LDI จึงต้องทำงานเชิงยุทธศาสตร์เพียงสถานเดียว
          เมื่อเพื่อนหรือภาคีจาก ป.ป.ส.(คุณภิญโญ) และกระทรวงสาธารณสุข(นพ.ยงยุทธ) เดือดร้อนจากผลกระทบนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลและวิ่งมาหา นั่นคือ หน้าต่างแห่งโอกาส (Window of Opportunity) ที่เปิด การช่วงชิงโอกาสและไขว่คว้าเอาไว้ได้จึงถือเป็นจังหวะสำคัญที่จะได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมกันและสมประโยชน์ไปด้วยกันทุกฝ่าย
          2.ทุนเครือข่ายกับความรู้จักคุณค่า
          ทุนเครือข่ายและทุนทางสังคมเป็นสิ่งที่มีศักยภาพอยู่ในตัว เปรียบเสมือนพลังงานศักย์(Potential Energy) ที่รอว่าเมื่อใดจะเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์(Kinetic Energy) เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้น สุดแต่ว่าจะมีวิกฤตการณ์บางอย่างไปกระตุ้นเร่งเร้าให้ลุกขึ้นมาเองตามธรรมชาติ (By Crisis) หรือเกิดมีผู้นำที่เข้าใจ เห็นคุณค่าและรู้วิธีใช้งานก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน (By Design)
          ที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน(สทบ.) เราได้ถักทอและใช้พลังเครือข่ายประชารัฐอย่างคุ้มประโยชน์มาก ผมกับคุณเชิดชอ เชื้อสมบูรณ์ ผู้จัดการส่วนประชารัฐของสทบ.เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อพบปะสานสัมพันธ์และจัดตั้งเครือข่ายประชารัฐในจังหวัดต่างๆ เราสองพี่น้องได้สัมผัสถึงความตื่นตัวคึกคักจนขนลุก ตอนที่ผมบอกลาสทบ. ได้เคยให้แง่คิดกับคุณยงยุทธ ติยะไพรัช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการสทบ.แทนหมอมิ้งว่า เครือข่ายประชารัฐนั้นเป็นทุนทางสังคม เป็นกลไกอาสาสมัครที่มาร่วมทำงานกับสทบ. เมื่อใดก็ตามที่เราไม่เห็นประโยชน์ ไม่ใช้ทำงาน คนอื่นก็มีสิทธิ์คว้าไปได้เช่นกัน
          การขับเคลื่อนเครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดิน(คพช.) แก้ปัญหายาเสพติดคือการต่อยอดเครือข่ายประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านนั่นเอง คุณเชิดชอซึ่งขณะนั้นยังคงอยู่ในสทบ.พูดกับผมว่า “พี่หมอ ยงยุทธไม่รู้จักและไม่เห็นคุณค่าเครือข่ายประชารัฐก็ช่างมันเถอะ เราต่อยอดมาทำเรื่องยาเสพติดแบบนี้ มันน่าสะใจจริงๆ!”
          ผมจึงถือโอกาสอธิบายเพิ่มเติมว่า “เครือข่ายคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน(Trust) องค์กรที่จัดกิจกรรรมแล้วเชิญคนจากองค์กรต่างๆมาร่วม กิจกรรมแบบนี้อาจเรียกว่าเป็นกิจกรรมเครือข่าย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “ความเป็นเครือข่าย” ที่ผูกพันทางจิตใจระหว่างคนกับคนจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเสียเมื่อไร แม้บางทียงยุทธรู้จักและเห็นคุณค่าเครือข่ายประชารัฐที่เราสร้างเอาไว้ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากเครือข่ายง่ายๆ หรอกครับ”
          3. การถักทอเครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดินใน กทม.
          กรุงเทพมหานครเป็นชุมชนใหญ่และซับซ้อนอย่างที่สุด มีประชากรนับสิบล้านคน มีชุมชนแออัดกว่า 2,000 แห่ง นอกจากนั้นยังมีชุมชนบ้านจัดสรร ชุมชนอาคารชุด   ชุมชนชานเมือง ชุมชนการเคหะ และชุมชนบุกรุกรูปแบบต่างๆ กทม.เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลากประเภทและหลายระดับซึ่งต่างมีความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกันจนน่าเวียนหัว มีปัญหายาเพสติดรุนแรงที่สุด งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทำได้ยากมาก
          ก่อนหน้านั้น LDI ทำงานชุมชนในกทม.น้อยมาก แต่มีความสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนผ่านเวทีเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน (Bank Poor Net) และโครงการกองทุน SIF มาโดยตลอด ภารกิจถักทอพลังชุมชนพลังแผ่นดินเป็นโอกาสที่ทำให้ LDI และเครือข่ายองค์กรชุมชนกทม.ผนึกกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ยิ่ง ป.ป.ส.เองได้ให้ความสำคัญต่อพื้นที่กทม.ในฐานะที่เป็น Heart Land ของปัญหายาเสพติดด้วยแล้ว เราจึงร่วมมือกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คพช.กทม.ไปพร้อมกัน ในการนี้เราได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมพิเศษสำหรับแกนนำชุมชนกทม. รวม 16 รุ่น จำนวน 1,000 คนเศษ ซึ่งคนเหล่านี้ได้กลายเป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายมาจนถึงปัจจุบัน
          นอกจากนั้น ในช่วงการเตรียมงานและเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปีนั้น ฝ่ายความมั่นคงที่มีพลเอกชวลิต ดูแล ยังได้อาศัยเครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดินเหล่านี้เข้าร่วมเฝ้าระวังและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด   ประโยชน์และความประทับใจร่วมกันเหล่านี้คือทุนความไว้วางใจในระหว่างกัน
          4. จาก ศตส. สู่ ศตจ.
          การบริหารจัดการโครงการคพช.ที่มีขอบเขตทั่วประเทศและการประสานทำงานกับส่วนราชการทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ภาครัฐ ส่วนราชการ และรัฐบาลให้ยอมรับในขีดความสามารถของภาคประชาชนมากขึ้นตามลำดับ
          เมื่อผู้ใหญ่ทั้ง 4 ท่านร่วมกันคิดและแลกเปลี่ยนกันอยู่เป็นนานว่าจะสานต่อโครงการพลังชุมชนพลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนต่อไปอย่างไร รู้ทั้งรู้ว่าปัญหายาเสพติดในชุมชนเกี่ยวพันกับความยากจน เมื่อแก้ความยากจนได้ก็แก้ปัญหายาเพสติดได้ด้วย แต่ ป.ป.ส.และศตส.ก็ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ สุดท้ายจึงเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องตั้ง ศตจ.ขึ้นมาแบบเดียวกับศตส. และเสนอให้นายกฯประกาศขับเคลื่อนสงครามเอาชนะความยากจน
          ความยากอยู่ที่ศตส.มี ป.ป.ส.เป็นหน่วยงานรองรับโดยตรง แต่ศตจ.ไม่มีแบบนั้น จึงต้องใช้หลายหน่วยงานเป็นฐานขับเคลื่อน   เรื่องหนี้สินต้องกระทรวงการคลัง เรื่องที่ดินทำกินต้องสำนักนายกฯ เรื่องอาชีพต้องกระทรวงแรงงาน ส่วนในภาคประชาชนนั้นอาจารย์ไพบูลย์ กับหมอพลเดช เข้าไปนั่งเป็นกรรมการศตจ.และ LDI เป็นคณะทำงานเลขานุการร่วมกับกระทรวงหลัก การทำงานในช่วงรอยต่อนั้นเราเหน็ดเหนื่อยกันมากเพราะต้องทำงานทางวิชาการและเอกสารประกอบการประชุมมากมาย
          ครั้งนั้นเครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดินทั้งหมดได้ขยับจาก ศตส.เข้ามาสู่ประเด็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนอย่างเต็มตัว และเพื่อความมีสถานภาพและศักดิ์ศรีในการทำงานเคียงคู่กับภาครัฐและหน่วยงานราชการต่างๆ เราจึงตัดสินใจประกาศตั้ง ศตจ.ภาคประชาชน(ศตจ.ปชช.) ขึ้นโดยมี LDI เป็นศูนย์ประสานงานในขั้นแรก ก่อนที่จะย้ายไปที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ในเวลาต่อมา
นพ.พลเดชปิ่นประทีป
6 ตุลาคม 2552

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม(20) : เครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดิน (2545-2546)"

Leave a comment

Your email address will not be published.