สืบศักดิ์สิน…แผ่นดินสี่แคว กับการสร้างชีวิตสาธารณะที่มีแต่ได้กับได้

นครสวรรค์ เมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนประตูสู่ภาคเหนือ ด้วยสถานภาพการเป็นศูนย์กลางการติดต่อและคมนาคมสำคัญของภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนมาตั้งแต่ยุคการเดินทางทางน้ำเป็นหลักจนถึงยุคปัจจุบันที่ถนนหนทางมีความสะดวกสบายมากขึ้น  จุดเด่นในเรื่องที่ตั้งจึงทำให้นครสวรรค์กลายเป็นทั้งจุดหมายปลายทางและจุดนัดพบของบรรดาพ่อค้าวานิชต่างๆ…

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.นครสวรรค์

นครสวรรค์ เมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนประตูสู่ภาคเหนือ ด้วยสถานภาพการเป็นศูนย์กลางการติดต่อและคมนาคมสำคัญของภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนมาตั้งแต่ยุคการเดินทางทางน้ำเป็นหลักจนถึงยุคปัจจุบันที่ถนนหนทางมีความสะดวกสบายมากขึ้น  จุดเด่นในเรื่องที่ตั้งจึงทำให้นครสวรรค์กลายเป็นทั้งจุดหมายปลายทางและจุดนัดพบของบรรดาพ่อค้าวานิชต่างๆ จึงไม่แปลกหากจะพบห้างร้านน้อยใหญ่จำนวนมากในเขตพื้นที่ใจกลางเมืองปากน้ำโพแห่งนี้ ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชาติพันธุ์ ทั้งแต้จิ๋ว ไหหลำ ฮกเกี้ยน ฮากกา เป็นต้น ส่วนอำเภอรอบนอกออกไป คือ แหล่งปลูกข้าวชั้นดีจำนวนมาก จนเป็นที่มาของท่าข้าวสำคัญๆ ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศซึ่งตั้งเรียงรายขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา

ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์

 

นครสวรรค์จึงเป็นอีกท้องถิ่นที่อุดมด้วยเรื่องราวหลากหลาย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอีกมากนักที่เป็นผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจการค้าตามกระแสโลกาภิวัตร ซึ่งนับวันจะค่อยๆ รุกรานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวปากน้ำโพทั้งในด้านการค้าการขายและชีวิตประจำวัน

 

N จากนครสวรรค์ฟอรั่มถึงสืบศักดิ์สิน…แผ่นดินสี่แคว

  ความเป็นท้องถิ่นที่เพียบพร้อมทั้ง “ศักดิ์(ศรี)” และ “สิน(ทรัพย์)” ของนครสวรรค์ ยังปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมในนาม “นครสวรรค์ฟอรั่ม” ซึ่งทำงานทั้งเชิงรุกและรับอย่างมีส่วนร่วมกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นมาเกือบ 10 ปี  กระทั่งมีโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ กลุ่มดังกล่าวจึงตอบตกลงที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อสร้างความเป็นชีวิตสาธารณะให้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กระทบเข้าสู่ท้องถิ่นทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยเป้าหมายหลักๆ ที่โครงการฯ รับรู้มี 3 ประการ คือ 1) ภาพรวมของโครงการที่ตกลงกับแหล่งทุนไว้ว่าต้องการให้เกิดสภาวะเมืองน่าอยู่ ชุมชนเข้มแข็ง ตามผลลัพธ์ 8 ตัวชี้วัด  2) การขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเมืองที่มีสุขภาวะและน่าอยู่ได้ จำเป็นต้องทดลองผ่านเครื่องมือที่ชื่อ “พื้นที่สาธารณะ” (Public Space) เพื่อสร้างการตื่นตัว ตื่นรู้ไปพร้อมกับการผลักดันให้เกิดพลเมืองตื่นตัว (Active Citizen) ในท้องถิ่นให้มาก ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของโครงการฯ 5 จังหวัดที่นครสวรรค์ถือเป็น 1 ในนั้นด้วย (ลำปาง นครสวรรค์ สมุทรสงคราม อุบลราชธานี ตรัง)  ประการสุดท้าย คือ ความมุ่งมั่นของคณะผู้บริหารโครงการชุดนี้ที่ต้องการเห็นการเติบโตอย่างเข้มแข็งของภาคประชาสังคมในท้องถิ่นไทย ซึ่งสามารถสถาปนาตัวเองขึ้นทำงานเพื่อท้องถิ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืนแม้โครงการจะจบลงแล้วก็ตาม

  ด้วยความคาดหวังในรายละเอียดของแต่ละชุดโครงการที่ต่างกันออกไป จึงเป็นเรื่องหนักใจสำหรับคนทำงานในท้องถิ่นนครสวรรค์ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องสุดวิสัยจนทำไม่ได้ เพราะเป้าหมายทั้งหมดข้างต้นได้ถูกบูรณาการเข้าด้วยกันกลายเป็นวิสัยทัศน์ของทีมจังหวัดที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น โดยมีระยะเวลา 3 ปีของโครงการฯ เป็นเงื่อนไขเวลาที่รอการพิสูจน์

  สำคัญกว่านั้น คือ ความมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวของตัวเองและกล้าที่จะกำหนดอนาคตความเป็นท้องถิ่นตนเองด้วยการทำโครงการที่ไม่ใช่เพียงเพื่อโครงการ “บางเรื่องที่ทำ ไม่ได้คิดว่าเป็นการทำงานให้กับโครงการ แต่เป็นแนวคิดว่าทำแล้วจะส่งผลกระทบต่อใคร งานบางส่วนปิดโครงการ ปิดงบประมาณแล้วก็ยังทำงานต่อไป บางเรื่องที่ได้ทำงานไปแล้วมีการตั้งความหวังไว้ให้กับชาวบ้านแม้ว่าจะปิดงบประมาณก็มีกระบวนการในการดำเนินงานต่อ” (จากบทเรียนและข้อค้นพบในรายงานสรุปผลโครงการ 3 ปี ฉบับส่ง LDI) นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความตระหนักในการออกมาเอาธุระร่วมของคนท้องถิ่นนครสวรรค์ โดยมีความเชื่อว่าหากประชาชนคือผู้รับผลของการพัฒนาก็ต้องออกมารับผิดชอบร่วมกัน !

 

N แปลงวิสัยทัศน์สู่แผนงาน…ความตั้งใจที่หวังผล

บนฐานคิดที่ไม่อาจปฏิเสธการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคเมืองและชนบทได้ ทำให้แผนงานชีวิตสาธารณะจังหวัดนครสวรรค์มีความหลากหลายทั้งในมิติเมืองและชนบท การขับเคลื่อนงานในปีแรกให้ความสำคัญกับการศึกษาบริบทพื้นที่ ผู้คน และงานสืบค้นทางประวัติศาสตร์  ส่วนปีที่สองมุ่งสร้างรูปธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ จากนั้นลงลึกและขยายผลมากขึ้นในปีที่สาม  งานที่ทำจึงมีทั้งชนิดงานใหม่ที่กระตุ้นให้ผู้คนออกมาเอาธุระด้วยกัน หรือเกิดขึ้นเนื่องจากจังหวะและโอกาสภายในท้องถิ่นเป็นตัวเอื้ออำนวย และงานเดิมซึ่งเคยมีการเคลื่อนไหวอยู่ก่อนแล้วแต่ยังต้องการการต่อยอดขยายผล

งานเปิดตัวโครงการซึ่งเริ่มต้นจากการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองโดยงานสืบชนคนไหหลำ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวจีนที่มีจำนวนน้อยที่สุดในเมืองปากน้ำโพ ได้นำมาซึ่งเรื่องราวอีกมากของกลุ่มอื่นๆ จนทำให้คนท้องถิ่นเห็นและเข้าใจตัวเองมากขึ้น  กระบวนการทำงานที่เน้นการพูดคุย สัมภาษณ์ ตั้งวงเสวนาอย่างมีส่วนร่วมยังเป็นผลให้มีกัลยาณมิตรและคนที่เห็นธุระกับบ้านเมืองปรากฏตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งจากงานภาพเก่าเล่าขานสืบสานตำนานเมือง เวทีเล่าประวัติศาสตร์เมืองจากผู้อาวุโส ซึ่งล้วนเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของท้องถิ่นนครสวรรค์จนทำให้มีองค์กรในท้องถิ่นนำรูปแบบการจัดงานไปปรับใช้  และทำให้ชื่อของ “กลุ่มสืบศักดิ์สินฯ” กลายเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับว่าเป็นหน่วยงานที่มุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของคนนครสวรรค์มากกว่าแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

การผลักดันและพัฒนาพื้นที่สาธารณะในแบบฉบับของทีมนครสวรรค์ดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองโดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อเปิดพื้นที่ทางเลือกสำหรับการใช้เวลาว่างกับงานศิลปะที่เด็กๆ รักหรือสนใจ บนพื้นที่ “ลานศิลป์” ในนาม “โครงการศิลปินริมถนน” ณ เกาะกลางหน้าเทศบาลนครนครสวรรค์ ผลจากความมุ่งมั่นที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทำให้เทศบาลฯ หันมาสนับสนุนงบประมาณและอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ และมีแผนที่จะผลักดันแนวคิดนี้สู่การก่อตั้งศูนย์เยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ในอนาคต

ส่วนโครงการโรงเรียนชาวนาซึ่งผลักดันเรื่องข้าวกับสุขภาวะของเกษตรกร แม้จะมีพื้นที่ทำงานกระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ เกือบทั่วทั้งจังหวัด แต่ในความเป็นจริงยังคงเชื่อมโยงกับคนเมืองอยู่ เนื่องด้วยคนเมืองเองก็ยังต้องรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก แผนงานดังกล่าวยังสะท้อนภาพการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับหน่วยงานระดับต่างๆ ในท้องถิ่น ตั้งแต่จังหวัดซีอีโอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ กลุ่มเกษตรกร ทั้งยังเป็นพื้นที่เรียนรู้และปฏิบัติงานจริงให้กับกลุ่มนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในท้องถิ่นให้รู้จักความเป็นมาและเป็นไปของท้องถิ่นตนเอง โดยมีกลุ่มสืบศักดิ์สินฯ ทำหน้าที่เป็น “ช่างเชื่อม” เพื่อสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้น รวมถึงการผลักดันสานต่อให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องสืบไป

เวทีสืบค้นประวัติศาสตร์ ปากน้ำโพ

โรงเรียนชาวนา

เวทีประชาคม

นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้ออกแบบและวางแผนงานเพื่อตอบโจทย์ผลลัพธ์โครงการตัวอื่นๆ ได้แก่ การพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ โดยเฉพาะกระบวนการค้นหาความจริงด้วยการนำข้อมูลมาตีแผ่ พูดคุย สร้างการยอมรับ ซึ่งไม่นำไปสู่ข้อถกเถียง หรือหากมีก็อยู่บนหลักการและเหตุผลที่ทุกฝ่ายสามารถรับฟังและแลกเปลี่ยนกันได้ รวมทั้งการนำเครื่องมือนวัตกรรมทางสังคมที่ได้รับจากการอบรมพัฒนาศักยภาพมาปรับใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน เช่น กระบวนคิดและการวิเคราะห์เชิงระบบ การทำแผนที่ทางสังคม (Social Mapping) การใช้สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและระดมพลังทางสังคมโดยเฉพาะกับสื่อวิทยุชุมชนที่ได้เริ่มต้นไว้ก่อนแล้ว ตลอดจนการนำความรู้จากการประเมินภายในและสังเคราะห์ความรู้มาใช้เพื่อจัดการความรู้ในโครงการโรงเรียนชาวนาและโครงการอื่นๆ เพื่อผลิตองค์ความรู้เฉพาะของท้องถิ่นนครสวรรค์เอ

I สิ่งที่เกิดขึ้นและเทคนิคที่มาพร้อมกับผลผลิต

ผลจากการทำงานในฐานะผู้เชื่อมประสานหรือผู้ผลักดันให้เกิดงานความเคลื่อนไหวที่เป็นสาธารณะ ทำให้เกิด Active Citizen หรือพลเมืองตื่นตัวเพิ่มขึ้นในท้องถิ่นนครสวรรค์ แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับการวัดผลที่แน่นอนทั้งในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ เพราะการเข้าร่วมกิจกรรมของคนในท้องถิ่นมีหลากหลายและเข้าออกอย่างไม่หยุดนิ่ง แต่ก็ปรากฏจำนวนพลเมืองตื่นตัวไม่น้อยที่เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ ตลอดระยะเวลาโครงการซึ่งนับถือเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญในการลุกขึ้นมารับรู้และดูแลชะตากรรมบ้านเมืองของตนเองต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในมิติการทำงานที่ต้องการความร่วมมือและการตัดสินใจของผู้คน/องค์กรจากหลากหลายภาคส่วน ซึ่งถือเป็นแนวทางการทำงานของภาคประชาสังคม คณะทำงานทีมสืบศักดิ์สินฯ ได้ประเมินตนเองว่า “ในแง่ output ภาพใหญ่ คิดว่าได้กระบวนการตั้งหลักปักธงภาคประชาสังคมได้พอสมควร” รูปธรรมที่บ่งบอกความเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบันได้ คือ ผู้คนในท้องถิ่นที่เริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้นในการหาข้อสรุปร่วมกับคนที่คิดเห็นต่างกัน คนทำงานบางคนเริ่มยอมรับฟังความเห็นคนอื่น และมีแกนนำบางคนมีศักยภาพสามารถขับเคลื่อนกระบวนการใหม่ๆ ในหน่วยงานของตนเองต่อได้

ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างทุ่มเทของคณะทำงานส่วนหนึ่งยังเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานอย่างต่อเนื่องแบบ “กัดไม่ปล่อย” คอยดเฝ้าสังเกตจังหวะและโอกาสไม่ให้พลาดหลุดมือ เพราะอาจหมายถึงการพลาดโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน รวมทั้งการใช้ระบบความสัมพันธ์ของคนและเครือข่ายในการประสานเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรต่างๆ ในจังหวัดเพื่อประโยชน์สูงสุดในการทำงาน เพราะบางสถานการณ์ระบบหรือความเป็นทางการก็ไม่อาจช่วยได้

คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมียุทธวิธี โดยเฉพาะระบบการบริหารจัดการภายในทีม ตั้งแต่รับแนวคิดมา จะมีการพูดคุยกลั่นกรอง ต่อเติม แล้วจึงจ่ายงานตามความถนัดของแต่ละบุคคล  สิ่งสำคัญที่สุด คือ เป็นการทำงานที่ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนว่าเป็นโครงการๆ หนึ่ง แต่มองว่าเป็นการทำงานเพื่อคนนครสวรรค์ โดยคนนครสวรรค์  การมองอนาคตของท้องถิ่นภายหลังโครงการสิ้นสุดลงจึงเป็นก้าวต่อที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าก้าวแรกเมื่อรับโครงการมาทำ ซึ่งคณะทำงานยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืน ฐานคิด ประสบการณ์ และตัวตนของความเป็นท้องถิ่นนครสวรรค์ ทั้งยังมั่นคงในประเด็นการทำงานที่ต้องไม่ขัดแย้งกับใคร และสานประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะทำงานจึงค่อยๆ เชื่อมต่อการทำงานหรือแผนงานให้เข้าสู่การเป็นวาระของท้องถิ่นหรือผลักดันเข้าสู่แผนงานหรือนโยบายระดับท้องถิ่นหรือจังหวัดทุกครั้งที่มีโอกาสหรือช่องทาง เพื่อให้หน่วยงานราชการ องค์กรท้องถิ่น หรือแม้แต่เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างยั่งยืน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ท้องถิ่นนครสวรรค์ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายในและภายนอกอีกมาก

 

N ปัญหา อุปสรรค และการฝ่าฟัน

การยึดมั่นในแนวทางที่โครงการฯส่วน 5 จังหวัดออกแบบไว้ถือเป็นเสมือนเข็มทิศนำทางการทำงานในรูปแบบใหม่ที่คนทำงานในท้องถิ่นเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างคณะทำงานที่ออกแบบและวางตัวให้มีบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะในแต่ละด้านเพื่อการทำงานที่ครอบคลุมและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น ด้านผังเมือง ด้านการออกแบบ ด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ด้านสื่อสารมวลชน และด้านธุรการการเงิน แต่ในสภาพความเป็นจริงถือเป็นเรื่องยากมากสำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะสรรหาบุคลากรได้ครบทั้งหมดตามที่ออกแบบไว้ นี่จึงเป็นอุปสรรคก้าวสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ แต่ก็ไม่ยากไปกว่าการจัดวางกำลังคนที่มีอยู่ให้สามารถทำงานได้ตามที่มุ่งหวังและสอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพและลักษณะงานที่มีอยู่

 “ในพื้นที่ 5 จังหวัดมีการตั้งระบบงานที่เรียกว่า กองหน้าและกองหลัง แต่ทว่าประสิทธิภาพและศักยภาพบุคลากรไม่เท่ากัน ทำให้บทบาทในการดำเนินงานของทีมงานไม่เท่ากัน ทีมงานจังหวัดซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือ เป็นผู้ปฏิบัติงาน จึงได้มีการปรับยุทธศาสตร์การทำงาน แต่ไม่ได้ปรับตามภารกิจของ LDI สสส. หรือ อ.ขวัญสรวง  มิติการทำงานจึงมีทั้งมิติในเมืองและมิติภายนอกเมือง” (อ้างอิงจากแหล่งเดียวกัน) การแก้ปัญหาเชิงการจัดการซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนเนื้องานและพื้นที่การทำงานโดยตรง ทำให้ทีมจังหวัดถูกมองว่าเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ก็มีเสียงยืนยันว่าเป็นเพราะทุนและฐานการทำงานในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ จึงไม่ต้องการละทิ้งโอกาสเหล่านั้นไป ผสมผสานกับความมุ่งมั่นที่ต้องการทำงานอย่างหวังผลกับทั้ง 3 เป้าหมายที่โครงการฯ ส่วนกลางเองก็มุ่งหวัง  ประการสำคัญ คือ เป็นไปตามบริบทการทำงานของท้องถิ่นนครสวรรค์ที่บางครั้งส่วนกลางอาจไม่รับรู้หรือเข้าใจได้ทั้งหมด

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบตามมา คือ การต้องดำเนินงามตามแผนงานหรือกิจกรรมหลายอย่างในช่วงเวลาเดียวกัน  ภายใต้จำนวนบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้แผนงานหรือกิจกรรมบางอย่างอาจทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานตามมา

นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนงานให้เข้าใกล้ที่หมายยังได้แก่สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคณะทำงาน เช่น พื้นที่ทางสังคมไม่เปิด ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ  แต่การกระตุ้นผ่านหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงก็เป็นแนวทางแก้ไขที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเช่นกัน

N ข้อค้นพบและบทเรียน

1. การให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับเป้าหมายและภารกิจของโครงการทั้งใหญ่และย่อยอย่างเท่าเทียม ซึ่งแม้จะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ด้วยความตระหนักในประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจึงพยายามบูรณาการแนวคิดของทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ประกอบกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการทำงานของภาคประชาสังคมในจังหวัดที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของท้องถิ่นตนเอง จึงกล้าที่จะทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านการทำงานที่เห็นเป็นรูปธรรมและพบคำตอบที่เหมาะสมตามวิถีของท้องถิ่นตนเองในที่สุด

2.  การเริ่มต้นงานเคลื่อนไหวผ่านประเด็นการสืบค้นทางประวัติศาสตร์เมืองสามารถกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากผู้คนที่หลากหลายได้ เพราะไม่ใช่ประเด็นที่นำไปสู่ข้อขัดแย้ง แต่กลับสร้างความภาคภูมิใจและสร้างสำนึกในการรู้จักเรื่องราวของท้องถิ่นตนเองได้มากขึ้น  กิจกรรมเพื่อการสืบค้นบางอย่าง เช่น ภาพเก่าเล่าขานตำนานเมือง เวทีเล่าเมืองโดยผู้อาวุโส ยังถือเป็นรูปแบบใหม่ของท้องถิ่นที่สามารถดึงดูดคนเข้าร่วมได้มากและกลายเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นในท้องถิ่นได้ด้วย

3. การทำงานสืบค้นบางเรื่องเพื่อเปิดประเด็นความสำคัญบางอย่างออกสู่สาธารณะ ความเหมาะสมอาจไม่ได้ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขในความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่รวบรวมหรือวิเคราะห์ได้เท่านั้น หากยังต้องขึ้นอยู่กับจังหวะหรือช่วงเวลาในการบ่มเพาะที่เหมาะสม และการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจแก่คนในสังคมท้องถิ่นให้รับรู้และเห็นด้วยจนไม่นำมาสู่ข้อโต้แย้ง เช่น บทเรียนจากการผลักดันตึกเหลืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะหรือพิพิธภัณฑ์เมืองของคนเมืองปากน้ำโพที่ลำพังการสืบค้นทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอต่อการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้

4. การทำงานโดยยึดหลักให้ทุกฝ่ายมีแต่ได้กับได้ หรือ win win situation ทำให้มีพันธมิตรในการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องยืนอยู่บนหลักการประสานเชื่อมโยงให้เป้าหมาย เนื้องาน สอดคล้องกับสิ่งที่ภาคีพันธมิตรต่างๆ มีความถนัด สามารถเข้าร่วมได้ และเป็นประโยชน์กับภาคีเครือข่ายเหล่านั้นด้วย

5. การจะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ของคนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะหากเป็นจุดอ่อนของหน่วยงานเช่นภาคราชการ และองค์กรท้องถิ่นแล้ว ภาคประชาสังคมที่มีความชำนาญและมีนวัตกรรมที่สร้างสรรค์กว่ายิ่งต้องใช้เป็นโอกาสและช่องทางของการทำงานให้มากขึ้น

6. การทำงานเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย สร้างพลังหมู่ได้มากกว่าการทำงานโดยลำพังซึ่งแสดงพลังได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น

 
FACT SHEET
เอกสารข้อมูล
เอกสารข้อมูลประกอบ : ห้องย่อยที่ 4  การกำหนดอนาคตตนเองกับวิถีชีวิตสาธารณะเข้มแข็ง
 เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม  “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย”  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2549  ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ  กทม
สนับสนุนข้อมูลโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.นครสวรรค์ (สืบศักดิ์สิน…แผ่นดินสี่แคว)

13/37 ถ.สมรวิถี อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 42000  โทรศัพท์ 0-1281-8213

จัดทำโดย

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่

มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3  www.ldinet.org

สนับสนุนโดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Be the first to comment on "สืบศักดิ์สิน…แผ่นดินสี่แคว กับการสร้างชีวิตสาธารณะที่มีแต่ได้กับได้"

Leave a comment

Your email address will not be published.