มลพิษทางอารมณ์

“การเมืองแย่ เศรษฐกิจถดถอย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม”
“ชาติหาย เผด็จการแทน พลังประชาชนถูกย่อยสลาย”
“เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกอย่างแย่ลง คนอยู่ยากขึ้น ไม่ปกติสุข”
…..อารมณ์เสีย

 

TAXINOMICS : มลพิษทางอารมณ์

เมื่อหลายปีก่อน สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม หรือ ซีวิคเน็ท ( CIVICNET ) ผลิตเสื้อยืดชุดหนึ่งที่ใครต่อใครอาจมีไว้ในครอบครอง ( เผลอ ๆ ใส่พอดี…วันนี้ อ้าว ! ) ผืนเสื้อด้านหลังมีภาพของซูโม่ตัวเล็ก ๓ คน พยายามจะเอามือผลักซูโม่ตัวโตอ้วนใหญ่ ต่ำลงมาหน่อยมีถ้อยคำประดับท้ายว่า “เล็กก็ล้มใหญ่ได้ ถ้าใจมันถึง — Power of the Powerless’

หลังจากนั้นก็ได้ยินประโยคที่ว่านี้ประปรายตามเวทีหรือการพูดคุยในแวดวงคนทำงาน ( หัวใจสู้ ) ขณะเดียวกันสุภาษิตจำพวก “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” “ไม้ซีกงัดไม้ซุง” หรือสุดท้ายก็ลงเอยที่ความหมายประมาณว่า “น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ” ก็ดังเข้ามากระทบสองหูด้วยเช่นเดียวกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มีอะไรอยู่ในใจและความคิดของผู้คน หรือเป็นความท้อแท้เหนื่อยหน่ายโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานเคลื่อนไหวในนาม “ภาคประชาสังคม”

เพราะความเป็น ‘คนตัวเล็ก’ ในสังคมผืนใหญ่ที่ซับซ้อน นัยซึ่งบ่งบอกไว้ในความเป็น “ประชาสังคม” ก็บอกชัดอยู่แล้วว่า เรามาจากหลากหลายที่ แตกต่างสาขาอาชีพ แต่หลอมรวมเป็นหนึ่งได้เพราะมีจุดหมายหรือเป้าประสงค์บางอย่างร่วมกัน ไม่เพียงแค่คิดแต่เราจะกระทำภารกิจทางสังคมเหล่านั้นไปพร้อม ๆ กัน และไม่ว่าจะในนามของกลุ่มหรือองค์กรใด ๆ โดยมีข้อเตือนใจเสมอว่า สิ่งที่ทำ…ไม่อาจเห็นผลได้ทันตา จึงมีระยะเวลาเป็นเพื่อนร่วมทางและบทพิสูจน์

ระหว่างหนทางที่ออกเดิน ( ออกรบ ) มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีอะไรเข้ามาท้าทาย เข้าใกล้ หรือประชิดตัว สถานการณ์ทั้งจากภายนอกและภายในที่อาจทำให้เราต้องถอยทัพจัดศึกใหม่ หรือคิดค้นหายุทธวิธีเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ กลายเป็นความท้าทายที่ต้องใคร่ครวญและใส่ใจตลอดการออกศึก ยังไม่นับรวมพลพรรคที่อาจล้มหายตายจากหรือบาดเจ็บระหว่างเดินทาง ทำอย่างไรจึงจะรวบรวมไพร่พลเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ได้ หรือทำอย่างไรจึงจะได้ทัพเสริมเพียงพอเพื่อออกรบต่อไปได้

นึกถึงสถานการณ์จริงในบ้านเมืองขณะนี้ เสียงตัดพ้อและด่าทอการทำงานที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องจนจะนำพาประเทศไปสู่หนทางแห่งหายนะเป็นสิ่งที่ได้ยินหนักขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง

รุกลามหนักเข้า คือ สิ่งที่ได้ยินจากปากพี่น้องถึงความห่วงใยในอนาคตของชาติและบ้านเมือง จากโจทย์แรกในเวทีการอบรมเรื่อง การระดมพลังสังคมและการสื่อสารโดยการปฏิบัติ ของโครงการชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ ภาคอีสาน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา “ท่านคิดอย่างไรกับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในช่วง ๑ ปี ๖ เดือนที่ผ่านมา” สิ่งที่จะได้อ่านต่อไปนี้ คือ บทสรุปจากการระดมสมองทั้ง ๗ กลุ่ม


 “รู้สึกกังวล ไม่ปลอดภัย”
“กลัวว่าจะไม่มีแผนที่ประเทศไทยในโลก”
“การเมืองแย่ เศรษฐกิจถดถอย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม”
“ชาติหาย เผด็จการแทน พลังประชาชนถูกย่อยสลาย”
“เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกอย่างแย่ลง คนอยู่ยากขึ้น ไม่ปกติสุข”
“ความเสี่ยงเกิดขึ้นหมด แต่น่าจะมี ๒ อย่างที่ช่วยได้ นั่นคือ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
และช่วยกันได้ด้วยพลังประชาชน”

และบทสรุปที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น เป็นคำตอบจากกลุ่มสุดท้าย นั่นคือ

“ทักษิณ – มลพิษทางอารมณ์ !’

ภาวะความรู้สึกทั้ง ๗ คงไม่ใช่คำพูดที่ดูน่ากลัวเกินจริงหากเราจะเพ่งพินิจคิดให้ลึกซื้งกันจริง ๆ จัง ๆ โดยอาศัยประเด็นชวนคิดที่ผุดขึ้นมาแล้วมากมายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหายาเสพติด กรณีความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการบ้านเอื้ออาทร ( และอีกสารพัดเอื้ออาทร ) นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน พักชำระหนี้เกษตรกร OTOP SMEs SML หวยรัฐบาล นโยบายการเปิดเขตเสรีทางการค้า หรือ FTA และอื่น ๆ อีกมากมาย

อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็น Sense of Emergency หรือภาวะรู้สึกต่อเรื่องฉุกเฉินร้ายแรงของประชาชนที่มีต่อชาติบ้านเมือง

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราควรทำอย่างไรในภาวะเช่นนี้

ภายใต้ความเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ระบบการเมืองแบบผ่าน ‘ผู้แทน’ ให้บทเรียนมากมายทั้งกับคนไทยและสังคมไทย แต่เราก็ปล่อยให้การเมืองแบบตัวแทนทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายประชาชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ อีกนั่นเองที่กลายเป็น ‘ราษฎรช้ำแล้วช้ำเล่า’ แล้วเรายังจะยอมให้เหตุการณ์เดิม ๆ เกิดขึ้นอีกอย่างนั้นหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะมาถึงในต้นปี ๒๕๔๘

หรือเป็นเพราะว่าเราไม่มีตัวเลือกที่ดีพอ ?

แล้วทำไมเราต้องรอตัวเลือก ? นี่อาจเป็นความคิดตั้งต้นของ การเมืองภาคประชาชน แนวคิดที่ไม่หวังพึ่งการเมืองระบบตัวแทนที่มีอายุการทำงานเพียงช่วงสมัยหนึ่ง เพียงเพราะถ้าทำงานได้ดีจริง รู้จักเอาใจประชาชนเป็น หรือพรรคฝ่ายค้านไม่ขยันทำงานก็สามารถอยู่ได้จนครบวาระ ๔ ปี แต่จะได้อยู่ต่อไปอีก ๔ ปีหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์

แต่การพิสูจน์ อาจไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านเสียงของประชาชนในการทำหน้าที่เพียงไม่กี่นาทีในคูหาเลือกตั้ง เพราะในระบบการเมืองแบบโหวตที่เราผ่านกันมาแล้วหลายเวทีการเลือกตั้ง อาจทำให้หลายคนหลงลืมไปว่า สิ่งที่ประชาชนอย่างเราท่านต้องการน่าจะถูกผลักดันออกไปโดยประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตตนเอง

บทเรียนและประสบการณ์จากเวทีบิ๊กแบงบางกอก ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร บอกกับเราว่า การรวบรวมความคิดเห็นของคนที่มาจากหลากหลายกลุ่มสาขาอาชีพกว่า ๑,๐๐๐ คนในวันเดียว แล้วหามติเพื่อยื่นเป็นข้อเสนอให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เพื่อนำไปพิจารณาและผลักดันเป็นนโยบายระดับท้องถิ่นต่อไป น่าจะเป็นหนทางหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน เพราะอย่างน้อยก็เป็นเวทีที่ประชาชนพูดในสิ่งที่ต้องการให้นักการเมืองฟังมากกว่าการเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงของผู้สมัครเหมือนเช่นที่เคยทำมาจนเป็นปกตินิสัย

ลองพิจารณาการเมืองระดับประเทศ กับคำพูดที่ว่า “ที่ไหนมีการเลือกตั้ง ที่นั่นมีการใช้เงิน” สะท้อนถึงระบบการเมืองที่มีเงินเป็นอำนาจ และผู้แทนของประชาชนก็หาใช่ผู้แทนราษฏรอีกต่อไป หากเป็น “ผู้แทนอำนาจเงิน” ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาใด ๆ ให้กับคนในสังคมได้อย่างแท้จริง

สังคมจะอยู่รอดได้ จำเป็นต้องมีสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง แต่ถ้าหากหนทางสู่การสถาปนาองค์กรทางการเมืองยังขาดความโปร่งใส มีเงินเป็นอำนาจ และมีแต่ผลประโยชน์แห่งตนเป็นเป้าหมาย ความอ่อนแอของสังคมย่อมปรากฏผลตามมาอย่างหาที่สุดมิได้ แต่ถ้าคนทั้งหมดในสังคมจะลุกขึ้นมาเอาธุระร่วมกัน และสร้างสมกระบวนการทางปัญญาด้วยการร่วมกันคิด สะสมการเรียนรู้ร่วมกันด้วยการปฏิบัติ เมื่อนั้นความเป็นสังคมคงจะแข็งแรงและมีพลังเอาชนะอำนาจทางการเงินและความไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมทั้งหลายทั้งปวงลงได้

 

รายงานโดย วิลาวัณย์ เอื้อวงศ์กูล
ฮักแพง แปงอุบล

Be the first to comment on "มลพิษทางอารมณ์"

Leave a comment

Your email address will not be published.