แม่กลอง…ชุมชนท้องถิ่นไทย…ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

“เมื่อก่อนที่นี่ลิ้นจี่ ทุเรียนเต็มไปหมด แทบทุกบ้านเลยปลูกหมด เราไม่ต้องไปซื้อเค้ากินเลย มีกินมีใช้มีขายตลอดทั้งปี อยู่กันได้ สบายๆ…แล้วการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มคืบคลานเข้าสู่เมืองเล็กๆ แห่งนี้ ในนามของการพัฒนา ทำให้ลุ่มน้ำแม่กลองเริ่มเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง คุณภาพน้ำแม่กลองเสื่อมโทรมลง…

 

เมืองแม่กลอง หรือ จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เมืองหนึ่ง โดยเฉพาะวิถีชีวิตเมืองที่มีความหลากหลายอยู่บนฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความพอดีและพอเพียง มีสภาพเป็นบ้านสวนกึ่งทะเลที่เต็มไปด้วยผู้คน ชาวสวน ชาวประมง ชาวนา ประกอบอาชีพทำมาหากินอยู่อาศัยผูกพันกับสายน้ำ ทั้งในระดับแม่น้ำแม่กลอง ลำคลองสายต่างๆ ลำราง แพรก และลำประโดง ผสมผสานจนก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาในระบบนิเวศน์ 3 น้ำ

นอกจากนี้แม่กลองยังได้ชื่อว่าเป็นถิ่นสร้างคนด้วยระบบการศึกษาสมัยใหม่ก่อนจังหวัดอื่นๆ อาทิ การมีโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกของภาคตะวันตก หรือเป็นหนึ่งในสามจังหวัดแรกที่ขยายการศึกษาภาคบังคับจนถึงเป็นป. 7 รวมทั้งเป็นถิ่นรากเหง้าศิลปวัฒนธรรม อย่างถิ่นฐานดนตรีไทยของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)  ดนตรีสากลตามแบบฉบับของครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือภาพงานศิลปะของศิลปินช่วง มูลพินิจ ซึ่งล้วนเป็นความภาคภูมิใจที่ผ่านการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นหนึ่งเสมอมา

เมื่อก่อนที่นี่ลิ้นจี่ ทุเรียนเต็มไปหมด แทบทุกบ้านเลยปลูกหมด เราไม่ต้องไปซื้อเค้ากินเลย มีกินมีใช้มีขายตลอดทั้งปี อยู่กันได้ สบายๆ อาหารการกินของเราในแม่น้ำลำคลองเนี่ยปลา กุ้ง หาง่าย สมัยนี้แทบไม่เหลือแล้ว ไม่ใช่แต่น้ำตาลอย่างเดียว หมากพลู พริก เรียกว่าของสวนชั้นดีมันต้องไปจากที่นี่ ไม่งั้นมันจะเสียภาษีอันดับหนึ่งของประเทศได้ไง

 

นั่นคือความภาคภูมิใจของคนรุ่นเก่าที่มีต่อจังหวัดสมุทรสงครามในวันวาน แม้นว่าสมุทรสงครามจะเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย มีอำเภอเพียง สามอำเภอ แต่กลับอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวอันหลากหลาย มีทั้งวัฒนธรรมของการเป็นเมืองราชนิกูล เพราะเคยเป็นพื้นเพของอัครมเหสีของรัชกาลที่1และรัชกาลที่ 2 และเป็นสวนนอกหรือบ้านสวนของเจ้านายในหลายราชสกุล จนมีคำกล่าว บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน

นอกจากความรุ่งเรืองทางด้านสังคมและวัฒนธรรมแล้ว สมุทรสงครามยังมีความเตรียมพร้อมทางด้านทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรประมง คนเล แม่กลองได้ชื่อว่าเป็นนักดัดแปลงที่มีภูมิปัญญาสูงส่งในการใช้เครื่องมือทะเล เพราะเทคโนโลยีประมงทะเลยุคแรกเริ่มของไทยมักถูกนำมาใช้ที่นี่เป็นแห่งแรก

 

         ตราบจนปัจจุบัน การทำประมงทะเลกลายเป็นรายได้หลักที่สร้างมูลค่าสูงสุดให้จังหวัด เพราะสมุทรสงครามเป็นเมืองสามน้ำ มีทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืดที่สับเปลี่ยนเวียนวนกันมาสร้างความสมบูรณ์โดยมีสายน้ำแม่กลองเป็นสายเลือดหลัก และยังมีลำคลองเป็นข่ายใยไปหล่อเลี้ยงแผ่นดินถึง 336 คลอง ชีวิตที่คุ้นเคยกับการขึ้นล่องหมุนเวียนของน้ำ ทำให้คนแม่กลองมีอาชีพที่เปลี่ยนแปลงของสายน้ำอย่างกลมกลืน

         ใกล้น้ำเค็มทำประมงและนาเกลือ ใกล้น้ำกร่อยทำสวนมะพร้าว ใกล้น้ำจืดยกร่องทำสวนผลไม่ผสมผสาน เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรนี่เอง ที่ทำให้ในอดีตนั้นเมืองแม่กลอง เป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี จนสามารถเก็บภาษีได้มากที่สุดของประเทศ

         เพราะความมั่นคงทางรายได้ ทำให้ลูกหลานชาวแม่กลองมีการศึกษาเป็นอย่างดีมาตั้งแต่อดีต สมุทรสงครามจึงเป็นจังหวัดแรกที่กระทรวงศึกษาธิการเลือกเป็นจังหวัดในโครงการขยายการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 แม้จะอยู่ห่างจากเมืองหลวงเพียงประมาณ 60 กิโลเมตร แต่เมื่อครั้งก่อนนั้นแม่กลอง มีทางสัญจรหลักเชื่อมต่อกับโลกภายนอกทางบกได้ด้วยทางรถไฟทางเดียว แม่กลองในอดีตจึงมีประชาชนเป็นชาวบ้านไทยเล็กๆ ที่อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีความสงบสุขตามอัตภาพเรื่อยมา

แล้วการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มคืบคลานเข้าสู่เมืองเล็กๆ แห่งนี้ ในนามของการพัฒนา ทำให้ลุ่มน้ำแม่กลองเริ่มเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง คุณภาพน้ำแม่กลองเสื่อมโทรมลง เพราะโรงงานเริ่มปล่อยของเสียทิ้งลงในลำน้ำ  กุ้งปลาตายเกลื่อน

          ระบบนิเวศในแม่น้ำเสียหายอย่างหนัก เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อผลิตพลังงานพัฒนาประเทศ  สายน้ำแม่กลองถูกรบกวนอย่างหนักซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้นน้ำโดยเฉพาะเขื่อนเจ้าเหน่  ทำให้การหมุดเวียนแบบลัดจืดลัดเค็ม ของน้ำจืดและน้ำเค็มเปลี่ยนไปน้ำเค็มล้ำเข้ามาแช่ในเรือกสวนอยู่นาน  มะพร้าวลีบ ทุเรียน มังคุดตายจากเสียหายกันไปหมด

ความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม่กลองที่เคยเป็นเมืองปิดได้สัมผัสโลกภายนอกอย่างเต็มที่ เมื่อมีถนนสายพระรามสอง ตัดผ่านนอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แล้ว ยังเป็นกำแพงแบ่งเขตระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มอย่างถาวร ส่งผลให้สวนผลไม้ที่อยู่ในเขตน้ำเค็มเสียหาย และส่วนมะพร้าว ที่ต้องพึ่งทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ก็ต้องโค่นล้มไปเพราะไม่ให้ผลผลิตอย่างเคย

แล้วคลื่นของการโหมเพาะสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจพัดเข้ามา เมื่อการทำนากุ้งบูมถึงขีดสุด สมุทรสงครามกลายเป็นจังหวัดของคนที่อยากจะเป็นเศรษฐีนากุ้งชั่วข้ามคืน พื้นที่1ใน 5 ของจังหวัดก็กลายเป็นนากุ้งอย่างรวดเร็ว ด้วยการเลี้ยงที่ขาดการจัดการและการวางแผน ผลที่ตามมาคือป่าชายเลนวอดวาย นากุ้งเสียหาย กลายเป็นที่รกร้างเป็นบาดแผลของแผ่นดินที่ยังปรากฏให้เห็น เศษเครื่องไม้เครื่องมือทำนากุ้งที่วางขายทิ้งระเกะระกะริมถนนพระรามสอง เมื่อ 6-7 ปีก่อน

เมื่อหันไปมองทางฝ่ายน้ำจืดสวนผสมไม่อาจสร้างผลผลิตให้เต็มที่ได้ดังในอดีต ชาวสวนหลายคนจึงหวังสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำด้วยการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ ลิ้นจี่และส้มโอจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่หลายคนฝากหวัง ทว่ากลับไม่มีการจัดการที่ชัดเจน กระบวนการทางการตลาดที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ไม่สามารถเอาแน่นอนจากราคาลิ้นจี่และส้มโอได้เช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้หยุดไว้แค่นั้น เมื่อนโยบายในการพัฒนาประเทศที่เน้นอุตสาหกรรม สมุทรสงครามที่มีทำเลใกล้เมืองหลวง มีความอุดมของทรัพยากร และความสะดวกในการสัญจร จึงกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นที่ตั้งของโรงงานอย่างหลีกไม่พ้น ทุกเช้าของทุกวัน คนหนุ่มสาวที่เคยเดินเข้าสวน กลับขึ้นรถไปโรงงาน ด้วยโอกาสที่มีมากขึ้นจากการศึกษาด้วยทัศนะใหม่ๆจากสังคมบริโภค จึงบ่ายหน้าไปเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้มั่นคงกว่า เลิกรอความไม่แน่นอนและเหนื่อยหนักจากชีวิตชาวสวน ที่ต้องพึ่งน้ำ พึ่งดินที่เสื่อมลงทุกวัน โรงงานจึงเป็นคำตอบที่แน่นอนของชีวิตยุคใหม่แม้รายได้อาจไม่เหนือกับการทำสวนแต่อย่างน้อยการไปโรงงานทำให้ได้พบพานวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่สดใสและน่าลิ้มลองกว่าร่องสวนและโรงตาล

 

แล้วอีกสักสิบปีแม่กลองจะเป็นเช่นไร แผ่นดินและชีวิตที่แม่กลองกำลังเปลี่ยนไปทั้งมีทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมและสังคมรุ่มรวยเกินใคร แต่กลับมีวิถีชีวิตที่ละล้าละลัง กำลังพบกับปัญหาที่แก้ไม่ตก วันข้างหน้าจะมีชีวิตอยู่กับโรงงานหรือมีชีวิตที่ทันสมัยทันโลก จะพึ่งน้ำพึ่งดินเหมือนเดิมก็เหนื่อยยากลำบาก จะทำเกษตรพาณิชย์ก็ไปไม่เป็นหาความแน่นอนไม่ได้แผ่นดินแม้ยังพออุดมก็ถูกกระทบทำลายจนท้อถอย แม่กลองจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนของชีวิตชาวบ้านไทยที่ละล้าละลังไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้า จะไปทางไหนและอย่างไร

คำตอบที่ชัดเจนอยู่ที่ไหนคนแม่กลองจะยืนหยัดรับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาให้สอดคล้องกับรากเหง้าและต้นทุนที่เคยมีที่เคยเป็นได้อย่างไรคงเป็นภาระของคนแม่กลองทั้งจังหวัดที่ต้องครุ่นคิดและลงมือทำ

แม่กลองเป็นเพียง 1 ในชะตากรรมของวิถีชุมชนท้องถิ่นอีกหลายแห่งในประเทศไทยที่สับสนละล้าละลัง ไม่รู้อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คนแม่กลองจะรับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาให้สอดคล้องกับรากเหง้า และต้นทุนที่เคยมีที่

เคยเป็นได้อย่างไร คำตอบที่ชัดเจนอยู่ที่ไหน คงเป็นภาระที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และนักวิชาการ ตลอดจนสาธารณะทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ต้องมาพิจารณาใคร่ครวญ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

เวทีพลเมืองไท บ้านเมือง…เรื่องของเรา  เวทีสาธารณะที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมกันแบ่งปันความคิด ต่อปัญหาต่างๆ ของสังคม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กับ บริษัท เนชั่นบรอดแคสติง คอร์เปอเรชั่น (Nation Channel) จึงได้จัดเวทีสาธารณะในประเด็น ตัวตนคนแม่กลอง เพื่อให้ผู้รู้ ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสาธารณะและพัฒนาท้องถิ่นให้น่าอยู่  โดยบันทึกเทปในวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2548 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป  ณ ลานแพร่งภูธร (หลังสถานีกาชาดที่ 2) ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ  โดยจะออกอากาศทางไททีวี 1 (TTV 1) ในวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2548  เวลา 22.10–23.30 . ออกอากาศซ้ำวันอังคารที่ 25 มกราคม 2548 เวลา 14.10–15.30 น.


 

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน : เรียบเรียง

กองบรรณาธิการ : ทีมสื่อสารสาธารณะ

 

Be the first to comment on "แม่กลอง…ชุมชนท้องถิ่นไทย…ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง"

Leave a comment

Your email address will not be published.