ลพบุรี เมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและศิลปะจากหลายดินแดน ปัจจุบัน ลพบุรี จึงเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย แต่เมื่อ 50 ปีก่อน แหล่งประวัติศาสตร์แห่งนี้ถูกทิ้งร้าง คุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมถูกลืมเลือน จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มผู้คนที่ห่วงใยในสมบัติของแผ่นดิน ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเริ่มต้นในการร้อยรวมผู้คนหลากหลาย ที่มีใจเพื่อส่วนรวม
โอภาศ ตรีปัญญา อดีตประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี
“ในครั้งเริ่มแรก การแก้ปัญหาก็เริ่มจากสร้างหรือปลูกจิตสำนึก ร่วมกันทำความสะอาด ร่วมกันบูรณะต่างๆ มีการจัดการอบรมเพื่อให้เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ ตลอดจนมีการรณรงค์ มีการทำป้ายคำขวัญอะไรต่างๆเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง”
ภูธร ภูมะธน ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี
“ชมรมนี้นะครับ คิดว่าประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ทำอย่างไรให้มรดกวัฒนธรรมและมรดกธรรมชาติของจังหวัดลพบุรี มีประโยชน์เพื่อการศึกษา เพื่อการเรียนรู้ แล้วก็ในเวลาเดียวกันนั้น สิ่งที่เป็นมรดกทั้ง 2 อย่างนี้ ให้อยู่รอดปลอดภัย อยู่อย่างงดงาม อยู่อย่างยั่งยืนได้”
บรรยาย พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นรูปธรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ ในการผนึกกำลังของคนในท้องถิ่น เพื่อส่งต่อคุณค่าแห่งประวัติศาสตร์เมืองทองของสมเด็จพระนารายณ์
กอแก้ว เพชรบุตร ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี
“สิ่งที่เป็นผลงานที่คิดว่าเป็นชิ้นโบว์แดงของเราก็คือ การจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นผลงานที่ใช้เงินของประชาชน โดยกรรมการชมรมเป็นคนออกแบบการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งอยู่ในพระที่นั่งจันทรพิศาล”
มานิตา เขื่อนขันธ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
“เป็นข้อดีที่ว่า ทำให้ประชาชนในท้องถิ่น เกิดความรักในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณสถาน พระราชวัง มรดกทางศิลปวัฒนธรรม ทำให้เกิดความรักและเกิดความหวงแหน เกิดความเข้าใจว่า เขาควรจะรักษาไว้ให้มั่นคงแข็งแรงยั่งยืนนาน การรักษาคือทั้งอนุรักษ์ ทั้งป้องกัน ทั้งส่งเสริม สนับสนุน ในเรื่องทุนทรัพย์ ความรู้ ร่วมมือกัน นี่ก็คือ เขามามีส่วนร่วมกับภาครัฐบาล ช่วยกันในเรื่องนี้ คือผลประโยชน์ที่พิพิธภัณฑ์ได้รับนะคะ”
บรรยาย จากการก่อรูปรวมตัวของคนกลุ่มเล็กๆที่ลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาในท้องถิ่นลพบุรี กลายเป็นกลไกของกระบวนการประชาสังคม ที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในท้องถิ่น ทั้งในเขตเมืองและชนบท
ผ่องศรี ธาราภูมิ ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลพบุรี
“จากการได้ทบทวนบทเรียนอันยาวนานของชมรมอนุรักษ์ที่ทำกันมา แล้วช่วงที่ทำงานร่วมกับชุมชน เราก็พบว่า ในความหลากหลาย สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา แล้วก็เสริมสร้างการมีส่วนร่วม น่าจะให้คนในท้องถิ่นเป็นคนตัวหลักในการเดินเรื่อง แล้วก็ให้หาประเด็นของพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น จึงได้เริ่มต้นจากการค้นหาพื้นที่ที่มีประเด็นน่าสนใจ ว่า แต่ละแห่งมีเรื่องราวอะไรบ้าง จึงพบว่าบางแห่งก็มีเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บางแห่งก็เป็นเรื่องของเศรษฐกิจชุมชน บางแห่งก็เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรม”
บรรยาย ที่ ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง ในวันนี้ แม้เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานคนในการทำนามากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป เพราะโรงสีชุมชนของคนบางคู้ ได้นำภาพความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือกันกลับคืนมาสู่ชุมชนอีกครั้ง
ณรงค์ กล่อมเกลา ประธานโรงสีชุมชน ต.บางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี
“แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของคนบ้านเรา มีอาชีพการทำนา แต่ทีนี้กระบวนการทำนาของพี่น้องเกษตรกรเรายังไม่ครบวงจร เนื่องจากทำนาแล้ว ยังต้องซื้อข้าวจากร้านค้าทั่วไป ก็เอาข้าวของตัวเองขายหมด แล้วก็ไม่มีข้าวสารที่จะไว้สีกิน ก็คงเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงของเราแหละครับ ก็คือ ทำแบบพอเพียงคือ ขยักไว้ส่วนหนึ่ง เอาไว้สี แล้วอีกส่วนหนึ่งก็เอาไว้จำหน่ายตามท้องตลาด แล้วก็ยังมีเรื่องรำ ปลาย ไว้เลี้ยงสัตว์ทั้งหลายแหล่ มีประโยชน์ทุกเรื่อง ที่นี่ มันเป็นงานครบวงจรของอาชีพเกษตรกรนะครับ”
น้องอัน,น้องยุ้ย นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 โรงเรียนวัดเขาสมอคอน
“นี่หนุมานค่ะ มีความศักดิ์สิทธิ์ก็คือ ถ้าเกิดหนุมานมาเมืองลพบุรีทีไร ก็จะมีไฟไหม้ ความสำคัญก็คือเมื่อพระลักษณ์ถูกหอกโมกสัก พระรามสั่งให้หนุมานมาเอาตัวยาสังกรณีตีชวา ที่เขาสรรพยาบรรพต มารักษาพระลักษณ์ หนุมานจับตัวยาสังกรณีตีชวามาไม่ได้ ก็ยกเขาสรรพยามาทั้งลูก ก็เลยเกิดเป็นเทือกเขาสมอคอน”
บรรยาย ที่ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง เป็นชุมชนที่มีตำนานเกี่ยวกับรามเกียรติ์ และในพงศาวดารยังระบุว่า สถานที่แห่งนี้ เป็นสำนักตักศิลา ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เคยเรียนวิชากับ
พระสุกกทันตฤาษี อันเป็นเรื่องราวของท้องถิ่นที่มีคุณค่า ซึ่งหากไม่มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้อาจเลือนหาย ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตำบลเขาสมอคอน จึงรวมตัวเพื่อถ่ายทอดตำนานและศิลปะพื้นบ้านให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป
เช่นเดียวกับคนโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม ที่เรียกตัวเองว่า ชาวไทเบิ้ง กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมคล้ายชาวอีสานตอนล่าง มีเอกลักษณ์ถิ่นเรื่องภาษาและการแต่งกาย แต่ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ชาวไทเบิ้งจึงพยายามรวมกลุ่มเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่
ประทีป อ่อนสลุง ประธานสภาวัฒนธรรม ต.โคกสลุง อ.พนัสนิคม จ.ลพบุรี
“เมื่อก่อน เครื่องมือที่เขาใช้รวมคนที่ให้เกิดความรักความสามัคคีก็คือ วัฒนธรรม เราก็คิดว่าวัฒนธรรมตรงนี้มันน่าจะเป็นเครื่องมือในการรวมคน ที่เราต้องการจะพัฒนาแกนนำของพื้นที่ ก็เลยเป็นตัวที่ทำให้คณะทำงานของเราตัดสินใจว่า จะต้องเอาเรื่องของวัฒนธรรม มาเป็นเครื่องมือในการรวมคน”
สุรชัย เสือสูงเนิน อาจารย์โรงเรียนวัดโคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
“วิธีการที่เรานำเสนอที่เห็นชัดเจนเลย ก็คือ ที่เราในส่วนของแกนนำที่เราทำพิพิธภัณฑ์ ตัวนี้เป็นจุดรูปธรรม แล้วเราก็เอาผู้คน ผู้สูงอายุเข้ามาแสดงการละเล่นต่างๆ ให้คนในหมู่บ้านได้รื้อฟื้น ส่วนหนึ่งสำหรับคนสูงอายุด้วยกัน แล้วคนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว หรือเด็กๆก็จะเห็นว่า บรรพบุรุษเราเคยทำอย่างนี้ใช่ไหม นี่คือการนำเสนอที่เราพยายามที่จะสะกิดให้เขารู้ว่า นี่มันคือเรา รากเหง้าของเรา เราจะยืนอยู่บนวัฒนธรรมของเราเอง เราจะเข้มแข็งด้วยร่องรอยดั้งเดิมของเรา นั่นคือในการ นำเสนอ ที่เราหวังว่า มันจะเป็นพื้น เป็นพื้นฐานที่เราจะก้าวในก้าวต่อไปครับ”
บรรยาย ผู้สูงอายุ คือกลุ่มคนสำคัญ ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมอันมีคุณค่าของท้องถิ่นให้ดำรงคงอยู่ ดังเช่นที่บ้านโคกกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทพวน ที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภาษาเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น กลุ่มผู้สูงอายุได้ร่วมกับองค์กรต่างๆในท้องถิ่น ฟื้นฟูประเพณีไทยพวน และ กิจกรรมเพื่อพัฒนาเยาวชนหลากหลายรูปแบบ
นริศ สิบโถพงศ์ ผู้นำชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเยาวชนรักถิ่น บ้านโคกกะเทียม
“มันจะมีผลดีกับชุมชน ในด้านของความเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน คือเขาจะมีความรักในสายเลือดของหมู่บ้าน รักในผู้สูงอายุ ผู้หลักผู้ใหญ่ว่าเป็นคนที่น่านับถือ เป็นปูชนียบุคคล”
บรรยาย ไม่เพียงเรื่องวัฒนธรรมเท่านั้น ที่โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดลพบุรี ให้ความสำคัญ เรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชุมชนต้องตระหนักและใส่ใจร่วมกัน ครอบครัวเทียมมงคล หนึ่งในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี เป็นครอบครัวที่ผลิตถั่วงอกตัดราก และผักปลอดสารพิษ ตามแนวทางบุญนิยมตั้งแต่ผู้ผลิตถึงผู้บริโภค
นิมิต เทียมมงคล เครือข่ายเกษตรอินทรีย์–กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี ต.โคกลำพาน อ.เมือง
จ.ลพบุรี
“ต้นเหตุที่ผมทำตรงนี้เพราะว่า ครอบครัวผมจะดูแลเรื่องของสุขภาพเป็นประการหลัก พอเป็นประการแรก ครอบครัวเราได้เรื่องของสุขภาพแล้ว เราจะมองครอบครัวอื่น”
บรรยาย ที่เขาเอราวัณ ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม ภูเขาหินปูนที่ประกอบด้วยทรัพยากรอันล้ำค่า เป็นป่าชุมชนของคน ตำบลช่องสาริกา ซึ่งรอดพ้นจากการขอทำสัมปทานโรงปูน ของบริษัทเอกชนได้ ด้วยความตระหนักในคุณค่าและต้องการเก็บรักษาทรัพยากร ไว้ให้ลูกหลานของกลุ่มชาวบ้าน
สมบัติ ท้าวสาบุตร แกนนำชาวบ้าน ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
“จากการรวมตัวทำให้เราได้รู้ถึงสิทธิ สิทธิที่เราควรมี สิทธิของชุมชนหรือว่าการต่อสู้เกี่ยวกับอำนาจ พูดกันง่ายๆคือ อำนาจมืดของผู้มีอิทธิพล ทำให้การรวมตัวของเราเหนียวแน่นขึ้น เกิดความเห็นอกเห็นใจกันกับคนที่ต้องเดินทางเฝ้าระวังให้กันและกัน ก็ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ทุกคนเห็นการทำงานที่จริงใจ บริสุทธิ์ใจแล้วก็เสียสละของทุกๆคน คือ เห็นใจกันเอง มันเกิดขึ้นโดยจิตใต้สำนึกมากกว่า ถ้าไม่มีจิตใต้สำนึก ผมว่าการรวมตัวกันคงเป็นไปได้ยาก”
บรรยาย จากพลังของชุมชนทำให้ เขาเอราวัณ ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รอดพ้นจากการถูกระเบิดหิน ซึ่งเป็นตัวอย่างในการแสดงความต้องการของคนในพื้นที่ ต่อทิศทางการพัฒนาของชุมชนได้เป็นอย่างดี ความพยายามของคนลพบุรีในหลายพื้นที่ เชื่อมร้อยเป็นพลังในการอนุรักษ์คุณค่า ความดีงามในสังคม ด้วยความหวังว่า วัฒนธรรมท้องถิ่นจะไม่ถูกลืมเลือนแต่ได้รับการสืบสาน เพื่อให้เมืองลพบุรียังคงเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ เมืองวัฒนธรรม เกษตรอินทรีย์ นำวิถีชุมชน เพื่อสุขภาวะและความภาคภูมิใจตลอดไป
|
Be the first to comment on "เมืองลพบุรีสร้างสุขภาวะ และสืบสานคุณค่าถิ่นโบราณสถาน"