หอมอดีต “โจวจวง” เวนิสหลังม่านไม้ไผ่

ค่ำคืนนั้น บนขบวนรถไฟ “แม็กเลฟ” หรือยานยนต์ลอยตัวด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetically Levitation-Maglev) ที่พุ่งทะยานราวลูกกระสุนออกจากมหานครเซี่ยงไฮ้ สู่สนามบินนานาชาติผู่ตง ระยะทาง 30 กิโลเมตร

โดยใช้เวลาเพียง 7 นาที 24 วินาที เพราะล้อรถไม่มีแรงเสียดทานใด เนื่องจากขบวนรถลอยตัวเหนือรางด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า จึงทำความเร็วได้สูงสุดถึง 431 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!

ตื่นตาตื่นใจกับเทคโนโลยีก้าวล้ำในเมืองที่ทันสมัยที่สุดของจีนได้สัก 1-2 นาทีแรก แล้วจากนั้น ภาพที่ผุดพรายขึ้นในความทรงจำ กลับเป็นทิวต้นหลิวเรียงรายริมลำคลอง และเสียงแจวกระทบน้ำ ผสานเสียงใสที่ขับขานเพลงรักชาวเรือก้องกังวาน ของเหล่าพี่ชายและพี่สาวนักแจวแห่ง “โจวจวง” ชุมชนโบราณในสายน้ำแห่งมณฑลเจียงซู ที่ซึ่ง “อดีต” ส่งกลิ่นหอมรัญจวนใจไกลไปถึงมหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองที่การเคลื่อนตัวของเข็มวินาทีบนหน้าปัดนาฬิกา สัมพันธ์กับผลกำไรทางธุรกิจของบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่างลึกซึ้ง
เล่าขานกันว่า “โจงจวง” เกือบเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน ถ้าวันหนึ่ง ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำคนสำคัญของจีน มิได้เดินทางไปเยือนยุโรป แล้วไปเห็นภาพวาดหมู่บ้านริมน้ำในจีน จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวแห่งหนึ่ง ท่านถึงกับตะลึงในความงาม จนต้องออกปากถามว่าที่นี่คือที่ไหนในดินแดนจีน? นำมาซึ่งการสืบค้นจนได้ความว่า สถานที่อันเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรังสรรค์ภาพอันสุนทรีย์นี้คือ “โจวจวง” ชุมชนการค้าที่มีบึงน้ำและทะเลสาบล้อมรอบทั้งสี่ทิศ บนแผ่นดิน “เจียงหนาน” หรือที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ด้านใต้แม่น้ำแยงซี ช่วงที่ใกล้จะไหลออกสู่ทะเลจีนตะวันออก ซึ่งห่างจากนครประวัติศาสตร์ “ซูโจว” ไปทางใต้ราว 30 กิโลเมตร หรือนั่งรถจากเซี่ยงไฮ้ก็ราวชั่วโมงเศษ

ประวัติศาสตร์โจวจวงย้อนกลับไปไกลกว่าพันปี เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ “เจินเฟิงหลี่” ต่อมาเมื่อปี 1629 (ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ ก่อนสุโขทัยราว 200 ปี) มีชายหนุ่มผู้ใจบุญ ชื่อ “โจวตี๋กง” บริจาคที่ดินจำนวนมากเพื่อสร้างวัด จนชาวบ้านพากันอนุโมทนาสาธุ แล้วพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “โจวจวง” เพื่อเป็นเกียรติแก่คนใจบุญตระกูลโจว

อย่างไรก็ตาม “โจวจวง” มาเฟื่องฟูจริงๆ ราว 300 ปี สมัยราชวงศ์ชิง เมื่อมีเจ้าสัวตระกูล “เสิน” นาม “เสินว่านซาน” อพยพมาทำการค้าที่โจวจวงจนร่ำรวย มีเรือสินค้าหลายลำ กระทั่งได้สมญานามว่า “มหาเศรษฐีแห่งเจียงหนาน” โดยไม่รู้ว่าความร่ำรวยจะนำภัยมาสู่ตัว เมื่อเขาถูกใส่ร้ายว่าร่ำรวยกว่าฮ่องเต้ จะต้องถูกยึดทรัพย์ เจ้าสัวเสินจึงจัดแจงแบ่งทรัพย์สินเงินทองให้ลูกหลาน โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องเอาไปลงทุนทำการค้า

นับจากนั้น โจวจวงก็กลายเป็นตลาดใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์พืช เครื่องปั้นดินเผา ผ้าไหม และงานหัตถศิลป์เลื่องชื่อ ก่อให้เกิดการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา นั่นคือบ้านทรงจีนสีขาว หลังคาดำ เรียงรายริมลำคลองที่มีสะพานโค้งกับทิวต้นหลิวพลิ้วไหวไปตามแนวถนนที่ปูลาดด้วยหิน แม้ในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม (พ.ศ.2509-2519) ซึ่งถือเป็นยุคมืดของจีน จะมีวัดวาอารามและบ้านคหบดีบางส่วนถูกทำลายไปเพราะความโง่เขลา แต่การสำรวจภายหลังยังพบว่ามีบ้านเอกลักษณ์ “เจ้าสัวแห่งเจียงหนาน” หลงเหลืออยู่กว่า 100 หลัง มีสะพานโค้งกว่า 60 แห่ง และประตูเมืองก่อด้วยอิฐกว่า 60 ประตู

พุทธศักราช 2547 ทางการจีนประกาศยกย่อง “โจวจวง” เป็นชุมชนอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และเตรียมการเสนอชื่อ “โจวจวง” ให้ยูเนสโกยกย่องเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ

ยิ่งรัฐบาลจีนเร่งพัฒนาเซี่ยงไฮ้-นานกิง-หังโจว เป็น “สามเหลี่ยมทองคำทางเศรษฐกิจ” ก็ยิ่งมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันมาเยือนโจวจวง ในฐานะ “เวนิสหลังม่านไม้ไผ่” ของชาวต่างชาติ เป็น “อดีต” อันหอมหวานของคนจีนที่นับวันเฝ้าฝันถึงแต่อนาคตที่มั่งคั่ง และยังเป็น “สวรรค์” ของนักช็อป นักชิม ที่ขึ้นชื่อด้วยเมนูกุ้ง ปู ปลาน้ำจืดสดๆ ไปจนกระทั่ง “ว่านซานถี” หรือขาหมูเจ้าสัวเสินว่านซาน ก็ยังกลายเป็นสินค้าโอท็อปเลื่องชื่อของโจวจวงวันนี้

ยิ่งทางการเซี่ยงไฮ้ประกาศจะทุบตึกที่สูงน้อยกว่า 30 ชั้น ทิ้งทั้งหมด เพื่อเมืองท่าแห่งนี้จะมีศักยภาพแข่งขันกับมหานครชั้นนำของโลกได้ ก็ดูเหมือนโจวจวงยิ่งต้องรับบท “ศาลาพักใจ” หนักขึ้น ให้บรรดาผู้คนที่ต้องวิ่งแข่งทางธุรกิจอย่างเอาเป็นเอาตาย ได้มีห้วงยามสั้นๆ นั่งพักเหนื่อย เรียกแรงคืนมาสำหรับการออกวิ่งต่อไปในวันพรุ่ง เพราะถึงแม้คนจะจมปลักกับอดีตโดยไร้อนาคตไม่ได้ แต่คนก็ยากจะก้าวสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง หากไร้รากแห่งอดีต

ที่สำคัญ “อดีต” นั้นทั้งหอมหวาน ทั้งร่มรื่นในจิตใจคนเสมอ!

ชมรมท่องอุษาคเนย์ ขอเชิญร่วมรายการ อลังการนครวัด นครธม วันที่ 16-18 ธ.ค. ท่องแดนอิระวดีแดน (ย่างกุ้ง-หงสาวดี-พุกาม-มัณฑะเลย์-พระธาตุอินทร์แขวน-ทะเลสาบอินเล) วันที่ 28 ธ.ค.-2 ม.ค. สำรองที่นั่งโทร.0-2637-7321-2, 08-1823-7373

โดย ธีรภาพ โลหิตกุล teeraparb85@hotmail.com

ที่มา : นสพ. คม ชัด ลึก 12 ธ.ค. 2549

 

Be the first to comment on "หอมอดีต “โจวจวง” เวนิสหลังม่านไม้ไผ่"

Leave a comment

Your email address will not be published.