โรคที่เกิดขึ้นจากพิษของแคดเมียม ที่พบมีรายงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการเกิดพิษแคดเมียมแบบเรื้อรังในชาวญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่าโรคอิไต อิไต(แปลว่าโรคเจ็บปวดจนร้องโอ๊ย โอ๊ย) อาการของโรคอาจทำให้เกิดกระดูกแตกและหักง่าย…
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
จากกรณีที่พบสารแคดเมียมในสิ่งแวดล้อมและพืชผลเกษตร ในตำบลพระธาตุผาแดงและตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยจากการศึกษาของ ดร.โรเบิร์ต ซิมมอนส์ นักวิจัยจากสถาบันจัดการคุณภาพน้ำอิวมี ร่วมกับดร.พิชิต พงศ์สกุลนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร ทำการตรวจวัดระดับสารแคดเมียมในดินและข้าว รวมทั้งศึกษาแหล่งกำเนิดของสารแคดเมียมในปี2541-2546 พบว่าแหล่งกำเนิดของสารแคดเมียม เกิดจากการที่ฝนตกชะหน้าดินที่อุดมด้วยแร่สังกะสีและแคดเมียม ลงสู่ต้นน้ำของลำน้ำธรรมชาติ คือห้วยแม่ตาว มีสารแคดเมียมปนเปื้อนในดิน มีค่าสูงถึง 72 เท่าของค่ามาตรฐานยุโรป ขณะที่กว่าร้อยละ80ของตัวอย่างข้าวมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานของญี่ปุ่นและองค์การอาหารการเกษตร(FAO)
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยสรุปว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวว่า สารแคดเมียมมาจากเหมืองสังกะสีที่เปิดทำการอยู่ในบริเวณที่พบการปนเปื้อนนี้ [1] จากการศึกษาแปลงนาจำนวน 154 แปลง บริเวณ ตำบลพะเด๊ะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบสารแคดเมียมอยู่ในช่วง 3.4 -284 มิลลิกรัมแคดเมียม/กก.ของดิน ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของยุโรปกำหนดไว้ คือ 3 มิลลิกรัมแคดเมียม/กก.ของดิน นอกจากนี้ได้ตรวจพืชผลทางการเกษตรพบว่ามีแคดเมียมในเมล็ดข้าวถึง 0.1-44 มิลลิกรัมแคดเมียม/กก.ของข้าว สูงกว่าค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ 0.043มิลลิกรัมแคดเมียม/กก.ของข้าว ซึ่งปริมาณสารแคดเมียมที่พบนี้มีค่าในพิสัยเดียวกับข้าวที่ก่อให้เกิดโรคอิไต-อิไต ในญี่ปุ่นหากบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงกระเทียม สูงเกินมาตรฐาน 126เท่า ในถั่วเหลืองเกินมาตรฐาน 16เท่า ถือว่าสูงมากและเป็นอันตรายกับคนในพื้นที่[2] และผลจากการตรวจระดับแคดเมียมในประชากรเขตตำบลแม่ตาวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2547 พบว่าประชากร 850ราย มีระดับแคดเมียมค่อนข้างสูงร้อยละ12.9 และมีระดับแคดเมียมสูงร้อยละ5.6[3]
สารแคดเมียมจากยอดเขาไหลลงเมือง
โดยจากการประชุมประชาคมแกนนำชุมชนตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว ตำบลพระธาตุผาแดงในวันที่ 4 และ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ประชาคมแม่สอด ได้สรุปผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะคณะทำงานเฉพาะกิจ และปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมดังนี้
1. น้ำใต้ดินและลำห้วยแม่ตาว มีปริมาณสารไม่เกินมาตรฐานยกเว้นตะกอนดินในห้วยแม่ตาวพบมีสารแคดเมียมสูงมาก
2. ข้าว แปลงเกษตรที่ใช้น้ำในห้วยแม่ตาวมีสารสูงเกินมาตรฐานความปลอดภัย ความเข้มข้นของสารจะมากตั้งแต่แปลงใกล้ลำเหมืองและลดลงตามระยะทางที่ห่างจากจุดผันน้ำ
3. สุขภาพจากการตรวจบ้านพะเด๊ะและบ้านแม่ตาวใหม่
– เสี่ยงร้อยละ 8 ของประชากรตัวอย่าง
– เสี่ยงปานกลางร้อยละ 14 ของประชากรตัวอย่าง
– เสี่ยงน้อยร้อยละ 78 ของประชากร
4. ตะกอนดิน
– กลุ่มแคดเมียมสูงร้อยละ 71 ของตัวอย่าง ระยะทาง 7 ก.ม.
– กลุ่มแคดเมียมปานกลางร้อยละ 81 ของตัวอย่างระยะทาง 1 ก.ม.
– กลุ่มแคดเมียมต่ำร้อยละ 11 ของตัวอย่างตั้งแต่เหนือบริเวณกิจกรรมทำเหมืองต้นน้ำ
สรุปจากการประชุมดังกล่าวเห็นว่า ประชากรผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมได้พยายามติดตามการแก้ปัญหาของทางราชการทั้งในพื้นที่และส่วนกลางมาโดยตลอด โดยได้จัดตั้งคณะทำงาน 25 คนเพื่อทำหน้าที่ติดตามและประสานงานการแก้ปัญหาโดยแบ่งงานเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณสมนึก ชื่นนิยม นายก อบต.พระธาตุผาแดงเป็นประธาน มีประชาคมแม่สอด และประชาคมชายแดนตากเป็นที่ปรึกษา จากการพิจารณาของคณะทำงาน พบว่าการแก้ปัญหาของภาครัฐทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลางยังขาดการประสานงานและการบริหารจัดการที่ดี ทำให้การดำเนินงานไม่คืบหน้าและไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน ที่สำคัญคือทำให้เกิดความคลางแคลงใจในความจริงใจของทางราชการต่อการแก้ปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมด้วย[1]
Be the first to comment on "แคดเมียม! สารอันตรายทำลายชีวิต"