เป้าหมายรายทาง

“เป้าหมายรายทาง”
บล็อกTPBS/LDI ประจำวันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๕

     เผลอแผล็บเดียว พวกเรากรรมการนโยบายชุดแรกที่เข้ามาร่วมทำงานในครอบครัวไทยพีบีเอสตั้งแต่ต้นก็กำลังจนสิ้นสุดวาระลงแล้วภายในอีกสองเดือนข้างหน้า

รวมทั้งตัวผมด้วย
ทันทีที่ต้องรับไม้ ทำหน้าที่ประธานบอร์ดต่อจากท่านอาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓ ผมตั้งใจที่จะเขียนบล็อกเพื่อใช้สื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงของกรรมการนโยบาย ให้เพื่อนพนักงานทุกคนทุกระดับได้รับรู้รับทราบ โดยกำหนดวินัยกับตัวเองว่าต้องออกให้ตรงเวลาทุกเช้าวันจันทร์ ไม่มีวันเว้น ตลอดไปจนสิ้นสุดหน้าที่
เผลอแผล็บเดียวอีกเช่นกัน เจ้าหน้าที่เพิ่งมาบอกผมว่า บัดนี้ผมได้เขียนบล็อกไปแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๑๐ ฉบับ และคงเหลืออีกเพียง ๖-๗ ครั้งเท่านั้นที่ต้องบอกลากันไป ตามวาระน่ะครับ
เพื่อเป็นการสรุปบทเรียนรู้การทำงานของตัวเองในรอบ ๔ ปีที่นี่ ก่อนอื่นผมพยายามสำรวจผลงานทางนโยบายที่สำคัญของหมู่คณะที่บรรลุผลไปแล้ว อยากดูว่ามีอะไรที่จะเป็นถือหลักไมล์ได้บ้าง เพราะจากหลักไมล์เหล่านี้จะนำไปสู่การสังเคราะห์บทเรียนรู้ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังจะช่วยให้รู้ว่าขบวนแถวของเราได้ผ่านเป้าหมายรายทางอะไรไปแล้วบ้างและมีทุนสะสมอะไรอยู่ ใครที่เขามาสานต่อก็จะได้นำไปใช้ประกอบการทำงานกันได้ตามอัธยาศัย
ในที่นี้ผมจะขอหยิบยกเป้าหมายทางนโยบายสำคัญในรอบสี่ปีที่ผ่านมาเพียง ๒๐ ชิ้นเพื่อแสดงไว้ ถ้าสังเกตุให้ดีจะเห็นว่า จะมีทั้งในเชิงทิศทาง ในเชิงการบริหารจัดการและในเชิงเครดิตสังคม ปะปนกันไป โดยจะแบ่งเป็นช่วงละ ๒ ปี ตามวาระของประธาน ดังนี้

ระยะที่ ๑ : ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓
๑) กำหนดพันธุกรรมสื่อสาธารณะ – เรื่องนี้เราถกเถียงกันอยู่เกือบสองปี ในที่สุดเราเห็นตรงกันว่าสิ่งที่เราจะดีเด่นและแตกต่างจากสื่อทั่วไปในบ้านเมืองนี้ได้ ก็คือ จริยธรรม คุณภาพ และการมีส่วนร่วม
๒) กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายองค์การ – เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานของฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติงาน เราได้กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและแผนแม่บทระยะกลาง(สามปี)อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่สองเดือนแรกที่ทำงาน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแผนยุทธศาสตร์และแผนบริหารกิจการในระยะต่อมา
๓) กำหนดโครงสร้างการบริหารองค์กรและกรอบอัตรากำลัง – เพื่อเป็นกรอบในการบริหารคนและบริหารงาน
๔) ตัดสินใจย้ายที่ทำการ จัดหาที่ดินและก่อสร้างสำนักงานใหญ่ – เพื่อสร้างความมั่นคงและภาพลักษณ์ของสื่อสาธารณะ
๕) สรรหาและแต่งตั้งผู้อำนวยการคนแรก ตลอดจนเร่งรัดการประกอบทีมผู้บริหารและกรรมการบริหารทั้งชุด
๖) ออกระเบียบกลางและระเบียบปฏิบัติงานที่สำคัญเพื่อเป็นกรอบกติกาในการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด รวม ๗ ฉบับ
๗) ประกาศแนวนโยบายองค์การในด้านสื่อ ด้านบริหารและด้านเครือข่าย เพื่อเป็นกรอบทิศทางการทำงาน รวม ๒๐ ฉบับ
๘) จัดตั้งองค์กรคู่ขนานเพื่อหนุนเสริมการทำงานของ ส.ส.ท. จำนวน ๔ ประเภท ได้แก่ มูลนิธิ สหกรณ์ ชมรม และสมาพันธ์พนักงาน
๙) ทำแบรนดิ้งและรีแบรนดิ้ง -จากทีวีไทย ..ทีวีสาธารณะ สู่ ไทยพีบีเอส ..ทีวีที่คุณวางใจ
๑๐) ร่วมและนำพาสังคมไทยฝ่าวิกฤติการเมือง รวม ๓ ครั้ง ในปี ๒๕๕๑ ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓

ระยะที่ ๒ : ปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕
๑) ตัดสินใจยกระดับศูนย์ข่าวภูมิภาคและให้จัดตั้งเป็นสถานีไทยพีบีเอสภูมิภาคพร้อมกันทั้ง ๓ แห่ง โดยจัดเตรียมงบประมาณอย่างเพียงพอไว้รองรับ
๒) กำหนดให้จัดตั้งกองทุนหลักประกัน (Endowment Fund) ให้สำเร็จภายในเวลา ๓ ปี ในกรอบวงเงิน๕๐๐ ล้านบาท
๓) กำหนดให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริษัทแรก ในวงเงินจดทะเบียน ๑๐ ล้านบาท เพื่อเป็นกลไกในการทำธุรกิจเพื่อสังคมและเป็นการต่อยอดสื่อสาธารณะ
๔) สร้างและใช้เครื่องมือกำกับเป้าหมายเชิงนโยบาย ในด้านสื่อ ด้านบริหาร ด้านทรัพยากรมนุษย์และด้านเครือข่าย โดยติดตามผลเป็นรายไตรมาสอย่างต่อเนื่อง รวม ๘ ไตรมาส
๕) ประกาศใช้แผนบริหารกิจการองค์กร (แผนระยะ ๓ ปี) ที่สมบูรณ์ทั้งชุด จำนวนรวม ๖ แผน
๖) ตัดสินใจดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการคนที่สองให้แล้วเสร็จ เพื่อสานต่อภารกิจสำคัญในยุคต่อไป
๗) ได้รับรางวัลเกียรติยศจากสังคมแบบล้นหลามและก้าวกระโดด คือ ปี ๒๕๕๑ –๑๑ รางวัล ปี ๒๕๕๒-๒๐ รางวัล ปี ๒๕๕๓-๓๓ รางวัล และปี ๒๕๕๔-๕๘ รางวัล ( หมายเหตุ -เช็คความถูกต้องตามปีของผลงานแล้ว)
๘) ร่วมและนำพาสังคมไทยฝ่าวิกฤติพิบัติภัยธรรมชาติ น้ำท่วมใหญ่ ปี ๒๕๕๔ จนได้รับความชื่นชมและจดจำอย่างกว้างขวาง
๙) สังคมเริ่มจดจำสถานะทางบวกของไทยพีบีเอสได้ชัดเจน อาทิ –ทีวีสีขาว ทีวีครอบครัว ทีวีสาธารณะ ทีวีคุณภาพ ทีวีที่คุณวางใจ ฯลฯ
๑๐) วงการสื่อมวลชนนานาชาติ (AMS) ให้การยอมรับไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะดาวดวงใหม่ของวงการ


พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "เป้าหมายรายทาง"

Leave a comment

Your email address will not be published.