หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของศิลปิน

ศิลปะที่แท้ควรเป็นเช่นไร ? คำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวตลอดหลายวันที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น คำถามต่อตัวศิลปินเองว่า…จะสร้างสรรค์งานเพื่อเป้าหมายใด ? และเพื่อใคร ?

หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของศิลปิน


โดย : พิสิษฐ์ แซ่เบ๊  เมื่อ : 14/02/2005

ศิลปะที่แท้ควรเป็นเช่นไร ? คำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวตลอดหลายวันที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น คำถามต่อตัวศิลปินเองว่า…จะสร้างสรรค์งานเพื่อเป้าหมายใด ? และเพื่อใคร ? ยิ่งเป็นคำถามหนักอึ้งสำหรับคนไม่มีความรู้เรื่องงานศิลปะอย่างผมจะขบแตกได้เพียงข้ามคืน จะเป็นเรื่องเกินเลยความสนใจใคร่รู้ของผู้อ่านไปหรือไม่หากเชื้อชวนให้ช่วยกันขบคิดและมองเข้าไปในแวดวงศิลปะบ้านเรา กระนั้นเอง ผมคงไม่อาจหาญประเมินคุณค่างานศิลปะของศิลปินท่านใด แต่เป็นเพียงทัศนะหนึ่งต่องานศิลปะและคนทำงานศิลปะ ซึ่งผมเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย

 

ปรากฏการณ์ที่พบเห็นตามสถานที่แสดงงานศิลปะบ้านเราวันนี้ คือ ห้องแสดงงานที่ว่างเปล่าไร้ผู้คน ขนาดศิลปินที่มาจัดแสดงงานจะมีชื่อเสียงเลื่องลืออย่างประเทือง เอมเจริญ ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่อีกคนในแวดวงศิลปะ หรือศิลปินใหญ่นามอุโฆษอย่างถวัลย์ ดัชนี และ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์เองก็ตาม หาคนที่สนใจมาดูงานศิลปะน้อยมาก จะมีคนคึกคักอยู่บ้างก็แต่ช่วงเปิดงานวันแรก ซึ่งมองๆ ดูแล้วก็เป็นเพื่อสนิทมิตรสหาย ที่รู้จักมักคุ้นกันในวงการแทบทั้งนั้น น้อยมากที่จะเห็นคนแปลกหน้าแทรกกายเข้ามาชมงานศิลปะ

ถามว่าปรากฏการณ์ลักษณะนี้เป็นผลมาจากอะไร อาจตอบแบบไม่สนใจใคร่รู้ว่า ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง สำหรับผมคิดว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ถึงแม้จะทุ่มงบทำประชาสัมพันธ์ให้ถ้วนทั่วหัวระแหง ผลที่ออกมาคงไม่แตกต่างกันมากมายกับที่เป็นอยู่ หลายคนพูดในทำนองหมิ่นแคลนว่า คนบ้านเรานั้นโง่ เข้าไม่ถึงงานศิลปะ ไม่เข้าใจความพริ้งเพริดในสุนทรียะ ทำให้วงการศิลปะบ้านเราไม่ก้าวหน้า แต่ในทางกลับกันจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าตัวศิลปินเองนั้นมุ่งเสนองานด้วยเทคนิควิธีที่ซับซ้อน เฟ้นหาสัญลักษณ์ รูปแบบที่ยากแก่การตีความ ทำให้ผู้คนที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาโดยตรงไม่สามารถเข้าใจได้

 

 

ปกหนังสือ ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ของทีปกร

ทีปกร หรือจิตร ภูมิศักดิ์เคยให้คำจำกัดความไว้ว่า ศิลปะคือ ผลิตกรรมของมนุษย์ที่สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนความจัดเจนอันสร้างสรรค์ ที่ได้รับจากการต่อสู้ของชีวิต ทั้งในธรรมชาติและในทางสังคม ทั้งนี้โดยสะท้อนถ่ายออกมาในแง่งาม แนบแน่นกับความเป็นจริง ตรึงตรา แต่ง่ายในระดับที่ประชาชนส่วนข้างมาก สามารถชื่นชมและเข้าใจได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่มันถือกำเนิดขึ้นมา ผลิตกรรมที่สร้างจากกลวิธีอันดีเลิศ อาจเป็นเพียงงานฝีมือ หากขาดเงื่อนไข 3 ประการคือ เนื้อหาที่ต้องการจะนำเสนอ รูปแบบที่ง่ายงามแต่แจ่มชัด และสุดท้าย คือ เป้าหมายอันแน่นอนที่จะชี้แจง ความดีเลวให้ประชาชนเข้าใจ (ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน)

ในมุมมองของคนทำงานศิลปะอาจจะคัดค้านนิยามข้างต้นเพราะ ศิลปินจำต้องคำนึงเรื่องเทคนิควิธีการ ที่จะนำเสนอว่าสามารถสะท้อนระดับอารมณ์สะเทือนใจได้มากน้อยแค่ไหน เทคนิควิธีการที่ง่าย ๆ บางอย่างไม่สามารถรองรับหรือแสดงให้เห็นอารมณ์สะเทือนใจของศิลปินได้ จึงต้องค้นคิดวิธีการและรูปแบบที่พิสดารให้เหมาะกับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่นเดียวกับ วรรณกรรมหรือบทกวีที่จำต้องเฟ้นหาคำให้จับใจทิ่มเข้าไปในอารมณ์ผู้อ่าน แม้บางครั้งคำนั้นอาจจะยากแก่การตีความของคนทั่วไป

นามปากกาของ จิตร ภูมิศักดิ์ ฉบับพิมพ์ใหม่ 2540

 

ผมไม่ได้ปฏิเสธเทคนิคกลวิธีในการนำเสนอ เพียงแต่ มันจะมีประโยชน์อะไรหากเนื้อหา ความตั้งใจ และอารมณ์สะเทือนใจซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของศิลปินทุกคนไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เสพงานได้ หรือศิลปินผู้นั้นต้องการแสดงเพียงความสามารถอันชำนิชำนาญ และความเก่งกาจอลังการเรื่องเทคนิค รูปแบบ วิธีการ โดยไม่ใส่ใจว่าเนื้อหา เป้าหมายในการสร้างงานจะได้ถูกนำเสนอหรือไม่ก็ตามที

 

หากเป็นเช่นนี้ยิ่งทำให้วงการศิลปะบ้านเราสับสนกันไปใหญ่ อย่าได้ลืมว่ารูปแบบ วิธีการนั้นเป็นเพียงเครื่องมือสะท้อน ความรู้สึกนึกคิดและเนื้อหาที่ศิลปินต้องการจะถ่ายทอดเท่านั้น การยึดติดรูปแบบมากไปอาจจะเป็นการบั่นทอนเจตนา น้ำหนักเนื้อหาที่ต้องการแสดงออกก็เป็นได้

นอกจากเรื่องรูปแบบวิธีการนำเสนอซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงยากแล้ว ยังมีประเด็นถกเถียงกันมานานในแวดวงศิลปะ เรื่องอุดมการณ์ทางศิลปะว่าควรรับใช้ใคร การที่ศิลปินผลิตงานขึ้นมานั้นตอบสนองอะไร บทบาทหน้าที่ของศิลปินต่อสังคมควรเป็นเช่นไร เคยมีการปะทะคารมกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่าง พิษณุ ศุภนิมิตร กับ อำนาจ เย็นสบาย เรื่องแนวทาง ‘ศิลปะเพื่อศิลปะ’ กับ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐรายวัน ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม 2520 จากข้อเขียนของ ‘พิษณุ ศุภ’ ซึ่งเป็นนามปากกาของ พิษณุ ศุภนิมิตร ในบทความที่ชื่อ “ความเห็นศิลปิน ศิลปะกับการเมือง” โดยสรุปความได้ว่า ฝ่ายคนทำงานศิลปะเพื่อชีวิตนั้นเป็นพวกรับใช้ลัทธิการเมือง มีจุดประสงค์ซ้อนเร้นเพื่อให้เกิดความแตกแยก ใช้สิทธิเสรีภาพกันจนเกินขอบเขต ผลงานที่นำออกมาแสดงกระทำกันอย่างเร่งรีบ ขาดความประณีตบรรจง รูปแบบซ้ำซาก ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ศิลปะเพื่อชีวิตแบบชวนเชื่อและปลุกระดมเหล่านี้ถึงได้สูญหายไป เพราะไม่มีสิ่งที่มีค่าพอจะยอมรับกันได้

ผศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ อาจารย์ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งยังเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ผู้มีชื่อเสียงและมีความรู้ทางด้านทัศนศิลป์ เคยเขียนไว้ในบทความเรื่องเส้นขนานแห่งอุดมการณ์ว่า

…..ผลงานในกลุ่มของศิลปะเพื่อชีวิตที่สร้างขึ้นช่วงปี 2516-2519 นี้มีทั้งที่สูงด้วยคุณภาพและดูอ่อนด้อยทั้งแนวคิดและฝีมือ แบบศิลปินมือสมัครเล่นมีทั้งที่นำออกจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะเป็นเรื่องเป็นราวและทั้งที่สร้างขึ้น อย่างฉับไว
เป็นเพียงแค่โปสเตอร์เพื่อการเคลื่อนไหวที่ฉับพลัน บ้างก็แสดงออกและเล่าเรื่องอย่างทื่อๆ ตรงๆ อย่างไม่มีชั้นเชิง ซึ่งเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้นำไปวิจารณ์จนเกิดวิวาทะ…….

……แม้ศิลปะใน 2 กลุ่มนี้จะมีแนวคิดและรูปแบบที่แตกต่างและขัดแย้งกันราวขาวกับดำแต่ดูเหมือนว่าการแบ่งแยกจะไม่ตายตัว หรือเคร่งครัดแบบเอาเป็นเอาตาย ศิลปินหลายคนที่อยู่ในฝ่ายเพื่อชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน ทำงานแนวนามธรรม หรือศิลปะ เพื่อศิลปะด้วยเช่นกัน อย่าง กำจร สุนพงษ์ศรี, สมโภชน์ อุปอินทร์, ถกล ปรียาคณิตพงศ์, ประเทือง เอมเจริญ และ จ่าง แซ่ตั้ง…

 

บทบาทของศิลปินผู้ผลิตงานศิลปะว่าควรมีหน้าที่อย่างไร ผมค่อนข้างจะสงสัย หากจะย้อนไปในอดีตศิลปินผู้ทำงานศิลปะจะมีอยู่ในแวดวงจำกัด หน้าที่ของศิลปินคือการรับใช้ราชสำนักหรือวัดวาอาราม ผลิตงานศิลปะแนวประเพณี จนมีโรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ.2546 โรงเรียนศิลปากรแผนกช่างปี 2567 กระทั่งตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นปีพ.ศ.2488 แต่บุคคลากรในช่วงที่แรกที่จบออกมา ส่วนใหญ่ก็ทำงานให้กับราชการเป็นด้านหลัก ผลงานจึงไม่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สภาพการเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่อีกด้านหนึ่งงานวรรณกรรมดูจะมีบทบาทโดดเด่นกว่างานศิลปะด้านอื่น

ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา บ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหาซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติ รัฐประหารแก่งแย่งอำนาจกันเอง งานวรรณกรรมเป็นหัวหอกสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมยุคนั้น ก่อนที่งานศิลปะด้านอื่นจะขยับเข้ามาร่วมเป็นแนวรบทางวัฒนธรรม แล้วก่อเกิดเป็นศิลปะเพื่อชีวิตขึ้น

แนวคิดผมดูจะโน้มเอียงไปในทางที่ว่า การทำงานศิลปะนั้นควรมีเป้าหมายเพื่อรับใช้ประชาชนทุกระดับ ไม่ใช่งานศิลปะที่มุ่งเฉพาะกลุ่ม หรือเน้นเรื่องการค้า ศิลปินควรมีบทบาทเป็นผู้ให้สติปัญญาที่ถูกต้องแก่สังคมโดยสภาวการณ์ทางสังคมจะเป็นตัวบ่มเพาะจิตสำนึกให้คนทำงานศิลปะ ในเมื่อสภาพสังคมที่ต้องทนทุกข์กับการกดขี่ข่มเหง การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ ศิลปินผู้ทำงานศิลปะควรมีหน้าที่สะท้อน ความเป็นจริงของสังคมให้ประชาชนได้รับรู้ ตลอดจนชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหาพร้อมนำเสนอทางออกที่เป็นไปได้ตามวิถีทางของศิลปะ ผมเชื่อว่าศิลปินเกิดมาพร้อมกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ นี่ต่างหากคือศิลปะที่ทรงคุณค่าในทัศนะผม แม้งานนั้นจะไม่ได้ประณีตวิจิตรก็ตาม

ผมมีโอกาสได้พูดคุยเรื่องนี้กับ คุณเนาว์รัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านสะท้อนความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า

……เวลาที่คุณทำงานศิลปะคุณต้องทำงานศิลปะเพื่อศิลปะให้ได้เสียก่อน หมายความว่า เมื่อมนุษย์รู้สึกต่อเรื่องราวที่เข้ามากระทบจิตใจ จนเกิดแรงบันดาลใจและสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นงานศิลปะให้คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ นั่นคือ ศิลปะเพื่อศิลปะ แต่สุดท้ายเป้าหมายสูงสุด ของศิลปิน ก็คือ ต้องทำให้มันนำไปสู่การทำงานศิลปะเพื่อชีวิตเพราะศิลปะเพื่อศิลปะเป็นเพียงแค่รูปแบบวิธีการ ที่หยิบขึ้นมารับใช้เป้าหมาย เนื้อหาของงานศิลปะจะต้องเป็นศิลปะเพื่อชีวิต ต้องรับใช้คนส่วนใหญ่ การประเมินคุณค่างานศิลปะจึงอยู่ที่จุดนี้…….

……ศิลปินต้องต้องสำนึกอยู่เสมอว่า การทำงานศิลปะเพื่อธุรกิจนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ อย่ายึดถือเป็นเป้าหมาย ศิลปินจะต้องมีบทบาทต่อสังคม ผมอยากให้ศิลปินใช้หลัก 4 อย่า 5 ต้อง ในการทำงานศิลปะ 4 อย่า คือ…..1 อย่าตกยุค 2 อย่าล้ำยุค 3 อย่าหลงยุค และ 4 อย่าประจบยุค นี่คือ 4 อย่า ส่วนเรื่อง 5 ต้องของศิลปินคือ 1 ต้องทันยุค 2 ต้องเป็นปากเสียงให้แก่ผู้เสียเปรียบ 3 ต้องตัดทัศนะปัจเจก เห็นเรื่องส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว 4 ต้องมีจิตสำนึกทางการเมือง
ซึ่งเรื่องนี้สำคัญ และ 5 ต้องทำงานอย่างราชสีห์ คือ ไม่ใยดีต่อมงกุฎที่สวมครอบ……..

วันนี้ ศิลปินบางคนก็เป็นเหยื่อของสังคม แทนที่ศิลปินจะเป็นผู้ดูแลความรู้สึกของสังคม คือ หากใครหลงใหลไปกับสังคม ศิลปินต้องมีหน้าที่ช่วยเขาเหล่านั้น แต่วันนี้ศิลปินเองกลับถูกกำหนดความรู้สึกนึกคิด กลายเป็นเหยื่อในสังคมบริโภค เหยื่อโฆษณา อยู่ภายใต้อิทธิพลต่างชาติเสียเอง…

สิ่งที่คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พูดเอาไว้เปรียบเสมือนสำนึกอันยิ่งใหญ่ ที่ศิลปินพึงมีต่อส่วนรวม แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่กลับสวนทาง ผมเห็นศิลปินที่ทำงานศิลปะเพื่อชีวิตนับวันยิ่งลดน้อยถอยลงไป เนื่องจาก สภาวะการณ์ปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าอดีต เป็นยุคแห่งการแข่งขัน เอาตัวรอดจากปลาใหญ่ที่คอยจ้องกินปลาน้อยตลอดเวลา ผู้คนยึดถือคติว่ามือใครยาวกว่าก็สาวได้สาวเอา ดิ้นรนให้อยู่รอดในเมืองใหญ่ความสนใจอยู่ในวงแคบ ไม่ต้องการเอาเรื่องคนอื่นมาเป็นธุระของตัว ขาดการวิเคราะห์วิพากษ์ให้เห็นถึงความฟอนแฟะในสังคมเพราะรายละเอียดปัญหาซ้อนทับโยงใย ศิลปินเอง ก็ติดกับดักกระแสบริโภคนิยมที่ยากจะต้านทาน จึงหันหลังเดินทางเข้าถ้ำเพื่อเสพสุขในโลกส่วนตัวอันคับแคบ ผลิตงานศิลปะเพื่อหม้อข้าวตัวเอง และตอบสนองอารมณ์ปัจเจกแห่งตน แถมยังสร้างเกราะป้องกันตัวเอง โดยพยายามสร้างภาพลักษณ์งานศิลปะที่ตัวเองรังสรรค์ว่าเป็นสุนทรียะ ระดับสูงผิดจากนี้ถือเป็น ความอ่อนด้อยไร้ชั้นเชิง

ที่อยู่ที่ยืนของคนทำงานศิลปะเพื่อชีวิตจึงน้อยลงทุกที พอจะมีอยู่บ้างก็ต้องเผชิญกับความเป็นจริงเรื่องปากท้อง เพราะงานแนวนี้เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง ในสังคมซึ่งอาจมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรง ขาดความละเมียดละไม เนื่องจากต้องการให้ผู้เสพงานเข้าถึงโดยง่าย ศิลปินจึงสื่อสารออกมาอย่างตรงไปตรงมา แต่คนในสังคมเองกลับยอมรับไม่ได้ที่จะถูกเปิดเปลือยด้านมืดของจิตใจ เลือกเสพเฉพาะด้านสวยงามอันวิจิตรบรรจงตัวศิลปินที่ทำงานแนวเพื่อชีวิตหลายต่อหลายคน ก็เริ่มผ่อนปรนตัวเอง เพราะยืนขวางกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากไม่ไหว หันไปทำงานตามกระแส จนที่อยู่ที่ยืนตีบแคบลงทุกขณะ

เมื่อศิลปินไม่ได้ยึดโยงกับสภาพการทางสังคม เนื้อหาเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาจึงเป็นงานลักษณะปัจเจกนิยม แต่งแต้มด้วยจินตนาการส่วนตัว ใช้รูปแบบเทคนิคในการถ่ายทอดที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของศิลปินนั้นๆ ยิ่งทำให้งานศิลปะในสายตาของประชาชนกลายเป็นของสูงและเข้าถึงยากยิ่งขึ้น ศิลปะสมัยใหม่จึงยิ่งห่างออกไปวิถีชีวิตของคนทั่วไป กลายเป็นเรื่องเฉพาะของคนในกลุ่มเล็กๆ สำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งๆ ที่ศิลปะควรจะเป็นเรื่องของสาธารณะ เป็นสิ่งที่ชี้นำสติปัญญา สะท้อนทั้งด้านบวกและลบให้สังคมได้เห็นในวงกว้าง ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่การจัดงานศิลปะแต่ละครั้งจึงหาคนสนใจน้อยเต็มที

ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร เพลงกดขี่แห่งท้องทุ่ง,2524 สีน้ำมัน ขนาด 95 x 100
ภาพคัตเอาท์ต่อต้านฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ฝีมือสมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยเมื่อ 20 มีนาคม 2519 ประเทือง เอมเจริญ
จันทร์เจ้าขอข้าวขอแกง, ๒๕๑๙ สีน้ำมัน ขนาด 137 x 154

 

ที่มาwww.thainog.org

Be the first to comment on "หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของศิลปิน"

Leave a comment

Your email address will not be published.