สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยื่นร่างพระราชกฤษฎีกาพัฒนาชายแดนใต้แก่ สปช.
เลขา เกลี้ยงเกลา / รายงาน
สภาประชาสังคมชายแดนใต้และเครือข่าย ยื่นร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้(องค์การมหาชน) พ.ศ.25…..แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช. 5 จังหวัด) กอ.รมน.และศอ.บต.
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2558 สภาประชาสังคมชายแดนใต้และเครือข่าย จัดเวทีเสวนาและยื่นข้อเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้(องค์การมหาชน) พ.ศ.25….. แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช. 5 จังหวัด) กอ.รมน.และศอ.บต. สนับสนุนโดย โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะขยาย(ช.ช.ต.) ภายใต้แผนงานกองทุนเสริมสร้างสันติภาพ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งมีการเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของภาคประชาสังคม” โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่าร้อยคน ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
วัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้1.ส่งเสริมการรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน และคืนความเข้มแข็งสู่ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ 2.ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง การปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 3.ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของประชาชนและชุมชนที่มีเป้าหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่ดีงามของพื้นที่และพัฒนาวัฒนธรรม ศาสนา สิ่งแวดล้อม วิถีของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น 4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมกันเป็นองค์ชุมชนที่มีความหลายหลายและมีศักยภาพเพียงพอต่อการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในวงเสวนา นางสาวลม้าย มานะการผู้ประสานงานอาวุโส โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าประสบการณ์ในการทำงานตลอด 20 ปีกับชุมชนและภาคประชาชนในพื้นที่ว่า
“ได้ทำงานพัฒนาในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งของการพัฒนาคือ ได้เพื่อนเพิ่ม พยายามเปิดพื้นที่การพูดคุยมากขึ้น เป็นพื้นที่ที่ต้องไว้วางใจกัน ชาวบ้านเป็นเจ้าของทรัพยากรและคนบอกโจทย์ อย่างสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ฯ เป็นคนกลางที่เชื่อเรื่องการทำงานกับท้องถิ่น ประสานกับชาวบ้าน ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ตนเองเป็นคนนับถือศาสนาพุทธ แต่แทบไม่เคยทำงานร่วมกับคนพุทธในพื้นที่เลย จน5-10ปีที่ผ่านมาจึงได้ร่วมทำงานกับคนพุทธมากขึ้น แต่ไม่ใช่งานพัฒนา เป็นงานด้านเยียวยาและให้กำลังใจกัน คาดหวังว่าคนทำงานพัฒนาควรเปิดใจและพูดคุยกันอย่างสันติ”
ด้านรศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานีผู้ร่วมเสวนา ได้แสดงความเห็นว่า
“สิ่งที่ไม่เคยทิ้งและทำมาตลอดคือการทำงานกับภาคประชาชน เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพัฒนา แต่สิ่งที่สำคัญคือองค์ความรู้ ผมเคยเปิดโรงงานเพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชน ด้วยงบประมาณเพียง 30,000บาท ผมเองยังไม่ไว้ใจนักกับการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดที่นำโดยอำนาจรัฐ อาคารที่รัฐสร้างให้มักจะกลายเป็นอาคารร้างในที่สุด ไม่มีใครแตะเพื่อนำมาใช้ใหม่ ทำให้ได้รู้ว่าในพื้นที่มีคนคิดดีเยอะ ไม่มีใครรู้เรื่องเราดีเท่าเรา องค์กรปกติที่มีพอแล้วหากต้องปรับทัศนคติ วิธีคิดและรูปแบบการทำงาน นำบทเรียนมาใช้และมีการทำวิจัยให้ท้องถิ่นมากมาย และการพัฒนาที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้ตรงใจของพื้นที่ “
นายมันโซร์ สาและ เครือข่ายสภาสังคมชายแดนใต้ได้แสดงความเห็นว่า
“ในวันนี้ เราทำงานผิดพลาด เราออกไปพัฒนาที่อื่นชุมชนอื่น แต่มักจะลืมชุมชนตนเอง อยากให้กลับไปคิดว่า จะพัฒนาชุมชนของเราได้อย่างไรบ้าง สามารถใช้กลไกในชุมชนของเราเพื่อพัฒนาชุมชนเราเอง ท่านนบีมูฮัมหมัดเคยใช้กลไกเครือข่ายในการสร้างเครือข่ายและพัฒนาชุมชน เราสามารถที่จะนำกลไกนี้มาใช้ได้ เนื่องจากคนในชุมชนคือใกล้ตัวเรา เป็นเครือญาติเรา อีกประการหนึ่ง เรากลัวว่าจะมีการคิดแทนประชาชน วันนี้จึงต้องร่วมมือกันเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้กับประชาชนในชุมชน ซึ่งไม่คิดถึงเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจึงต้องไปให้องค์ความรู้กับชาวบ้านแต่ไม่ใช่การล็อคแบบคิดแทนชาวบ้านในชุมชน”
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติได้กล่าวในตอนท้ายของการเสวนาว่า
“ความจริงแนวคิดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมาพอสมควรแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราเองต้องเป็นตัวกระตุ้นชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืน หากเราคิดเองแล้วเอาให้ชาวบ้าน อันนี้ผิดหลักการของเรา”
หลังจากการเสวนาและเสนอความเห็นรายละเอียดของพ.ร.ฏ. นี้ อ.ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกา ให้กับ ตัวแทนสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ , ตัวแทน กอ.รมน.และตัวแทน ศ.อ.บต.เพื่อเป็นสักขีพยานว่า ข้อเสนอของภาคประชาสังคมชายแดนใต้ได้เดินทางไปสู่เส้นทางที่ควรจะเป็นแล้ว
Be the first to comment on "สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยื่นร่างพระราชกฤษฎีกาพัฒนาชายแดนใต้ แก่ สปช."