ของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนอยากได้
พลเดช ปิ่นประทีป
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๘
.jpg)
ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ผมขอเปรยดังๆ แทนประชาชนส่วนหนึ่งที่เกาะติดการปฏิรูปอยู่ทั่วประเทศ เผื่อว่ารัฐบาล คสช.ที่กำลังเตรียมของขวัญสำหรับประชาชนจะได้ยิน
๑. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
กอช.เป็นของขวัญที่มีค่ามากสำหรับประชากรวัยแรงงานทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบจำนวน ๒๔.๖ ล้านคน เป็นกลไกเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและสร้างระบบการออมเพื่อการดำรงชีพยามชราแก่ประชาชนโดยรวม โดยไม่เป็นภาระเกินสมควรต่อการคลังของประเทศ ในเรื่องนี้รัฐบาลเพียงประกาศเดินหน้าบังคับใช้ พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ถูกระงับยับยั้งมาหลายปีเท่านั้น ก็จะได้ใจผู้คนทั้งประเทศ
๒. พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร
กฎหมายเชิงปฏิรูปฉบับนี้ นับเป็นของขวัญที่มีค่าสำหรับคนยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินจำนวน ๑.๕ ล้านครอบครัว โดยหลักการแล้วทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน รัฐต้องกระจายอำนาจการจัดการสู่ชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งจัดให้มีกลไกเพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ รัฐต้องดำเนินการเพื่อเอื้อให้เกษตรกรโดยรวมสามารถเข้าถึงที่ดินทำกินและรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ โดยมีมาตรการต่างๆ หนุนเสริมอย่างเป็นระบบ เช่น ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน ภาษีอัตราก้าวหน้า
๓. ระบบสลากกินแบ่งเพื่อสังคม
ปัญหาล็อตเตอรี่เกินราคา เสือนอนกินและคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องเรื้อรังที่ในภาวะปกติไม่มีรัฐบาลใดสามารถทำได้เพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาด ไม่มีความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เพียงพอในเรื่องนี้ การแก้ปัญหานี้ได้จะเป็นของขวัญที่เสริมสร้างกำลังใจคนไทยและความเชื่อมั่นสำหรับผู้บริโภคนับสิบล้านคนที่จำยอมซื้อสลากเกินราคา งวดละ ๗๐ ล้านฉบับ วิธีการก็เพียงยกเลิกระบบยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว จัดระบบขึ้นทะเบียนผู้ค้ารายย่อยและกระจายสลากถึงมือโดยตรงในราคาที่เขามีกำไร จากนั้นก็ปฏิรูประบบสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยการออก พ.ร.บ.สลากเพื่อสังคม ตามข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคม
๔. กองทุนสื่อสร้างสรรค์
กองทุนสื่อสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่รายการสาระบันเทิง ข่าวสารและการศึกษาเรียนรู้ของสังคม ถือเป็นของขวัญที่เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง ๒๐ ล้านครอบครัวอยากได้ เพราะกองทุนสามารถส่งเสริมสื่อดีสำหรับเด็กและเยาวชนให้มีที่ยืนโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากพ่อค้าและนักการเมือง ส่งเสริมประชาชนในฐานะผู้บริโภคและผู้ใช้สื่อให้มีความรู้เท่าทันสื่อสร้างทักษะชีวิตในยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร รู้จักป้องกันตนเองจากผลกระทบสื่อทางลบและใช้ประโยชน์จากสื่อได้เต็มที่ ในทางความรู้ การทำงาน การรับข่าวสารและการบันเทิง รัฐบาลและ สนช.ควรเร่งรัดการออกกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ ที่ค้างอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติให้แล้วเสร็จ
๕. พ.รบ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ
เพื่อปิดรูรั่ว ไม่ให้นักการเมืองและข้าราชการใช้งบประมาณสาธารณะไปโฆษณาตัวเอง เป็นการประหยัดงบประมาณโฆษณาและจัดอีเว้นท์ที่เหลวแหลกของนักการเมืองและหน่วยงานรัฐ จำนวนปีละ ๒๐,๐๐๐ ล้าน เพียงแค่ออกกฎหมาย (ร่าง) พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ตามที่เครือข่ายสื่อมวลชนและคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อเสนอ ถ้าทำได้จะเป็นของขวัญสำหรับข้าราชการและประชาชนผู้รักชาติรักความเป็นธรรมนับสิบล้านคนที่ทนไม่ได้กับพฤติกรรมล้างผลาญงบประมาณแผ่นดิน
๖. พ.ร.บ.สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน
นี่ก็เป็นของขวัญอีกชิ้นสำหรับครอบครัวชนชั้นกลาง ชุมชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพ สถานประกอบการและนักลงทุนรายย่อยนับล้านรายที่ตื่นตัวต่อปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนประชาชนจากผู้บริโภคไปเป็นผู้ร่วมผลิตพลังงาน เพียงแค่รัฐบาลและ สนช.ร่วมกันออกกฎหมายฉบับนี้ และแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสามารถรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากประชาชนและผู้ผลิตเอกชนรายย่อยได้ ในราคาที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล
๗. องค์การมหาชนเพื่อพัฒนาชุมชนชายแดนใต้
ปัญหาไฟใต้ที่โหมกระพือมาครบสิบปี ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตประชาชนกว่าหมื่นคนและใช้เงินงบประมาณไปแล้วมากกว่า ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ไม่นับรวมการสูญเสียทรัพย์สินและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประเมินค่าไม่ได้ การดับไฟใต้จึงเป็นของขวัญที่ประชาชน ๒ ล้านคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนไทยทั่วประเทศรอคอย รัฐบาลต้องเพิ่มความสำคัญให้กับงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นฐานล่าง ประสานกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ อย่างจริงจัง เพื่อการนี้ จำเป็นต้องออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรแบบกึ่งราชการ ที่สามารถดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาของภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลไกขับเคลื่อนและเติมเต็มภารกิจงานพัฒนาของหน่วยราชการ
๘. พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
คุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่งของระบบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นปัจจัยของความอ่อนแอของราชการไทย ความเสื่อมทรามของสังคมในด้านคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลคือต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและทุจริตคอร์รัปชัน การปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ หากละเลยการปฏิรูประบบคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดจริงและไม่ยั่งยืน รัฐบาลและกลไกอำนาจรัฐทั้งห้าของ คสช.ควรร่วมกันประกาศความมุ่งมั่นเป็นวาระแห่งชาติที่จะรวมพลังผู้คนทั้งสังคมไทย นำพาประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤติคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล ให้เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม
๙. พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
รัฐบาลควรประกาศนโยบายป้องกันการผูกขาดทางการค้า สร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ เพื่อ เป็นของขวัญสำหรับนักธุรกิจที่รักความเป็นธรรม กลุ่มทุนชาติและทุนท้องถิ่น กลุ่ม SME และร้านโชว์ห่วยนับแสนรายทั่วประเทศ ด้วยการผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและเครือข่ายปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
๑๐. องค์กรอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
เพื่อให้มีองค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ อันประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อให้สิทธิผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ติดตามตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรม ให้ความเห็นประกอบการพิจารณากฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและนโยบายที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลบาลและ สนช.ควรผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ค้างอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ ให้ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ภายใน ๖ เดือน
Be the first to comment on "ของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนอยากได้"