Home บทความ
Posted By: Admin
28/08/2016
โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) รายงานผลการวิจัยรอบที่ 12 เรื่อง โทรทัศน์ไทยมองผู้ชมเป็นผู้บริโภค (consumer) หรือพลเมือง (Citizen) …
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำพูน
ลำพูน จังหวัดเล็กแต่เปลี่ยนแปลงเร็วจนใครก็คาดไม่ถึง ซ้ำร้ายกับสถานการณ์และปัญหาที่รุมล้อมจนความเป็นท้องถิ่นแทบจะถูกกลืนหาย โดยเฉพาะกับ ลุ่มน้ำลี้ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลุ่มน้ำปิง และอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดลำพูนทั้งหมด จึงนับเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด เพราะเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น หอม กระเทียม มันฝรั่ง รวมทั้งลำไย แม่น้ำลี้จึงเปรียบเหมือนแม่และลมหายใจของคนลำพูน แต่ปัจจุบันแม่น้ำลี้กำลังเข้าสู่สภาวะ “น้ำตาย” หรือ “น้ำไม่ไหล”
N อะไรคือต้นเหตุทำให้แม่น้ำลี้ต้องตาย
มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้น้ำลี้เข้าสู่ภาวะน้ำตาย โดยเฉพาะปัญหาป่าต้นน้ำถูกทำลาย ซึ่งสืบเนื่องจากการให้สัมปทานไม้ของรัฐที่กินเวลายาวนานมาหลายทศวรรษ จนทำให้ต้นไม้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว การสัมปทานไม้ยังส่งผลให้มีการเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ของชาวบ้านเพื่อใช้ทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อจำนวนพื้นที่ป่าที่ลดจำนวนลงอย่างมากอีกเช่นกัน
ภาวะน้ำตายที่เกิดกับแม่น้ำลี้ยังเป็นผลกระทบจากการให้สัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่อำเภอลี้ในปี 2530 เพราะการขุดเจาะเพื่อนำแร่หินออกได้ดำเนินการบนพื้นที่ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของน้ำลี้ จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำลี้และคนในพื้นที่อย่างมาก รวมทั้งการให้สัมปทานทำเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมในปี 2535 ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำลงไปอีกไม่น้อย
การลดลงของพื้นที่ป่ายังเป็นผลเนื่องจากการเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยการซื้อขายที่ดินในลุ่มน้ำลี้เป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 2528 – 2535 กระทั่งยุคต่อมาที่มีการเข้าจับจองพื้นที่ป่าและแปลงเป็นสวนเกษตร รวมทั้งการขยายเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูนที่มีมาตั้งแต่ปี 2528 อีกเช่นกัน ความตื่นตัวต่อปัญหาทรัพยากรป่าไม้ ที่ส่งผลโดยตรงต่อทรัพยากรดินและน้ำของคนลำพูนจึงมีไม่น้อยเมื่อเทียบกับท้องถิ่นอื่นๆ ที่ต้องประสบกับชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน บนการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ป่าที่ลดลงและลำน้ำที่เหือดแห้งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
แม่น้ำลี้ จ.ลำพูน
น้ำแม่ลี้ตอนแห้งขอด
ปัญหาที่มากมายจนบางเรื่องเกินกำลังจะเยียวยา ทำให้กลุ่มคนทำงานเพื่อท้องถิ่นลำพูนจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาค้นหาตัวตนคนทำงานธุระหน้าหมู่หรือผู้ที่เอาธุระกับส่วนรวม พร้อมกับทบทวนการทำงานพัฒนาที่ผ่านมา และร่วมกันกำหนดทิศทางจังหวะก้าวที่จะออกเดินกันใหม่ ด้วยหวังว่าความอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติของสายน้ำลี้และความมีชีวิตชีวาของคนลำพูนจะฟื้นคืนมาอีกครั้ง
ประเพณีแห่ช้างเผือก
N พลิกฟื้นแม่น้ำลี้…ปลายทางที่ต้องไปด้วยกัน
หนึ่งในงานธุระหน้าหมู่ซึ่งเป็นงานที่ทุกคนในท้องถิ่นลำพูนต้องออกมาดูแลรักษาร่วมกันภายใต้การขับเคลื่อนงานโครงการชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำพูน จึงหมายถึงภารกิจในการคืนชีวิตให้กับแม่น้ำลี้ เพราะตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาเส้นเลือดหลักสายนี้ได้ถูกกระทำและเปลี่ยนสภาพไปด้วยน้ำมือของมนุษย์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ อีกทั้งชีวิตคนลำพูนสองฟากฝั่งที่ต้องพบกับชะตากรรมและวังวนของภาวะน้ำแล้ง หนี้เพิ่ม และป่าลด คณะทำงานจึงนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นมารื้อฟื้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางชุมชนหมู่บ้านที่อยู่บริเวณต้นน้ำลี้ยังคงจัดพิธีกรรมเพื่อรักษาแม่น้ำลี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น งานเลี้ยงผีขุนน้ำของชาวบ้านหนองหลัก และงานสืบชะตาน้ำลี้ของชาวบ้านห้วยห้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง รวมถึงงานเลี้ยงผีเหมืองฝายและพิธีบวชป่าซึ่งล้วนแต่เป็นวัฒนธรรมชุมชนที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานของภาคประชาสังคมจังหวัดลำพูนที่ต้องการประยุกต์ใช้วัฒนธรรมของท้องถิ่นกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับการมีคณะทำงานส่วนหนึ่งเป็นคนทำงานในลุ่มน้ำอยู่แล้วด้วย การเคลื่อนงานผ่านวิถีชุมชนและวัฒนธรรมบนลุ่มน้ำลี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินเอื้อม
การฟื้นฟู ประเพณีแห่ช้างเผือก ในลุ่มน้ำลี้ที่ขาดหายไปเกือบ 40 ปี จึงกลายเป็นมติที่คณะทำงานเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นความต้องการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามที่เกือบจะเลือนหายไปเท่านั้น เพราะด้วยรูปแบบและวิธีการของประเพณีแห่ช้างเผือกผ่านลำน้ำลี้ซึ่งยาว 180 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ตั้งแต่อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จะเป็นการค้นหาและเพิ่มจำนวนผู้มีจิตสาธารณะซึ่งอาจมีอยู่แล้วในแต่ละชุมชนให้ออกมาเอาธุระร่วมกันมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกับภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองท้องถิ่น ให้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการอนุรักษ์แม่น้ำลี้ร่วมกับภาคประชาชนอย่างจริงจัง เพราะระหว่างพิธีการแห่ช้างเผือกผู้เข้าร่วมจะได้เดินทางสำรวจศึกษาปัญหา ข้อเท็จจริง และหนทางป้องกันแก้ไขแม่น้ำลี้ไปพร้อมๆ กัน เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลเบื้องต้นสู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำลี้อย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไป
“สมัยก่อนคนร่วมกันตลอด ชาวบ้านในลุ่มน้ำแม่ลี้ที่อาศัยอยู่กินกับแม่น้ำลี้จะมาร่วมกันทั้งหมด คนเฒ่าก็ว่าการแห่ช้างเผือกเป็นการขอฝนเพราะสมัยก่อนเขาเชื่อว่า ถ้าฝนไม่ตกเขาจะไหว้วอนขออินทร์ขอพรหมขอให้ฝนตก ถ้าเกิดว่าการฟื้นฟูของเก่าขึ้นมาเห็นผลทันตาในระยะปีนี้ขึ้นไป น้ำดีขึ้นมา ความเชื่ออาจจะสูงขึ้น มันมีแต่เป็นส่วนน้อย ไม่ค่อยได้คำนึง เพราะมีกระแสอย่างอื่นเข้ามายุ่งมาก มัวแต่ทำมาหากิน ก็เลยลืมไปว่า สมัยก่อนถ้าฟ้าฝนไม่ตกเราก็ทำขึ้นมา เราจะว่าเป็นกุศโลบายก็ได้ หมายความว่าเป็นอุบายที่จะให้คนได้ความฉลาดความรู้ขึ้นมา คือถ้าเรามาทำร่วมกันเป็นความสามัคคี คนจะได้รู้จักกัน” คำบอกเล่าของผู้อาวุโสจากบ้านยางส้ม ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่เข้าร่วมประเพณีแห่ช้างเผือกด้วย ได้อธิบายภาพการเอาธุระร่วมกันของคนทั้งลุ่มน้ำในอดีตได้เป็นอย่างดี เปรียบเทียบกับวันนี้ที่เป็นจุดเริ่มอีกครั้งของการฟื้นฟูลุ่มน้ำโดยใช้ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนได้ประจักษ์ชัดด้วยสายตาตัวเองถึงผลพวงจากการจัดการน้ำแบบใหม่ที่ทำลายวิถีชุมชนแบบเก่าจนเกือบจะเรียกคืนกลับมาไม่ได้
“การจัดการระบบเหมืองฝายที่ใช้แก่เหมืองแก่ฝายต่างๆ เขายังใช้ได้ดีและได้ผลมากทั้งระบบมิติทางด้านสังคม การบริหารจัดการ การเกษตร หลายอย่าง เขาจัดมาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับ แต่ว่าในทางภาครัฐส่งคนมาจากบางกอกมาจัดการระบบใหม่ทั้งหมด คือ ระบบชลประทานก็ทำให้เกิดการขัดแย้งในพื้นที่ก็ทำให้เกิดกลุ่มเก่ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มใหม่ที่เกิดจากรัฐ ส่วนมากก็จะเป็นการแต่งตั้งจากทางมหาดไทยที่เป็นคณะกรรมการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไปทับกับกลุ่มเก่าที่เป็นแก่เหมืองแก่ฝายโดยแต่งตั้งด้วยความเคารพของคนในชุมชน ทำให้เขาหมดบทบาทลงไป” นี่คือ บทสรุปตอนหนึ่งของคนลุ่มน้ำลี้ที่คณะทำงานได้จากการเปิดเวทีเพื่อเป็นพื้นที่ในการพูดและแสดงความคิดเห็นของคนท้องถิ่นต่อทรัพยากรน้ำที่เขาเกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนที่ภาครัฐต้องจดจำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้ที่ปัญหาเรื่องน้ำจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงและซับซ้อนยิ่งกว่าวันนี้
หากย้อนดูให้ดี ภูมิปัญญาที่คนในอดีตจัดการน้ำโดยระบบเหมืองฝายยังสะท้อนภาพการเอาธุระร่วมกันกับสมบัติหน้าหมู่ของคนในชุมชน เพราะในสมัยก่อนการทำเหมืองฝายแบบใช้ไม้ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านจำนวนมาก ขณะที่ฝายตามแนวคิดระบบชลประทานคือการเทคอนกรีตโดยราชการหรือบริษัทผู้รับเหมา การมีสำนึกเพื่อลุกขึ้นมาเอาธุระกับเรื่องราวของท้องถิ่นตนเองจึงลดน้อยถอยลงไปด้วย
นอกจากพิธีกรรมการแห่ช้างเผือกจากปลายน้ำเพื่อไปถวาย ณ ต้นน้ำลี้ที่ดอยสบเทิมในเขตอำเภอทุ่งหัวช้าง ระหว่างทางจะมีการจัดเวทีเสวนาเพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายแต่ใช้น้ำลี้ด้วยกัน โดยออกแบบเวทีให้มีทั้งเวทีใหญ่และเวทีย่อย เนื้อหาและข้อสรุปจากเวทีย่อยซึ่งเป็นเวทีที่มีเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม เช่น เวทีเหมืองฝาย เวทีเยาวชน เวทีหมอเมือง เวทีผู้ติดเชื้อ จะถูกนำไปรวมเข้ากับเวทีใหญ่ ผสมผสานกับองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำจากภายนอกเพื่อร่วมกันค้นหาสิ่งที่คนลำพูนต้องการ และลุกขึ้นบอกความเป็น “เรา” ให้คนภายนอกรับรู้ มากกว่าการเปิดรับความคิดจากภายนอกจนไม่รู้จักตัวตนของตัวเอง สุดท้าย คือ การร่วมกำหนดหนทางสู่การจัดการน้ำในมิติของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการจัดงานประเพณีแห่ช้างเผือกเพื่อฟื้นน้ำลี้ ได้นำความภาคภูมิใจร่วมกันมาให้กับชาวลำพูน เมื่อระบบเหมืองฝายในอดีตได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นแทนฝายคอนกรีตที่ถูกสร้างมาเป็นเวลาหลายปีและได้ชำรุดหรือพังลง เหมืองฝายหลายแห่งในพื้นที่บ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง ยังถูกจัดการและดูแลโดยคนในชุมชนเอง ซึ่งเท่ากับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยที่เคยทิ้งหายไปจะได้ฟื้นคืนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ส่วนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่เข้ามาร่วมได้ตระหนักในความสำคัญจนนำไปเป็นข้อบัญญัติของท้องถิ่นในการแก้ปัญหา พัฒนา และเสริมสร้างสิ่งที่มีอยู่ให้ตรงกับวิถีของชาวบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของการทำงานขององค์กรท้องถิ่นซึ่งจะเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการทรัพยากรที่มากขึ้นในอนาคต
N อุปสรรคและทางออกที่ฝ่าฟัน
ทั้งโดยสาเหตุเชิงโครงสร้างของระบบการปกครองน ที่มีมายาวนานในสังคมไทย ประกอบกับการขาดพื้นที่ที่จะได้แสดงความคิดอันเป็นอิสระของตนเอง ทำให้คนลำพูนต้องตกอยู่ในสภาพการยอมรับโดยไม่ขัดขืนมาโดยตลอด ทั้งที่สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับภูมิปัญญาดั้งเดิมในหมู่บ้าน ดังเช่นกรณีการเปิดรับฝายคอนกรีตแทนระบบฝายเหมือง ซึ่งถือเป็นการไม่ให้เกียรติภูมิปัญญาของบรรพชนที่ช่วยรักษาป่า รักษาน้ำมาโดยตลอด การเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุย แสดงความคิดเห็นที่มากขึ้นทั้งโดยผ่านเวทีการเสวนาและพิธีกรรมงานประเพณีของท้องถิ่นดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเพณีแห่ช้างเผือก แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการน้ำโดยชุมชนบนพื้นฐานทางวัฒนธรรมหากจะเป็นภาพต่อที่ใหญ่ขึ้นของการลุกขึ้นมากำหนดตัวตนของท้องถิ่นเองในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้ การทำงานของหน่วยงานราชการ องค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการทรัพยากรจะต้องให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นในการตัดสินใจร่วมมากขึ้น ทั้งควรสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวบ้านซึ่งบางชุมชนหมู่บ้านมีศักยภาพและความพร้อมเป็นทุนอยู่ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมงานกับภาครัฐในการจัดการทรัพยากรหรือเรื่องของท้องถิ่นตัวเอง อีกทั้งชุดความรู้จากการถอดบทเรียนประสบการณ์การจัดการน้ำในมิติของชุมชนผ่านประเด็นทางวัฒนธรรมที่น่าจะเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเรื่องการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่นโดยท้องถิ่นต่อไป
N ข้อค้นพบและบทเรียน
1. การนำสมบัติหน้าหมู่ซึ่งเป็นทรัพยากรของคนท้องถิ่นมาผสมผสานกับประเด็นทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงจิตใจคนทุกภาคฝ่ายให้สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้มาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวช่วยลดการตั้งคำถามและข้อขัดแย้งในสังคมลงได้ ประการสำคัญเป็นการสร้างระบบคุณค่าและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นให้คืนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับความรู้สึกว่าคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งในชุมชนหมู่บ้านก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดอนาคตของทรัพยากรท้องถิ่นตนเองได้
2. เมื่อน้ำคือสมบัติหน้าหมู่หรือส่วนรวม การเข้ามาจัดการสมบัติหน้าหมู่จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกัน ประกอบกับการได้ทบทวนฐานทุนเดิมเรื่องวัฒนธรรมของท้องถิ่นและนำกลับมาใช้อีกครั้ง ทำให้ภาคราชการที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและให้การยอมรับเรื่องการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จย่อมไม่ปรากฏอยู่เพียงเท่านี้ แต่ยังต้องอาศัยกระบวนการทางความคิดและการทำงานอย่างมีส่วนร่วมซึ่งต้องการมุมมอง วิธีคิด และประสบการณ์ความรู้ที่หลากหลายจากทุกภาคฝ่ายมาช่วยกันให้ยั่งยืนต่อไป
3. การออกแบบให้มีเวทีย่อยหลายเวทีช่วยทำให้คนตัวเล็กๆ ได้มีพื้นที่ในการพูดและแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการไม่ละเลยประเด็นข้อสรุปจากเวทีย่อยต่างๆ ก่อนจะสรุปเป็นภาพใหญ่เพื่อสร้างความเป็น “เรา” ให้เกิดขึ้นด้วยกัน
FACT SHEET
เอกสารข้อมูล
เอกสารข้อมูลประกอบ : ห้องย่อยที่ 3 การจัดการทรัพยากรเพื่อท้องถิ่นน่าอยู่
เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย” วันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ กทม
สนับสนุนข้อมูลโดย
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำพูน
เลขที่ 9 ถ.รถแก้ว ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน 51000 โทรศัพท์ 0-5356-1137
จัดทำโดย โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3 www.ldinet.org
สนับสนุนโดย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Be the first to comment on "มีเดียมอนิเตอร์เผยพฤติกรรมรายการทีวีเมืองไทยมองคนดูเป็นลูกค้ามากกว่าสมาชิกในสังคม"