วิถีชีวิตชาวนา-ปลากระชัง บ้านสร้าง

ทะเล แม่น้ำ คู คลอง และภูเขาเป็นทรัพยากรของชาติทั้งสิ้นมนุษย์เราก็เช่นกันเป็นทรัพยากรของประเทศชาติ ต้องได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเท่าเทียมกันอย่างยั่งยืนและตลอดไป

 

ปลากระชังตายลอยหัว

 

 

สิบพฤศจิกามหาโศก วันวิปโยคโสกปลาสูญ

ข้าพเจ้าเหล่าประชาแสนอาดูลย์ ไม่สามารถเกื้อกูลสูญสิ้นพลัน

เมื่อน้ำในแม่น้ำเริ่มเน่าเสีย พวกเราผู้เลี้ยงปลาเริ่มพาเพลีย

หัวใจละเหี่ยอ่อนเพลียกาย หมดแล้วเจ้าข้าเหล่าผู้เลี้ยงปลา

หมดจริงจริงหนาเมื่อปลาสูญ หมดอาดูลย์สูญสิ้นทุกถิ่นฐาน

ช่วยด้วยช่วยเถิดเกิดเมตตา แก่เหล่าข้าเลี้ยงปลาในวารี

ช่วยข้าทีช่วยเถิดให้เกิดสุข เมื่อหมดทุกข์ข้าสุขแสนสุขสันต์

ข้าพเจ้าเหล่าประชาใช้วารี สุดดี DOFไม่เจ็บใจเอ๋ย

 

วิถีชีวิตชาวนา-ปลากระชัง บ้านสร้าง
วิถีชีวิตปลากระชัง บ้านสร้าง ก่อกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 41 โดยกลุ่มของพรทิพย์ฟาร์ม กลุ่มนี้แต่เดิมก็มีอาชีพการทำนา หารทำนาก็มีอุปสรรคอยู่มาก บางปีฝนแล้ง บางปีน้ำท่วมขังทำให้ผลผลิตเสียหาย บางปีข้าวก็ราคาตกต่ำขายข้าวแล้วแทบไม่คุ้มราคาต้นทุน ทำให้เศรษฐกิจในครอบครัวชักหน้าไม่ถึงหลังจึงคิดว่าน่าจะทดลองเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังกันดู เพราะสภาพบ้านเมืองเราอยู่ติดกับแม่น้ำและได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากหนังสือต่างๆที่มีวางขายอยู่ในท้องตลาดเพื่อนำมาเป็นแม่แบบของการเลี้ยงปลา ไม่ว่าจะเป็นลูกปลา อาหาร กระชังที่ใช้เลี้ยง การเลี้ยงในระยะต้นๆมีอุปสรรคมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารปลา เทคนิคการเลี้ยง ตลาดผู้บริโภค ในขณะเดียวกันนี้บริษัทของเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้เข้ามาแนะนำซื้อขายกับกลุ่มผู้เลี้ยงนี้และก็เลิกในที่สุด ทางกลุ่มพรทิพย์ฟาร์มได้ปรับปรุงและขยายกลุ่มผู้เลี้ยง และติดต่อหาแม่ค้ามารับซื้อถึงสถานที่เลี้ยง การเลี้ยงแค่ปลายปี41-46 ประสพความสำเร็จอย่างสูงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงทุกราย ผู้ที่สนใจก็หาแหล่งเงินทองไม่ว่าจะหยิบยืม กู้ ทั้งเอกชนและภาครัฐแม้นแต่เงินกองทุนของหมู่บ้านก็ไม่เว้น การเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริมที่ให้ผลคุ้มค่าแก่กาลเวลา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นและความสามัคคีอันดีงาม
การเลี้ยงปลาของกลุ่มพรทิพย์ฟาร์มทำชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านและตำบลอย่างมาก

ด้านเศรษฐกิจ ทำให้เงินทองเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้เศรษฐกิจในครัวเรือนดีขึ้น ความเป็นอยู่ไม่แร้นแค้น

ด้านสังคมทำให้ในหมู่ผู้เลี้ยงปลาได้มีการปรึกษาหารือมีความคิดริเริ่มที่ดีเพื่อการพัฒนาสังคมให้ก้าวไกลและเจริญรุ่งเรืองและเป็นกลุ่มที่มีผู้มาศึกษาดูงานจากทั่วภูมิภาคของประเทศเรา แม้นแต่ชาวต่างชาติก็มาศึกษาดูงาน ณ สถานที่แห่งนี้

ด้านประเพณี ทำให้เกิดการรวมตัวกันช่วยกันทำงานในการจับปลาขาย เหมือนกันประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวนา อันเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ควรจะรักษาและดำรงไว้คู่กับชนชาติไทย ดังคำว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย”

การเลี้ยงปลาตั้งแต่ปลายปี 2541-10 พ.ย. 47 การเลี้ยงปลาก็เลี้ยงกันมาด้วยดี กระชังขนาด4×4 ม. ปล่อยปลา 1200 ตัว เลี้ยง 4 เดือน เมื่อจับขายยังขายได้ราคารวมที่ 36000-38000 บาท(+ทุน)ค่ากระชัง กำไร 13000-15000ต่อกระชัง

ณ วันที่ 10 พ.ย. 47 ประตูน้ำคลองสารภีได้ปล่อยน้ำในคลองสารภีลงสู่แม่น้ำบางประกง การปล่อยน้ำนี้เป็นการปล่อยน้ำในทุ่งนาเพื่อให้ชาวนาได้เก็บเกี่ยวข้าวในท้องนา ซึ่งเป็นผลผลิตของเกษตรกร การปล่อยน้ำก็ปล่อยกันเป็นประจำหลังจากปี2523 ซึ่งเป็นปีที่ประตูน้ำคลองสารภีสร้างเสร็จ ก็ปล่อยมาจนถึงปี 46 ไม่เกิดปัญหาในแม่น้ำบางประกง ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบอาชีพในลำน้ำและสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา แต่อย่างใด

แต่การปล่อยน้ำของประตูระบายน้ำคลองสารภี เมื่อวันที่ 10 พ.ย.47 ก็เป็นการปล่อยน้ำเช่นทุกปีที่กระทำมา แต่ปีนี้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นและเป็นประตูระบายน้ำแห่งเดียวของลุ่มน้ำปราจีนบุรีที่เกิดปัญหา สร้างปัญหาให้กับชาวลุ่มน้ำปราจีนบุรีตอนปลายอย่างแสนสาหัสและแสนลำเค็ญ คือน้ำที่ประตูระบายน้ำปล่อยออกสู่แม่น้ำแล้ว ทำให้สัตว์ตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำปราจีนบุรีตอนปลายเกิดอาการตายทันที ทั้งกุ้งและปลา เป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันใหญ่หลวงซึ่งเป็นการประเมินค่ามิได้ ส่งผลกระทบต่อชุมชนผู้อยู่อาศัยและประกอบอาชัพตามริมฝั่งแม่น้ำ ผู้ทำการประมงพื้นบ้านและผู้ที่ทำหารเลี้ยงปลาประชังปลาทับทิม เกิดการสูญเสียปลาที่เลี้ยงไว้ ปลาในกระชังตาย ขายไม่ได้ราคาทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจในครอบครัวชะงักงัน หมดเนื้อหมดตัวเป็นหนี้เป็นสินทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงเงินที่กู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านด้วยที่ไม่สามารถชำระคืนได้ เป็นการสูญเสีย เวลา โอกาส และเศรษฐกิจอันใหญ่หลวงแก่ชนชั้นรากหญ้าของประเทศ เปรียบประดุจว่าชนชั้นรากหญ้า ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากข้าราชการแห่งรัฐ ผู้ซึ่งทำหน้าที่ต่างสนองพระเนตรพระกรรณของพระองค์ท่านและปล่อยให้ทวยราษฎร์ของพระองค์ทุกข์ยากลำเค็ญ แล้วเมื่อใดเล่าคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงถึงจะเกิดขึ้นกับชนชั้นรากหญ้าของประเทศเล่า อาทิชนชั้นรากหญ้าของประเทศทำนา เมื่อข้าวในนาของเกษตรกรเป็นโรคก็แนะนำเกษตรกรหยุดปลูกข้าว หรือเกษตรที่ทำการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ของปี49 ก็มีประกาศของจังหวัด ฉบับที่ 1-2 ให้งดเว้นการเลี้ยงปลาใน 2 เดือนดังกล่าว

แม่น้ำปราจีนบุรี

สภาพทุ่งนาที่ขาดน้ำ

แลกเปลี่ยนหาทางออกร่วมกัน

 

จากการสำรวจเมื่อ 23 ส.ค. 49 และ 17 ก.ย. 49 จำนวน 2510 จากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง

รายแรกเลี้ยงจำนวน 2 กระชัง มีกำไรสุทธิ 20000 บาท

รายที่สองเลี้ยงจำนวน 4 กระชัง มีกำไรสุทธิ 20000 บาท

ทำให้เห็นว่าผู้ที่เป็นเกษตรกรเลี้ยงปลายังพอมีกำไรอยู่บ้าง แต่เมื่อดูประกาศของจังหวัดฉบับที่ 1-2 ให้งดการเลี้ยงในเดือน พ.ย.-ธ.ค. แล้วเมื่อนับเวลาหลังจากจับปลาไปแล้วมีเวลาว่างอีก 4 เดือน จะให้เกษตรกรผู้ยากไร้ไปประกอบอาชีพอะไร เขาไม่มีเงินเดือนเหมือนข้าราชการและหลังจากเดือนธ.ค.ไปแล้ว ผู้ที่ประสงค์จะเลี้ยงต้องไปหาลูกปลามาอนุบาลอีก 2 เดือน เลี้ยงต่ออีก 4 เดือน หรือไม่ก็หาลูกปลาใหญ่หน่อยมาเลี้ยงอีก 4เดือน จึงจะจับขายได้ รวมเวลาที่เกษตรกรต้องเสียไปรวมถึง 8 เดือน แล้วจำนวนกำไรที่ได้ไว้ 20000 บาท แต่ต้องใช้ในการดำรงชีวิตถึง 8 เดือน เฉลี่ยแล้วใช้จ่ายเดือนละ 2500 บาทเท่ากับครอบครัวหนึ่งมีรายได้เพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ค่าแรงขั้นต่ำของคนเพียงคนเดียวเท่านั้น

ทะเล แม่น้ำ คู คลอง และภูเขาเป็นทรัพยากรของชาติทั้งสิ้นมนุษย์เราก็เช่นกันเป็นทรัพยากรของประเทศชาติ ต้องได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเท่าเทียมกันอย่างยั่งยืนและตลอดไป

 

จสอ.สุนทร สมนาม

15 พฤศจิกายน 47

Be the first to comment on "วิถีชีวิตชาวนา-ปลากระชัง บ้านสร้าง"

Leave a comment

Your email address will not be published.