เบื้องหลังการถ่ายทำลพบุรี

เบื้องหลังสารคดีที่ลพบุรีถ่ายทำไปเมื่อวันที่ 3 – 5 ก.ค.ที่ผ่านมา มีแนวคิดสำคัญเพื่อนำเสนอวิธีคิด วิธีทำงาน ประสบการณ์ และการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อทำให้ท้องถิ่นน่าอยู่   โดยจะนำเสนอผ่านประเด็นสำคัญ 3 ประการ…

สันสกฤต  มุนีโมไนย   รายงาน

เบื้องหลังสารคดีที่ลพบุรีถ่ายทำไปเมื่อวันที่ 3 5 ก.ค.ที่ผ่านมา มีแนวคิดสำคัญเพื่อนำเสนอวิธีคิด วิธีทำงาน ประสบการณ์ และการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อทำให้ท้องถิ่นน่าอยู่   โดยจะนำเสนอผ่านประเด็นสำคัญ 3 ประการดังนี้ คือ 

ลพบุรี…ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ผ่านประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น (1) มีพลเมืองคุณภาพ (2) ประชาสังคมมีพลัง (3) ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ…ลพบุรีให้น่าอยู่

ซึ่งคณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะฯ ที่จังหวัดลพบุรีนั้น ดำเนินกิจกรรมโครงการฯ โดยมีความมุ่งหวังให้ท้องถิ่นลพบุรี เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ร่วมด้วยช่วยกันสร้างสุขภาวะส่วนรวม ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานและกิจกรรมสาธารณะอย่างสร้างสรรค์  ตามเจตนารมณ์ที่ว่า คนลพบุรีมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณธรรม ความรักความสามัคคี ผูกพันและภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิด มีส่วนร่วมอนุรักษ์โบราณสถาน สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญา

และเอกลักษณ์ท้องถิ่นชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง

           นำเสนอผ่านประเด็นย่อยดังนี้

 

          เรื่องการอนุรักษ์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตำนานท้องถิ่น และทรัพยากรธรรมชาติที่ เขาสมอคอน โดยมีมัคคุเทศก์น้อยและศิลปินพื้นบ้านคอยบอกเล่า  

          การอนุรักษ์ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทเบิ้งที่ ต.โคกสลุง   

อ.พัฒนานิคม

          การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปกป้องการระเบิดเขาจากการขอทำสัมปทานโรงปูนของบริษัทเอกชนได้สำเร็จในเบื้องต้นที่ เขาเอราวัณ ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม

และการทำแปลงสาธิตการผลิตอาหารปลอดสารพิษ(เกษตรไร้สารพิษที่โคกลำพาน)ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์

          การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทพวน กิจกรรมสร้างสุขภาพหลากหลายรูปแบบของผู้สูงอายุทั้งไทเก๊ก  แอโรบิคไม้พลอง และกิจกรรมเยาวชนรักถิ่น(ดนตรีไทยและศิลปะการป้องกันตัว)ที่  ต.โคกกะเทียม

 

           เริ่มวันที่ 3 ก.ค. ช่วงเช้า เราเดินทางไปถ่ายภาพโบราณสถานที่วัดพระศรีมหาธาตุ ต่อด้วยสวนราชานุสรณ์ ที่เกือบเป็นห้างสรรพสินค้า แต่ชาวลพบุรีร่วมกันเดินขบวนคัดค้าน โครงการดังกล่าวจึงต้องล้มเลิกไป ปัจจุบันสวนราชานุสรณ์เป็นสถานที่จัดพิธีกรรมและสถานที่ออกกำลังกายของชาวลพบุรี   และพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ ที่เป็นพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ในพิพิธภัณฑ์นี้มีโบราณวัตถุจัดแสดงไว้มากมาย  ซึ่งชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมร่วมกับคณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะร่วมกันพลิกฟื้นโบราณสถานให้กลับมามีชีวิตชีวาเป็นที่เคารพสักการะของคนลพบุรีและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดลพบุรี  จากนั้นเราเดินทางไปต่อที่พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ที่วัดเชิงท่า ซึ่งเป็นสถานที่เก็บและจัดแสดงโบราณวัตถุในยุคสมัยต่างๆของลพบุรี

       ต่อมาในช่วงบ่าย เราเดินทางไปที่โรงสีชุมชนบางคู้ ซึ่งเป็นโรงสีที่ให้ชาวบ้านสีข้าวโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ทางโรงสีจะขอเก็บปลายข้าวไว้ นอกจากโรงสีแล้ว สมาชิกในกลุ่ม ต.บางคู้ยังร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มสามารถกู้เงินสหกรณ์ไปใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลและใช้ในยามฉุกเฉิน    จากนั้นเราไปต่อที่ศาลาประชาคม โรงเรียนบ้านโคกกะเทียมเรื่องการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุซึ่งใช้ท่ารำแบบไทยภาคกลางในการออกกำลังกาย  การขับร้องแบบไทยพวน  ดนตรีไทยและศิลปะการป้องกันตัว ถ่ายทอดให้เด็กและเยาวชน เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีและดึงเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด

 

          วันที่ 4 ก.ค.เริ่มด้วยการถ่ายภาพถั่วงอกไร้ราก โดยเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ลพบุรี ถั่วงอกไร้รากคือการปลูกถั่วงอกแบบปลอดสารพิษ  ไม่มีสารฟอกขาว  โดยถั่วงอกนี้จะนำส่งห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เมื่อกล่าวถึงการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ คุณนิมิตร์  เทียมมงคล เจ้าของสวนถั่วงอกและแกนนำเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพราะ เราทำเกษตรคนเดียวไม่ได้ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค การรวมตัวทำให้เกิดการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อในเรื่องผลผลิตแก่สมาชิกครอบครัวอื่น     ในช่วงบ่ายเราเดินทางไปที่เขาเอราวัณ มีเรื่องราวคือบริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน  ต.ช่องสาริกากว่า 300 ไร่และปรับถนนทางเข้ารอบภูเขาเอราวัณ เพื่อก่อสร้างโรงงานปูนซิเมนต์ และสัมปทานภูเขาเพื่อระเบิดหินปูนมาผลิตเป็นปูนซิเมนต์หลังจากที่เราถ่ายภาพเขาเอราวัณ จากนั้นจึงเข้าไปดูภายในถ้ำ มีทั้งหินงอกหินย้อยสะท้อนแสงจากไฟฉายระยิบระยับสวยงามมาก เขาเอราวัณมีถ้ำประมาณ 28 ถ้ำ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายทั้งพืชผัก สมุนไพร และสัตว์ป่านานาชนิด  ปัจจุบันชาวบ้าน องค์กรภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมกันคัดค้านการสัมปทานภูเขาจนสำเร็จ ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ แต่โรงงานปูนซิเมนต์ยังคงก่อสร้างต่อไป ชาวบ้าน ต.ช่องสาริกายังหวั่นใจอยู่ว่า ถ้าโรงงานเกิดขึ้น ผงฝุ่นจากหินปูนจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน  เสร็จจากเขาเอราวัณ เราก็ต่อไปที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม  ถ่ายภาพการละเล่นพื้นบ้านของชาวไทยเบิ้ง

วันที่ 5 ก.ค. เริ่มต้นด้วยการเดินทางไปเขาสมอคอน ซึ่งมีถ้ำอยู่หลายสิบถ้ำ เราเดินถ่ายภาพและสำรวจถ้ำโดยมีมัคคุเทศก์น้อยคอยบรรยายถึงตำนานและประวัติของถ้ำ มัคคุเทศก์น้อยคือเด็กๆที่มาซึมซับและเรียนรู้ประวัติและตำนานของเขาสมอคอน จนสามารถนำทางและเล่าถึงเรื่องราวต่างๆแก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี  ต่อมาเราเดินทางไปถ่ายภาพแม่น้ำลพบุรี จากนั้นจึงสัมภาษณ์ อ.ผ่องศรี  ธาราภูมิ ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะฯ จ.ลพบุรี สิ่งที่โครงการฯทำอยู่ในปีที่สามซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการฯ คือเรื่องการจัดการน้ำและสภาพปัญหา ในแม่น้ำลพบุรี

         โดยจะเชื่อมโยงการทำงานของภาคประชาชนองค์กรภาครัฐกับท้องถิ่นเข้ามาร่วมแก้ปัญหา แม้ว่าโครงการฯจะจบลงแต่การทำงานภาคประชาชนในลพบุรีจะยังดำเนินต่อไป คิดว่าคนรุ่นใหม่ เยาวชนจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนเรื่องประเด็นที่จะทำต้องเป็นเรื่องที่มาจากประชาชนจริงๆเพื่อที่จะร่วมกันทำให้ท้องถิ่นให้เมืองลพบุรีน่าอยู่

        หลังจากสัมภาษณ์จบแล้ว เราได้เก็บตกภาพเมืองลพบุรี ที่ศาลพระกาฬและปรางค์สามยอด ซึ่งเป็นที่อยู่ของฝูงลิงหลายร้อยตัวและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองลพบุรี   สำหรับตอนนี้ก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ พบกับตอนต่อไปที่นี่ เร็วๆนี้ สวัสดีครับ….

Be the first to comment on "เบื้องหลังการถ่ายทำลพบุรี"

Leave a comment

Your email address will not be published.