รายงานกิจกรรมวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำ

“ที่ปราจีนตอนนี้มีปัญหาในเรื่องการใช้ทรัพยากรน้ำ…ผมจึงคิดว่าการนำวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำมาใช้ในปราจีน จะทำให้กลุ่มต่างๆมีความเข้าใจในปัญหา  และเป็นการเผยแพร่ข่าวสารในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย…..”

 

สันสกฤต  มุนีโมไนย กองบรรณาธิการ : ทีมสื่อสารสาธารณะ   รายงาน

 

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น.  ณ ห้องประชุม สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)    จัดประชุมเรื่อง   การนำวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำมาใช้ในงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่   มีผู้เข้าร่วมประชุม  นำโดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสาธารณะ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา     อ.สุทัศน์  ปฐมนุพงศ์     จากศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)    นายวิชัย มุกดาหาญ    จากศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี    น.ส.ลัดดา  ประสพสมบัติ  (โครงการสิทธิชุมชน)  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

                 โดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสาธารณะ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้เกิดการสื่อสารภายในพื้นที่เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ การนำวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำมาใช้เพื่อสื่อสารในพื้นที่เป็นทางเลือกที่ดี เช่นที่ปราจีนฯ ถ้ามีการจัดเวทีประชุมการมีวิทยุกระจายเสียงก็จะเป็นการแจ้งข่าวให้คนในชุมชน ในปราจีนฯทุกคนได้ทราบ

และสามารถติดตามข่าวรวมถึงรายละเอียดต่างๆได้ทางเครื่องรับวิทยุที่บ้านของตนเอง

                  อ.สุทัศน์  ปฐมนุพงศ์    จากศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)      นำเสนอเรื่อง การนำวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำและเรื่องเครือข่ายไร้สาย wireless local loop (wll)   และได้กล่าวถึงหลักการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ และเสนอข้อดีของwll คือติดตั้งง่าย เร็ว ไม่ต้องเดินสาย ไม้ต้องปักเสาไม่ต้องวางแผงเครือข่ายสาย  เพราะติดตั้ง main station  เพียงเครื่องเดียว  ที่เหลือต้องการตั้งที่ไหนก็นำไปตั้งได้  ส่วนการลงทุนใช้ต่ำกว่าแบบมีสาย  และใช้กำลังส่งต่ำเพียง 0.2 วัตต์    โดยอ.สุทัศน์ ได้นำเสนอตัวอย่างการทำวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำของหมู่บ้านสามขา จ.ลำปาง
              ด้านนายวิชัย  มุกดาหาญ  จากศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี กล่าวว่า    ที่ปราจีนตอนนี้มีปัญหาในเรื่องการใช้ทรัพยากรน้ำซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงหน้าแล้งและเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างกลุ่มต่างๆที่ใช้น้ำร่วมกัน ทั้งกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชัง เกษตรกรที่ทำนาปรัง  โรงงานทำกระดาษที่ตั้งอยู่ริมน้ำ  และชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ  ผมจึงคิดว่าการนำวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำมาใช้ในปราจีนจะทำให้กลุ่มต่างๆมีความเข้าใจในปัญหา  และเป็นการเผยแพร่ข่าวสารในชุมชนอีกทางหนึ่งด้ว

อีกอย่างหนึ่งคือในพื้นที่ปราจีนมีแม่น้ำยาวประมาณ 68 กิโลเมตร มีชุมชนตั้งอยู่ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำ  หมู่บ้านทั้งหมดห่างกันไม่เกิน 500 เมตรระยะทางที่ห่างกันมาก หอกระจายข่าวของเทศบาลเสียงไม่ค่อยชัด มีเสียงรบกวนมาก คิดว่าถ้านำวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำมาใช้ ในปราจีนฯ จะทำให้คนในชุมชนรู้ถึงความเคลื่อนไหวในโครงการฯ

ทางด้าน น.ส.ลัดดา  ประสพสมบัติ  (โครงการสิทธิชุมชน)  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  กล่าวว่า มีความสนใจในการนำวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำมาใช้ในพื้นที่ปากพนัง  เนื่องจากการสื่อสารในพื้นที่ยังไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างทั่วถึง  แต่อย่างไรก็ตามยังต้องตรวจสอบความต้องการและศึกษาสภาพพื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้ง

จากการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปว่า   การใช้วิทยุกำลังส่งต่ำไปใช้ในพื้นที่ปราจีนฯ และปากพนัง (โครงการสิทธิชุมชนฯ)  จ.นครศรีธรรมราช จะต้องมีการตรวจสอบสภาพพื้นที่โดยละเอียดอีกครั้ง  ก่อนจะมีการดำเนินการในขั้นต่อไป  และแสดงให้เห็นว่าการใช้วิทยุกำลังส่งต่ำในชุมชน ในจังหวัดจะช่วยให้การสื่อสารภายในโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่  มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น  ทำให้คนในชุมชนได้ทราบเรื่องราว กิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้น คิดว่าเร็วๆนี้คงจะมีการเจรจาระหว่างเนคเทค ฝ่ายสื่อสารสาธารณะ (LDI) และทางทีมปราจีนฯเจ้าของพื้นที่ ถ้ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรจะรายงานให้ท่านผู้อ่านทราบกันอีกครั้ง

Be the first to comment on "รายงานกิจกรรมวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำ"

Leave a comment

Your email address will not be published.