บ่อยครั้งที่เรารู้สึกไม่มั่นคง กังวล กลัวตกงาน กลัวตาย หวาดระแวงวิตกจริตเกี่ยวกับทุกเรื่องที่ผุดขึ้นมาในความคิดของเรา อย่างรู้เท่าไม่ทันความคิดที่ไวยิ่งกว่าแสงที่มันมาเกาะจับในหัวใจเรา
เรื่อง : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ |
|||
ความคิดเหล่านี้เราจะเรียกมันว่าอะไรดี ? ในงานเสวนาเรื่อง อิสรภาพท่ามกลางความชั่วร้าย เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550 ณ อาคารไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์ (TBT) สาทร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานเปิดตัวหนังสือแปลเรื่อง ‘อยู่กับมาร’ (living with the devil) เขียนโดย สตีเฟน แบท์ชเลอร์ และ อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ เแปล พระไพศาล วิลาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ความคิดปรุงแต่งเหล่านี้เองที่เราเรียกว่า ‘มาร’ “มารมีมากมายอยู่ในตัวเรา คือโลภ โกธร หลง ยิ่งอยู่ในเพศฆราวาส จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน โดยเฉพาะความแก่ ความเจ็บ ความตายก็คือขันธ์มาร ถ้าเรายอมรับว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคไม่ให้เราเข้าถึงธรรม แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังยอมรับ และยอมแพ้ต่อมารตัวนี้ เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธองค์จะดับขันธ์ ท่านก็ยอม “ส่วนความคิดให้เราทำสิ่งไม่ดี การยึดติดในตัวตน ยึดติดในความดี ก็เป็นมารเหมือนกัน “ ดังที่ท่านเขียนไว้ในคำนำของหนังสือแปล ‘อยู่กับมาร’ ตอนหนึ่งว่า …ทันทีที่เราไปยึดติดกับความดี ก็ตกอยู่ในอำนาจของมารทันที เพราะอาจทำให้เกิดความหลงตน หรือทำร้ายผู้อื่นในนามของความดี ดังสงครามเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนในนามพระเจ้า ศาสนา และอุดมการณ์อันสูงส่ง ใช่แต่เท่านั้น การยึดติดในความดี ยังทำให้เราตกอยู่ในวัฏสงสาร ไม่อาจบรรลุอิสรภาพได้ เพราะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือในตัวตนได้ “อย่าว่าแต่ความดีเลย แม้แต่นิพพานอันเป็นสิ่งประเสริฐสุด หากไปยึดติดเมื่อใด หนทางสู่นิพพานก็ถูกปิดทันที” ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเป็นมารไปหมด เราจะกำจัดมาร หรือจะอยู่กับมารอย่างไรดี และความเป็นพระจะช่วยให้รู้เท่าทันมารหรือไม่ พระไพศาลตอบว่า ความที่เราเป็นพระ เราจะทำอะไรตามใจเราไม่ได้ จะไปโรงหนัง จะดูบอลก็ไม่ได้ ถ้าเราเน้นไม่ตามใจกิเลส เราก็ฝึกอยู่อย่างมีความสุขโดยไม่ตามใจกิเลสได้ไหม “ขณะที่เราฝึกไม่ตามใจกิเลสภายใน แต่เราอาจจะยึดติดในความเป็นพระ ยึดติดในความดีของเรา ก็เป็นมารที่เราต้องระวัง ยึดติดในภาพลักษณ์ว่ามีคนมากราบมาไหว้ ถือตัวถือตน มันเป็นมารที่แยบคายกว่ามารที่เป็นตัวโลภ ตัวโกรธอีก เพราะบางทีเราอาจจะหลงผิดในตัวมารที่แยบคายกว่าคนปกติที่มีก็ได้” ตรงนี้ท่านขยายความว่า อย่างเช่นเวลาที่เราไปสกัดกั้น พยายามไม่ยอมรับว่ามีมารอยู่ในตัวเรา ก็อาจจะหลงไปได้ คนที่มีศีล 8 ข้อก็คิดว่า ตัวเองมีศีลมากกว่า เวลาทะเลาะกับใคร ก็จะบอกว่า เธออย่ามาเถียง เธอศีล 5 เราศีล 8 ตรงนี้ก็เป็นมาร คือมานะ ความถือตัว ถือตนว่าดีกว่า “อย่างหลวงพ่อโต ท่านหัวเราะเยาะตัวเองได้ ภาพของหลวงพ่อโต ที่เคร่งขรึม แท้จริงแล้วท่านมีอารมณ์ขันมาก ท่านยังเคยถือธูปเทียนไปกราบพระลูกวัด เพราะพระลูกวัดเถียงกันจะต่อยกันให้ได้ ท่านก็เลยถือธูปเทียนมากราบพระลูกวัดเลย “ นั่นคือเทคนิคที่จะทำให้มารยอมแพ้ เพราะมันไม่สามารถทำให้กิเลสที่เรียกว่า ‘ตัวกู’ เติบโต ทำให้เราโกรธผู้อื่นได้ พระไพศาลแนะเทคนิคการอยู่กับมารเพิ่มเติมว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนมาให้เป็นมิตร เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง อย่างขันธ์มาร ทำให้เราเกิดความไม่ประมาท อย่างพระพุทธเจ้า ท่านเจอคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านตื่นตัวขึ้นมา เพื่อหาทางพ้นทุกข์ “บางคนมีกิเลส ก็อาศัยกิเลสเพื่อการบรรลุธรรม เช่นใช้ตัณหาละตัณหา เราต้องเรียนรู้ที่จะให้มารมาเป็นมิตร ไม่ใช่ผลักไสมัน มิเช่นนั้น มันจะหลบใน เก็บกดมันเอาไว้ เผลอเมื่อไรก็ฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับ เราต้องเปลี่ยนมารให้เป็นมิตร” ท่านเผยเคล็ดไม่ลับว่า เส้นแบ่งของมารกับมิตรคือ ‘การรู้เท่าทัน’ “มารมาก่อกวนพระพุทธเจ้า มาขู่ให้กลัว มาหลอกให้หลง มาทำให้ประมาท พระพุทธเจ้ากล่าวว่า มารผู้ชั่วร้าย เรารู้จักเจ้าแล้ว เมื่อมารรู้ว่าพระพุทธองค์รู้ทัน ก็เสียใจและจากไป ‘มาร’ กลัวความรู้เท่าทัน นั่นคือ ‘ปัญญา’ ” เราจะฝึกอย่างไรจนเกิดปัญญาให้รู้เท่าทันมารเหล่านี้ “คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วพยายามขับไล่ความโกรธ ความโลภ ความหลงจะยิ่งเกิดความคับข้องใจ อันนี้ยังไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง เพราะมาร พอไปขับไล่มันก็จะเกิดมารตัวใหม่ขึ้นมา พระพุทธองค์จึงให้เรารู้เท่าทันมาร และใช้มารให้เป็นประโยชน์ เช่น ความทุกข์เป็นมาร แต่ถ้าเรามีสติมองมัน เราจะเห็นธรรมชาติของมัน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความดับทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ “ พระไพศาลยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า สวิตช์ไฟที่ใช้เปิดไฟ ก็เป็นอันเดียวกับสวิตช์ที่ปิดไฟ สลักที่ใช้เปิดประตู ก็เป็นอันเดียวกับสลักที่ใช้ปิดประตู มารกับพุทธะอยู่ที่เดียวกัน ในตัวทุกข์มีการดับทุกข์อยู่ ในกิเลสมีทางหลุดพ้นจากกิเลสและตัณหาอยู่ “พุทธศาสนากว้างพอที่จะให้เราเรียนรู้และอยู่กับมาร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว ความตายมีอยู่ในชีวิต ความเจ็บป่วยมีอยู่ในความไม่มีโรค ความงามอาศัยความไม่งาม แสงสว่างก็คือความมืดไม่ปรากฏ ท่านไม่ได้มองว่าทั้งสองสภาวะเป็นขั้ว แต่ทั้งสองอย่างอิงอาศัยกัน “การเป็นเพื่อนกับมาร คือ การมองทุกอย่าง อย่างเห็นเหตุปัจจัยว่า ตัวเราไม่ได้แยกออกจากสิ่งอื่น ทุกอย่างไม่มีอะไรแยกจากกันเลย ดีกับชั่วก็อิงอาศัยกัน เพราะมีความทุกข์ จึงมีพระพุทธเจ้า ความทุกข์คืออะไร เกิดแก่เจ็บตาย” หลักของการเรียนรู้ที่พระไพศาลแนะให้เป็นเครื่องมือในการรู้เท่าทันมารคือ กาลามสูตร 10 ที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้ เช่น อย่าปลงใจเชื่อว่าเขาเป็นครูของเรา “พระพุทธเจ้าได้เตือนผู้คนให้อย่าไปเชื่อ แม้กระทั่งในตัวพระองค์ เพราะศักยภาพมีอยู่ในตัวเราทุกคน ไม้ใหญ่ทุกต้นมาจากเมล็ดพันธุ์เล็กๆ และเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ก็สามารถเป็นไม้ใหญ่ได้ พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ก็เป็นเหมือนเราทุกคน เราทุกคนสามารถปฏิบัติจนเป็นพระพุทธเจ้าได้ ถ้าเราใช้ศักยภาพของเราจนถึงที่สุด ฝึกฝนตนไว้ดีแล้ว เราจะเชื่อมั่นตัวเราเองมากขึ้น เราก็จะไม่วางท่านไว้บนหิ้ง แล้วเราก็มาคิดว่า เราจะทำอะไรก็ได้ เพราะถือว่าจะไม่มีทางเป็นอย่างพระพุทธเจ้าได้” ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่า เราประมาทมาก ประมาทที่จะปล่อยชีวิตไปตามที่ ‘มาร’ บงการเลยทีเดียว แต่ถ้าเราน้อมนำคำสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติเราจะค่อยๆ เห็นศักยภาพในตัวเองที่จะเปลี่ยนมารให้เป็นมิตร และไปสู่ความพ้นทุกข์ด้วยกัน ขณะเดียวกันพระไพศาลแนะว่า ก็อาจจะต้องเรียนรู้ที่จะตั้งคำถาม ไม่เห็นด้วยกับพระพุทธเจ้าด้วย หรือว่าเห็นความผิดพลาดของพระองค์ “พระพุทธเจ้ายังเคยตัดสินใจผิดเหมือนกัน อย่างเช่น เคยตัดสินใจไล่ลูกวัดออกจากวัด เพราะส่งเสียงวุ่นวาย แต่แล้วมีโยมมาทัดทานว่า คนเหล่านี้เหมือนลูกวัวที่ต้องการแม่วัว ถ้าไล่ไปก็ไม่มีใครดูแล ท่านก็เปลี่ยนใจ เรียกกลับมา “แล้วก็ยังมีเรื่องตอนที่พระองค์บรรลุธรรมแล้วจะสอนคนดีไหม เพราะความรู้ที่พระองค์ค้นพบเป็นเรื่องยาก ท่านก็ลังเล แต่แล้วในที่สุดท่านก็เปลี่ยนใจ ท่านก็สอน เราอาจจะตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าทำสิ่งนั้นถูกไหม ตรงนี้ พระพุทธเจ้าท่านอนุญาตให้เราคิด ให้เราตั้งคำถาม เราก็ต้องกลับมามองที่ตัวเราว่า เราจะปฏิบัติตัวอย่างไร เราอาจจะวิพากษ์คนอื่นได้ แต่เราก็ต้องกลับมาพิจารณาตัวเราด้วย” และการกลับมาพิจารณาภายในตนเองอยู่บ่อยๆ จะทำให้มารค่อยๆ อ่อนแรงลง เพราะเราจะค่อยๆ รู้เท่าทันมารมากขึ้น เหมือนเรากำลังถางทาง “มารก็คือตัวขัดขวางเส้นทางสู่อิสรภาพ หากเส้นทางนี้ ไม่มีใครมาขวาง มันก็ว่าง เช่นเดียวกัน ถ้าในตัวเราว่างจากกิเลส ว่างจากตัวตน มันเป็นทั้งวิถีทางและเป็นทั้งเป้าหมายในตัวเอง เราต้องพยายามเข้าถึงความว่าง คือการปราศจากความยึดถือในตัวตนเรื่อยๆ ไป ต้องอาศัยสติ ถ้าสติมากพอก็เกิดปัญญา จนกระทั่งเรารู้ว่า ไม่มีอะไรน่ายึดถือจริงๆ เราก็ว่าง นั่นแหละเราจะพบอิสรภาพที่แท้จริงที่ทุกคนเข้าถึงได้” |
|||
ที่มา : www.bangkokbiznews.com/bodyheart/ |
Be the first to comment on "‘มาร’ เรารู้จักเจ้าแล้ว !"