กว่าจะทำให้ความคิดที่มากมายและหลากหลายหลอมรวมกลายเป็นแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า แผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และทำให้ทุกภาคฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ย่อมเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่า คือ การแปลงแผนยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงและสามารถสัมผัสจับต้องได้จริง…
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ–ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ปัตตานี |
||||||||||||
ผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ล้มตาย สูญหาย และพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ชื่อของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการดำรงชีวิต คนในพื้นที่ต้องอยู่อาศัยพร้อมกับความกลัว สับสน และหวาดระแวง ขณะที่คนภายนอกเริ่มตั้งข้อสงสัย แปลกแยก และหวาดกลัวที่จะเดินทางมาเยือนเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต ช่องว่างทางสังคมที่ปล่อยให้ความห่างเหินเข้ามาแทนที่นี้เองทำให้พี่น้องร่วมโครงการชีวิตสาธารณะฯ จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาสต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายและทิศทางการทำงานไปอย่างพลิกฝ่ามือ เมื่อสถานการณ์ความจริงในพื้นที่กลายเป็นกรอบข้อบังคับสำหรับการทำงานที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ที่มีแต่จะสลับซับซ้อน เพิ่มพูน จนดูยากยิ่งนักกับการหาทางออก คณะรัฐมนตรีโดย ฯพณฯ ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง จึงมีมติเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,346.80 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ภายใต้การทำงานแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีคณะทำงานประสานยุทธศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนใต้รับผิดชอบดำเนินงาน เพื่อหวังจะให้เป็นอีกกลไกหนึ่งในการเยียวยาจิตใจและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนทั้ง 3 พื้นที่ให้ได้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงถือเป็นทั้งโอกาสและหนทางสู่การทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะเรื่องวิธีคิดซึ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในความพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงเป็นความหวังของประชาชนและภาคประชาสังคมในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่หลายคนทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างไม่คิดชีวิต เพราะล้วนมีความมุ่งหวังในทิศทางเดียวกันว่าจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้ของประชาชนในการเข้าร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาในมิติใหม่ร่วมกับภาคเอกชนและภาคราชการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผ่านๆ มาด้วยพลังความคิดและการตัดสินใจบนฐานวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเอง โดยมุ่งหวังว่าความหวาดระแวงที่เคยมีในหมู่คนทำงานภาครัฐและภาคประชาชนจะลดลงได้ด้วยกระบวนการครุ่นคิดอย่างมีสติ พูดคุยอย่างเข้าใจ และหาทางออกร่วมกันโดยสมานฉันท์ เมื่อลดความหวาดระแวงลงได้ กำแพงของความไม่ไว้ใจในภาครัฐย่อมถูกทำลายลง กลายเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ระหว่างภาครัฐโดยเฉพาะทหารกับประชาชน คนพื้นที่จึงเริ่มปรับตัวและเข้าใจทหารที่เข้าไปประจำการตามจุดต่างๆ มากขึ้น เป็นการก้าวเดินไปพร้อมๆ กันมากกว่าเป็นระบบออกคำสั่งหรือนโยบายจากเบื้องบน ซึ่งกระบวนการลดความหวาดระแวงและสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกันนี่เองได้ช่วยให้สถานการณ์ในพื้นที่ค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้วิสัยทัศน์ข้างต้นเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้ คณะทำงานได้ร่วมกันออกแบบกระบวนการเพื่อได้มาซึ่งแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน โดยจัดให้มีเวทีประชาคม 33 อำเภอ ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยมีคณะทำงานภาคประชาสังคมในแต่ละจังหวัดเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดกระบวนการเรียนรู้ ทำหน้าที่อำนวยการประชุม จัดเวทีระดมความคิด ซักซ้อมการทำแผนปฏิบัติการ และแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ ไปจนถึงระดับจังหวัด เมื่อได้แผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ครบทั้ง 3 จังหวัดแล้วจึงจัดเวทีอนุภาคขึ้น กระทั่งกลายเป็นแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ทุกหน่วยงานทั้งกรมกองหรือกระทรวงต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาททั้งการสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างครอบคลุมในทุกเรื่องตั้งแต่งานพัฒนาชุมชน อาชีพ เกษตร ปศุสัตว์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การท่องเที่ยว โดยอาศัยช่องการอนุมัติงบประมาณผ่านกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น |
||||||||||||
N เงื่อนไขและอุปสรรคที่ทำให้ความจริงไปไม่ถึงความฝัน กว่าจะทำให้ความคิดที่มากมายและหลากหลายหลอมรวมกลายเป็นแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า แผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และทำให้ทุกภาคฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ย่อมเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่า คือ การแปลงแผนยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงและสามารถสัมผัสจับต้องได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับความคาดหวังของภาคประชาชน เพราะระหว่างกระบวนการทำแผน ชาวบ้านจากทั้ง 33 อำเภอ 3 จังหวัดต่างมีความพอใจและเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ เพราะนับตั้งแต่มีปัญหาชายแดนใต้เกิดขึ้น ปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและแสดงความคิดเห็น รวมทั้งได้ร่วมกำหนดความเป็นไปในอนาคตของท้องถิ่นด้วยเสียงจากคนฐานล่างเอง ด้วยหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระดับโครงสร้างหรือระดับนโยบายซึ่งแต่เดิมรัฐมักเป็นผู้ขีดเส้นหรือชี้ชะตาประชาชนมาโดยตลอด ประการสำคัญ กระบวนการทำแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ครั้งนี้ได้สะท้อนภาพความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดบนฐานของความถนัดและความเชี่ยวชาญในการทำงานที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ภาคประชาชนซึ่งมีประสบการณ์ในการทำแผนแม่บท เช่น ภาคประชาสังคมในจังหวัดปัตตานี รับหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการและจัดเวทีประชาคมระดับพื้นที่ โดยมีข้าราชการในจังหวัดปัตตานีให้ความช่วยเหลือแนะนำเรื่องขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐ แต่ด้วยระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ยุ่งยากและซับซ้อนเกินความเข้าใจของประชาชน ทำให้การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์เป็นไปด้วยความล่าช้า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาโครงการทำให้บางหน่วยงานต้องจัดส่งงบประมาณคืนเพื่อต้องการตัดปัญหา ขณะที่อีกหลายหน่วยงานไม่สามารถใช้งบประมาณได้ทันในช่วงเวลาอันจำกัดจนต้องส่งงบคืนอีกเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานและโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารหลายครั้งในช่วงระยะเวลาที่ไม่นานนักของรัฐบาลส่วนกลางยังส่งผลให้การทำงานขาดความชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวผู้นำในการจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลเพราะทำให้การทำงานขาดความต่อเนื่องเพราะผู้รับนโยบายขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง กว่าจะเรียนรู้และเข้าใจปัญหาก็มีการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายตามคำสั่ง ขณะที่ปัญหาในพื้นที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือเยียวยาอย่างถึงที่สุด ประชาชนจึงขาดความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของคนบางกลุ่มภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ภาคประชาชน จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุผลตามเป้าหมายที่มุ่งหวัง และถือเป็นอีกบทเรียนครั้งสำคัญของภาคประชาสังคมในจังหวัดปัตตานีกับการทำงานที่ต้องประสานทั้งเรื่องนโยบายและงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ กระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในท้องถิ่นปัตตานีซึ่งประกอบด้วยคนหรือกลุ่มคนจากหลากหลายหน่วยงานและองค์กร แม้จะส่งผลดีในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมที่หลากหลายแต่ก็ทำให้หน่วยงานเช่นภาครัฐไม่ยอมรับ เพราะมองไม่เห็นความเป็นตัวตนขององค์กรหรือสถาบันที่ชัดเจน ประกอบกับมุมมองและประสบการณ์คนละชุดความคิดจึงเป็นเรื่องยากต่อการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ปัญหาดังกล่าวยังถือเป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยมักเรียกร้องหาคำตอบอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภาคประชาสังคมในจังหวัดปัตตานีต้องหันมาทบทวนบทบาทและกระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในท้องถิ่นตนเองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเรื่องคุณค่าความหมายของคำว่า “ภาคประชาสังคม” และ “ตัวตนที่แท้จริง” ของภาคประชาสังคม สาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากความอ่อนแอของภาคประชาสังคมเองในเรื่องการสื่อสารกับสาธารณะ และเมื่อต้องเผชิญกับระบบคิดที่ถามหาความเป็น “ตัวตน” ที่เพิ่มสูงขึ้นตามกระแสสังคมโลก การสื่อสารสาธารณะจึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้และจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการเปิดรับและเติมเต็มข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมเพื่อการรับรู้ที่เท่าทันกันของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเรียนรู้ข้ามข่ายซึ่งจะเสริมพลังให้ความเข้มแข็งเล็กๆ ได้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้นและสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือถึงกันได้ในที่สุด ดังตัวอย่างเช่น การทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันของภาคประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ครั้งนี้ถือเป็นการทำงานเพื่อยกระดับความเท่าเทียมกันของภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดให้เกิดขึ้น โดยใช้วิธีแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อเป็นการติดอาวุธให้กับคนทำงานที่อยู่ต่างพื้นที่กันได้มีพื้นที่หรือประเด็นร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นการเสริมพลังความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการชี้อนาคตความเป็นไปของท้องถิ่นตนเอง แม้ผลที่ได้จะยังไม่สามารถนำความพอใจมาให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ แต่ก็เป็นก้าวย่างสำคัญในการลุกขึ้นมากำหนดตัวตนความเป็นท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นเพื่อคนท้องถิ่นเอง N ข้อค้นพบและบทเรียน 1. การทำงานที่อยู่บนฐานคิดและวัฒนธรรมองค์กรคนละชุดกันเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการประสานงานเพื่อปรับวิธีคิดให้ตรงกัน ส่งผลให้โครงการขาดความคล่องตัว ไม่เป็นปึกแผ่น และกระทบต่อเป้าหมายความสำเร็จที่ต้องการไปถึงร่วมกัน จึงจำเป็นต้องสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นก่อน อย่างไรก็ดี การทำงานกับกลุ่มคนที่หลากหลายช่วยให้เกิดการเรียนรู้วิธีการจัดการที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กร 2. กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจะต้องมีหลักคิดและความเชื่อบนฐานการให้คุณค่าและความสำคัญกับระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เพราะจะนำมาซึ่งความไว้วางใจ ลดการหวาดระแวง และนำไปสู่การคิดหาวิธีที่จะทำงานร่วมกันโดยสันติ ซึ่งในกรณีนี้การร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความหวาดระแวงเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้เกิดขึ้น 3. ภาคประชาชนควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับระบบและกระบวนการติดตามผลการทำงานอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และทันท่วงที เพื่อเป็นการเสริมพลังการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าเป็นเพียงการติดตามเพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้วเท่านั้น 4. กระบวนการสื่อสารกับสาธารณะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม ขณะเดียวกันการสื่อสารที่นำไปสู่การเรียนรู้ข้ามข่าย เช่น ระหว่างจังหวัดในภูมิภาคเดียวกันจะช่วยเสริมพลังความเข้มแข็งให้กันและกันได้ 5. แม้คำว่า “ประชาสังคม” จะเป็นที่รู้จักและคุ้นหูคนโดยทั่วไป แต่ยังต้องการการอธิบายและสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นปราการป้องกันการแอบอ้างหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จนกลายเป็นวิกฤติศรัทธาต่อขบวนการภาคประชาสังคม |
||||||||||||
FACT SHEET เอกสารข้อมูล |
||||||||||||
เอกสารข้อมูลประกอบ : ห้องย่อยที่ 4 การกำหนดอนาคตตนเองกับวิถีชีวิตสาธารณะเข้มแข็ง | ||||||||||||
เวทีสัมมนาวิชาการประชาสังคม “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย” วันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ที่ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ กทม | ||||||||||||
สนับสนุนข้อมูลโดย
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ปัตตานี 17 ถ.ปานาเระ ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทรศัพท์ 073-310-973, 081-479-6725 จัดทำโดย โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เลขที่ 693 ถ.บำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3 www.ldinet.org สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
Be the first to comment on "เมื่อประชาชนลุกขึ้นกำหนดอนาคตตนเอง ในแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้"