ยุทธศาสตร์สันติภาพภาคใต้ ‘เปลี่ยนชาตินิยมเป็นประเทศนิยม’

27 พฤศจิกายน 2547 เวลา 10.00 น. มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรมร่วมกับ มูลนิธิ 14 ตุลา เปิดบรรยายพิเศษเรื่อง ยุทธศาสตร์สันติภาพประเทศไทยโดย อาจารย์ ธีรยุทธ บุญมี โครงการปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตึกเอนกประสงค์ 2 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทีมงานไทยเอ็นจีโอ มีรายงานเนื้อความ ยุทธศาสตร์ของอาจารย์ ธีรยุทธ ดังต่อไปนี้

 

ยุทธศาสตร์สันติภาพภาคใต้ ‘เปลี่ยนชาตินิยมเป็นประเทศนิยม’
27 พฤศจิกายน 2547 เวลา 10.00 น. มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรมร่วมกับ มูลนิธิ 14 ตุลา เปิดบรรยายพิเศษเรื่อง ยุทธศาสตร์สันติภาพประเทศไทยโดย อาจารย์ ธีรยุทธ บุญมี โครงการปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตึกเอนกประสงค์ 2 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทีมงานไทยเอ็นจีโอ มีรายงานเนื้อความ ยุทธศาสตร์ของอาจารย์ ธีรยุทธ ดังต่อไปนี้

สิ่งสำคัญอันดับแรกสุดในการดับไฟใต้ นั่นคือ การสร้างทัศนคติใหม่ในการแก้ปัญหา
1.ปัญหาภาคใต้มีความสำคัญเกินกว่าการแบ่งแยกภายในประเทศเป็นภาครัฐ-ภาคประชาชน รัฐบาล-ฝ่ายค้าน นายก-ขาประจำทุกฝ่ายต้องช่วยกันใช้เจตนารมณ์ที่ดี สติปัญญา ความอดทนเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุด
2.การแก้ปัญหาต้องไม่มองแบบแยกขั้ว เป็นซ้าย-ขวา รักชาติ-ไม่รักชาติ ข้ามพ้นการแยกขั้วแก้ปัญหาบนผลประโยชน์ของประเทศตามหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญของประเทศ อย่างเช่น กิจกรรมของเอ็นจีโอ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ควรมองว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าบ้านเราได้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในเพื่อให้แนวปฎิบัติของรัฐถูกต้องขึ้นและจะช่วยให้แรงกดดันจากนานชาติน้อยลงแทนที่จะมองเป็นการไม่รักชาติการแก้ปัญหาแบบชาตินิยมก็จะยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาเลวร้ายลง
3.ควรปรับทัศนะของ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ให้ดีขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการแตกแยกทางความคิดระบอบเผด็จการในอดีต ทหาร ตำรวจ ใช้อำนาจและความรุนแรงต่อพลังประชาธิปไตยหลายหนแต่ปัจจุบันทหารไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง (ยกเว้นบางส่วนที่ใช้อำนาจอิธิพลเถื่อน ค้าสิ่งผิดกฎหมาย การอุ้มฆ่า ตัดตอน) จึงต้องมองภารกิจของทหารในการปกป้องอธิปไตยและแก้ปัญหาความมั่นคงของประเทศ การแก้ปัญหาแบบชาตินิยมจะยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาเลวร้าย
4.รัฐต้องพยายามเปิดช่องเจรจา สนทนาที่เปิดกว้างเชื่อถือได้ รวมทั้งมีบุคคลและกลไกที่ชาวบ้านวางใจ เข้าถึงง่ายเพื่อเปิดช่องทางแก้ปัญหาก่อนจะขยายตัวเพราะในภาวะกึ่งสงคราม เช่น ในภาคใต้ปัจจุบัน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รวมทั้งประชาชนชาวพุทธ-มุสลิมภาคใต้ ต่างตกอยู่ภายใต้ความกดดันมหาศาลที่ทำให้เกิดโทสะ เกิดสัญชาตญาณ รักตัวกลัวตาย การหลงเชื่อข่าวลือทำให้มีการปฏิบัติที่รุนแรงต่อชาวบ้านได้ง่ายส่วนชาวบ้านทั้งพุทธ-มุสลิมภาคใต้ก็ตกอยู่ภายใต้ความกลัวตาย หวาดผวาและความเคียดแค้น นำไปสู่การประท้วงได้ง่าย
5.ทั้งหมดนี้ไม่เป็นเหตุผลให้ทุกฝ่ายทำผิกฎหมายหรือล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทนอดกลั้นและต้องถือว่ากรณีกรือเซะและตากใบเป็นปฎิบัติการที่รุนแรงเกินไปอย่างมากของเจ้าหน้าที่อันเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่หากผิดอีกจะยิ่งทำให้ประเทศเสียหายอย่างใหญ่หลวง
ในประเทศสังคมนิยมมีวิธีการแก้ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง คือ จัดให้มีตำรวจ ทหาร-ฝ่ายการเมือง อีกชุดหนึ่ง ซึ่งมีการศึกษา ความรู้ความเข้าใจสูง เคารพในสิทธิ ชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คน คำนึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ตลอดเวลา ให้เป็นผู้ควบคุมการปฎิบัติงานเมื่อฝ่ายปฎิบัติการสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ส่วนในประเทศตะวันตกใช้วิธีให้มีระบบตรวจสอบภายในที่เข้มแข็ง โปร่งใส

เคารพหลักการดำรงอยู่ร่วมกันของประชาชนต่างวัฒนธรรมในพื้นที่เดียวกัน พื้นที่ที่มีประชาชนต่างวัฒนธรรมดำรงอยู่เป็นคนกลุ่มน้อยและกลุ่มใหญ่มีหลักแห่งการปฎิบัติต่อกันเป็น 4 หลักการใหญ่ คือ
1.หลักแห่งความเสมอภาค เท่าเทียมกัน
2.หลักแห่งการปฎิบัติต่อกันอย่างทัดเทียมกัน
3.หลักแห่งการอยู่ร่วมกันด้วยสันติตามหลักแห่งกฎหมาย
4.หลักแห่งการมีส่วนร่วม ปรึกษาหารือแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเปิดกว้าง

ที่ผ่านมา สื่อมวลชน นักวิชาการชาวไทยทั่วไป เรียกร้องให้รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐปฎิบัติต่อพี่น้องมลายู-มุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยด้วยหลัก 4 ประการ ดังกล่าว แม้จะยังไม่ได้ผลเต็มที่ พี่น้องมลายู-มุสลิมจึงควรปฎิบัติต่อพี่น้องไทย-พุทธ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในภาคใต้ในลักษณะเดียวกันโดยไม่สนับสนุนรู้เห็นเป็นใจต่อการกระทำใดใดที่ผิดกฎหมาย เช่น การลอบฆ่า ลอบวางระเบิดของผู้ก่อการแต่ต้องขจัดความกลัว รื้อฟื้นหลักการตามกฎหมายขึ้นมาให้ได้เพราะถ้าหลักการข้อใดข้อหนึ่งเสื่อมโทรมลงไปจะกลับเป็นตัวเร่งให้เกิดความรุนแรง ความสูญเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล และขอวิงวอนต่อผู้ก่อการให้เคารพต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์และสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาและของคนไทย ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า ท่านก็ควรมีส่วนถูกประณามว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจุดชนวนให้เกิดการสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์ได้

ยุทธศาสตร์การเมืองและแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 10 ประการ
1.ยอมรับว่าปัญหาภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสากลเราไม่สามารถแก้ตกได้ทั้งหมดประชาชนไทยต้องยอมรับว่าปัญหาการก่อการร้ายสากลจะยังคงดำรงอยู่อีกนานอย่างน้อยเป็น 10 ปีตราบใดที่ยังมีความขัดแย้งโลกตะวันตกอิสลามอยู่ทุกคนต้องเผชิญความเสี่ยงนี้แต่อาจจะลดลงได้หากไม่ดำเนินนโยบายต่างประเทศตามก้นอเมริกา อย่างไรก็ตาม รัฐและประชาชนจะต้องทุ่มเททรัพยากรบุคคลที่ดีที่สุดและอื่น ๆ เพื่อป้องกัน ปราบปราม เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

2
.มองปัญหาอย่างจำแนกแยกแยะ รัฐ สังคมไทย นักวิชาการ และสื่อ ต้องจำแนกว่าปัญหาภาคใต้เกิดจาก
-กลุ่มก่อการร้ายสากลซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มเจไอ ซึ่งประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายหลัก
-กลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งแต่เดิมไม่มีพลังเพราะชาวบ้านไม่ได้สนับสนุนจริงจังแต่ในช่วงหลังมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง เช่น กลุ่มนักรบศาสนามูจาฮีดินซึ่งขยายตัวมากขึ้น
-กลุ่มชาวบ้านที่ไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐหรือสภาพชีวิตที่เป็นอยู่จึงโน้มเอียงไปสนับสนุนสองกลุ่มแรก

3
.การแก้ปัญหาก็ต้องจำแนกแยกแยะ คือ พวกก่อการร้ายสากลและกลุ่มแยกดินแดนใช้วิธีป้องกันปราบปรามเด็ดขาดจริงจังส่วนพี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่ต้องใช้การช่วงชิงความเข้าใจอันดีกลับคืนมาซึ่งต้องใช้การเมืองนำการทหาร ใช้สันติวิธี สติปัญญาและความรู้นำความรุนแรงใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนพุทธ-มุสลิมนำรัฐ สงครามคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าสันติสุขที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะชัยชนะทางการทหารแต่เพราะเป็นรัฐและสังคมไทยเปิดใจกว้าง ศรัทธาต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในขบวนการต่อสู้ต่ำ คนไม่เชื่อว่าเกิดประโยชน์จริงการแก้ปัญหาภาคใต้ก็เช่นกันจะใช้การทหารนำไม่ได้ ต้องให้พี่น้องมุสลิมได้มีเวลาได้คิดมากกว่าแค้น
การใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นนำไปสู่ความสูญเสียของประเทศไทยมาก ……….เพราะว่า -ความรุนแรงขยายตัว ,-การแทรกแซงของต่างประเทศในเรื่องมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน เช่นกรณี ประเทศมุสลิมรัฐสภามาเลเซียประณามไทย หรือ ยูเอ็น ขอตรวจสอบ ,-ประชาคมโลกลงโทษรัฐที่ก่อความรุนแรงด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ-การเมือง ,-ประชาคมโลกยอมรับการดำรงอยู่ การมีตัวตนของผู้ถูกใช้ความรุนแรงในระดับองค์กร ,-ประชาคมโลกยอมรับความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ถูกใช้ความรุนแรงนำไปสู่การแยกประเทศหรือสงครามภายในรุนแรงขึ้นจะทำให้รัฐนั้น ๆ เป็นรัฐที่อ่อนแอหรือล้มเหลวในสายตาประชาคมโลก

4
.ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่ถูกต้องต้องเน้นระยะยาวและถาวรโดยปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ แม่บทความคิด หรือโปรแกรมความคิดของประเทศจากความคิดแบบ ชาตินิยมล้าสมัยมาเป็นโปรแกรมความคิดแบบประเทศนิยมที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากกว่าด้วยเหตุผลว่า
-ความคิดความเป็นชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่เก่าแก่มาชั่วกาลนาน อย่างที่เคยยึดถือกัน คนไทยเราใช้ระบบคิดแบบราชอาณาจักรอยู่ประมาณ 600 ปี จากสุโขทัยและอยุธยาช่วงนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่องชาติไทยหรือคำว่าชาติไทยจากนั้นพร้อมกับทั่วโลกเราได้เปลี่ยนมาใช้ความคิดเรื่องความเป็นชาติได้ ประมาณ 100 ปีเศษ เพื่อปกป้องตัวเองในยุคล่าอาณานิคมอันถือเป็นคุณประโยชน์ของความคิดชาตินิยม
-โปรแกรมชาตินิยมเน้นการทำให้คนในประเทศกลายเป็นคนไทยไปทั้งหมดทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยประกอบขึ้นมาจากหลากหลายกลุ่มเชื้อชาติและวัฒนธรรม โปรแกรมนี้จึงทำให้คนไทยผูกขาดการเป็นเจ้าของประเทศไทย สร้างความบาดหมาง น้อยเนื้อต่ำใจกับชนกลุ่มน้อย อื่นๆ ที่เป็นเสมือนลูกเมียน้อยหรือพลเมืองชั้นสอง
-คนที่ยึดกับแนวคิดชาตินิยมนี้จะเกิดการตีบตันทางความคิด มองปัญหาอย่างคับแคบ เป็นอคติทางเชื้อชาติที่หมักหมมและระเบิดเป็นความรุนแรงได้
-โปรแกรมชาตินิยมนี้เน้นกระบวนทัศน์ ความมั่นคงทางการทหารเป็นหลัก

โปรแกรมความคิดแบบประเทศนิยม ซึ่งไม่จำกัดว่า หากใช้ระบบคิดแบบนี้แล้วจะห้ามไม่ให้คนไทยรักความเป็นไทย คนมอญรักความเป็นมอญ คนมลายูรักความเป็นมลายูของตน กว้างกว่า เหมาะกับยุคสมัยกว่า จะแก้ปัญหาปัจจุบันได้ดีเพราะ
-ช่วยให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ระมัดระวัง เคารพในความเป็นพลเมืองของประเทศไทย ขณะเผชิญหน้ากับมวลชนอิสลามไม่สร้างความรุนแรง ไม่เลือกปฎิบัติมองพวกเขาเป็นพวกอื่นที่ไม่ใช่พวกตนเองได้ง่าย
-โปรแกรมแบบประเทศนิยมช่วยแก้ปัญหาความคิด และคำพูดที่บาดหมางผู้อื่น เช่น คำพูดที่ว่า ..เกิดบนแผ่นดินไทยก็ต้องรักชาติไทย ทุกคนเป็นพวกเดียวกันเพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน..ทำไมไม่รักสามัคคีกัน ไม่รักชาติไทยก็ฆ่ามันให้หมดแผ่นดินไทย ฯลฯ เพราะคนกลุ่มน้อยบางส่วนอาจจะยินดีกับการเป็นพลเมืองไทยแต่ไม่ยินดีสลายอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ซึ่งในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธที่จะไม่ถูกผนวกรวมสลายเป็นชาติใหญ่ ในอนาคต ไม่เพียงในประเทศไทยแต่คนทั่วโลกจะยิ่งตื่นตัวในประเด็นนี้มากยิ่งขึ้นเราถึงต้องปรับโปรแกรมความคิดแสียก่อนอย่างเป็นฝ่ายรุกไม่ใช่ฝ่ายรับอย่างที่ผ่านมา
-โปรแกรมประเทศนิยม จะช่วยเสริมอุดมคติการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมที่หลากหลาย ภายใต้ร่มธงของสถาบันประเทศ สถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย คนไทย คนมลายู คนมอญ เขมร ชาวเขา ภายในร่มธงของประเทศจึงควรจะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เป็นการเสียเกียรติศักดิ์ศรีและความเป็นชาติแต่เป็นการได้เกียรติ ศักดิ์ศรีได้กำไรที่ประเทศของตน มีภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อที่หลากหลายส่งผลประโยชน์ทั้งในการติดต่อแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ มากยิ่งขึ้นแก่พลเมืองทุก ๆ คน ของประเทศ
-ช่วยเสริมกระบวนทัศน์ ความมั่นคงมนุษย์และสังคม สภาแวดล้อม

5
.ส่งเสริมให้พี่น้องมลายู อิสลาม 3 จังหวัดภาคใต้ได้มีบทบาทและกำหนดความเป็นตัวของตัวเองในด้านต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูยเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวโดยมหาดไทยควรเป็นฝ่ายริเริ่มปรึกษาหารือกันอย่างทันทีและเปิดกว้างจริงใจ

6.กรรมการสมานฉันท์จะต้องเปิดเวทีพื้นที่และประเด็นสาธารณะพูดถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติและหลักการทางสังคม การเมืองของการอยูร่วมกัน การตระหนักคุณค่าของภาษา วัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ โดยนักวิชาการไทย ผู้นำชุมชน หรือศิลปินของชนกลุ่มน้อยนั้น ๆ อย่างจริงจัง โดยผ่านสื่อ เช่น โทรทัศน์ หรือวิทยุของรัฐและควรเชิญผู้มีชื่อเสียง อย่าง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ,สุทธิชัย หยุ่น ,สรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นพิธีกรเพื่อดึงดูดความสนใจ

7
.รัฐและสังคมควรเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้ชนกลุ่มน้อยได้แสดงออกซึ่งตัวแทน เครื่องแต่งกาย ดนตรี ศิลป วัฒนธรรม ของพวกเขาในโอกาสสาธารณะต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ เทศกาลรื่นเริง งานรัฐพิธีต่าง ๆ กระทรวงวัฒนธรรมต้องจัดให้เกิดงานที่รวมเอาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีประจำปีที่คนทุกกลุ่มเหล่าได้ชื่นชมเต็มที่ ควรส่งเสริมในเรื่องศิลปะวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย อาทิ ภาษยาวี ภาษามอญ ฯลฯ อย่างจริงจัง

8
.รัฐควรสนใจจัดต้องสภาวัฒนธรรมชนชาติกลุ่มน้อยต่าง ๆ ให้มีบทาทอย่างจริงจังขึ้นมา

9
.ตั้งกรรมการและโครงการแก้ไขตำราเรียนเพื่อส่งเสริมกระบวนทัศน์หรือโปรแกรมความคิดแบบประเทศนิยมเน้นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งเสริมตำราประวัติศาสตร์แนวประเทศนิยมซึ่งเชื่อมโยงความสำคัญ ความสัมพันธ์ ความผูกพัน ติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชนกลุ่มต่าง ๆ ในอดีตอย่างเป็นองค์รวม เคารพความจริง ส่งเสริมความเข้าใจและคุณูปการของส่วนต่าง ๆ ในการก่อร่างสร้างประเทศไทยขึ้นมารวมทั้งความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านด้วย

10
.รัฐควรจัดกองทุนเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ศูนย์วิจัย ศึกษาเผยแพร่วัฒนธรรมย่อย เช่น มุสลิม มอญ ชาวเขา ฯลฯ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งส่งเสริมผู้รู้จากชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นเอง

 

 

คำแนะนำต่อนายกทักษิณ ผู้เขียนเสนอความเห็นนี้โดยมองพ้นจากอคติการแบ่งขั้ว นายก-ขาประจำ-นักวิชาการ นายกก็ควรหลุดพ้นอคติทางความคิดเดิม ๆ

1.นายกเคยมองปัญหาภาคใต้อย่างมิติเดียว และแก้ไขแบบมิติเดียวมาโดยตลอด เช่น มองเป็นโจรกระจอกซึ่งแก้ไขโดยกองกำลังตำรวจปราบปรามให้หมด มองเป็นปัญหาความยากจน แก้โดยการทุ่มเงินลงไป นายกควรเปลี่ยนการมองปัญหาอย่างรอบด้านเชื่อมโยง
2.นายกควรมองพ้นกรอบชาตินิยมมาเป็นประเทศนิยม เป็นนายกของพลเมืองประเทศไทยทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะของคนไทย จึงจะสร้างความอบอุ่นมั่นใจแก่พี่น้องทุกกลุ่มเหล่า ชาวมุสลิม และประชาคมโลกด้วย
3.พ.ต.ท. ทักษิณ ควรแสดงวุฒิภาวะของนายกประเทศไทย เก็บอารมณ์ เช่น ปัญหาภาคใต้ไม่ควรหลุดประโยคเช่น ..ยูเอ็น ไม่ใช่พ่อ ไม่เก็บเอาไว้ทำพ่อ หรือ บ้ามาก็บ้าไปแรงมาก็แรงไป เพราะทำให้พี่น้องมุสลิมและคนไทยทั่วไปวิตกกังวลทำให้ต่างชาติมองไทยเป็นประเทศอนารยะ ป่าเถื่อน จึงขอแนะนำว่า เมื่ออารมณ์รุนแรงในเรื่องภาคใต้ให้นายกมาลงที่ขาประจำก็ได้เพื่อคนจะได้ไม่เครียดไม่กังวล

 

โดย ธีรยุทธ บุญมี เมื่อ : [ 29 พ.ย. 47, 17:16 น. ]

จาก :  www.thaingo.org

Be the first to comment on "ยุทธศาสตร์สันติภาพภาคใต้ ‘เปลี่ยนชาตินิยมเป็นประเทศนิยม’"

Leave a comment

Your email address will not be published.