ผู้เขียน : พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกษาจารย์ ชื่อเดิมคือ เงื่อม อินทปัญโญ)
งาน ชิ้นเอกที่ท่านพุทธทาสศึกษารวบรวมจากพระไตรปิฎก และเชื่อมร้อยพุทธวจนะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในที่ต่างๆ มาเชื่อมโยงนัยเข้าไว้เป็นหมวดหมู่ แล้วอธิบายให้แจ่มกระจ่างเป็นแก่นปรัชญาของพุทธศาสนา เป็นวิธีคิด ที่เป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา เป็นหัวใจของพุทธศาสนาและเป็นกฎเหนือกฎทั้งปวง คือ หลักธรรมว่าด้วย อิทัปปัจจยตา
ท่าน พุทธทาสทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตาเป็นอย่างสูง พยายามอธิบายให้เห็นว่า อิทัปปัจจยตา เป็นพุทธธรรมอันติมะหรือสัจธรรมความจริงแท้ ที่สุดของพุทธศาสนา และเชื่อมโยงคำสอนทั้งปวง ของพระพุทธเจ้าว่า ล้วนเป็นไปตามหลักธรรม หรือกฎของอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น เหตุนี้ หนังสือเรื่องอิทัปปัจจยตาของพุทธทาสภิกขุ จึงอุดมด้วยการอธิบายหลักธรรม เรื่องอิทัปปัจจยตาอย่างเป็นกระบวนการ เป็นวิธีคิดที่ชี้ให้เห็นชัดว่า หลักอิทัปปัจจยตาซึมซ่านอยู่ในเหตุปัจจัยแห่งการก่อเกิด การดำรงอยู่ การมีปฏิสัมพันธ์ และเสื่อมสลายของสรรพสิ่งในจักรวาล รวมถึงเป็นวิธีคิด ทางทฤษฎีวิทยาศาสตร์ทุกสาขาด้วย
หนังสือ “อิทัปปัจจยตา” มาจากการรวบรวมคำบรรยาย หรือพระธรรมเทศนาประจำวันเสาร์ ภาคมาฆบูชา ในสวนโมกขพลาราม ประจำปี 2515 มารวมพิมพ์เป็นเล่ม เนื้อหาอุดมด้วยความรู้ในหลักธรรมพุทธศาสนามากมาย และการนำหลักอิทัปปัจจยตา มาอธิบายโลก สรรพสิ่งที่เป็นเหตุผล สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญา และปรัชญาสำคัญของพุทธศาสนาที่ถูกลืมเลือนๆ ไป ซึ่งพุทธทาสภิกขุได้ฟื้นฟูมาเชิดชูไว้ เป็นสัจธรรมสำคัญยิ่ง
เนื้อหา สาระของหนังสืออิทัปปัจจยตา กล่าวถึง “อิทัปปัจจยตา” ในฐานะพุทธวจนะที่ถูกมองข้าม ในฐานะเป็นวิชาหรือศาสตร์ทั้งปวง อิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นตัวเรา เป็นกฎของทุกสิ่งทั้งที่เป็นนามธรรมรูปธรรม เชื่อมโยงหลักอิทัปปัจจยตาเข้ากับพระเจ้าในศาสนาอื่น โดยผ่านหลักธรรมที่ตรงกัน
พุทธทาสภิกขุยังเสนอมุมมองอิทัปปัจจยตา ในหลักคิดวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่เป็นวิวัฒนาการของชีวิต เป็นกฎเหนือกฎทั้งหลาย เป็นธรรมหรือสิ่งทั้งปวงรอบตัวมนุษย์ ในด้านศาสนาพุทธ อิทัปปัจจยตามีฐานะเป็นพระรัตนตรัยและไตรสิกขา ในฐานะเป็นสิ่งต่อรองระหว่างศาสนา เป็นสิ่งที่ฆราวาสต้องรู้และปฏิบัติ เพื่อจะไม่ต้องตกนรกทั้งเป็น และเป็นฆราวาสชั้นดี ชาวพุทธพึงให้ความสำคัญของอิทัปปัจจยตา ในฐานะเป็นกฎแห่งกรรม สามารถใช้แก้ทุกปัญหาได้ทันการณ์ เข้าใจกรรมประเภทศีลธรรม และกรรมประเภทสัจธรรม
Be the first to comment on "“อิทัปปัจจยตา” หนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน"