ฟื้นสำนึกท้องถิ่นภูเก็จ บนเส้นทางวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้าน

เมื่อเอ่ยชื่อ “ภูเก็ต” ไม่ใช่แค่ส่วนใหญ่ของคนไทยแต่หมายถึงคนกว่าค่อนโลกที่นึกถึงการท่องเที่ยว  ในขณะที่คนภูเก็ตแท้ๆ ต้องเจ็บช้ำเพราะคำว่าการท่องเที่ยว ไม่น้อยไปกว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว…..

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ภูเก็ต

เมื่อเอ่ยชื่อ “ภูเก็ต” ไม่ใช่แค่ส่วนใหญ่ของคนไทยแต่หมายถึงคนกว่าค่อนโลกที่นึกถึงการท่องเที่ยว ในขณะที่คนภูเก็ตแท้ๆ ต้องเจ็บช้ำเพราะคำว่าการท่องเที่ยว ไม่น้อยไปกว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว และหากจะถามถึงตัวตนความเป็นภูเก็ตที่แท้แล้ว ก็ต้องคนภูเก็ตแท้ๆ อีกเช่นกันที่รู้จักตัวเองดีว่า มีอะไรอย่างอื่นอีกมากในท้องถิ่นภูเก็ตที่เขาสามารถภูมิใจได้มากกว่าเรื่องของการท่องเที่ยว หนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง อาหารพื้นบ้าน


N
เลือกวัฒนธรรมอาหาร…เครื่องมือสานพลังคนภูเก็ต

แม้จังหวัดภูเก็ตจะถูกมองจากคนรอบด้านว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ก็มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานไม่น้อยไปกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ อีกทั้งฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายทั้งในแผ่นดินและผืนน้ำ โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ที่นำระบบความสัมพันธ์แบบนายหัวกับลูกน้องมาสู่สังคมเมืองภูเก็ต แต่เมื่อหมดแร่ระบบความสัมพันธ์แบบนายจ้างกับลูกจ้างก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้น พร้อมกับการเข้ามาของนากุ้งและกระแสการท่องเที่ยวที่นำเม็ดเงินมหาศาลมาถึงมือพี่น้องชาวภูเก็ต แต่ก็ตามมาด้วยภาวะความเป็นหนี้และค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนไปจนไกลห่างจากความเป็นคนท้องถิ่นมากขึ้นทุกที กระทั่งเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิที่พรากหลายๆ อย่างไปจากชีวิตของคนภูเก็ตและอีกหลายจังหวัดบนฝั่งอันดามัน ณ พ.ศ. นี้ จึงน่าจะเป็นจุดที่คนภูเก็ตต้องทบทวนการใช้ชีวิตที่ผ่านมา เพราะบทเรียนจากการถูกกระทำโดยผ่านแผนงานและนโยบายต่างๆ ของภาครัฐมีแต่จะทำให้คนภูเก็ตก้าวห่างออกไปจากฐานรากแห่งความเป็นท้องถิ่นที่เคยมี

ทะเลภูเก็ต

 

กระแสทุนนิยม โลกาภิวัตร์ หรือวัฒนธรรมจากต่างชาติที่ถั่งโถมเข้ากระทบความเป็นเมืองภูเก็ตและคนภูเก็ตจึงมีแต่จะทำให้ความเป็นท้องถิ่นที่หลากหลายต้องอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ทุนเดิมที่สำคัญเช่นความหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งผสมผสานคนพื้นถิ่นทั้งไทยพุทธ ไทยจีน และไทยมุสลิม อาจจะกลายเป็นเพียงความหลังที่เป็นเพียงเรื่องเล่าบอกต่อถึงเด็กรุ่นหลัง หากยังถูกละเลยไม่ให้ความสนใจอีกต่อไป ด้วยสายตาที่เล็งแลเห็นสิ่งที่น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่นร่วมกัน คณะทำงานชีวิตสาธารณะ จ.ภูเก็ต จึงช่วยกันระดมความคิด ทบทวน ฟื้นสำนึกการมีวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าเป็นของตัวเอง แม้จะแตกต่างแต่ไม่ได้แตกแยกความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกัน และเพื่อให้คุณค่าที่มีอยู่เดิมได้ฟื้นคืนกลับมา กลายเป็นเกราะป้องกันกระแสรุกรานทางวัฒนธรรมจากภายนอก และเพื่อเป็นการสร้างสำนึกของการมีตัวตนมีรากเหง้าและมีที่มา ประเด็นเรื่องอาหารพื้นบ้าน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้ทั้งมิติทางภูมิปัญญา วัฒนธรรม และสุขภาพ ของคน 3 วัฒนธรรมในท้องถิ่นภูเก็ตจึงเป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนงานเพื่อนำไปสู่การสร้างสำนึกสาธารณะและก้าวสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเป็นจุดเริ่มที่เรื่องอาหาร กระบวนการขับเคลื่อนชีวิตสาธารณะในท้องถิ่นภูเก็ตได้ผลักดันผ่านประเด็นวัฒนธรรมอยู่ก่อนแล้ว เนื่องด้วยมองว่าการจะพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งได้นั้นย่อมไม่อาจละเลยเรื่องของวัฒนธรรมไปได้เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความท้าทายอยู่ที่จะทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงจิตวิญญาณร่วมกันได้อย่างไร การเคลื่อนไหวเมื่อเริ่มต้นได้ทำผ่านการจัดค่ายเยาวชน 3 วัฒนธรรม เพื่อให้เด็กจาก12 ชุมชน รวม 80 คน แต่ต่างวัฒนธรรมกันมีโอกาสลงพื้นที่ทั้งของชุมชนไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมเรื่องอาหารที่แต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ต่างกันไป

 

 

ประเด็นวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้าน ยังสอดคล้องกับกระแสอาหารสุขภาพที่อยู่บนภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบกับการทำงานบนฐานของชุมชนซึ่งคณะทำงานได้สร้างและพัฒนาแกนนำไว้แล้วตั้งแต่ปีแรกของโครงการ และเพิ่มขยายแกนนำเครือข่ายการทำงานในปีต่อมา จาก 10 ชุมชนเป็น 17 ชุมชน ผ่าน 5 ประเด็นหลักๆ ที่ชุมชนสนใจ คือ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สื่อชุมชน เยาวชนและผู้สูงอายุ

ในที่สุดคณะทำงานก็ได้เลือกที่จะผลักดันให้เกิดเวทีเชิงประเด็นระดับจังหวัดเพื่อชูประเด็นวัฒนธรรมผ่านอาหารพื้นบ้านให้กลายเป็นวาระของคนภูเก็ต การลงพื้นที่พูดคุย ซักซ้อม สร้างความเข้าใจกับแกนนำชุมชนทั้ง 3 วัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นจนแต่ละชุมชนเข้าใจและเห็นด้วย งาน “มหกรรมอาหารเพื่อชีวิตคนภูเก็จ” จึงปรากฏตัวขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2547

การนำเสนอรูปแบบอาหารพื้นบ้านตามวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้ง 3 คือ ไทยจีน ไทยพุทธ และไทยมุสลิม ทำให้แต่ละชุมชนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมของตนเองผ่านอาหารที่นำมาด้วย แต่ละชุมชนแต่ละวัฒนธรรมยังคำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน เช่น อาหารที่ชาวไทยจีนหรือชาวไทยพุทธเตรียมมาจะหลีกเลี่ยงเนื้อหมู ขณะที่อาหารมุสลิมจะไม่ใช้เนื้อวัวประกอบอาหาร ทุกคนที่มางานจึงสามารถเลือกทานอาหารกันได้ทุกวัฒนธรรม

ภาพที่ปรากฏยังทำให้เห็นพลังความร่วมมือกันทำงานของภาคีที่หลากหลายในระดับจังหวัด ได้แก่ ราชการ เอกชน ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองท้องถิ่น โดยมีชุมชนเป็นตัวตั้ง พลังที่เกิดขึ้นทำให้สาธารณะเกิดการยอมรับในแนวทางความคิดและการทำงานเชิงสาธารณะผ่านมิติวัฒนธรรมของคณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะฯ จังหวัดภูเก็ตมากขึ้นด้วย

การเปิดเวทีแม้เพียงครั้งแรกแต่ก็ทำให้เกิดแนวทางที่จะสานพลังผ่านวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านต่อไป คือ การจัดตั้งเครือข่ายผู้บริโภค การสร้างมาตรฐานของผู้ประกอบการ การมีด่านกักกันตรวจสอบที่รับผิดชอบร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับรัฐ การพึ่งตนเองได้ในเรื่องผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง

ก้าวต่อมาของคณะทำงานยังได้ผลักดันให้เกิด สมัชชาขนมจีน ในเดือนสิงหาคม 2549 เพราะเป็นอาหารที่คนทั้ง 3 วัฒนธรรมมีขายและรับประทานได้ โดยเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภูเก็ตอยู่ที่เครื่องเคียงและผักซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้านที่ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีจากปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง เช่น ยอดหมุย ยอดกอก (มะกอก) ยอดกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) ยอดมันปู และอื่นๆ จึงไม่เพียงช่วยรักษาภูมิปัญญาผักพื้นบ้านให้คงมีอยู่ต่อไปแต่ผักพื้นบ้านบางชนิดก็มีสรรพคุณทางยาที่ช่วยรักษาสุขภาพด้วยเช่นกัน

จากงานดังกล่าวนำไปสู่การเป็นวาระของภาคประชาชน ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ให้มีการควบคุมและรักษามาตรฐานของโรงงานทำขนมจีนที่ต้องสะอาดปลอดภัย ร้านขนมจีนที่อร่อยและมีมาตรฐาน ในอนาคตมีแนวคิดที่จะจัดทำแผนที่ร้านขนมจีนที่ได้มาตรฐานในภูเก็ต นอกจากนี้ ได้มีการผลักดันให้คนในชุมชนต่างๆ หันมาปลูกผักพื้นบ้านเพื่อขายในท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อลดการบริโภคผักจากภายนอก

ขนมจีน

ยอดกอก (มะกอก)

ยอดมันปู

ยอดกาหยี (มะม่วงหิมพานต์)

 


N
ความเป็นทีมที่มุ่งมั่น…คือพลังขับเคลื่อนสำคัญ

“เราอยากให้เกิดกระบวนการที่คนในชุมชนท้องถิ่นเข้าใจสภาพปัญหาของตนเอง รู้เท่าทันสถานการณ์ของสังคม นำไปสู่การพยายามแก้ปัญหาโดยชุมชนเองอย่างเป็นรูปธรรม สามารถกำหนดตนเองได้มากขึ้น” นั่นคือ สิ่งที่เป็นทั้งเป้าหมายและความคาดหวังที่คณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะฯ จังหวัดภูเก็ตยึดถือร่วมกัน โดยมีจุดเด่นเรื่องการทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง ประสานการทำงานกันเป็นเครือข่ายรวมทั้งหมด 4 เครือข่าย คือ เครือข่ายสภาวัฒนธรรม เครือข่ายผู้นำชุมชน เครือข่ายอสม. และเครือข่ายเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยสร้างความสัมพันธ์ในแนวราบกับภาคีต่างๆ และการรักษาความต่อเนื่องด้วยการพบปะกันเป็นประจำ

 

ความหลากหลายเรื่องสถานภาพ ความสามารถ หรือที่มาของคณะทำงานแต่ละคนจึงน่าจะถูกอธิบายได้ด้วยความเป็นท้องถิ่นที่มีสังคมวัฒนธรรมอันหลากหลายในท้องถิ่นภูเก็ตเอง ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของการทำงานสาธารณะท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมต่างชาติที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เพราะการเคลื่อนงานโดยมีฐานทางวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งไม่เพียงทำให้คนแต่ละวัฒนธรรมได้กลับมาทบทวน ตั้งคำถามกับรากเหง้าความเป็นมาของตัวเอง แต่จะนำไปสู่การเรียนรู้และยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน ทั้งยังสร้างสำนึกแห่งความผูกพันและเป็นเจ้าของท้องถิ่นตัวเอง เมื่อมีสถานการณ์ร่วมที่เป็นปัญหาของท้องถิ่นก็รู้สึกได้ถึงการมีชะตากรรมเดียวกัน สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นบันไดพื้นฐานสู่การมีชิวิตสาธารณะที่เข้มแข็ง

การมุ่งสร้างความน่าอยู่และเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นภูเก็ตผ่านวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้าน โดยการดึงแกนนำพื้นที่ หน่วยงาน และกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีวาระในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงข้อมูล ความรู้ ความเคลื่อนไหวในประเด็นนั้นๆ จะยังคงถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ เห็นพลังที่จะผลักดันเรื่องอาหารพื้นบ้านเป็นนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นที่แท้จริง ในฐานะการเป็นเมืองท่องเที่ยว ยังสามารถทำประเด็นอาหารพื้นบ้านให้เป็นมิติด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่าให้กับท้องถิ่นได้ด้วย

N เงื่อนไข อุปสรรค ทางออก ทางเลือกที่ฝ่าฟัน

อุปสรรคสำคัญของการเคลื่อนงานสาธารณะในท้องถิ่นภูเก็ตซึ่งไม่ต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ มากนัก ก็คือ การไม่เข้ามามีส่วนร่วมหรือให้ความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะการเชื่อมการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งน่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้บทบาทในการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นของภาคประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก

เงื่อนไขของกำลังคนก็เป็นอุปสรรคสำคัญเช่นกัน เพราะจำนวนคนที่มีอยู่ขณะนี้ไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่เคลื่อนไหว ทำให้คณะทำงานต้องดึงแกนนำในชุมชนต่างๆ ซึ่งได้สร้างและพัฒนาขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยคิดช่วยทำด้วย ซึ่งอนาคตแกนนำชุมชนเหล่านี้จะเป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตนเองต่อไป นอกจากนี้ยังมี เครือข่ายผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และหน่วยงานองค์กร เช่น สาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด วิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งเห็นความสำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรง รวมทั้งการประสานงานโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้ประสานงานและคณะทำงานโครงการฯ ทำให้โอกาสของการเข้าร่วมมีสูงขึ้น

 

N ข้อค้นพบและบทเรียน

 

1. การนำจุดแข็งของท้องถิ่นในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาเป็นประเด็นหลักที่จะเชื่อมโยงความต่างทางวัฒนธรรมให้มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ มิติเรื่องอาหารพื้นบ้าน ซึ่งทุกวัฒนธรรมมีเหมือนกัน และสามารถเชื่อมโยงได้กับทั้งมิติทางภูมิปัญญา วัฒนธรรม และสุขภาพของท้องถิ่น

2. การเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่ในการทำงาน ทั้งต่อกลุ่มแกนนำจากแต่ละชุมชนได้มีพื้นที่ในการทำงานเชิงสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะเป็นฐานหลักของชุมชนตนเองต่อไป รวมทั้งพื้นที่สำหรับการแสดงออกซึ่งความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมอาหารของแต่ละชุมชนแต่ละวัฒนธรรม

3. การยกระดับเรื่องอาหารพื้นบ้านให้สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคฝ่าย และสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ยังมีความเข้มแข็งอยู่ ทำให้เรื่องวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านกลายเป็นวาระของคนท้องถิ่น และจะพัฒนาสู่การเป็นนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นต่อไป

4. การมีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ซึ่งสร้างความเป็นทีมที่เข้มแข็งแม้จะมาจากสถานภาพ อาชีพ และประสบการณ์ที่หลากหลาย จนสร้างการยอมรับของคนในท้องถิ่นได้ และสามารถพัฒนาตัวจนเป็นสถาบันที่ทำงานสาธารณะในท้องถิ่นต่อไปได้ โดยยึดหลักการเป็นสถาบันที่มาจากฐานของชุมชนท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาเป็นเจ้าของร่วม

 

————————————————————————–

* สะกดตามชื่อเดิมของเมืองภูเก็จ ซึ่งหมายถึงภูเขาแก้ว ส่วนชื่อที่ใช้ปัจจุบันสะกดขึ้นตามตัวสะกดภาษาอังกฤษ (PHUKET) จึงเขียนด้วยคำว่า ภูเก็ต แต่การนำมาใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏ

FACT SHEET
เอกสารข้อมูล
เอกสารข้อมูลประกอบ : ห้องย่อยที่ 2 การสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นกับวิถีชีวิตสาธารณะ
เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย” วันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ กทม
สนับสนุนข้อมูลโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ภูเก็ต

สำนักงานชั่วคราว : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ถ.นริศร อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000

โทรศัพท์ 0-1397-2853 โทรสาร 0-7622-2915

จัดทำโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3 www.ldinet.org

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Be the first to comment on "ฟื้นสำนึกท้องถิ่นภูเก็จ บนเส้นทางวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้าน"

Leave a comment

Your email address will not be published.